"...โรงเรียนควรจัดการประชุมร่วมกันถอดบทเรียนจากสถานการณ์ที่ผ่านมา และเตรียมพร้อมรับมือ เนื่องจากโรงเรียนแต่ละโรงเรียนมีสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน ปัญหาที่เจอก็ไม่เหมือนกัน จะได้สามารถเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันถ่วงที..."
...............................................
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดที่เกิดขึ้น ส่งผลให้สถานศึกษา โรงเรียน มหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนอีกครั้ง เช่น ปรับการเรียนการสอนเป็นในรูปแบบออนไลน์ เลื่อนเปิดเทอม สลับวันเรียน เพื่อลดความเสี่ยงในการระบาดของโรคในกลุ่มเด็กนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษา
แม้ว่าจากสถานการณ์ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2564 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยผลการหารือร่วมกับ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2564 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด โดยยังยืนว่า การเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 จะยึดตามกำหนดการเดิม คือ วันที่ 17 พ.ค.2564 โดยจะมีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเป็นระยะ และคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงผู้ปกครองเป็นหลัก แต่หากสถานการณ์การแพร่ระบาด มีความรุนแรงขึ้น อาจจะมีการหารือร่วมกับ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด (ศบค.) อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินสถานการณ์ โดยจะเลื่อนการเปิดภาคเรียนไปเป็นวันที่ 1 มิ.ย. 2564
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้ทำการรวบรวมผลกระทบที่เกิดขึ้นในแวดวงการศึกษาจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิดในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับการเลื่อนเปิดเทอม รวมไปถึงการจัดการเรียนการสอน มีข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
@ 5 สัญญาณเตือนผลกระทบเลื่อนเปิดเทอม
เมื่อเดือน เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา น.ส.วิพัตรา โตเต็มโชคชัยการ นักวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคต ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ กล่าวว่า จากผลจากการวิเคราะห์ผ่าน Web of Impact หรือเครื่องมือวิเคราะห์ผลกระทบของสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม ครอบคลุมทั้งมิติด้านสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเมือง และค่านิยมนั้น มี 5 สัญญาณเตือน จากผลกระทบการเลื่อนเปิดเทอม
1. ปัญหาสุขภาพจิตและการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวที่ยากจน เนื่องจากเด็กจากครอบครัวยากจนต้องพึ่งพาอาหารเช้าและอาหารกลางวันจากทางโรงเรียน เมื่อต้องอยู่บ้าน ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนอาหาร ทางภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรออกมาให้ความรู้ที่ถูกต้องกับผู้ปกครองเกี่ยวกับเรื่องการดูแลเด็ก และให้ความช่วยเหลือในการดูเด็กแทนผู้ปกครองที่ไม่สามารถดูแลได้ รวมถึงปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในครอบครัว อาจเกิดมากขึ้นในช่วงนี้
2. การปรับตัวสู่การเรียนออนไลน์ ถึงแม้จะมีการปรับการเรียนการสอนโดยมีหลักสูตรให้ผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมการเรียน แต่ยังมีปัญหาที่สำคัญอีกหลายประเด็น เช่น ความไม่พร้อมของอุปกรณ์การเรียน ผู้ปกครองไม่มีเวลา ถึงแม้ว่าทางโรงเรียนจะมีการปรับการเรียนการสอน เป็นการรับใบงานกิจกรรมแล้ว แต่ก็มีเด็กบางกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ อีกทั้งเรื่องภัยบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการคุกคามหรือกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้นขณะเด็กใช้เทคโนโลยี
