สภาอภิปรายงบประมาณ 2565 วันที่สอง 'บิ๊กตู่' ยืนยัน เตรียมงบจัดหาวัคซีนมีไม่จำกัด ย้อนฝ่ายค้านปมหนี้สาธารณะพุ่ง เหตุใช้หนี้จำนำข้าว เหลืออีก 2.8 แสนล้านบาท ต้องทยอยใช้อีก 12 ปีถึงหมดภาระ ขณะที่ 'อนุทิน' ยัน สธ.มีงบพอสู้โควิดตลอด 6 เดือนนี้ หลังได้รับจัดสรรจากเงินกู้ - งบกลางปี 64 กว่า 1.2 หมื่นล้านบาท
-------------------------------------------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2564 วันที่สองที่ สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ โดยเป็นการพิจารณา วาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ระหว่างวันที่ 31 พ.ค. – 2 มิ.ย.
เมื่อเวลา 17.50 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวว่า ในเรื่องของการใช้จ่ายงบประมาณ 2565 หรือแผนการใช้จ่ายที่เสนอไปได้มีการไตร่ตรอง คัดกรองอย่างเข้มงวด ขณะที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทยเริ่มมีจำนวนลดลง เราพยายามแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้โดยเร็วที่สุดไม่ว่าจะบริหารเตียง บริหารโรงพยาบาลสนาม ปรับเรื่องการบริการฉีดวัคซีน สถานที่ฉีด เตรียมจัดหาวัคซีน รายละเอียดจะให้ รมว.สาธารณสุขชี้แจงต่อไป แต่ตนเองคำนวณในฐานะที่เป็นทหารนี่ล่ะ วัคซีนคิดง่ายๆว่าจาก มิ.ย.-ธ.ค. รวม 7 เดือน หากหาวัคซีนได้เดือนละ 10 ล้านโดส ก็จะสามารถคุ้มครองคนได้ 70 ล้านคน ถ้าหาได้เดือนละ 9 ล้านโดส ก็ 63 ล้านคน ถ้าเดือนละ 8 ล้านโดสก็ 56 ล้านคน นี่คือสิ่งที่คำนวณคร่าวๆออกมา ทั้งหมดเป็นเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขได้พยายามติดต่อ แล้วคาดว่าจะมีการเพิ่มเติมจากวัคซีนยี่ห้ออื่นเข้ามาอีก วันนี้มี 2 ยี่ห้อคือ ซิโนแวค กับ แอสตร้าเซนเนก้า และได้รับคำยืนยันมาบ้างแล้วว่าจะมีการส่ง ฉะนั้นเดือน มิ.ย.เป็นต้นไปก็จะเป็นไปตามแผน ขณะเดียวกันเราจะหาวัคซีนอื่นมาเสริม เช่น ซิโนฟาร์ม เข้ามาเพิ่มอีก ส่วนของที่ขึ้นทะเบียนกับเรา เช่น ไฟเซอร์ อาจจะเข้ามาในช่วงไตรมาส 3-4 ทั้งหมดอยู่ในแผนตรงนี้อยู่แล้ว
"ปัญหาวัคซีนวันนี้ ทุกประเทศในโลกแย่งชิงกัน มันถึงเป็นวัคซีนของรัฐ ที่รัฐจะนำส่งออกได้หรือไม่เป็นเรื่องที่บริษัทต้องขออนุมัติรัฐบาลของเขา โชคดีที่เราได้ทำสัญญาตรงนี้ไว้ก่อน ส่วนการใช้งบประมาณเรื่องของวัคซีน เราได้ตั้งงบพิเศษเพิ่มเติมขึ้นมา ตั้งในส่วน พ.ร.ก.เงินกู้ฯ และ งบกลาง ไม่มีปัญหาสำหรับเงินงบประมาณในการซื้อวัคซีน การนำเข้าต้องผ่านมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ส่วนใครจะนำเข้าในลักษณะไหนอย่างไรต้องเจรจากับบริษัทผู้แทนในประเทศของแต่ละยี่ห้อ ขอให้เข้าใจด้วยว่ารัฐบาลให้ความสำคัญตรงนี้เป็นอย่างยิ่ง" พล.อ.ประยุทธ์
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้ำว่า เรื่องของคุณภาพวัคซีน ขอยืนยันว่า ตนได้ข้อมูลจาก 3 สถาบันของหมอ และศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ที่ตนไม่ได้ใช้อำนาจคนเดียว เวลาประชุมรัฐมนตรีเกือบทั้งหมดอยู่ในที่ประชุม ก็ปรึกษาหารือกัน รวมถึงหมอ ที่ปรึกษา คนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตนตัดสินใจจากตรงนั้น ไม่ใช่ไปสั่งเอาแต่ใจอย่างที่ท่านว่า คงไม่ใช่ เข้าใจอะไรผิดหรือไม่ ไม่ทราบ วันนี้ยืนยันในขีดความสามารถของวัคซีนที่มีอยู่ ทั้งแอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม ที่มีคุณภาพใกล้เคียงกัน เพียงแต่ระยะเวลาในการฉีดมันต่างกัน เพราะทางซิโนแวค ใช้เวลาน้อยกว่าในการฉีดเข็มที่ 2 ก็สามารถฉีดได้เร็วขึ้นหากมีปริมาณที่เพียงพอ ส่วนแอสตร้าเซนเนก้า ฉีดเข็มแรกได้ผลดีอยู่แล้ว ก็ทอดเวลาได้หน่อยหนึ่ง ทุกอย่างต้องดำเนินไปตามสถานการณ์โลก เพราะวัคซีนผลิตในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ทั้งสิ้น และประเทศเขามีการระบาดอยู่เป็นจำนวนมากในปัจจุบัน หากไม่ติดตามสิ่งเหล่านี้ก็จะโทษแต่เรา คิดว่าได้พยายามทำอย่างเต็มที่ในสถานการณ์ที่ฉุกเฉินในขณะนี้
"งบประมาณวัคซีน ผมมีไม่จำกัด วันนี้กราบเรียนว่าที่ท่านพูดมาว่า โน่น นี่ ใช้ไม่ถูกต้อง ผมขอถามว่า วันนี้หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น ผมใช้หนี้จำนำข้าวไปเท่าไร ที่ว่าผมยอดสูง ผมใช้หนี้ไป 7.05 แสนล้านบาท เหลือภาระนี้อีก 2.80 แสนล้านบาท ต้องทยอยใช้อีก 12 ปีถึงจะหมดภาระ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ต่อมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า งบประมาณที่เราได้เตรียมการเอาไว้ ไม่ได้ปรากฎอยู่ในสมุดปกขาว เพราะอยู่ในเงินกู้ และงบกลางปีงบประมาณ 2564 สำหรับการใช้บรรเทาแก้ปัญหาโควิด โดยเราได้รับการอนุมัติไปแล้วในช่วง 6 เดือนที่จะถึงนี้ คือ 12,576 ล้านบาทเศษ ตรงนี้เป็นส่วนที่กระทรวงสาธารณสุขมีความมั่นใจว่า จะเพียงพอต่อการบริหารจัดการในช่วงนี้
"ส่วนความพร้อมต่อระบบสาธารณสุขของไทย รัฐบาลนี้ทั้งนั้น ที่กล้าให้คำยืนยันว่า ประชาชนคนไทย หรือแม้แต่คนต่างด้าว หากติดโควิด พวกเขาจะถึงมือแพทย์ เข้าถึงยาทุกคน ไม่มีคนไหนที่จะต้องถูกเลือกให้อยู่ หรือไม่ได้รับการรักษาเหมือนประเทศอื่นๆ ไม่มีผู้ป่วยโควิดคนไหนถูกทอดทิ้ง" นายอนุทิน กล่าว
@ ส.ส.ก้าวไกล แนะ'ลด ตัด เลื่อน'จัดซื้อยุทโธปกรณ์ ช่วยปรับงบสู้โควิด 3 หมื่นล.
เมื่อเวลา 16.20 น. นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการสนับสนุนการแก้ปัญหาโควิดของกองทัพ เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม แต่ภารกิจต่างๆ มีการเบิกจ่ายงบประมาณจาก งบกลาง ในส่วนของการบรรเทาแก้ปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด จำนวน 387 ล้านบาท โดยปรากฏในเอกสารที่กระทรวงกลาโหม เบิกจ่ายเรื่องงบกำลังพล ค่าน้ำมัน งบปฏิบัติการ ค่าใช้จ่ายเรื่องโรงพยาบาลสนาม เตียง และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ
นายพิจารณ์ กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า ในช่วงกลางปีที่แล้วกระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานที่ปรับโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีมาใช้แก้ปัญหาโควิดมากที่สุดประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาทนั้น อีกมุมหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่า กระทรวงกลาโหมมีการเบิกจ่ายได้ล่าช้า และมีความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้งบประมาณน้อยที่สุด
ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบวิกฤติที่ประเทศไทยเจอ 3 ครั้ง พบว่า ในวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2541 กระทวงกลาโหมสามารถปรับลดงบประมาณลงได้ 21% หรือ 20,700 ล้านบานท ส่วนวิกฤตแฮมเบอร์ปี 2552 ปรับลดงบประมาณได้ 9.5% หรือ 16,125 ล้านบาท แต่สถานการณ์โควิดในปัจจุบัน กระทรวงกลาโหม กลับปรับลดงบได้เพียง 5.2% หรือ 11,248 ล้านบาท ทั้งที่งบประมาณทั้งแผ่นดินลดลงไปได้ถึง 5.6%
“ผมยืนยันว่าต้องลดงบประมาณได้มากกว่านี้ ขณะที่กระทรวงกลาโหมลดงบ 11,248 ล้านบาท แต่งบประมาณที่เกี่ยวกับสวัสดิการประชาชน กลับถูกลดลง 34,727 ล้านบาทหรือ 9.15% ไม่ว่าจะเป็นกองทุนประกันสังคม บัตรคนจน การเคหะแห่งชาติ และอีกหลายแผนงานด้วยกัน” นายพิจารณ์ กล่าว
นายพิจารณ์ เสนอให้มีการลดงบประมาณของกระทรวงกลาโหม ด้วยวิธี ลด ตัด และเลื่อน จะทำให้มีงบประมาณเพื่อประชาชนอีก 29,414 ล้านบาท ดังนี้
ลดงบซื้ออาวุธแบบปีเดียว เช่น การซื้อกระสุน ปืนพก ปืนกล หรือยุทธภัณฑ์ต่างๆ โดยจากปี 2564 พบว่า กองทัพบกจัดซื้อเพิ่มขึ้น 9.2% กองทัพเรือ 164% กองทัพอากาศจัดซื้อลดลง 32.8% และกองบัญชาการกองทัพไทย จัดซื้อลดลง 47.2% หากลดในส่วนนี้ได้จะมีงบประมาณไปช่วยประชาชนอีก 3,400 ล้านบาท
ตัดงบซื้ออาวุธแบบผูกพันข้ามปี ที่เป็นโครงการเริ่มต้นใหม่ในปี 2565 เช่น รถถัง เฮลิคอปเตอร์ หรือ ยุทธภัณฑ์ชิ้นใหญ่ๆ ที่ไม่ได้จ่ายเงินจบในปีเดียว โดยพบว่า กองทัพเรือ กับ กองทัพบก มีโครงการผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2565-2568 หากตัดได้ ในปี 2565 จะมีงบเพิ่ม 1,814 ล้านบาท และตัดภาระที่จะเกิดขึ้นในปีต่อๆ ไปอีก 7,259 ล้านบาท
เลื่อนงบซื้ออาวุธที่มีการผูกพันข้ามปีอยู่แล้ว รวม 70 โครงการ มูลค่ากว่า 108,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ในปี 2565 มีงบประมาณเพิ่มขึ้น 24,200 ล้านบาท
“สิ่งนี้เป็นโครงการเดิมที่ก่องทัพกำลังผ่อนอยู่แล้ว สำหรับปี 2565 เรือดำน้ำลำที่ 1 ยังต้องผ่อนอีก 2 พันล้านบาท เรือยกพลขึ้นบก ยังต้องผ่อนอีก 1.2 พันล้านบาท เครื่องบินวีไอพี ยังต้องผ่อนอีก 675 ล้านบานท เฮลิคอปเตอร์โจมตี ยังเป็นภาระอีก 1,690 ล้านบาท รวมถึง ยานเกราะสไตรเกอร์ ผ่อนอีก 60 คัน 2,600 ล้านบาท ซึ่งเรายังต้องผ่อนยุทโธปกรณ์เหล่านี้ รวมมูลค่า 24,200 ล้านบาท ภายใต้สถานการณ์แบบนี้ รัฐบาลควรเจรจากับผู้ค้า เพื่อเลื่อนงวดผ่อนของปีนี้ออกไปก่อน จะทำให้เรามีงบสวัสดิการเพื่อประชาชนเพิ่มขึ้น” นายพิจารณ์ กล่าว
นายพิจารณ์ กล่าวด้วยว่า เมื่อตรวจสอบเอกสารงบประมาณ เล่มขาวคาดแดง หน้าที่ 764 พบโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 ปรากฏอยู่ใน รายการโครงการผูกพันตามมาตรา 41 ภายใต้แผนพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพเรือ ที่ยังอยู่และผูกพันไปถึงปี 2569
“งบปี 2563 เรือดำน้ำผ่านการพิจารณา แต่ไม่มีการจ่ายเงิน ด้วยความล่าช้าในการเบิกจ่าย ต่อมางบปี 2564 ด้วยแรงกดดันของสังคม นายกรัฐมนตรีก็ยอมเลื่อนออกไป และกองทัพเรือชี้แจงชัดเจนว่า ยังไม่มีการเซ็นสัญญาใดๆกับจีนสำหรับเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 หากเป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ หากยังไม่มีเซ็นสัญญาหรือจ่ายเงินแม้แต่บาทเดียว โครงการนี้ต้องถูกพับไปทั้งตัวโครงการและงบประมาณ หากจะซื้อต้องขอใหม่ ผ่านมติ ครม.เสียก่อน แต่โครงการนี้กลับปรากฎอยู่ในเอกสาร” นายพิจารณ์ กล่าว
นายพิจารณ์ กล่าวย้ำว่า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลก่อนหน้านี้ ได้มีการเปิดเผยจดหมายจากอดีตผู้บัญชาการทหารเรือถึงจีน ที่เรียกร้องให้มีการเซ็นสัญญาซื้อเรือดำน้ำ ตกลงแล้ว หากปรากฏในมาตรา 41 รายการงบประมาณรายจ่ายตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายที่จะต้องก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ แปลว่ามีการเซ็นสัญญากับทางการจีนมาแล้วก่อนวันที่ 30 ก.ย.2563 เพื่อไม่ให้โครงการนี้ ตกไปตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ
@ 'กรวีร์' โวยตัดงบ สธ. เปรียบส่งไปรบแต่ไม่ให้อาวุธ
ผุ้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศตั้งแต่เวลา 09.30 น.ที่ผ่านมา ประเด็นการอภิปรายยังเน้นไปที่เรื่องการจัดสรรงบประมาณในส่วนกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงกลาโหม
นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า การจัดงบประมาณปีนี้พิลึกพิลั่น เพราะกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นหัวหอกในการแก้ปัญหาโควิด กลับถูกตัดงบ 4,308 ล้านบาท เป็นการจัดงบแบบไม่เห็นความสำคัญของกระทรวง จึงอยากย้ำให้สำนักงบประมาณทราบว่า ขณะนี้เรากำลังทำสงครามกับโรคที่ต้องใช้ความมั่นคงของทางสาธารณสุขเป็นอาวุธในการต่อสู้ แต่สำนักงบประมาณไม่เห็นความสำคัญ แต่กลับปรับลด จัดงบประมาณจนกระทรวงสาธารณสุขอยู่ในลำดับที่ 6 หากเปรียบเทียบเป็นฟุตบอลก็ถือว่าอยู่กลางตาราง
ด้าน นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า เมื่อตรวจสอบงบประมาณกระทรวงกลาโหมพบว่าลดลงจริง แต่ลดในส่วนทีไม่ควรลด โดยเฉพาะงบประมาณที่หนักไปที่งบบุคลากร ที่มีจำนวนนายพลในประเทศเพิ่มมากขึ้น
“ขอวิจารณ์กองทัพอย่างตรงไปตรงมาว่าต้องลดบุคากรลง ขอฝากนายกรัฐมนตรี เพราะภารกิจหลักกองทัพคือการป้องกันประเทศ ชอบอวดว่าเป็นทหารให้อะไรบ้าง ก็งบไปอยู่ที่ทหาร ทหารไม่ต้องทำทุกเรื่อง ไม่เช่นนั้น ทหารก็มายุ่งทุกเรื่อง จึงต้องลดบุคลากรลง เพื่อไม่ให้เป็นภาระ ขอให้รีออก 30-40% ฝาก กมธ.งบประมาณ พิจารณา อะไรที่ไม่มีความจำเป็น ขอให้ตัดงบทหารออกมาช่วยโควิดทั้งหมด” นายสมคิด กล่าว
(กรวีร์ ปริศนานันทกุล ส.ส.ภูมิใจไทย)
@ ปชป.ห่วง งบ 65 และกู้ 5 แสนล. กระทบวินัยการเงินการคลัง
นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เมื่อประเทศกำลังประสบภาวะวิกฤติด้านงบประมาณ และกำลังดำเนินการไม่เป็นไปตามกฎหมายวินัยการเงินการคลัง มาตรา 20 เรื่องการขาดดุล และเรื่องงบลงทุน แม้จะบอกว่าได้มีการแก้ไขแล้วก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ระบบงบประมาณขณะนี้กำลังเข้าสู่จุดบอดที่จะนำไปสู่ปัญหา และกำลังจะชนเพดาน เนื่องจากปัญหาโควิด
“ผมไม่โทษรัฐบาล ผมไม่ได้มาตำหนิรัฐบาล แต่ผมพยายามหาทางให้เราช่วยดูแลเรื่องระบบงบประมาณให้ดี เพื่อจะได้ให้เป็นเครื่องมือที่สำคัญของประเทศ ผมเป็นห่วงมากครับ ที่ท่านนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเมื่อวานนี้ว่าจะแก้ปัญหาเรื่องงบลงทุน โดยการเพิ่มแหล่งลงทุน ช่องทางอื่นๆ ต่างๆ โดยเฉพาะใช้การกู้เงินตาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะฯ มากขึ้น ผมยืนยันว่านั่นไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหางบประมาณ แต่จะทำให้ระบบงบประมาณยิ่งอ่อนแอลง” นายพิสิฐกล่าว
นายพิสิฐ กล่าวอีกว่า ความพยายามหลบการใช้จ่าย และไปใช้ พ.ร.ก.เงินกู้ ทำให้รัฐสภาไม่มีโอกาสได้ตรวจสอบ ไม่ได้เห็นข้อมูลต่างๆ ประชาชนจะไม่ทราบที่มาที่ไป เมื่อกฎหมายประกาศใช้จะทำให้ระบบงบประมาณเสียหายมาก ดังนั้นการใช้กฎหมายกู้เงินจึงไม่ใช่หลักงบประมาณที่ดี แต่วิธีการที่จะทำได้ในเวลานี้ อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยในเรื่องแผนการคลังระยะสั้น ที่อาจจะจัดงบประมาณดูแลเศรษฐกิจที่ขาดการใช้จ่าย แต่อยากให้เพิ่มเติมไปที่เรื่องการแก้ปัญหาโควิดโดยตรง อะไรที่ไม่จำเป็นอาจจะรอไว้ก่อนได้ ยกตัวอย่าง การสร้างรั้ว สร้างป้ายใหญ่ๆ ที่บอกว่าเป็นการลงทุน หรือการสร้างถนนที่ไม่มีรถวิ่งเป้นการลงทุน คิดว่าสิ่งเหล่านี้ต้องมาทบทวน
นายพิสิฐ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับตัวชี้วัดที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นตัวชี้วัดที่ไม่มีผลต่อการสร้างวินัยการเงินการคลัง และกลับเป็นการสร้างปัญหาระหว่างหน่วยงาน ซึ่งสำนักงบประมาณไม่ได้ตั้งงบหลายงบที่กระทรวงการคลังรับผิดชอบ เช่น งบชำระหนี้ งบสวัสดิการ ทำให้ต้องมีการใช้เงินคงคลัง ด้านกระทรวงการคลังจึงต้องหันมาชูตัวชี้วัดเหล่านี้ใน พ.ร.บ.วินัยการคลัง ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องสังคายนาตัวชี้วัดเหล่านี้ พร้อมกับการปรับปรุงระบบการคลัง
“ผมไม่อยากให้เราเข้าสู่การทำผิดกฎหมาย โดยที่เราอนุมัติงบประมาณไป เพราะงบประมาณปี 2565 จะมีการขาดดุลถึง 7 แสนล้านบาท หากเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย แต่ยังมีรายจ่ายเงินกู้อีก 5 แสนล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาโควิด ก็จะกลายเป็นตัวเพิ่มหนี้อีกตัวหนึ่ง เมื่อนำมารวมกันก็จะเป็นการกู้เงิน 1.2 ล้านล้านบาท ดังนั้นใน 3 ปีนี้เรามีการขาดดุลเกินกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปี รวม 3 ปี ทั้งหมดเป็นที่มาของตัวเลขหนี้ต่อจีดีพี ที่จะต้องสูงกว่า 60% ดังนั้นเมื่อที่ประชุมแห่งนี้เราจะต้องอนุมัติงบประมาณปี 2565 ถ้าหากอนุมัติก็จะเท่ากับเปิดทางให้รัฐบาลทำผิด พ.ร.บ.วินัยการคลังที่นายกรัฐมนตรีเซ็นไป” นายพิสิฐ กล่าว
(พิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.ประชาธิปัตย์ และ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง)
@ ‘คลัง’ ยืนยันทำงบปี 65 บนพื้นฐานความหวังว่า ศก.ฟื้นตัวได้
ขณะที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง ชี้แจงนายพิสิฐ ที่แสดงความกังวลในเรื่องของการจัดทำงบประมาณ 2565 โดยเฉพาะในส่วน งบลงทุน ที่น้อยกว่ากรอบวงเงินขาดดุลงบประมาณในปีนี้ ว่า ในช่วงปี 2563 – 2565 เรายังอยู่ในสถานการณ์วิกฤตโควิด แต่มีความคาดหวังและคาดการณ์ว่าปี 2565 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวได้ ทั้งนี้จำเป็นต้องใช้เงินงบประมาณเพิ่มขึ้นในการรับมือกับสถานการณ์ ที่มีการแก้ไขสัดส่วนต่างๆ ที่กำหนดโดยคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง (กนง.) เพื่อผ่อนคลายให้ระดมเงินมาใช้ในช่วงนี้ได้ อย่างไรก็ตาม มีกฎหมายเกี่ยวข้อง 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2561 , พ.ร.บ.การคลังเงินการคลัง และ พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารหนี้สาธารณะ ในมาตรา 11 ของพ.ร.บ.วิธีงบประมาณ ระบุชัดว่ากรณีจัดเก็บรายได้ต่ำกว่ารายจ่ายให้แถลงวิธีการหาส่วนที่ขาดดุลต่อรัฐสภาด้วย ในกรณีที่จะต้องมีการกู้เงินเพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ซึ่งคำแถลงของนายกรัฐมนตรี เขียนไว้ชัดว่าจะใช้ 2 วิธีหลักใน พ.ร.บ.ร่วมทุน คือ กิจการบางอย่างที่เป็นงบประมาณลงทุนของราชการอาจจะไปใช้ลงทุนร่วมกับภาคเอกชนด้วย และการบรรจุโครงการไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้แผนบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งมีหลายโครงการที่ส่วนราชการต่างๆขอใช้เงินกู้
นายอาคม กล่าวย้ำว่า กรณีโครงการกิจการร่วมทุน PPP ที่เป็นโครงการของราชการ ปกติใช้งบประมาณแผ่นดิน แต่ได้งบประมาณร่วมทุน เช่น กรณีมอเตอร์เวย์ หรือ โครงการบำบัดน้ำเสียของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จะใช้หลักการกฎหมายหนี้สาธารณะ ในกรณีที่เป็นเงินกู้ต้องออกคนละครึ่ง โดยรัฐกู้เพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งใช้งบประมาณแผ่นดิน
ส่วนความกังวลว่า หนี้สาธารณะจะทะลุเพดานหรือไม่ ขอกราบเรียนว่ายังอยู่ในกรอบ 60% ที่คณะกรรมการวินัยการเงินการคลังเป็นผู้กำหนด ส่วนแผนบริหารหนี้สาธารณะ มีแผนระยะสั้น คือ การบริหารประจำปี รวมถึงแผนบริหาร 3 ปีข้างหน้า ที่อยู่ระหว่างเสนอให้คณะกรรมการวินัยการเงินฯพิจารณาต่อไป
รมว.คลัง กล่าวอีกว่า ส่วนการจัดเก็บรายได้แผ่นดิน หลักๆ คือเรื่องภาษี ต้องดูเรื่องอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่เสียภาษี รวมถึงการใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกให้มากขึ้น ส่วนอีกด้านก็มีเรื่องภาษีใหม่ๆที่ไม่เคยจัดเก็บ เช่น ภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ที่อาจมีการขยายฐานภาษีต่อไป นอกจากนั้น กระทรวงการคลัง ได้มีการศึกษาโดยขอความช่วยเหลือจากธนาคารพัฒนาเอเชีย และธนาคารโลก มาช่วยศึกษาโครงสร้างระบบจัดเก็บภาษีของเรา ว่าควรจะปรับปรุงอย่างไรให้มีความยั่งยืนในการจัดเก็บรายได้ในอนาคต
ด้านนายพิสิฐ อภิปรายโดยใช้สิทธิ์พาดพิง ว่า การชี้แจงดังกล่าวเป็นเพียงแค่เรื่องบางส่วนที่ตนกังวล เพราะการร่วมทุนกับเอกชนเป็นเรื่องที่รัฐทำอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือ นายกรัฐมนตรีประกาศในคำแถลงวานนี้ว่า วิธีการแก้ปัญหาเรื่องงบลงทุนที่น้อยไปนั้น จะอาศัยการกู้เงินโดยการออกกฎหมายตาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะฯ ซึ่งโดยหลักการควรจะต้องระดมทรัพยากรเข้าสู่ส่วนกลาง แล้วค่อยกระจายออกไปให้งานที่เป็นประโยชน์ และต้องมีการเปิดเผยข้อมูลในสภารับทราบ แต่ทุกวันนี้ ทั้ง พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทที่ผ่านไปแล้ว หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทที่จะเข้าสู่การพิจารณา เป็นการออกกฎหมายอย่างรวดเร็วในเวลาสั้นๆ โดยไม่มีข้อมูลปรากฏให้สภาได้ตรวจสอบ วิธีนี้เป็นการทดแทนงบลงทุน แต่ตามหลักบริหารจัดการงบประมาณยังถือว่าเป็นการทำที่ไม่ถูกต้อง จึงอยากให้ระวังในสิ่งนี้และไม่ให้ทำอีก
ข่าวประกอบ :
เขาไม่รักก็กลับบ้าน! 'ชาดา'โวย สธ.ถูกตัดงบ - 'กนก' ห่วงหนี้ท่วม สัญญาณเตือนวิกฤต ศก.
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage