"...จากข้อมูลขององค์การยูนิเซฟชี้ว่าผลกระทบนั้น ทำให้มีเด็กติดเกมเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งเด็กในเมืองมีการสั่งอาหารที่เป็นฟาสต์ฟู้ดเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 60 จึงมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคอ้วน และที่น่าเป็นห่วงคือ เด็กในชนบทหรือพื้นที่ห่างไกลนั้น ไม่ได้รับบริการสุขภาพที่สำคัญต่างๆ ที่ใช้โรงเรียนเป็นฐาน เช่น การฉีดวัคซีน การประเมินภาวะโภชนาการ โครงการอาหารกลางวัน..."
.......................................................
การระบาดระลอกใหม่ของเชื้อโควิด ทำให้ทั้งประเทศต้องกลับมาอยู่ในสถานะ 'ตั้งรับ' ใหม่อีกครั้ง หลายกิจกรรมที่เพิ่งกลับมาดำเนินได้เป็นปกติ ยังต้องกลับไปเน้นย้ำมาตรการควบคุมโรค จำกัดจำนวนคน-รักษาระยะห่าง ซึ่งล้วนแต่ส่งผลกระทบโดยตรงกับการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) เพิ่งมีมติผ่อนปรนมาตรการ - จัดโซนพื้นที่ให้แต่ละจังหวัดใหม่ แต่ยังคงให้ 'สมุทรสาคร' เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ซึ่งหมายความว่า ยังคงดำเนินมาตรการ 'กึ่งล็อกดาวน์' ต่อไปก่อน
เช่นเดียวกันกับเรื่องการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการมีคำาสั่งให้กลับมาจัดการเรียนการสอนได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.เป็นต้นไป แต่ 'สมุทรสาคร' อาจจะยังเป็นจังหวัดเดียว ที่ยังคงต้องใช้มาตรการสอนออนไลน์ต่อไป
นายยศกร โนนสินชัย ครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ โรงเรียนอนุบาลสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า ตั้งแต่การระบาดโควิดระลอกแรก โรงเรียนได้มีการจัดการเรียนการสอนตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งก็คือการสอนออนไลน์ เช่นเดียวกับครั้งนี้ที่ต้องกลับมาสอนออนไลน์อีกครั้ง ก็ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาแนวทางการสอนให้เหมาะสมมากขึ้น ทำให้ปัญหาในการจัดการเรียนการสอนลดน้อยลง สำหรับโรงเรียนแห่งนี้ มีนักเรียนที่ยังมีปัญหาเรื่องการเรียนออนไลน์เพียงแค่ร้อยละ 10 เท่านั้น เหตุผลมาจาก ขาดแคลนอุปกรณ์เป็นหลัก โรงเรียนจึงใช้วิธีส่งใบงานอ่านไปรษณีย์ และใช้วิธีโทรศัพท์คุยกับผู้ปกครองหรือนักเรียนเป็นรายบุคคลแทน
นอกจากเรื่องอุปกรณ์แล้ว ปัญหาที่พบเมื่อต้องทำการสอนออนไลน์ คือ 'เวลา' เพราะการจัดการเรียนการสอน ต้องทำในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ผู้ปกครองต้องออกไปทำงาน แต่นักเรียนอยู่ที่บ้าน บางครั้งจึงจัดการเรียนการสอนไม่ได้ สุดท้ายโรงเรียนก็ต้องยืดหยุ่นเวลาเรียนตามความพร้อมของผู้ปกครองด้วย และสิ่งที่เป็นห่วงมากที่สุดคือ ทำให้เด็กเข้าไม่ถึงการเรียนรู้ตามโปรแกรม
"ครูผู้สอนและครูประจำชั้นติดตามการเข้าเรียนของเด็กอยู่ตลอด แต่ถ้ามองในเรื่องผลตอบรับการจัดการเรียนรู้ ส่วนใหญ่เข้าถึงระบบการเรียนรู้ออนไลน์แล้ว แต่ก็จะมีบางส่วนที่ผู้ปกครองไม่พร้อมหรืออาจจะติดปัญหา ทางโรงเรียนก็จะเก็บข้อมูล และเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาในรายบุคคล รายกรณี ส่วนเรื่องการวัดและประเมินผลว่าเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงหรือไม่ เราไม่มีการสอบวัดผลหรือประเมินคะแนน แต่จะเป็นการเน้นติดตามความเข้าใจในบทเรียน ซึ่งบางครั้งผู้ปกครองอาจจะยังมีความเข้าใจผิดในเรื่องนี้เพราะคิดว่าเป็นการสอบ" นายยศกร กล่าว
ภาพเว็บไซต์ประกอบการเรียนการสอนออนไลน์วิชาวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนอนุบาลสมุทรสาคร
@เด็กอนุบาล-ปฐมวัยไม่เหมาะเรียนออนไลน์
น.ส.สุภัคสร มั่นคง ครูผู้สอนวิชาภาษาไทย โรงเรียนวัดศรีสุทธาราม จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนขยายโอกาส เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 2 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีนักเรียนทั้งไทยและต่างชาติ โดยมีนักเรียนต่างชาติ คิดเป็นร้อยละ 35 ของนักเรียนทั้งหมด ปัญหาที่พบจากการสอนออนไลน์ครั้งนี้ คือ เด็กไม่มีความพร้อมทางด้านอุปกรณ์การเรียน คิดเป็นร้อยละ 20 อีกทั้งเด็กบางคนไม่พร้อมในการเรียนเนื่องจากผู้ปกครองต้องทำงาน ไม่สะดวกในการดูแล
ส่วนช่วงวัยที่เป็นปัญหามากที่สุด คือ เด็กเล็ก ช่วงวัยอนุบาล-ปฐมวัย เป็นช่วงที่ไม่เหมาะกับการเรียนออนไลน์ การเรียนรู้ควรมุ่งเน้นผ่านการเล่น และประสาทสัมผัส ทางครูจึงมีการปรับการเรียนการสอนเป็นแจกใบงานหรือใบกิจกรรมโดยให้ผู้ปกครองเป็นคนดูแลและสอน หรือปรับเป็นการเรียนรู้สิ่งต่างๆในชีวิตประจำวัน และถ่ายรูปส่งครูแทน
"กรณีของเด็กโตเราจะแจกใบงานออนไลน์ และเรียนตามเวลาผ่านวีดีโอคอล แต่สำหรับเด็กที่ไม่พร้อมในการเรียนออนไลน์ ทางโรงเรียนได้มีการแจกเอกสารผ่านเพื่อนที่อยู่บ้านใกล้กันไปให้ แต่ถ้าหากนักเรียนอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงมาก ก็จำเป็นจะต้องตัดใจและวางแนวทางสอนชดเชยให้ภายหลัง" น.ส.สุภัคสร กล่าว
ภาพการเรียนการสอนออนไลน์วิชาภาษาไทยของครูและนักเรียนโรงเรียนวัดศรีสุทธาราม
@'กลุ่มเฟซบุ๊ก'เครื่องมือช่วยสอนออนไลน์
ด้าน น.ส.ปิยดา จันทร์เกตุ ครูผู้สอนวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (คอมพิวเตอร์) โรงเรียนวัดท่าเสา (อาทรราษฎร์อุปถัมภ์) กล่าวว่า ด้วยเหตุที่ต้องสอนวิชาคอมพิวเตอร์ ทำให้เป็นภาคบังคับที่นักเรียนต้องมีอุปกรณ์อยู่ที่บ้าน แต่ในข้อเท็จจริงหลายครอบครัวยังไม่มีความพร้อม จึงต้องปรับการเรียนการสอนโดยใช้วิธี ตั้งกลุ่มในเฟซบุ๊ก เพื่อสื่อสาร-ฝากใบงานโดยตรงให้กับนักเรียน
"เราใช้วิธีตั้งกลุ่มเฟซบุ๊กเพื่อลงคลิปวีดีโอสั้นๆ หรือภาพประกอบเพื่อการเรียนรู้ และสั่งงาน วัดความเข้าใจโดยให้นักเรียนทำแบบฝึกหัดผ่านเว็บไซต์ ซึ่งนักเรียนสามารถทำผ่านโทรศัพท์ก็ได้ เช่น ระดับชั้น ม.2 ต้องเรียนการออกแบบและการเขียนโปรแกรมเบื้องต้น (Python) จึงทำการเรียนการสอนผ่านสื่อออนไลน์อื่นๆ เช่น การเขียนโค้ดในเว็บไซต์ เมื่อนักเรียนมีข้อสงสัยหรือพบปัญหาในการเรียนสามารถส่งข้อความผ่านทางกลุ่มเฟซบุ๊กหรือส่วนตัวของครูเพื่อสอบถามได้ ส่วนระดับชั้นประถม จะเป็นการปรับการเรียนรู้โดยให้นักเรียนฝึกการใช้เทคโนโลยี เช่น ให้ฝึกการค้นหาข้อมูลต่างๆผ่านทางคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือแล้วแต่ความสะดวก และอีกปัญหาหนึ่งที่พบคือการไม่ให้ความร่วมมือของผู้ปกครอง ทำให้ยากต่อการติดตามนักเรียนในการเข้าเรียน" น.ส.ปิยดา กล่าว