3. ผลกระทบจากเศรษฐกิจหยุดชะงักจากการแพร่ระบาดของโควิด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหนัก ทำให้เด็กมีโอกาสหลุดออกจากระบบการศึกษา เนื่องจากครอบครัวไม่มีรายได้เพียงพอสำหรับค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายทางการศึกษา หรือการสมัครงานของนักศึกษาจบใหม่อาจมีการเปิดรับน้อยลงหรือแข่งขันสูงขึ้น อาจทำให้เด็กวัยรุ่นกลุ่มนี้ต้องเผชิญสถานการณ์ที่กดดันอย่างหนัก เกิดความเครียดสะสมได้
4. เด็กและพื้นที่การเรียนรู้ เนื่องจากเด็กควรมีพื้นที่ที่เหมาะสม ปลอดภัย สำหรับการเรียนรู้และการใช้ชีวิต จากการรวบรวมข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่าเด็กไทยโดยเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 30 ไม่มีห้องส่วนตัวในการทำงานหรือทำการบ้าน อีกทั้งบางครอบครัวจำเป็นต้องปล่อยให้เด็กใช้ชีวิตอยู่บ้านตามลำพัง เนื่องจากพ่อแม่ประกอบอาชีพที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ อาจส่งผลต่อเรื่องความปลอดภัยของเด็ก
5. การให้ความสำคัญกับโรงเรียน สถานศึกษา และครูผู้สอนนั้น อาจเปลี่ยนแปลงไป เพราะคนบางกลุ่มคิดว่าการศึกษาสามารถเรียนผ่านระบบออนไลน์จากบ้านได้ แนวคิดที่ว่าไม่จำเป็นต้องมีการเรียนเฉพาะในห้องเรียน หรือการเกิด Hybrid Homeschool อาจเกิดแพร่หลายมากขึ้น นอกจากนั้นเรื่องค่านิยมในการศึกษาต่อต่างประเทศก็เกิดผลกระทบโดยตรงเช่นกัน
@ เรียนออนไลน์ ทำการเรียนรู้เด็กหยุดชะงัก
จากสถานการณ์ภาพรวมจากการเลื่อนเปิดเทอม ทำให้การปรับรูปแบบการเรียนการสอนเป็นออนไลน์ พบว่า การเรียนออนไลน์นั้น จะมีประสิทธิภาพตามก็ต่อเมื่อนักเรียนอยู่ในวัยที่เหมาะกับการเรียนด้วยตนเอง มีอุปกรณ์และความพร้อมด้านอื่นๆ เช่น ผู้ปกครองสามารถมีเวลาให้ความร่วมมือได้ แต่เด็กส่วนใหญ่ ไม่ได้มีความพร้อมในการเรียนผ่านระบบออนไลน์ เนื่องด้วยความไม่พร้อมของอุปกรณ์ และเงื่อนไขอื่นๆ ทำให้ครูและสถานศึกษาต้องปรับการเรียนในการสอนให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนั้นๆ อีกทั้งการเรียนออนไลน์ไม่ได้เหมาะสมกับเด็กทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กปฐมวัย วัยอนุบาลและประถม ที่เป็นช่วงวัยที่ต้องการพัฒนาการทางด้านร่างกาย และการเข้าสังคม การเรียนออนไลน์ของเด็กวัยนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด แต่บางครอบครัวก็มีเงื่อนไขที่จะต้องทำมาหากินเลี้ยงชีพ จึงไม่สามารถดูแลได้ (อ่านประกอบ : ไร้อุปกรณ์-เวลาไม่พร้อม!ปัญหาการศึกษาไทย เมื่อเด็กต้อง'เรียนออนไลน์'ยุคโควิด)
@ เลื่อนเปิดเทอม แต่ไม่เลื่อนสอบ
อีกทั้งเหตุการณ์นักเรียนชั้น ม.6 ปีการศึกษา 2563 หรือที่เรียกกันว่า Dek 64 รวมตัวกันเพื่อขอเลื่อนสอบรายวิชาคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย โดยให้เหตุผลว่าการสอบกระชันชิดมากเกินไป และได้รับผลกระทบจากการเลื่อนเปิดเทอม และการเรียนออนไลน์ ทำให้ไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ ต่อมานักเรียน ม.6 ได้มีการรวมตัวกันเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ท้ายที่สุดศาลปกครองยกคำร้อง ด้วยเหตุผลที่ว่า การเลื่อนสอบจะส่งผลกระทบต่อหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง (อ่านประกอบ: กางปัญหา-ฟังคำชี้แจง TCAS64 หลัง ทปอ.ยืนยันไม่เลื่อนสอบ, หวั่นเกิดผลกระทบหลายฝ่าย! ศาลปกครองยกคำร้องขอเลื่อนสอบ TCAS64)
@ ความไม่พร้อมทำเส้นทางการศึกษายุคโควิดขรุขระ
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา เกี่ยวกับผลกระทบการเลื่อนเปิดเทอม ว่า การเลื่อนเปิดเทอมหรือการเรียนออนไลน์นั้น ไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือความพร้อมในการเลื่อนและการเรียนออนไลน์ โดยเมื่อปีที่แล้วเป็นสถานการณ์ที่มีความจำเป็นต้องเลื่อนเปิดเทอม และปรับเป็นการเรียนออนไลน์ ซึ่งเป็นไปมีปัญหาอุปสรรคและมีความขรุขระ เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้มีการเตรียมตัวตั้งรับมาก่อน ทั้งอุปกรณ์การเรียนการสอนออนไลน์ และสื่อการสอนที่ไม่ไม่เหมาะกับการเรียนด้วยตัวเองที่บ้าน เนื่องจากเป็นวีดีโอที่ตั้งกล้องถ่ายภายในห้องเรียนแล้ว จึงควรมีคุณครูคอยอยู่กับเด็กเพื่ออธิบายบางอย่าง
ผศ.อรรถพล กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นปีที่แล้ว ถือว่าเป็นช่วงของการทดลอง ช่วงของปรับตัว ยังไม่เข้มงวดเรื่องการสอน การสอบ การเก็บคะแนน หรือการมอบหมายงานเด็ก แต่ท้ายที่สุดครูก็เริ่มจับแนวทางได้ แต่ก็ถือเป็นเรื่องยากสำหรับครูอยู่ ทั้งนี้ เมื่อช่วงเดือน ม.ค 2564 ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่โรงเรียนและสถานศึกษาปิดกันยาวหลายเดือน จะเห็นได้ว่า ครูจะต้องปรับตัวครั้งใหญ่อีกครั้ง เนื่องจากมีการเปิดการเรียนการสอนไปแล้วประมาณ 3 สัปดาห์ และเริ่มกลับมาเรียนออนไลน์อีกครั้ง โดยไม่มีกำหนดว่าจะต้องเรียนออนไลน์ไปถึงเมื่อไหร่
"ในต่างประเทศ ระดับมัธยม เรียนออนไลน์ แต่ระดับชั้นประถม เรียนออนไซต์หรือเรียนที่โรงเรียน เพราะเป็นวัยที่ต้องการพัฒนาด้านต่างๆ เช่น ด้านสังคม ทักษะด้านร่างกาย แต่ในส่วนประเทศไทย ขณะนี้ต้องรอการตัดสินเชิงนโยบาย อีกทั้งเวลาเรียนออนไลน์ก็ออนไลน์ทั้งหมดทุกระดับชั้น เรียนออนไซต์ก็ออนไซต์ทั้งหมด โดยไม่ได้มองถึงความหลากหลายของผู้เรียนเป็นตัวตั้ง" ผศ.อรรถพล กล่าว
@ กรอบเวลาที่ชัดเจน ช่วยทำให้ครูและเด็กเตรียมตัวได้ดีขึ้น
ตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้มีกำหนดเปิดเทอมเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ แต่ก็สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นวันที่ 1 มิ.ย. ถ้าหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ผศ.อรรถพล กล่าวด้วยว่า สิ่งที่สำคัญ คือ กรอบนโยบายและกอรอบระยะเวลาการตัดสินใจที่ชัดเจน เช่น ภายใน 30 เม.ย.นี้ หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น จะเลื่อนการเปิดเทอม หรือจะเปิดเทอมตามกำหนดการเดิม แต่จะเปลี่ยนเป็นรูปแบบออนไลน์ เพื่อที่ครูจะได้มีความชัดเจนในการวางแผนรับมือเตรียมการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ อีกทั้งการเปิดเทอมครั้งนี้เป็นปีการศึกษาใหม่ ต้องมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหา รวมถึงสื่อการสอนต่างๆ ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง เพราะเมื่อไม่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจน ครูก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มนับหนึ่งเพื่อเตรียมตัวเมื่อไหร่
"เรื่องใหญ่ตอนนี้คือ โรงเรียนรอคำสั่ง ว่าจะต้องทำยังไงต่อไป แต่ทางคนสั่ง เขาก็ไม่ได้ฟันธงให้ เขาก็จะบอกว่ามีตัวเลือกในการสอนว่ามีตั้งหลายแบบ แต่ทางโรงเรียนต้องการความชัดเจนเพื่อจะได้เตรียมตัวรับมือ อีกทั้งทุกคนเรียนรู้มาจากเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาว่า การสลับกันมาโรงเรียนของนักเรียนคนละครึ่งนั้น ไม่เวิร์ค เพราะว่าเป็นการที่ครูจะต้องมีภาระสองเท่า หลายโรงเรียนต้องเลือกตัวเลือกใดตัวเลือกหนึ่ง และครูก็จะรู้ว่ามีเด็กจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบออนไลน์ได้ เฉพาะกลุ่มนี้มาโรงเรียนมารับซองใบกิจกรรม ที่เหลือเรียนออนไลน์หมด คุณครูก็จะมีความชัดเจนในการเตรียมพร้อม การเรียนการสอนก็จะมีคุณภาพ" ผศ.อรรถพลกล่าว
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล (ภาพประกอบจาก : Athapol Anunthavorasakul)
@ สังคมใหม่ กำแพงกั้นเรียนออนไลน์ ครู-นักเรียน
อีกทั้ง ในปีการศึกษานี้ ยังมีอีกหนึ่งความท้าทาย คือ เนื่องจากเป็นเทอมที่ 1 ของปีการศึกษา เป็นการเลื่อนชั้นขึ้นระดับชั้นใหม่ เป็นการเริ่มต้นใหม่ สังคมใหม่ ครูใหม่ นักเรียนใหม่ โดย ผศ.อรรถพล กล่าวว่า เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเป็นการเริ่มต้นใหม่ การเลื่อนเปิดเทอมหรือการเปลี่ยนเป็นการเรียนออนไลน์ เป็นในรูปแบบที่ยังไม่เคยรู้จักคุ้นเคยกัน อาจจะเป็นเรื่องที่ยากมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักเรียนที่เพิ่งเข้ามาใหม่ ระดับชั้น ม.1 และ ม.4 โดยวิธีการแก้ปัญหา อาจจะเป็นการที่ให้นักเรียนมาโรงเรียนก่อน เพื่อทำความคุ้นเคย ละลายพฤติกรรม ทำความรู้จักกันในเบื้องต้นก่อนที่เปลี่ยนไปเรียนในรูปแบบออนไลน์ ส่วนอีกหนึ่งเรื่องที่น่าเป็นห่วง คือ เนื่องจากปีที่แล้วเป็นการเรียนการสอนที่ค่อนข้างขรุขระมาทั้งปี ครูจำเป็นจะต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ว่าที่ผ่านมา นักเรียนได้เรียนรู้อะไรไปบ้าง มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงไหน เพื่อที่จะปรับปรุงให้การเรียนการสอนออนไลน์ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
@ แนะโรงเรียนถอดบทเรียน เตรียมรับสถานการณ์
จากสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้อำนาจการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายหรือการออกตำสั่งของกระทรวงศึกษาธิการไม่มีอำนาจตัดสินใจได้เต็มที่ ต้องอ้างอิงถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และหารือร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทำให้คำสั่งหรือนโยบาบที่ออกมาอาจจะมีความล่าช้าและค่อนข้างกระชั้นชิด ผศ.อรรถพลแนะนำว่า แต่ละโรงเรียนควรจัดการประชุมครูเพื่อร่วมกันถอดบทเรียนจากสถานการณ์ที่ผ่านมาและเตรียมพร้อมรับมือ เนื่องจากแต่ละโรงเรียนมีประสบการณ์มาแล้ว เคยพบปัญหาแล้ว ซึ่งปัญหาของแต่ละโรงเรียนก็แตกต่างกัน จึงควรมีแผนเตรียมรับมือให้เหมาะสมกับโรงเรียนนั้นๆ
"ระหว่างที่รอคำสั่งจาก ศธ. ไม่อยากให้นิ่งนอนใจ และรอเพียงคำสั่งเฉยๆ แต่อยากให้เตรียมตัวรับมือเฉพาะของแต่ละโรงเรียน เพราะแต่ละโรงเรียนมีเด็กที่ต่างกัน ประสบปัญหาอุปสรรคไม่เหมือนกัน จึงควรวางแนวทางที่เหมาะกับโรงเรียนนั้นๆ เมื่อ ศธ. มีคำสั่งตัดสินใจแล้ว จะได้ดำเนินการต่อได้ไว แต่ถ้าหากรอ จะมีเวลาการเตรียมตัวที่กระชันชิดมากๆ" ผศ.อรรถพลกล่าว
@ เด็ก ม.6 หวั่นซ้ำรอยรุ่นพี่ - ชี้ ทปอ.ควรมีแผนรับมือ
ส่วนเรื่องผลกระทบการเข้ามหาวิทยาลัยของนักเรียนชั้น ม.6 ที่กังวลว่าจะซ้ำรอยเดิมนั้น ผศ.อรรถพล กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้เห็นถึงความผิดพลาดที่ไม่มีการสื่อสาร ประสานงานกันระหว่าง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เนื่องจากไม่มีการพูดคุยภาพรวม การตัดสินใจเลยกระจุกตัวและกระชั้นชิด โดยในปีนี้ก็มีโจทย์เดิมกับปีที่ผ่านมา ที่ ทปอ. จะต้องวางตัดสินใจแต่เนินๆ เพราะเมื่อปีที่แล้ว ศธ. ก็ได้มีการแจ้งไปยัง ทปอ. แล้วว่าจะมีการเลื่อนเปิดเทอมแล้วตั้งแต่ต้นปี ฉะนั้นทาง ทปอ. จะต้องตั้งหลักรับมือ ทั้งการตัดสินใจระยะยาว หรือมีแผนรับมือระยะสั้น โดยควรมีแผนสำรองเสมอ แต่ในปีการศึกษานี้ อาจจะมีความอลเวงน้อยลง ความเข้มข้นเบาลง เนื่องจากการสอบโอเน็ต ไม่ใช่การสอบภาคบังคับและไม่จำเป็นต้องใช้สำหรับการเข้ามหาลัย แต่ยังคงมีการสอบ 9 วิชาสามัญ
ทั้งหมดนี้คือผลกระทบต่อการเลื่อนเปิดเทอมและการเรียนออนไลน์ ที่ทั้งภาครัฐ สถานศึกษา ครู นักเรียน ผู้ปกครอง รวมถึงบุคคลากรที่เกี่ยวข้อง จะต้องตระหนักถึงและเตรียมรับมือต่อไป เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่ยังคงมีอยู่
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage