'บอร์ดสรรหาฯ' แจงทำหน้าที่แค่ 'กลั่นกรองเบื้องต้น' ก่อนส่งชื่อผู้ที่สมควรได้รับเลือกเป็น 'กรรมการ กสทช.' ให้ 'วุฒิสภา' ชี้ขาดขั้นสุดท้าย ปัดแจงกรณีผู้สมัครที่ได้รับเลือกถูกวิจารณ์ปม 'คุณสมบัติ'
.................
เมื่อวันที่ 29 ม.ค. คณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ดสรรหา กสทช.) ที่มีนายนภดล เทพพิทักษ์ ประธานกรรมการฯ ออกคําชี้แจงเกี่ยวกับการพิจารณาคัดเลือกผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อให้วุฒิสภาคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ กสทช. ของคณะกรรมการสรรหากรรมการ กสทช.
โดยที่หลังจากคณะกรรมการสรรหา กสทช. ได้ประกาศผลการคัดเลือกผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อต่อวุฒิสภาเพื่อคัดเลือกแต่งตั้งเป็นกรรมการ กสทช. เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 ได้ปรากฏว่า มีการแสดงความเห็นทางสื่อมวลชน ทั้งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และสื่อโซเชียล (โซเชียลมีเดีย) วิพากษ์วิจารณ์ผลการสรรหาดังกล่าวข้างต้นหลายประการ
คณะกรรมการสรรหา กสทช. พิจารณาแล้ว เห็นว่าคําวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้น มีหลายประเด็นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทั้งในแง่ของหลักเกณฑ์ทางกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการสรรหา และในแง่ของการปฏิบัติอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อคณะกรรมการสรรหา กสทช. และกระบวนการสรรหา คณะกรรมการ กสทช. ได้ จึงเห็นควรชี้แจงต่อสาธารณะเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังต่อไปนี้
ในเบื้องต้น คณะกรรมการสรรหา กสทช. ขอทําความเข้าใจก่อนว่า ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกํากับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ผู้ที่ทําหน้าที่คัดเลือกผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ กสทช. ในขั้นตอนสุดท้าย คือ วุฒิสภา ไม่ใช่คณะกรรมการสรรหากสทช.
คณะกรรมการสรรหา กสทช. มีหน้าที่เพียงกลั่นกรองเบื้องต้นจากผู้สมัครทั้งหมดเพื่อเสนอรายชื่อผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กสทช. ต่อวุฒิสภา เพื่อให้พิจารณาคัดเลือกเท่านั้น วุฒิสภา มีอํานาจที่จะเลือกบุคคลตามรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหา กสทช. เสนอไปหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้และทั้งนั้น ผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ กสทช. ในขั้นสุดท้าย จะต้องเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติ ไม่มีลักษณะต้องห้าม มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์อันเป็นประโยชน์ต่อกิจการของ กสทช. และมีความเหมาะสมตามที่กฎหมายกําหนด การพิจารณาในเรื่องคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม ตลอดจนความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ และความเหมาะสม จึงเป็นสิ่งที่วุฒิสภาจะต้องหยิบยกขึ้นมาพิจารณาด้วย มิใช่ยุติในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหา กสทช.
คณะกรรมการสรรหา กสทช. ขอสงวนความเห็นไม่ชี้แจงคําวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นเกี่ยวกับตัวผู้สมัคร ทั้งที่ได้รับการคัดเลือกและไม่ได้รับการคัดเลือกว่าผู้ใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เพราะเป็นเรื่องที่ต่างคนต่างมีความคิดเห็นแตกต่างกันได้ โดยคณะกรรมการสรรหา กสทช. ขอชี้แจงเฉพาะประเด็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในกระบวนการพิจารณาสรรหาผู้สมัครเป็นกรรมการ กสทช. ใน 3 ประเด็น ดังต่อไปนี้
ประเด็นที่ 1 เหตุใดคณะกรรมการสรรหากรรมการ กสทช. จึงให้ผู้สมัครทั้ง 80 คน เข้าแสดงวิสัยทัศน์ทั้งหมด โดยไม่ตัดรายชื่อผู้ที่ขาดคุณสมบัติออกไปเสียก่อน
พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกํากับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ไม่ได้กําหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอนของการพิจารณาสรรหาคณะกรรมการ กสทช. ไว้เป็นการเฉพาะแต่อย่างใด
กฎหมายดังกล่าวกําหนดไว้ แต่เพียงเรื่องคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ ของบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ กสทช. เท่านั้น การที่พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกํากับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ไม่ได้กําหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอนของการพิจารณาสรรหาคณะกรรมการ กสทช. ไว้เป็นการเฉพาะ ไม่ได้หมายความว่าคณะกรรมการสรรหา กสทช. จะสามารถดําเนินการสรรหาผู้ที่สมควรได้รับการเสนอชื่อต่อวุฒิสภาเพื่อคัดเลือกแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ กสทช. ได้ตามอําเภอใจ เพราะการพิจารณาคัดเลือกหรือสรรหาคณะกรรมการ กสทช. เป็นกระบวนการพิจารณาเรื่องทางปกครองเพื่อทําคําสั่งทางปกครองอย่างหนึ่ง
ดังนั้น คณะกรรมการสรรหา กสทช. จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 อันเป็นกฎหมายกลางที่กําหนดวิธีพิจารณาเรื่องทางปกครองอย่างเคร่งครัด มิฉะนั้น ผลของการสรรหาอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันนําไปสู่การฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลปกครองได้ กล่าวโดยเฉพาะ ตามมาตรา 30 ของกฎหมายดังกล่าว กําหนดให้คณะกรรมการสรรหา กสทช. ต้องเปิดโอกาสให้ผู้สมัครแต่ละคน ชี้แจงแสดงพยานหลักฐานโต้แย้งข้อเท็จจริงที่คณะกรรมการสรรหา กสทช. ได้ มาเองและจะใช้ในการพิจารณาคัดเลือกผู้สมัคร อันเป็นหลักกฎหมายที่ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้สมัครทุกคนในอันที่จะไม่ถูกกล่าวหาในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยไม่มีโอกาสโต้แย้ง
โดยที่ในขั้นตอนการตรวจสอบใบสมัครของผู้สมัครแต่ละคนนั้น คณะกรรมการสรรหา กสทช. ได้รับรายงานข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม รวมทั้งข้อมูลอื่น ๆ อันเป็นประโยชน์ในการดําเนินการสรรหา กสทช. จากหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงาน เช่น ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์, สํานักงานเลขาธิการศาลยุติธรรม, สํานักงานเลขาธิการ กสทช. ฯลฯ
ข้อมูลที่คณะกรรมการสรรหา กสทช. ได้รับมานั้น หลายประการเป็นข้อมูลที่ผู้สมัครไม่ได้แสดงไว้ในใบสมัคร เพื่อที่จะนําข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ประกอบการพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครได้ โดยถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาเรื่องทางปกครอง คณะกรรมการสรรหา กสทช. จําต้องปฏิบัติตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 กล่าวคือ เปิดโอกาสให้ผู้สมัครได้รับรู้ว่ามีข้อมูลเหล่านั้น รายงานมายังคณะกรรมการสรรหา กสทช. และโต้แย้งหรือชี้แจงข้อมูลเหล่านั้นต่อคณะกรรมการสรรหา กสทช.
อนึ่ง ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกํากับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 คณะกรรมการสรรหา กสทช. มีระยะเวลาเพียง 30 วันนับแต่วันที่รับรายชื่อผู้สมัครจากสํานักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อดําเนินการพิจารณาสรรหาและเสนอรายชื่อผู้สมควรได้รับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ กสทช. ต่อวุฒิสภา คณะกรรมการสรรหา กสทช. ไม่สามารถจัดให้มีการเชิญผู้สมัครแต่ละรายมารับทราบและโต้แย้งหรือชี้แจงข้อมูลที่หน่วยงานต่าง ๆ รายงานมายังคณะกรรมการสรรหา กสทช. เพื่อพิจารณาเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามโดยจัดเป็นขั้นตอนหนึ่งแยกออกไปต่างหากได้
ดังนั้น เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาเรื่องทางปกครองดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการสรรหา กสทช. จึงเห็นสมควรให้ผู้สมัครทุกคนเข้าแสดงวิสัยทัศน์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สมัครได้ทราบถึงข้อมูลที่คณะกรรมการสรรหา กสทช. ได้มา และโต้แย้งหรือชี้แจงข้อมูลดังกล่าวนั้น พร้อม ๆ กับการแสดงวิสัยทัศน์
ประเด็นที่ 2 เหตุใดคณะกรรมการสรรหา กสทช. จึงให้ผู้สมัครแสดงวิสัยทัศน์ ด้วยวาจา และการสัมภาษณ์ คนละไม่เกิน 10 นาที โดยแบ่งเป็นการแสดงวิสัยทัศน์ 5 นาที และการสัมภาษณ์ 5 นาที
โดยที่คณะกรรมการสรรหา กสทช. มีระยะเวลาในการดําเนินการคัดเลือกเพื่อเสนอรายชื่อ ผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กสทช. ต่อวุฒิสภา ภายใน 30 วันนับแต่ได้รับรายชื่อผู้สมัคร จากสํานักงานเลขาธิการวุฒิสภา อันเป็นระยะเวลาที่สั้นมากเมื่อคํานึงถึงจํานวนผู้สมัครซึ่งมีจํานวนมากถึง 80 คน
ดังนั้น เพื่อให้การดําเนินการสรรหาสามารถเสร็จสิ้นได้ภายในระยะเวลาที่กําหนดไว้ตามกฎหมายดังกล่าว คณะกรรมการสรรหา กสทช. จึงได้กําหนดให้ผู้สมัครทุกคนแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติ ผลงาน ความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ รวมตลอดจนวิสัยทัศน์ต่อกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มาพร้อมกับใบสมัคร ซึ่งผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือก แต่ละคนก็ได้นําเสนอรายละเอียดต่างๆ อย่างมากมาย ให้คณะกรรมการสรรหา กสทช. ได้พิจารณาล่วงหน้าแล้ว
การที่คณะกรรมการสรรหา กสทช. กําหนดให้ผู้สมัครได้มาแสดงวิสัยทัศน์ ด้วยวาจาและการสัมภาษณ์คนละไม่เกิน 10 นาที โดยแบ่งเป็นการแสดงวิสัยทัศน์ 5 นาที และการสัมภาษณ์ 5 นาทีนั้น ก็โดยมีวัตถุประสงค์ ที่จะตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งว่าผู้สมัครได้เขียนวิสัยทัศน์นั้นด้วยตนเองหรือไม่ และเพื่อซักถามความชัดเจนในข้อมูลบางประการที่ผู้สมัครได้ให้มาในใบสมัคร รวมทั้งเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สมัครได้ทราบ ข้อมูลที่คณะกรรมการสรรหา กสทช. ได้มา และได้โต้แย้งหรือชี้แจงข้อมูลดังกล่าวตามคําชี้แจงในประเด็นที่หนึ่งดังกล่าวแล้วข้างต้น
คณะกรรมการสรรหา กสทช. พิจารณาคัดเลือกบุคคลผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อต่อวุฒิสภา เพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ กสทช. ด้วยองค์ประกอบหลายประการ ไม่ใช่พิจารณาเพียงเฉพาะการแสดงวิสัยทัศน์และการสัมภาษณ์ ด้วยวาจาในเวลา 10 นาที เท่านั้น
ประเด็นที่ 3 เหตุใดคณะกรรมการสรรหา กสทช. จึงประกาศรายชื่อผู้ที่สมควรเสนอ รายชื่อต่อวุฒิสภาเพื่อคัดเลือกแต่งตั้งเป็น กสทช. หลังจากที่เสร็จสิ้นการแสดงวิสัยทัศน์และการสัมภาษณ์ตอบคําถามด้วยวาจาทันที
โดยที่คณะกรรมการสรรหา กสทช. ทุกคนได้พิจารณาประวัติ ผลงาน ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ของผู้สมัครแต่ละรายจากใบสมัครที่ผู้สมัครได้ยื่นไว้ล่วงหน้าแล้ว ประกอบกับได้ฟังการแสดงวิสัยทัศน์ และการตอบคําถามด้วยวาจาของผู้สมัครแต่ละคนอย่างครบถ้วนแล้ว
คณะกรรมการสรรหา กสทช. จึงมีข้อมูลต่าง ๆ อย่างเพียงพอที่จะพิจารณาคัดเลือกรายชื่อผู้สมควรได้รับการคัดเลือกเพื่อเสนอต่อวุฒิสภาให้แต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ กสทช. โดยพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกํากับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 กําหนดให้คณะกรรมการสรรหา กสทช. ลงคะแนนเลือกผู้สมควรได้รับการคัดเลือกเพื่อเสนอต่อวุฒิสภาให้แต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ กสทช. ด้านละ 2 คน โดยแต่ละคนจะต้องได้รับคะแนนไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมการสรรหา กสทช.
การที่คณะกรรมการสรรหา กสทช. กําหนดให้ลงมติเลือกผู้สมควรได้รับการคัดเลือกเพื่อเสนอต่อวุฒิสภาให้แต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ กสทช. ทันทีที่เสร็จสิ้นการแสดงวิสัยทัศน์และการสัมภาษณ์ ตอบคําถามด้วยวาจา โดยไม่ทอดเวลาให้เนิ่นนานออกไป ก็เพื่อป้องกันมิให้เกิดการวิ่งเต้นกดดันการตัดสินใจเลือกผู้สมัครของคณะกรรมการสรรหา กสทช.
อ่านประกอบ :
ใครเป็นใคร? โพรไฟล์-ธุรกิจ 14 ผู้สมัครผ่านการสรรหา กสทช.-ชง ส.ว.ให้ความเห็นชอบ
สมบัติ 2.4 พันล.‘พล.ท.พีระพงษ์’นั่ง กสทช.ครบ 3 ปี-ภริยานักธุรกิจดังซื้อ‘เบญจภาคี’15 ล.
เบื้องหลัง ‘ฐากร-ไก่อู’ หลุดโผ! บอร์ดสรรหาฯกสทช. ชี้อาจขาดคุณสมบัติ-หวั่นวุฒิฯตีตก
ชง 14 รายชื่อว่าที่ ‘กรรมการ กสทช.’ ให้วุฒิสภาโหวต-‘ฐากร-เสธ.ไก่อู’ หลุดโผ
รอผลสรรหา 'กสทช.' ชุดใหม่! กมธ.วุฒิฯชงขยายเวลาถกร่าง กม.จัดสรรคลื่นฯ 30 วัน
ปิดรับสมัครกรรมการกสทช.! ตบเท้าเข้าชิง 80 ราย ‘เสธฯไก่อู-ฐากร-อดีตผบ.ทอ.’ แข่งด้วย
‘ฐากร ตัณฑสิทธิ์’ ยื่นใบสมัครชิงเก้าอี้ 'กรรมการ กสทช.'
คัดเลือกกรรมการกสทช.คึกคัก! ล่าสุดมีผู้สมัครแล้ว 26 ราย ‘อดีตรองผบ.สส.’ ลงแข่งด้วย
เปิดรับสมัคร ‘กรรมการ กสทช.’ 14-28 ต.ค.นี้ ประสบการณ์ 10 ปี-ผลงานเป็นที่ประจักษ์
ทรัพย์สิน 76 ล.‘ฐากร’พ้นเลขาฯ กสทช. ถอยรถให้บุตร 5.5 ล.-ค่าปรับทุนการศึกษาลูก 6.6 ล.
รัดกุม-ไม่เกิดปัญหาซ้ำรอย! บอร์ดสรรหา 7 องค์กร ถกนัดแรก รื้อเกณฑ์คัดเลือก ‘กสทช.’ ชุดใหม่
ต่ออายุ ‘ฐากร ตัณฑสิทธิ์’ นั่งเก้าอี้เลขาธิการ กสทช. อีก 1 เดือนครึ่ง
กสทช. ประกาศทิศทางการดำเนินงาน ปี 63 เดินหน้าประมูล 5G
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/