ภาพกลุ่มเฟซบุ๊กการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ของโรงเรียนวัดท่าเสา
@ติดเกม-เสี่ยงอ้วนเพิ่มขึ้น เมื่อเด็กต้องหยุดเรียน
ขณะที่ นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในการแถลงการณ์รายงานสถานการณ์ความคืบหน้าการติดเชื้อโควิด ประจำวันที่ 27 ม.ค.2564 ว่า จากการสำรวจผลกระทบ กรณีปิดเรียนเป็นระยะเวลานานจะพบว่าเด็กขาดการเรียนรู้ทั้งในรูปแบบนามธรรมและรูปธรรม ยิ่งจะทำให้พัฒนาการของเด็กช้ามากขึ้น จากข้อมูลขององค์การยูนิเซฟชี้ว่าผลกระทบนั้น ทำให้มีเด็กติดเกมเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งเด็กในเมืองมีการสั่งอาหารที่เป็นฟาสต์ฟู้ดเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 60 จึงมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคอ้วน และที่น่าเป็นห่วงคือ เด็กในชนบทหรือพื้นที่ห่างไกลนั้น ไม่ได้รับบริการสุขภาพที่สำคัญต่างๆ ที่ใช้โรงเรียนเป็นฐาน เช่น การฉีดวัคซีน การประเมินภาวะโภชนาการ โครงการอาหารกลางวัน
"อีกทั้งกลุ่มเด็กด้อยโอกาสหรือเด็กกลุ่มเปราะบางหากหยุดเรียนเป็นระยะเวลานาน แนวโน้มจะกลับคืนสถานศึกษาก็ยิ่งลดลง ในส่วนผู้ปกครองพบว่าไม่สามารถดูแลบุตรหลานได้เต็มที่ ครอบครัวไม่พร้อมต่อการเรียนออนไลน์ บางพื้นที่เข้าไม่ถึงระบบอินเตอร์เน็ต ปัญหากลุ่มคนยากจนค่าใช้จ่ายมากขึ้น และผลกระทบต่อครู คือมีความเครียด กดดัน สับสน ต้องปรับตัว วิถีชีวิตใหม่ก็เพิ่มภาระ เพิ่มค่าใช้จ่าย เพราะระบบการเรียนการสอนเปลี่ยนแปลงไป" นพ.สราวุฒิ กล่าว
ส่วนมาตราการการรับมือหลังการเปิดเรียน รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและสอดคล้องกับมาตรการด้านสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด พร้อมทั้งปฏิบัติตามมาตรการ 6 มิติ คือ 1.ความปลอดภัยจากการลดการแพร่เชื้อ 2.การเรียนรู้ 3.การครอบคลุมถึงเด็กด้อยโอกาส 4.สวัสดิภาพและการคุ้มครอง 5.นโยบาย และ 6.การบริหารทรัพยากร พร้อมแนะข้อปฏิบัติสำหรับสถานศึกษา ได้แก่
1.การเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเรียน เช่น ความปลอดภัยจากการลดการแพร่เชื้อโรค,การเรียนรู้ ที่เหมาะสมทั้งออนไลน์ ออนไซต์ ออนแฮนด์ (เรียนรู้ผ่านใบงาน) การครอบคลุมถึงเด็กด้อยโอกาส สวัสดิภาพและการคุ้มครอง มีนโยบายดูแลเพื่อให้เด็กไม่ติดเชื้อ และการบริหารทรัพยากร
2.ทำแบบประเมินให้สถานศึกษาประเมินตนเอง ซึ่งอยู่ในแพตฟอร์ม https://stopcovid.anamai.moph.go.th/ ซึ่งข้อมูลล่าสุดสถาบันการศึกษาหลายแห่งได้ติดต่อกับกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่ามีความพร้อมเปิดเรียนประมาณร้อยละ 90 แล้ว
3.การยกระดับมาตรความปลอดภัย เน้นทั้งมาตรการหลักและมาตรการเสริม คือ การเว้นระยะห่าง ล้างมือ สวมหน้ากาก ลดแออัด สถานศึกษาต้องจัดการไม่ให้เป็นที่แพร่เชื้อง่ายขึ้น นอกจากนี้ก็ต้องมีการเฝ้าระวัง ด้วยการเช็คนักเรียน ครู ผู้ปกครองว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ รวมถึงอาการต่างๆ และ
4.การกำกับติดตามและประเมินผล โดยกลไกลร่วมระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ดูความพร้อมเปิดเรียน เมื่อเปิดแล้วก็ต้องประเมินความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด