“...การเรียกร้องการเลื่อนสอบในขณะนี้ เป็นการเรียกร้องตามความต้องการของเฉพาะน้อง ๆ บางกลุ่ม ไม่ใช่ของทั้งหมด สัดส่วนเท่าไหร่ไม่รู้ บางกลุ่มก็ไม่ต้องการเลื่อน ฉะนั้นการเลื่อนสอบต้องดูความจำเป็นว่ามากน้อยขนาดไหน ไม่ใช่เลื่อนการสอบเพราะความต้องการ...”
.....................................................
จากกรณีกลุ่มนักเรียนชั้น ม.6 ออกมาเรียกร้องในสื่อสังคมออนไลน์ ทวิตเตอร์ จนเกิดเป็นแฮชแท็ค #เลื่อนสอบ และ #เลื่อนสอบให้กันได้ไหม เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) รับฟังปัญหาเพื่อขอให้เลื่อนการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา (TCAS)
ปัญหาสำคัญส่วนหนึ่ง เพราะนักเรียนเห็นว่า วันสอบ TCAS ไปตรงกับวันสำคัญอื่นๆ เช่น วันสอบปลายภาคของโรงเรียน วันเกณฑ์ทหาร และวันเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นต้น
ทั้งหมดเป็นผลสืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ปฏิทินการเรียนการสอนได้รับผลกระทบทั้งหมด กลุ่มนักเรียนยังเห็นว่าหากไม่พิจารณาเลื่อนวันสอบ อาจจะเป็นการตัดโอกาสนักเรียนที่ต้องเข้าการสอบคัดเลือกเป็นจำนวนมากในปีนี้
@ทีแคส ระบบคัดเลือกการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย
TCAS (Thai University Central Admission System) คือ ระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ที่กำหนดโดยสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) โดยมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินงาน อาทิเช่น ทปอ. มหาวิทยาลัยต่างๆ สพฐ. และ สทศ.
ฉะนั้นในการกำหนดขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่ช่วงเวลารับสมัคร วันเวลาสอบ ประกาศผลสอบ การใช้ประโยชน์ของผลสอบ และขั้นตอนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สทศ. จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับตารางเวลาการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของ ทปอ.
ด้าน สทศ. ในฐานะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสอบ GAT/PAT O-NET และวิชาสามัญ จึงได้รับมอบหมายจาก ทปอ.ให้เป็นผู้ดำเนินการจัดการทดสอบ และได้กำหนดวันเวลาในการสอบ โดยคำนึงถึงระยะเวลาช่วงการใช้ประโยชน์ของผลคะแนน การจัดการเรียนการสอน และความเหมาะสมด้านต่างๆ อีกด้วย
ภาพประกอบจาก: Dek-D
@ทปอ. แจงไม่เลื่อนสอบ เนื่องจากส่งผลกระทบหลายด้าน
เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2564 กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสทพ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้ประกาศแถลงการณ์ระบุถึงสาเหตุที่ไม่สามารถเลื่อนสอบได้ ระบุว่า
จากข้อเรียกร้องที่ต้องการให้มีการเลื่อนสอบรายวิชาที่ใช้คัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา อาทิเช่น การสอบ GAT/PAT ในวันที่ 20 – 23 มี.ค.2564 ตรงกับวันสอบปลายภาคของโรงเรียน, การสอบ 9 วิชาสามัญ วันที่ 3 – 4 เม.ย.2564 และการสอบ O-NET วันที่ 27 – 28 มี.ค.2564 ตรงกับวันเกณฑ์ทหาร และวันเลือกตั้งท้องถิ่น
ที่ประชุมมีมติเห็นร่วมกันว่า ไม่ควรเลื่อนสอบ เนื่องจากคือการเปลี่ยนแปลง จำเป็นต้องมีระยะเวลาที่เหมาะสมในการสื่อสารเพื่อให้ผู้สมัครทุกคนรับรู้ และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ใช่ส่งผลแค่การเปลี่ยนวันสอบเท่านั้น แต่อาจจะรวมถึงการเปลี่ยนสนามสอบ เลขที่นั่งสอบอีกด้วย นอกจากนี้จะส่งผลกระทบในด้านอื่นๆ เช่น การเลื่อนสอบ ทำให้ผลคะแนนสอบไม่เป็นไปตามที่กำหนดในปฏิทินการดำเนินงาน ส่งผลให้มหาวิทยาลัยต้องเลื่อนการเปิดภาคเรียน ส่งผลถึงการจัดการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาชั้นปีอื่นๆ รวมถึงอาจส่งผลกระทบให้ต้องเลื่อนการฝึกปฏิบัติ การออกภาคสนาม การฝึกงาน และการสำเร็จการศึกษาที่ต้องล่าช้าอีกด้วย
ทั้งนี้ สทศ.เห็นถึงความสำคัญในการใช้สิทธิเลือกตั้งตามระบบประชาธิปไตย จึงเลื่อนวันสอบโอเน็ตของนักเรียนชั้น ม.6 จากเดิม เป็นวันที่ 27 และ 29 มี.ค.เว้นวันอาทิตย์ให้สำหรับการใช้สิทธิเลือกตั้ง
หลังจากมีการประกาศแถลงการณ์ไม่เลื่อนสอบ เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์มากมาย อาทิเช่น ถึงแม้การจัดการเวลาอ่านหนังสือ การเตรียมตัวสอบ ถือเป็นเรื่องรายบุคคล แต่สถานการณ์โควิดทำให้ไม่มีเวลาอ่านหนังสือได้มากพอ การเรียนออนไลน์ไม่สามารถทำให้เข้าใจเนื้อหาได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งการแพร่ระบาดของโควิด ส่งผลกระทบเรื่องการเดินทางและการกักตัว จนเป็นที่มาของ #dek64กำลังถูกทิ้ง
@สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ร้อง ทปอ. ขอพิจารณาจัดวันสอบใหม่
เมื่อวันที่่ 8 มี.ค.2564 นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกสโมสรนิสิตรัฐศาตร์ นายสรวงศ์ พ่วงสูงเนิน หัวหน้านิสิตคณะครุศาสตร์ และน.ส.ปานวาด ก่อเกียรติทวีชัย ผู้แทนนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ คณะกรรมการนิสิตปริญญาบัณฑิตคณะครุศาสตร์ และคณะกรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันออกจดหมายถึง ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธาน ทปอ.เพื่อจัดหามาตรการช่วยเหลือนักเรียนผู้เข้าสอบที่ได้รับผลกระทบจากการจัดสอบที่กระชั้นชิด ส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและจิตใจของนักเรียน อีกทั้งไม่ผลักภาระให้กับนักเรียนต้องรับผิดชอบทั้งหมดเพียงฝ่ายเดียว โดยขอให้มีการพิจารณากำหนดการทดสอบแห่งชาติใหม่
ต่อประเด็นปัญหาทั้งหมด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัมภาษณ์ นายพีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้ช่วยเลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น โดยได้รับคำชี้แจงที่น่าสนใจ ดังนี้
@กรณีวันสอบตรงกับวัดคัดเลือกเข้าเกณฑ์ทหาร
นายพีระพงศ์ กล่าวว่า ทาง ทปอ.ได้มีการเปิดรับฟังปัญหา โดยให้ผู้ที่มีปัญหาดังกล่าวเข้ามาแจ้งเหตุผ่านเพจเฟซบุ๊ก Mytcas.com ได้ถึงวันที่ 15 มี.ค.นี้ โดยในขณะนี้มีผู้เข้ามาแจ้งปัญหาเพียง 20 ราย จากผู้เข้าสอบทั้งหมดประมาณ 1.7 แสนราย ดังนั้นการเลื่อนสอบเพื่อคนเพียงกลุ่มเดียวจึงเป็นเหตุไม่สมควร
อีกทั้งขณะนี้การจัดสอบจำเป็นต้องรักษามาตราการป้องกันโควิด ซึ่งการเลื่อนสอบจะส่งผลกระทบกับภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยแพทย์อนามัยที่เข้ามาดูแล กรรมการคุมสอบ เป็นต้น โดยขณะนี้ ทปอ.ได้เก็บรวบรวมข้อมูลและแจ้งไปยังกระทรวงกลาโหม และกองทัพบก หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการเกณฑ์ทหาร เพื่อหาทางออกต่อไป
@เคยเลื่อนสอบเพราะน้ำท่วม-ชุมนุมการเมือง
ส่วนในอดีตเคยมีการเลื่อนการสอบรายวิชาคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยจริง สาเหตุหลัก คือ สนามสอบไม่สามารถจัดการสอบได้ ตัวอย่างเช่น ปี 2563 มีเหตุทะเลาะวิวาทที่สนามสอบแห่งหนึ่ง ทำให้รบกวนการสอบ และกรณีผู้เข้าสอบ ผู้คุมสอบได้รับบาดเจ็บ จึงเป็นเหตุให้ต้องยุติการสอบ และจัดสอบใหม่เฉพาะสนามสอบดังกล่าวเท่านั้น
อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ต้องเลื่อนการสอบ คือ ความปลอดภัยของผู้เข้าสอบ และผู้คุมสอบ เมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่รุนแรง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต อีกทั้งมีการจัดการชุมนุมหลายแห่ง และบางแห่งอยู่ใกล้กับสนามสอบ จึงมีความจำเป็นต้องเลื่อนการสอบเพราะเป็นห่วงด้านความปลอดภัย เป็นอันดับแรก
หรือย้อนกลับไปปี 2554 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ไม่สามารถจัดสอบได้ อีกทั้งการเดินทางเป็นไปได้ยากลำบาก จึงเป็นเหตุจำเป็นต้องเลื่อนสอบ
นายพีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้ช่วยเลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)
@กรณีวันสอบ TCAS ตรงกับวันสอบในโรงเรียน
นายพีระพงศ์ กล่าวว่า การจัดสอบภายในโรงเรียนเป็นดุลยพินิจของผู้อำนวยการโรงเรียน โดยการวางแผนหรือการกำหนดช่วงเวลาการสอบต่างๆ จำเป็นจะต้องพูดคุยกับหลายหน่วยงาน โดย สพฐ.หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องได้มีการชี้แจงไปโรงเรียนต่างๆ เพื่อขอความร่วมมือในการจัดการสอบภายในของนักเรียนชั้น ม.6 ให้เสร็จสิ้น ก่อนจะมีการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ
โดยโรงเรียนส่วนใหญ่จะจัดการสอบให้กับนักเรียนชั้น ม.6 ก่อนชั้นอื่นๆ และเว้นระยะเวลาอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์เพื่อให้นักเรียนเตรียมตัวสำหรับการสอบรายวิชาคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยต่อไป
“การเรียกร้องการเลื่อนสอบในขณะนี้ เป็นการเรียกร้องตามความต้องการของเฉพาะน้อง ๆ บางกลุ่ม ไม่ใช่ของทั้งหมด สัดส่วนเท่าไหร่ไม่รู้ บางกลุ่มก็ไม่ต้องการเลื่อน ฉะนั้นการเลื่อนสอบต้องดูความจำเป็นว่ามากน้อยขนาดไหน ไม่ใช่เลื่อนการสอบเพราะความต้องการ” นายพีระพงศ์กล่าว
ทั้งหมดเป็นปัญหา – คำชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องนี้ และเป็นที่น่าจับตาว่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ หลังจากนี้ การสอบครั้งแรกก็จะเกิดขึ้น ในวันที่ 20 มี.ค.2564 เป็นต้นไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage