"...ท่านอาจจะมองไม่เห็น หรือเห็น ว่าบ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด ไม่ว่าจะรถไฟสายต่างๆ ถนนหลายเส้น บ้านผู้มีรายได้น้อย ระบบประปา ไฟฟ้า พลังงาน ที่กระจายความเจริญไปภูมิภาคต่างๆ ถ้าบอกว่าไม่มีอะไรดีขึ้นเลย 7 ปี ผมก็น้อยใจเหมือนกัน..."
-------------------------------------------------------
การอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ระหว่างวันที่ 31 พ.ค. – 2 มิ.ย.ยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างเข้มข้น
เพียงแค่ 2 วันของการอภิปราย ประเด็นที่ถูกพุ่งเป้าที่สุด คือ การจัดสรรงบประมาณที่แตกต่างกันระหว่าง กระทรวงกลาโหม – กระทรวงสาธารณสุข
โดยพรรคการเมืองฝ่ายค้าน และพรรคภูมิใจไทยในซีกรัฐบาล ต่างตั้งคำถามไปถึงการปรับลดงบประมาณในหน่วยงานด่านหน้าสู้โควิด – กระทรวงสาธารณสุข ที่เปรียบเปรยเหมือนถูกส่งไปรบ แต่ไม่ให้อาวุธไปด้วย
ขณะที่กระทรวงกลาโหม แม้จะถูกปรับลดเช่นกัน แต่หลายฝ่ายยังเชื่อว่าสามารถปรับลดลงได้อีก โดยเฉพาะงบประมาณในส่วนของการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพ
(ข่าวประกอบ : เขาไม่รักก็กลับบ้าน! 'ชาดา'โวย สธ.ถูกตัดงบ - 'กนก' ห่วงหนี้ท่วม สัญญาณเตือนวิกฤต ศก. และ 'บิ๊กตู่'ย้ำมีงบจัดหาวัคซีนไม่จำกัด 'อนุทิน'ยัน สธ.ได้รับจัดสรรเงินสู้โควิดไว้แล้ว)
ทำให้ช่วงค่ำของวันที่ 1 มิ.ย.2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมงในการชี้แจง โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
@ ลดงบทุกหน่วยงาน ตัดสัมมนา-ประชาสัมพันธ์ ตามวิถี new normal
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จากกรณีที่หลายฝ่ายยังสงสัยว่างบประมาณกระทรวงกลาโหมมีมากกว่ากระทรวงสาธารณสุขที่มีภารกิจแก้ปัญหาโควิด และรัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูแลประชาชนน้อย ทั้งที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ขอกราบเรียนว่า ในสภาวะที่รายได้ของประเทศมีจำกัด ประกอบกับรัฐบาลใช้มาตรการด้านภาษีช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ ทำให้การตั้งงบประมาณ 2565 มีการปรับลดรายจ่ายประจำ ปรับลดตามการดำเนินงานให้สอดคล้องกับวิถีการปฏิบัติการใหม่ที่เรียกว่า new normal
“ค่าใช้จ่ายในงานสัมมนา ฝึกอบรม ประชุม ที่สามารถทำผ่านออนไลน์ ค่าอาหารนอกเวลาทำการ ค่าสาธารณูปโภค ลดค่าใช้จ่ายการดำเนินงานนอกสถานที่ รวมถึงค่าประชาสัมพันธ์ที่มาใช้ประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดียแทน รวมทั้งเบี้ยเลี้ยง ที่พัก พาหนะ ที่ให้เสนอตามความจำเป็น และหากหน่วยงานใดมีเงินนอกงบประมาณ เงินคงเหลือ หรือเงินเก็บสะสมเอาไว้มาก จะถูกปรับลดงบประมาณเพื่อให้นำเงินเหล่านั้นมาใช้ก่อน”
@ ‘สาธารณสุข’ งบมากกว่า ‘กลาโหม’ 9.2 หมื่นล้านบาท
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า งบประมาณกระทรวงกลาโหมประมาณ 203,000 ล้านบาท ถูกปรับลดมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนงบประมาณด้านการสาธารณสุข จะดูเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ แต่ต้องดูหน่วยงานอื่นประกอบด้วย เช่น กองทุนหลักประกันสุขภาพ กองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน และกองทุนภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย โดยรวม งบประมาณด้านสาธารณสุขมีทั้งสิ้น 295,681 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่างบประมาณกระทรวงกลาโหม 92,399 ล้านบาท
“ยืนยันว่า ในส่วนของสาธารณสุขค่าใช้จ่ายที่ถูกปรับลดลงไป ไม่กระทบกับการให้บริการประชาชน แต่เป็นการปรับลดที่ทำให้ดำเนินการสอดคล้องกับวิถีปฏิบัติการใหม่ข้างต้น”
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้ำว่า ในภาพรวมงบประมาณด้านสังคม ที่ประกอบด้วยการสร้างโอกาส ความเสมอภาคทางสังคม 733,749 ล้านบาทคิดเป็น 23.7% ของงบประมาณ 2565 ส่วนเรื่องการเสริมสร้างพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 548,185 ล้านบาทคิดเป็น 17.7% ในงบประมาณเหล่านี้รัฐบาลเน้นเรื่องสวัสดิการประชาชนครอบคลุมตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่
“ส่วนตัวไม่ได้มุ่งหวังให้คนไทยเสียชีวิตแม้แต่คนเดียว ผมรักประชาชน นั่งรถไปทุกวัน มองไปนอกกระจก คิดทุกวันว่าจะทำอย่างไรให้คนที่ผมเห็น เขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยที่ผมไม่ได้หวังประโยชน์จากเขา ผมบริหารแบบนั้น ทุกอย่างจะต้องทำให้เกิดความทั่วถึง ทุกภาค ทุกกลุ่มจังหวัด”
@ ตั้งแต่ปลายปี 2563 ใช้เงิน 117,862 ล้านบาทรับมือโควิด
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิดตั้งแต่ปลายปี 2563 จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลได้จัดสรรวงเงินใช้ในการบริหารจัดการสถานการณ์ ทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี และเงินกู้ รวมกว่า 117,862 ล้านบาท ดังนี้
ปีงบประมาณ 2563-2564 จัดสรรเงินงบประมาณ และเงินกู้ สำหรับแผนงาน โครงการไปแล้ว 87,862 ล้านบาท
แบ่งเป็น ค่าตอบแทน ค่าเสี่ยงภัยให้บุคลากรแพทย์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เจ้าหน้าที่ด่านหน้า 22,146 ล้านบาท
จัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ 1,824 ล้านบาท
ค่ารักษาผู้ป่วยโควิด 29,304 ล้านบาท
ค่าใช้จ่ายด้านวัคซีนทั้งวิจัยพัฒนา ทำความร่วมมือวิจัยร่วมกับต่างประเทศ รวมถึงจัดซื้อ จัดหา และค่ารักษาอาการไม่พึงประสงค์ ผลข้างเคียงจากวัคซีน 21,134 ล้านบาท
การเฝ้าระวัง ควบคุมติดตามการระบาด ป้องกัน และค้นหาเชิงรุก 6,483 ล้านบาท
จัดตั้งสถานกักตัวของรัฐและสถานที่กักตัวโดยองค์กรต่างๆ (Quarantine) จำนวน 6,452 ล้านบาท
เตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน 519 ล้านบาท
และยังมีอีก 30,000 ล้านบาทอยู่ใน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทที่ได้รับการอนุมัติไปก่อนหน้านี้
@ 2.1 หมื่นล้านบาท วิจัยวัคซีน - แผนจัดหา 69.1 ล้านโดส
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2563-2564 ที่ได้เตรียมงบประมาณด้านการบริหารวัคซีนไว้โดยเฉพาะ 21,134 ล้านบาท โดยมีที่มาจาก งบกลางประจำปีงบประมาณ 2563-2564 จำนวน 11,346 ล้านบาท และเงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จำนวน 9,788 ล้านบาท ในรายละเอียดการใช้จ่าย ดังนี้
1.สำหรับการวิจัยและพัฒนาในประเทศ จำนวน 2,260 ล้านบาท แบ่งเป็น
- งบกลางปี 2563 จำนวน 400 ล้านบาท จัดสรรให้ จุฬาฯ พัฒนาและผลิตวัคซีน mRNA 365 ล้านบาท และศูนย์วิจัยไพรเมท เพิ่มโครงสร้างพื้นฐานสัตว์ทดลอง 35 ล้านบาท
- เงินกู้ปี 2563 – 2564 จำนวน 1,860 ล้านบาท จัดสรรให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พัฒนาศักยภาพการผลิตและควบคุมคุณภาพวัคซีน และยาชีววัตถุ 49 ล้านบาท , ไบโอเนทฯ พัฒนาและผลิตวัคซีน DNA จำนวน 650 ล้านบาท , มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุ 562 ล้านบาท , องค์การเภสัชกรรม ขยายศักยภาพการผลิตและแบ่งบรรจุวัคซีน วงเงิน 239 ล้านบาท , ใบยาไฟโตฟาร์ม วิจัยทดลองวัคซีน โดยใช้พืชเป็นแหล่งผลิต 160 ล้านบาท และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาวัคซีนต้นแบบ 200 ล้านบาท
2.ทำความร่วมมือวิจัยต่างประเทศ ให้บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด รับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 600 ล้านบาท จากงบกลางปี 2563
3.จัดหาวัคซีนซิโนแวค 8.1 ล้านโดส วงเงิน 5,059 ล้านบาท จาก งบกลาง ปี 2564
4.จัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส โดยใช้งบกลางปี 2564 และเงินกู้ รวม 11,655 ล้านบาท แบ่งเป็น 26 ล้านโดส วงเงิน 5,287 ล้านบาทจากงบกลางปี 2564 และ 35 ล้านโดส วงเงิน 6,378 ล้านบาทจากเงินกู้
5.ค่าฉีดวัคซีน 1,520 ล้านบาท จากเงินกู้
6.ค่ารักษาอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน 30 ล้านบาท จากเงินกู้
@ แจงเหตุกู้เงินอีกรอบ เร็วกว่ารอใช้งบปี 65 เดือน ต.ค.
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลเล็งเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาโควิด จึงได้ทำ พ.ร.ก.เงินกู้ฉบับนี้ขึ้นมาอีกฉบับ เพื่อวางแผนล่วงหน้า รองรับความไม่แน่นอนของการระบาดที่อาจเกิดขึ้นต่อไป ก็จะกู้เท่าที่จำเป็น เพื่อใช้ในการดูแลด้านสาธารณสุข เพื่อการเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ
“การใช้เงินกู้จะทำได้เร็วกว่า และทันสถานการณ์มากกว่ารอใช้ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2565 ที่่กว่าจะประกาศใช้ก็ เดือน ต.ค.2564 ทั้งนี้การจัดทำงบประมาณปี 2565 ได้คำนึงถึงข้อจำกัดต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากโควิด โดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติแล้ว”
@ ย้ำกองทัพจัดหายุทโธปกรณ์แค่ 1 ใน 3 ของความต้องการ
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการจัดซื้อยุทโธปกรณ์เป็นอีกเรื่องที่ต่างคนต่างมีเหตุผลไปคนละอย่าง สำหรับตนเองไม่ต้องการให้มีการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างอะไรทั้งสิ้น สิ่งสำคัญ ทุกคนต้องประเมินว่าภัยคุกคามเกิดที่ไหนบ้าง รอบบ้านมีหรือไม่ ประเทศข้างเคียงมีหรือไม่ จะมีการสู้รบหรือมีกระสุนมาตกอีกหรือไม่ จะมีความจำเป็นในเรื่องการรับผู้ได้รับกระทบจากการสู้รบภายในประเทศหรือไม่ นั่นคือภาระของเรา ฉะนั้นยานพาหนะทุกอย่างสามารถดูแลเรื่องเหล่านี้ได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะ เฮลิคอปเตอร์ รถยานเกราะ ฯลฯ เป็นการจัดซื้อจัดหาเพียง 1 ใน 3 ของความต้องการทั้งหมด
"เรื่องเรือดำน้ำได้ขอเจรจากับรัฐบาลจีนขอเลื่อนไปแล้ว 2 ปี ลองคิดดูถ้ามีลำเดียวอย่างที่ท่านว่า หากเกิดอะไรขึ้นมา ใครจะดูแลเขา ใครจะไปช่วยเขา มันจะชำรุดหรือไม่ ต้องปรับปรุงหรือไม่ เหตุผลความจำเป็นขอให้มองไปไกลถึงมหาสมุทรอินเดีย ทะเลจีนใต้ จะเกิดอะไรขึ้นหรือไม่ ก็สุดแล้วแต่ท่านจะคิด"
@ ‘คลัง’ คาด ก.ย.มีหนี้สาธารณะ 58% จาก งบปี 65 - พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีหนี้สาธารณะอยู่ที่ 8.59 ล้านล้านบาท คิดเป็น 54.9% ของจีดีพี ส่วนปี 2565 เป็นอีกเรื่องหนึ่ง โดยกระทรวงการคลังคาดการณ์ไว้ว่า เมื่อรวมงบประมาณปี 2565 กับแผนการกู้เงินทั้งหมดของรัฐบาล จะทำให้หนี้สาธารณะ ณ ก.ย.2564 อยู่ที่ 58% อยู่ในกรอบกฎหมายวินัยการเงินการคลัง
“เรามุ่งหวังในปี 2565 จะมีอะไรที่ดีขึ้น การส่งออก ตลาดโลก ตลาดประเทศเพื่อนบ้าน การส่งออกสูงขึ้น อุตสาหกรรมสูงขึ้น เราต้องมีความหวัง แม้ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะสูงขึ้น หากเทียบกับในภูมิภาคถือว่าอยู่ในระดับต่ำ เพราะญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะสูง 256.2% สิงคโปร์ 170.6% อินเดีย 89.6% มาเลเซีย 74.5% สปป.ลาว 70.94% และจีน 66.8% ต่อจีดีพี”
@ เงินกู้ 70% ลงทุนเพื่ออนาคต ‘บิ๊กตู่’ น้อยใจ 7 ปีบอกไม่มีอะไรดีขึ้น
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่ปี 2557 – 2564 รัฐบาลชำระหนี้เงินกู้ไปแล้ว 2.53 ล้านล้านบาท และเงินกู้ที่รัฐบาลกู้มา ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้แก้ปัญหาให้กับการพัฒนา เยียวยาประชาชน แก้ปัญหาโควิด และใช้หนี้ความเสียหายที่เกิดจากการโครงการรัฐ
พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท นำมาใช้การดูแลด้านสาธารณสุขเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีน คัดกรอง รักษาผู้ป่วยโควิด เฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกัน ค้นหา ตรวจโรค และอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมทั้งค่าตอบแทนเสี่ยงภัยให้กับบุคลากร นอกจากนี้เงินดังกล่าวถูกนำไปใช้ดูแลประชาชนและผู้ประกอบการผ่านโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะ โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ โครงการม.33เรารักกัน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มมากกว่า 50 ล้านคน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สำหรับเงินกู้อื่น ๆ ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลนำไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไปกว่า 2.1 ล้านล้านบาท รวม 162 โครงการ และกว่า 70% หรือ 1.5 ล้านล้านบาท เป็นการกู้เพื่อใช้ในการลงทุน เพื่อสร้างการเจริญเติบโตของประเทศ ส่งเสริมการจ้างงาน
"ท่านอาจจะมองไม่เห็น หรือเห็น ว่าบ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด ไม่ว่าจะรถไฟสายต่างๆ ถนนหลายเส้น บ้านผู้มีรายได้น้อย ระบบประปา ไฟฟ้า พลังงาน ที่กระจายความเจริญไปภูมิภาคต่างๆ ถ้าบอกว่าไม่มีอะไรดีขึ้นเลย 7 ปี ผมก็น้อยใจเหมือนกัน"
“เงินที่รัฐบาลกู้มาล้วนแต่มีผลดี หลายท่านอาจมองว่าไม่ดี ก็เกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน ไม่อยากยกตัวอย่างโครงการในอดีตที่เกิดความเสียหายตามที่พูดไปแล้วว่าอีก 12 ปีถึงจะใช้หมด”
ข่าวประกอบ :
เขาไม่รักก็กลับบ้าน! 'ชาดา'โวย สธ.ถูกตัดงบ - 'กนก' ห่วงหนี้ท่วม สัญญาณเตือนวิกฤต ศก.
'บิ๊กตู่'ย้ำมีงบจัดหาวัคซีนไม่จำกัด 'อนุทิน'ยัน สธ.ได้รับจัดสรรเงินสู้โควิดไว้แล้ว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage