สภาอภิปรายงบปี 65 วันแรก 'กนก'ห่วงหนี้ท่วม สัญญาณเตือนวิกฤติเศรษฐกิจ - 'ชาดา' โวย สธ.ถูกตัดงบ บอก 'อนุทิน' เขาไม่รักก็กลับบ้าน - ขณะที่ ประเสริฐ จันทรรวงทอง' อัด จัดงบปี 65 ไร้ยุทธศาสตร์ปราบโควิด เหมือนประเทศไทยไม่ได้อยู่ในวิกฤติ จี้ ‘บิ๊กตู่’ ลาออก ถ้า 7 มิ.ย.วัคซีนไม่มาตามแผน ส่วน 'วิโรจน์' เผยไส้ในกองทัพเพิ่มงบซื้ออาวุธ
----------------------------------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2564 สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ โดยเป็นการพิจารณา วาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ระหว่างวันที่ 31 พ.ค. – 2 มิ.ย.
@ ‘กนก’ ห่วงหนี้ท่วม สัญญาณเตือนวิกฤตเศรษฐกิจ
เมื่อเวลา 14.00 น. นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี คือ แผนปฏิบัติการของรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาประเทศและประชาชนในแต่ละปี และถือเป็นคำประกาศของรัฐบาลต่อประชาชนว่าจะใช้เงินของประเทศ หรือภาษีของประชาชนในเรื่องอะไรในแต่ละปี คำถามคือ งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 แก้ไขปัญหาประเทศและประชาชนแค่ไหน เป้าหมายการแก้ปัญหาของประเทศและประชาชนคือ ทำให้มีรายได้มากขึ้น มีผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นและแข่งขันได้ งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 จะบรรลุเป้าหมายนี้แค่ไหนถือว่าเป็นประเด็นที่สำคัญ
ส่วนสถานะการเงินของประเทศ มีรายได้สุทธิในปี 2565 คือ 2.4 ล้านล้าบาท ลดลงจากปี 2564 จำนวน 277,000 ล้านบานท ส่วนหนี้สาธารณะมี 8.19 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 1.20 ล้านล้านบาท โดยมีรายจ่ายชำระคืนเงินกู้ต่อปี ที่ต้องจ่ายถึง 1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 1,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีหนี้ครัวเรือนของประชาชนอีก 13 ล้านล้านบาท คิดเป็น 86.6% ของจีดีพี หากรวมหนี้รัฐบาลและประชาชนเข้าด้วยกัน จะมีมากกว่า 21 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่าจีดีพีของประเทศไปแล้ว อย่างนี้เรียกว่า หนี้ท่วมรายได้
เมื่อดูเฉพาะหนี้ของรัฐบาล 8.1 ล้านล้านบาท รายได้ 2.4 ล้านล้านบาท หากเทียบสัดส่วนแล้ว หมายความว่า รัฐบาลมีหนี้สูงกว่ารายได้ถึง 3.3 เท่า ข้อสังเกตที่เห็นชัดคือ หากรัฐบาลไม่มีรายได้เพิ่ม จะต้องใช้เวลาชำระหนี้ถึง 81 ปี สิ่งที่ต้องคิดก็คือว่า จะแก้ปัญหาหนี้ท่วมนี้อย่างไร งบประมาณรายจ่ายประจำปีของเราจะช่วยแก้ปัญหานี้อย่างไร
นายกนก กล่าวด้วยว่า คำถามสำคัญที่ต้องมีคำตอบก็คือว่า ประเทศไทย คนไทย และรัฐบาลไทย จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากอะไร และด้วยวิธีการอะไร คำถามต่อมาคือ งบประมาณรายจ่ายประจำปีจะช่วยให้เกิดรายได้เพิ่มของประเทศและประชาชนได้อย่างไร ฉะนั้นทุกกระทรวงและกรมต้องมีคำตอบ
นอกจากนั้นในสถานการณ์ปัจจุบันและอีก 10 ปีจากนี้ไป เราจะพบว่า ปัญหาสำคัญของประเทศและประชาชนมี 3 ประการคือ 1.ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ที่สถานการณ์โควิดทำให้เกิดขึ้นเร็วและรุนแรง 2.หนี้ระยะสั้น หากไม่รีบแก้ไขแบบมืออาชีพ คนไทยจะมีสภาพชีวิตที่ยากลำบากอีกอย่างน้อย 10-15 ปี นั่นคือสภาพชีวิตหนี้ท่วมรายได้ และ 3.ผลิตภาพที่แข่งขันไม่ได้ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ไทยแทบไม่ได้พัฒนาผลิตภาพเลย ในด้านการผลิตเรายังทำเกษตรด้วยวิธีการเดิม เมล็ดพันธุ์ชุดเดิม ผืนแผ่นดินเดิมที่ไม่ได้ปรับปรุงคุณภาพดินมายาวนาน ด้านอุตสาหกรรมเรายังใช้เครื่องจักรชุดเดิมที่ลงทุนเมื่อ 20 ปีก่อน ด้านทักษะฝีมือแรงงาน คุณภาพการศึกษาไม่ได้ช่วยให้เกิดการวิเคราะห์และการแก้ปัญหาของแรงงานทุกระดับชั้นดีขึ้น แรงงานฝีมือไม่ได้รับการยกระดับด้านเทคโนโลยีแต่อย่างใด ส่วนด้านทุนการเข้าถึงของเกษตรกรและเอสเอ็มอียังต่ำมาก
นายกนก กล่าวย้ำว่า ขอส่งคำเตือน 4 ข้อถึงงบประมาณรายจ่ายประจำปี ดังนี้
1.เมื่อรายได้ไม่เพิ่มขึ้น ในขณะที่หนี้เพิ่มขึ้น วิกฤติเศรษฐกิจจะตามมา
2.เมื่อผลิตภาพไม่โต ประเทศแข่งขันไม่ได้ ในที่สุดประเทศจะล้าหลังและถอยหลัง
3.งบประมาณแต่ละกระทรวง ต้องแก้ปัญหาประชาชนได้จริงด้วยความรู้อย่างแม่นยำ เพราะงบประมาณมีจำกัด
4.การสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในสถานการณ์โควิด ประชาชนต้องได้รับวัคซีนโดยเร็ว เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ประชาชนจะได้กลับไปทำมาหากิน และเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไป
(กนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์)
@ ‘ชาดา’ เดือด สธ.ถูกตัดงบ บอก ‘อนุทิน’ ถ้าเขาไม่รักก็กลับบ้าน
ขณะที่นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า รัฐมนตรีทุกคนเวลามีความคิดที่จะเข้ามาบริหารบ้านเมือง แต่เมื่อเจอสำนักงบประมาณ เจอสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่าการจัดสรรงบประมาณในปีนี้ไม่ให้เกียรติประชาชน เพราะในสถานการณ์โควิด สำนักงบประมาณตัดงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขลดลงแทบทุกส่วน คนที่ดูแลประชาชนในช่วงโควิดก็คือกระทรวงสาธารณสุข ส่วนเหตุผลที่บอกให้ไปใช้งบกลาง ก็เป็นเรื่องที่ลำบาก ยกตัวอย่าง ส่งทหารไปรบชายแดนไปสู้กับข้าศึก โดยไม่ให้อาวุธไป ไม่ให้สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆไป แล้วท่านบอกว่าจะยิงปืนใหญ่ไปสมทบ คิดว่าศึกนี้จะชนะหรือไม่ ซึ่งเป็นไปได้ และเป็นการจัดงบประมาณที่ไม่แคร์ความรู้สึกของประชาชน ไม่ได้คิดว่าคนทำงานจะเจอปัญหาอะไรต่างๆมากมาย
นายชาดา กล่าวอีกว่า ในงบเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท มีงบสาธารณสุขอยู่ 4 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันเบิกจ่ายไปเพียงแค่ 2 หมื่นล้านบาท และสิ่งที่สำคัญคือเบี้ยเลี้ยงเสี่ยงภัยของแพทย์ 6 พันกว่าล้านบาท ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ และจะให้ทหารไปรบกับข้าศึกอย่างไร ถือว่าสิ่งที่สำคัญทำให้ประชาชนหรือคนทำงาน เกิดความเจ็บปวด
“ท่านประธานที่เคารพครับ ผมอยากให้ สศช. และสำนักงบประมาณไปโรงพยาบาลของรัฐบ้าง ว่าทุกวันนี้ยังขาดแคลนอะไร และสถานการณ์โควิดตัดแม้แต่งบประมาณของแพทย์ปฐมภูมิที่ดูแลประชาชนโดยตรง ตัดทุกหน่วยงานยังไม่ว่า งานบริการประชาชน ก็มาตัดลงอีก ท่านใจดำมาก ทั้ง 2 หน่วยงานใจดำมาก” นายชาดา กล่าว
นายชาดา กล่าวย้ำว่า ในการฉีดวัคซีนแต่ละครั้งในต่างจังหวัดไม่มีบริการรถสาธารณะ และมีคำสั่งให้ไปฉีดที่โรงพยาบาล ประชาชนต้องเดินทางไป บางคนยากจนไม่มีรถ ต้องมีการไปรับไปส่ง ค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนทราบหรือไม่ว่า งบประมาณจากส่วนกลางไม่เคยส่งไป แม้กระทั่งเข็มฉีดวัคซีน 1 เข็ม ราคา 10 บาท ประชาชน 50 ล้านคนใช้งบประมาณ 500 ล้านบาท ฉีด 2 ครั้งก็ใช้งบประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท กลับไม่มีการพูดถึง วันนี้ในต่างจังหวัดไม่ว่าจะโรงพยาบาลสนาม หรือกักตัวในรีสอร์ต ใช้งบประมาณฉุกเฉินของผู้ว่าราชการจังหวัดและงบท้องถิ่น วันนี้ สศช.ไม่รู้บทบาทหน้าที่ของตัวเอง เพราะเป็นหน่วยงานที่อยู่ข้างๆ ต้องให้คำปรึกษา ให้คำชี้แนะ แต่วันนี้มีบทบาทเป็นผู้นำ พิจารณากลั่นกรองงบประมาณผ่านโดย สศช. ทั้งที่ควรจะเป็นสภาของนักวิชาการ วิเคราะห์งบประมาณ หากทำงานไม่เป็น ขอให้มาศึกษาที่สำนักงบประมาณของรัฐสภา (PBO) เพื่อจะได้ดูว่าเขาวิเคราะห์และดูงบประมาณอย่างไร
“ผมอยากจะบอกว่าให้ สศช.พิจารณาตัวเอง ดูบทบาทหน้าที่ตัวเองใหม่ เหมือนสมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นเลขานุการ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ทำงานได้ดี แต่เมื่อมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เกิดปัญหาต่างๆมากมาย เป็นข้อบ่งชี้ให้เห็น สศช.ที่ยืนอยู่ผิดที่ ทั้งนี้การดูแลขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเครื่องเอกซเรย์ ห้องความดันลบ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ท่านไม่ให้เลย ท่านใจดำเกินไปหรือไม่ แล้วประชาชนจะมีขวัญกำลังใจอย่างไร ข้าราชการสาธารณสุขทั่วประเทศจะรู้สึกอย่างไร หรือต้องอาศัยพี่ตูนมาวิ่งรอบประเทศอีกสักครั้งหนึ่ง เรียนด้วยความเคารพ แม้แต่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก็ถูกตัด หรือท่าน คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่รักนายอนุทิน ชาญวีรกูล เสียแล้ว ท่านถึงได้ตัดงบประมาณแบบนี้ ผมอยากจะบอกว่า หัวหน้าครับ ถ้าเขาไม่รัก ก็กลับบ้านเราเถอะครับ ด้วยความเคารพ” นายชาดา กล่าว
(วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.ก้าวไกล และ ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.เพื่อไทย)
@ ท้า'บิ๊กตู่'ลาอก ถ้า 7 มิ.ย.ไม่มีวัคซีน
เมื่อเวลา 12.00 น. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า สืบเนื่องจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ บริหารราชการแผ่นดินตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีการใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศที่เป็นรูปธรรมได้ ยิ่งในสถานการณ์โควิดที่ต้องใช้งบอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ
นายประเสริฐ กล่าวด้วยว่า เมื่อดูงบประมาณรายจ่ายประจำ ที่ตั้งไว้ 2.3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 76.15% ของงบประมาณ ไปดูงบรายจ่ายเพื่อการลงทุน 20% หรือ 624,000 ล้านบาท ยอดนี้งบส่วนหนึ่งอยู่ในกระทรวงกลาโหม เป็นการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่องคือรัฐวิสาหกิจ ที่มีทั้งหมด 52 แห่ง ประกอบกิจการประสบผลขาดทุนหลายแห่ง ล้วนเป็นปัญหาที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เช่น การบินไทย ที่จำเป็นต้องใช้เงินงบประมาณในการแก้ปัญหาต่อไป เหตุที่หยิบยกเรื่องนี้ เพราะเป็นการชี้ให้เห็นถึงการล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน การแต่งตั้งผู้บริหาร 50 กว่าแห่ง เกือบทั้งหมดเป็นนายทหาร หลายคนไม่มีความรู้ความสามารถในการบริหารหน่วยงาน นอกจากนั้นรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง ยกตัวอย่าง องค์การคลังสินค้า (อคส.) ยังเคยมีปัญหาเรื่องการทุจริต เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลไม่สามารถนำงบประมาณไปใช้แก้ปัญหาของประเทศ มิติการทุจริตที่เกิดขึ้น พบทั้งเรื่องหน้ากากอนามัย ถุงมือยาง ทั้งที่อยู่บนพื้นฐานความเดือดร้อนของประชาชน มีการหาประโยชน์จากองค์การขนาดใหญ่ มองประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าประโยชน์ประชาชน เมื่อหลักคิดเป็นเช่นนี้ จึงมีข้อสังเกตการทำงบประมาณปี 2565 รวม 5 ประเด็น
1.การทำงบประมาณ ไม่สะท้อนกับการแก้ปัญหาประเทศ ยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้านไม่มีการกล่าวถึงโควิดแต่อย่างใด ทั้งที่ส่งผลกระทบถึงสังคม เศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ และประชาชนกำลังประสบอยู่
“สงครามวันนี้เรียกว่าสงครามโควิด เป็นสงครมมที่ควรให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณ แต่รัฐบาลทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เหมือนประเทศไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติ เหตุใดจึงไม่มีการจัดสรรงบประมาณยุทธศาสตร์ด้านการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูประเทศจากโควิด เมื่อการจัดสรรไม่สะท้อนปัญหา ส่งผลให้การเติบโตด้านเศรษฐกิจไปไม่ถึงไหน” นายประเสริฐ กล่าว
2.การไร้ประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณ ตลอด 7 ปีที่ผ่านมารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ใช้งบประมาณในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งสิ้น 20.8 ล้านล้านบาท และกำลังจะใช้อีก 3.1 ล้านล้านบาท แต่ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโต ซึ่งในรอบ 7 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 1% เท่านั้น
3.การตัดงบประมาณที่สำคัญลงหลายจุด แต่งบกระทรวงกลาโหมกลับเพิ่มขึ้น โดยภาพที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ กระทรวงสาธารณสุข งบลดลง 4.3 พันล้านบาท หรือลดลง 2.74% เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 12 ปี ส่งผลให้งบที่ใช้สำหรับรักษาสุขภาพของคนไทยถ้วนหน้าลดลงตามไปด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคล้วนถูกตัดงบประมาณลงทั้งสิ้น
“ยกตัวอย่าง สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงด้านวัคซีน ได้งบประมาณ 22 ล้านบาท วันนี้การจัดงบประมาณรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกระทรวงนี้แต่อย่างใด ซ้ำร้ายยังจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ที่มีทหารเข้ามาควบคุม ไม่มีความรู้ทางระบาดวิทยา ยึดอำนาจจากกระทรวงสาธารณสุข การดำเนินการของ ศบค.เป็นที่ประจักษ์อย่างยิ่งถึงความล้มเหลว โดยเฉพาะเรื่องการกระจายวัคซีน แต่กระทรวงกลาโหมกลับได้รับงบเพิ่มขึ้น ในขณะที่ประเทศเผชิญปัญหาเรื่องโควิด กองทัพนำเม็ดเงินไปจัดซื้อยุทโธปกรณ์ 3 เหล่าทัพเป็นเงินมากกว่า 8,274 ล้านบาท ทั้งที่ไทยไม่ได้วิกฤติหรือเป็นเป้าหมายของการโจมตีจากประเทศใดในโลก” นายประเสริฐ กล่าว
4.การกระจายงบประมาณไม่เป็นธรรมและเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง เรื่องนี้ปรากฎเป็นข่าวและประชาชนเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง เห็นได้ชัดจากการบริหารการกระจายวัคซีนที่ไร้ยุทธศาสตร์และไร้ทิศทาง การประกาศว่าการฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ เป็นเพียงวาทกรรมที่สวยหรู นายกรัฐมนตรีไม่เคยบอกเลยว่า รายละเอียดจะดำเนินการอย่างไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม ในรอบที่ผ่านมา จังหวัดที่มีพื้นที่สีแดง กลับได้รับการจัดสรรวัคซีนน้อยกว่าสีขาวหรือสีเขียว เช่น สมุทรปราการ ที่จะได้รับวัคซีนในเดือน มิ.ย. 237,000 โดส ขณะที่ ปทุมธานี อยู่โซนสีแดง ได้รับการจัดสรรตามที่ปรากฏเป็นข่าว 62,000 โดส
“แม้กระทั่ง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลอย่างน้อย 2 พรรค ยังออกมาตำหนิรัฐบาลถึงการจัดสรรและการกระจายวัคซีนไม่เป็นธรรม มีการเล่นพรรคเล่นพวก เป็นศึกการกระจายวัคซีนที่ไม่หลากหลาย ไม่รวดเร็ว ไม่ทั่วถึง และไม่ทันการณ์ ขอเรียนว่าจะคอยดูวันที่ 7 มิ.ย.การฉีดวัคซีนแบบปูพรมของแอสตร้าเซนเนก้าจะดำเนินการได้หรือไม่ จะเป็นโรคเลื่อนหรือไม่ ถามว่าวันนี้ยังไม่มีใครกล้าบอกว่าวัคซีนจะได้วันไหน หากวัคซีนไม่มา นายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน ศบค.โปรดแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกด้วย เพราะประชาชนไม่เชื่อมั่นในการแก้ปัญหาในสถานการณ์วิกฤติของท่าน” นายประเสริฐ กล่าว
5.การจัดสรรงบประมาณที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับท้องถิ่น มีการหั่นงบประมาณลง 7.3 หมื่นล้านบาท ส่วนการจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจเป็นไปในลักษณะที่เรียกว่าใครมือยาวสาวได้สาวเอา
@ อัดไส้ในกองทัพเพิ่มงบซื้ออาวุธ ส่วน สธ.สู้โควิดกลับถูกปรับลด
ขณะที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ตั้งแต่วันที่พบผู้ติดเชื้อรายแรกจนถึงวันนี้ รัฐบาลมีเวลารับมือสถานการณ์โควิดถึง 1 ปี 4 เดือน 18 วัน ผ่านมาแล้ว 2 ปีงบประมาณ พร้อมเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท และมีการกันเงินไว้สำหรับงานด้านสาธารณสุข 45,000 ล้านบาท แต่กลับเบิกจ่ายได้เพียง 7,103 ล้านบาท
นายวิโรจน์ กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้จัดลำความสำคัญไม่เป็น หากจำกันได้ปีงบประมาณก่อน กว่าจะตัดเรือดำน้ำได้ ยากเย็นแสนสาหัส สุดท้ายยานเกราะล้อยางก็เอามาจนได้ กางเกงใน ถุงเท้า ราคาแพงเป็น 3 เท่าก็ดึงดันจะสู้อยู่ดี สภาพประเทศทุกวันนี้ เปรียบเหมือนบ้านที่พ่อแม่ล้มป่วยตกงาน แต่ลูกจะตื้อที่จะซื้อของเล่นให้ได้ ส่วนงบประมาณปี 2565 คนไม่ได้คาดหวังอะไรมาก แต่เขาหวังเห็นงบที่รู้ว่าอะไรควรจ่าย อะไรไม่ควรจ่าย
ยกตัวอย่างการจัดการสถานการณ์โควิด ค่าใช้จ่ายที่ถูกที่สุด ทุกคนทราบดีคือการป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มละ 120 บาท 2 เข็ม 240 บาท พอฉีดช้า ไม่ยอมฉีด ปล่อยให้เกิดการระบาด ลำพังแค่ค่าตรวจ RT-PCR ก็ 3,000 บาท พอตรวจช้า ไม่ตรวจเชิงรุก รอคิวตรวจ รอผลตรวจ คนป่วยกว่าจะหาหมอก็มีอาการหนัก ต้องจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ 50 เม็ด 6,000 บาท
“วัคซีน 240 บาทไม่จ่าย สุดท้ายต้องจ่ายค่าตรวจ 3,000 บาทเจอค่ายาอีก 6,000 บาท พอผลตรวจออกช้า จ่ายยาช้า สุดท้ายเข้าห้องไอซียูคืนละ 5-6 พันบาท เห็นจะประหยัดอย่างเดียวคือค่างานศพ เพราะตายด้วยโควิด สวดคืนเดียวก็เผาเลย” นายวิโรจน์ กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวย้ำว่า ขอให้เลิกการสื่อสารทำนองแดกดันประชาชนที่ต้องการเลือกฉีดวัคซีน พอประชาชนบอกอยากจะฉีดไฟเซอร์ มีการไปตอบโต้ว่า ประเทศไทยไม่ได้ร่ำรวย อย่าไปเลือกฉีดวัคซีนเลย ตนฟังแล้วคิดว่า ไฟเซอร์เข็มละ 1 หมื่นบาท เอาเข้าจริงเข็มละ 600 บาท 2 เข็ม 1,200 บาท ต่อให้ฉีดให้ 67 ล้านคน ใช้เงิน 8 หมื่นล้าบาท ส่วนซิโนแวค ถูกกว่าไฟเซอร์ 51 บาท ยังไม่นับกรณีซีอีโอไฟเซอร์ บอกว่า ประเทศที่มีรายได้ปานกลางมีส่วนลดให้ด้วย ยกตัวอย่าง โคลัมเบีย ได้เข็มละ 372 บาท ถ้ามาฉีดให้ไทย 67 ล้านคนใช้งบ 5 หมื่นล้านบาท ทั้งหมดคืองบฉีดวัคซีน ควรต้องเร่งจ่าย รัฐบาลไม่ยอมเร่งฉีด และคุ้มกับความเสียหายทางเศรษฐกิจที่นายกรัฐมนตรี ทราบดีว่ามีมูลค่าความเสียหาย 2.5 แสนล้านบาทต่อเดือนหรือไม่
นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า หากนับเฉพาะเงินเยียวยา โครงการเราไม่ทิ้งกัน ใช้ไปแล้ว 3.9 แสนล้านบาท โครงการเราชนะ 2.1 แสนล้านบาท เรารักกัน 37,100 ล้านบาท พอการระบาดระลอกสาม เราชนะ กับ เรารักกัน ถูกเพิ่มงบอีก 85,500 ล้านบานท เราชนะวันนี้ใครชนะ เรารักกันใครไปรักกับคุณ วัคซีน 1.6 หมื่นล้านบาทไม่จ่าย ต่อให้ฉีดไฟเซอร์ก็แค่ 8 หมื่นล้านบาท สุดท้ายต้องจ่ายเยียวยา 7 แสนล้านบาทที่ไม่รู้ว่าจะต้องเยียวยาไปจนถึงเมื่อไร
งบประมาณปี 2565 รัฐบาลแกล้งทำตัวเลขให้ภาพรวมลบ แต่พอไปเจาะไส้ในกลับซุกซ่อนโครงการที่น่าละอายอยู่เต็มไปหมด ยกตัวอย่าง กองทัพบกในปี 2565 ภาพรวมปรับลดงบ 6,600 ล้านบาท แต่เมื่อเจาะดูรายละเอียด อย่างโครงการเสริมสร้างจัดหายุทโธปกรณ์ ปี 64 มีอยู่ 3,132 ล้านบาท แต่ปี 65 เพิ่มขึ้นเป็น 4,937 ล้านบาท ส่วนกองทัพเรือ ภาพรวมลดลง 1,330 ล้านบาท แต่พอเจาะไส้ในโครงการเดียวกัน ปี 64 มีงบ 533 ล้านบาท แต่ปี 65 เพิ่มขึ้นมาเป็น 1,406 ล้านบาท ภาพรวม 2 กองทัพ มีงบเสริมสร้าง และจัดหายุทโธปกรณ์เพิ่มขึ้น 2,678 ล้านบาท อย่างไรก็ตามตนไม่ได้ห้ามการจัดซื้อ แต่หากทำให้งบเท่ากับปีก่อน เงิน 2,678 ล้านบาทจะสามารถใช้ประโยชน์กับประชาชนในช่วงโควิดได้เยอะแยะ
“หากนำไปซื้อวัคซีนไฟเซอร์ได้ 4.4 ล้านโดส ฉีดได้ 2.2 ล้าน ซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 22 ล้านโดส ฉีดได้ 11 ล้านคน นำไปตรวจ RT-PCR ได้ 1 ล้านคน หรือซื้อชุด PARP สำหรับแพทย์ 3 แสนชุด หรือซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ 22 ล้านเม็ดสำหรับ 446,000 คน งบที่อ้างว่าปรับลดลงแล้ว ไม่ใช่ว่าดีแล้ว ถ้าปรับแล้วยังมีงบไม่ถูกกาลเทศะ ซุกซ่อนอยู่ ก็ต้องปรับลดลงอีก” นายวิโรจน์ กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวย้ำว่า ส่วนที่กระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะกรมควบคุมโรคที่เป็นหน่วยงานสำคัญการสกัดกั้นโควิด พบว่างบลดลง 479 ล้านบาทหรือลดลง 11.8% ส่วนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ลดลง 144 ล้านบาท หรือลดลง 10.4%
(พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแ ละ รมว.กลาโหม)
@ นายกฯคาดปี 65 จีดีพีโต 4-5%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ก่อนเข้าสู่การอภิปราย ที่ประชุมได้ชี้แจงแนวทางการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด โดยสภากำหนดให้ผู้ที่จะอภิปรายบริเวณที่นั่งของตนเองต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา อย่างไรก็ตามได้มีการเตรียมโพเดียมที่มีการจัดเตรียมไว้ให้ จึงจะสามารถถอดหน้ากากเพื่ออภิปรายได้
เมื่อเวลา 10.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวเปิดการอภิปราย ว่า สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากปี 2564 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันนโยบายและมาตรการต่างๆ สามารถขับเคลื่อนต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม รัฐบาลดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด โดยเศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 2.5 - 3.5% จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ตามความคืบหน้าของการอนุมัติและกระจายวัคซีนให้กับประชาชนในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก รวมถึงมาตรการผ่อนคลายทางเศรษฐกิจ และการใช้จ่ายภาครัฐ การกลับมาขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวม
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามยังมีข้อจำกัดและความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย ได้แก่ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิดทั้งในและต่างประเทศที่รุนแรงและยืดเยื้อ จนนำไปสู่การดำเนินมาตรการควบคุมเข้มงวดมากขึ้น แนวโน้มภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวช้า เงื่อนไขด้านฐานะการเงินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง ความผันผวนของเศรษฐกิจและระบบการเงินของโลก ทั้งนี้คาดว่าจะมีอัตราเงินเฟ้อ 1 – 2 %
ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัว 4-5% จากการขยายตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภาคต่างประเทศ ตามแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจ ส่วนอุปสงค์ภายในประเทศคาดว่าจะขยายตัวในเกณฑ์ดีทั้งการบริโภคและการลงทุนของเอกชน ปัจจัยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น หลายประเทศเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ภายใต้เงื่อนไขการกระจายวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ช่วงปลายปี 2564 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อ 0.7-1.7%
นโยบายด้านการคลัง และความสัมพันธ์ระหว่างรายรับและงบประมาณรายจ่ายที่ขอตั้ง ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจดังกล่าว คาดว่าจะจัดเก็บรายได้ 2.51 ล้านล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 10.26% และเมื่อหักจากการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้ท้องถิ่น 111,000 ล้านบาท คงเหลือรายได้สุทธิ 2.4 ล้านล้านบาท หรือ 13.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ส่วนงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้ 3.1 ล้านล้านบาท เป็นการดำเนินงบประมาณแบบขาดดุล ที่ต้องกู้ชดเชยการขาดดุล 7 แสนล้านบาท ทั้งนี้จากผลกระทบของโควิด ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และได้กำหนดรายจ่ายลงทุนไว้ 624,399.9 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20.14% ซึ่งเป็นวงเงินที่น้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลงบประมาณ อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้แก้ไขกรณีดังกล่าว โดยเพิ่มแหล่งเงินทุนในช่องทางอื่น ได้แก่ การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) เร่งรัดการลงทุนต่างๆ รวมถึงการเห็นชอบให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโควิด โดยให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่มีวัตถุประสงค์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ เพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการ และกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคในระบบเศรษฐกิจ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐบาลยืนยันว่าจะเข้มงวดกวดขันเรื่องการทุจริต ซึ่งสามารถถูกตรวจสอบโดยองค์กรอิสระทุกองค์กร รวมไปถึงประชาชนที่พบเห็นการใช้โครงการหรือปฏิบัติที่ไม่เป็นผลสัมฤทธิ์ก็สามารถร้องเรียนได้ ขอให้ช่วยกันดูแลเรื่องปราบปรามทุจริต ทั้งนี้หวังว่าสมาชิกทุกคนจะได้พิจารณอย่างถี่ถ้วน เพราะที่นี่คือประเทศไทย ทำเพื่อประชาชนคนไทย ที่เราทุกคนต้องช่วยกันดูแล ขอให้ใช้เวลาที่มีอยู่ 3 วันอย่างคุ้มค่า สร้างสรรค์ เพื่อวันนี้ และอนาคตของลูกหลานในภายภาคหน้า
(สมพงษ์ อมรวิวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร)
@ 'สมพงษ์'อัดจัดงบอยู่โลกคนละใบ ไม่เห็นแผนรับมือโควิด - บริหารวัคซีนผิดพลาด
เมื่อเวลา 11.30 น. นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายว่า การจัดสรรงบประมาณ ปี 2565 ยังไม่เห็นว่ามีแนวทางหรือการกำหนดยุทธศาสตร์ของการดูแลรักษาเกี่ยวกับโควิด นั่นหมายถึงว่าการควบคุมสถานการณ์ไม่ชัดเจน ทั้งนี้การทำงานยังแสดงออกว่าขาดเอกภาพ วันนี้ประชาชนเดือดร้อน แต่รัฐบาลวางแผนเหมือนกับว่าไม่ได้มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในประเทศเหมือนเป็นงบประมาณปกติ ยกตัวอย่าง กระทรวงกลาโหม ที่มีงบประมาณมากกว่า กระทรวงสาธารณสุขกว่า 5 หมื่นล้านบาท และคิดว่ารัฐบาลขณะนี้กำลังทำงานไปคนละทิศละทางกับความต้องการของประชาชน และคิดว่ารัฐบาลกำลังจัดงบประมาณ ฉบับที่อยู่บนโลกคนละใบกับประชาชน ไม่อยู่บนโลกของความเป็นจริง
“การแก้ปัญหาในห้วงเวลาที่ผ่านมา ต้องเรียนด้วยความเคารพว่าเชื่องช้าและล่าช้าพอสมควร กระทั่งการระบาดระลอกสามเกิดขึ้นจนถึงขณะนี้ แต่สิ่งที่ได้รับฟังจากประชาชนมาก็คือว่า การระบาดที่เกิดขึ้นทำให้คนเศร้าใจ เพราะได้เห็นชัดแจ้งว่า ความไม่พร้อมในทุกด้านของรัฐบาลมีอยู่ตรงนี้ ซึ่งรวมถึงการวางแผนจัดเตรียมวัคซีนโควิด ที่นับเป็นการตัดสินใจผิดพลาดของรัฐบาลอย่างมาก” นายสมพงษ์ กล่าว
นายสมพงษ์ กล่าวอีกว่า ที่สำคัญประชาชนไม่สามารถเลือกวัคซีนที่ตนเองคิดว่าปลอดภัยที่สุด เพราะรัฐบาลกำหนดไว้ว่าจะต้องใช้แบรนด์นี้ จึงทำให้ประเทศไทยมีวัคซีนจำกัด วัคซีนไม่พอ มาไม่ทัน และสิ่งสำคัญคือรัฐบาลไม่อธิบายความเป็นจริงว่าเป็นอย่างไร ทำให้ประชาชนสับสน กลัว และวิตกในข้อมูลที่รัฐผสมผสานมาให้ ขอเรียนว่าเรื่องวัคซีนเป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องแก้ไข การกระจายที่ไม่หลากหลาย ไม่รวดเร็ว ไม่ทั่วถึง จะไม่ทันการ สะท้อนศักยภาพการบริหารของรัฐบาล โดยเฉพาะผู้นำที่ขาดวิสัยทัศน์ ไม่มีแผนรับมืออย่างเป็นระบบ
@ 'บิ๊กตู่' ย้ำ มิ.ย.มีวัคซีนเพียงพอ ยืนยันรัฐบาลนี้ยังไม่มีเรื่องทุจริต
พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงว่า หลายอย่างเราอาจจะคิดไม่ตรงกัน หากมองตัวเลขอย่างเดียวจะเห็นว่าไม่เป็นธรรม ไม่ตรงกับสถานการณ์ แต่เรามีงบประมาณรองรับไว้หลายส่วน ทั้งในส่วนงบประมาณประจำ เงินกู้ที่ใช้มาในระยะแรก คิดว่าเรื่องนี้ไม่มีปัญหา ส่วนเรื่องวัคซีนเราดำเนินการตามลำดับทุกขั้นตอน ตั้งแต่การจัดหาด้วยรัฐบาล ในรูปแบบรัฐต่อรัฐ นำเข้าตามระยะเวลาที่ปรากฏอยู่ วันนี้ปัญหาทีเกิดขึ้นหลายประเทศต้องการวัคซีนมากขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะบริหารอย่างไรของบริษัทผู้ผลิต แต่เรามีบริษัทของเราที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตในประเทศไทย แต่ก็ขึ้นอยู่กับการบริหารของบริษัทใหญ่ที่ควบคุมการผลิตทั้งหมด เรามีทั้งแผนหลัก แผนรอง แผนฉุกเฉิน คาดว่าในระยะเวลาที่กำหนดไว้แล้วไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องวัคซีน ทั้งวัคซีนจัดหาโดยรัฐและวัคซีนทางเลือก
“วัคซีนทั้งหมดยังต้องนำเข้าผ่านช่องทางระหว่างรัฐต่อรัฐ กราบเรียนเพื่อทราบ เรามีคณะทำงานทำเรื่องนี้ต่อเนื่อง ในส่วนงบประมาณกระทรวงกลาโหม ขอพูดรวมๆไปก่อนว่า หากดูให้ดีมีค่าใช้จ่ายบุคลากร ภารกิจประจำ พัฒนากองทัพ ตั้งไว้ไม่มากนัก และ 2 ปีที่ผ่านมาได้ปรับลดงบของกระทรวงไปแล้วเป็นหมื่นล้านบาทในแต่ละปี แต่สิ่งที่เป็นข้อผูกพันต้องดำเนินการต่อมีความจำเป็นในงบประมาณ 2565 ส่วนที่บอกว่า งบกระทรวงกลาโหมมากกว่ากระทรวงสาธารณสุข ไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะนอกจากงบหน่วยงาน ยังมีงบประมาณภายใต้กองทุนภายใต้สังกัดกระทรวง 3 กองทุน คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน กองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย รวมกว่า 441,741 ล้านบาท” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวยืนยันว่า ในเดือน มิ.ย.จะมีวัคซีนเข้ามาอย่างเพียงพอ ทั้งวัคซีนที่รัฐบาลจัดหา และวัคซีนทางเลือก แต่ไม่ว่าจะจัดหาอย่างไร ต้องเข้ามาในส่วนการนำเข้า ติดต่อขึ้นทะเบียนโดยบริษัทที่ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนของบริษัทใหญ่ที่จะต้องติดต่อกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ฉะนั้นการบริหารงบประมาณเป็นเรื่องที่เราพิจารณาเข้มงวด และได้อ่านรายละเอียดทั้งหมดแล้ว ไม่ได้หยุดนิ่ง พร้อมรับฟังทุกข้อมูลและนำไปสู่การแก้ปัญหาต่อไป
“นั่นคือการทำงานตามระบอบประชาธิปไตยของผม ยืนยัน วันนี้ไม่มีเรื่องการทุจริตต่างๆ ในรัฐบาลผม ขอย้ำว่าในรัฐบาลของผม” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/