‘พุทธิพงษ์’ เผยมอบหมายรองปลัดกระทรวงดีอีเอส แจ้งดำเนินคดีผู้ใช้โซเชียลมีเดียอาจเข้าข่ายผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-รวมสื่อด้วย พบมีกว่า 3 แสนยูอาร์แอลส่อกระทำผิด ยันไม่ได้ปิดกั้น-ละเมิดสิทธิ์ใคร ทำด้วยความรอบคอบ-ระมัดระวังมาก - ตร.แถลงพบเฟซบุ๊กบางเพจไลฟ์เหตุการณ์สลายม็อบ ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด
.................................
เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการใช้สื่อโซเชียลมีเดียที่อาจจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย ว่า เราติดตามเฝ้าระวัง ถ้ามีการสื่อสารในโซเซียลมีเดียที่เป็นปัญหาที่ผิดกฎหมายเราก็มีความจำเป็นที่จะต้องบังคับใช้กฎหมาย เพราะขณะนี้มีประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) โดยมอบหมายให้รองปลัดกระทรวงดีอีเอส ไปแจ้งดำเนินคดีกับผู้ใช้โซเชียลมีเดีย ที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย อาจจะมีทั้งคนที่แชร์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย โดยเราได้ทยอยดูว่าจะสามารถระบุได้ว่าเป็นใครบ้าง วันนี้ถือเป็นวันแรกที่จะไปแจ้งความ และหลังจากนี้จะทยอยแจ้งความ จึงอยากเตือนประชาชนว่าการใช้โซเชียลมีเดียใช้ได้ แต่ต้องระมัดระวังเพราะขณะนี้มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีข้อจำกัดมากขึ้นในเรื่องการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยก
เมื่อถามว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการประสานว่าให้มีการปิดเว็บไซต์ข่าวหรือเพจที่เชิญชวนไปนัดหมายชุมนุมหรือไม่ นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า วันนี้ที่ไปแจ้งความจะไปแจ้งสำนักข่าวที่รายงานข่าวเข้าข่ายความผิด
ส่วนโทษจะถึงขั้นปิดหรือไม่ นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ต้องดูเป็นขั้นตอนต่อไป อย่างเพจบางเพจมีคำสั่งศาลมาว่ามีความผิด เราจึงจะต้องประสานให้ปิด บางส่วนที่เป็นสื่อดิจิทัลต้องหารือกับ กสทช. ส่วนสื่อออนไลน์ในโซเชียลมีเดีย ในขั้นแรกเราจะประสานเตือนไปก่อน แต่ต้องโดนดำเนินคดีอยู่แล้ว โดยวันนี้จะแจ้งความอยู่ 2-3 ราย ทั้งเพจเฟซบุ๊กที่ออกเป็นช่องสถานีข่าว เรามีการเก็บข้อมูลหลักฐานไว้ เพราะเข้าความผิดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วประสานหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ส่วนที่เข้าข่าย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ทางดีอีเอสจะดำเนินการเลย ยืนยันว่าเราระมัดระวัง ทำอย่างรอบคอบ ไม่ได้เลือกปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม เรามีการติดตามทุกคน และขณะนี้มีผู้ใช้ประมาณกว่า 300,000 ยูอาร์แอล (URL) ที่เข้าข่ายกระทำความผิด กำลังทยอยดูว่าในจำนวนนี้มีอันไหนที่สามารถยืนยันตัวตนว่ามีความผิดได้ โดยจะดำเนินการตามกฎหมาย
เมื่อถามว่า เอกสารที่มีการแชร์คำสั่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงสั่งให้ กสทช. และดีอีเอส ตรวจสอบและระงับการนำเสนอข่าวของ Voice TV, ประชาไท, The reporter, THE STANDARD, เยาวชนปลดแอก Free YOUTH เป็นของจริงหรือไม่ นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า บางคำสั่งก็เป็นของจริง แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกอัน
เมื่อถามว่า มีอีกมุมหนึ่งมีการมองว่ารัฐบาลใช้กฎหมายไปปิดกั้น นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า เราระมัดระวังอยู่แล้ว เราดูว่าอะไรที่จะดำเนินคดีได้ ไม่ใช่อยู่ดี ๆ จะไปดำเนินคดีทุกคน ถ้าไม่ได้เข้าข่ายกฎหมายหรือมีความผิดชัดเจนในเรื่องการใช้คำพูดหรือการยุยงเราก็ไม่ดำเนินคดี ตนคิดว่าเรารอบคอบและระมัดระวังมาก ยืนยันว่าไม่ได้ไปละเมิดสิทธิ์ใครแน่นอน ซึ่งในบางกรณีไม่เข้าข่ายผิดกฎหมายเราก็ยังติดตามดูอยู่
“อย่าเข้าใจผิดว่าจะไปปิดจอดำ ทีวีช่องต่าง ๆ จากนี้ กสทช. ก็ต้องเชิญมาเตือนมาคุยเรื่องเนื้อหาที่ละเมิด ปลุกปั่น สถานีต่าง ๆ ก็จะถุกเชิญมาหารือ เตือนเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม เนื้อหาสื่อสารปกติก็สามารถทำได้ ส่วนการเสนอข่าวตามเพจเฟสบุค ก็จะมีการแจ้งไปยังเฟสบุคหากต้องขอความร่วมมือในการปิดเพจที่แสดงเนื้อหาที่ผิดกฏหมาย ยุยงปลุกปั่น มีขั้นตอนกระบวนการอยู่ และหากเฟสบุคไม่ยินยอมก็ต้องดำเนินการตามกฏหมายกับเฟสบุคต่อไป“ นายพุทธิพงษ์ กล่าว
@ตร.แถลงพบเฟซบุ๊กบางเพจไลฟ์เหตุการณ์สลายม็อบ ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด
วันเดียวกัน ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษก ตร. ได้กล่าวถึงข่าวปลอมหรือเฟคนิวส์ที่มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารและสร้างความสับสนเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดย กอร.ฉ. ได้ตรวจพบ เช่น มีเพจเฟซบุ๊กบางเพจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เก็บรวบรวมพยานหลักฐานไว้หมดแล้ว ได้มีการไลฟ์สดเหตุการณ์ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการชุมนุมบริเวณแยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 โดยเพจดังกล่าวได้มีการไลฟ์สดซ้ำในช่วงค่ำของวันที่ 17 ตุลาคม 2563 เวลา 20.18 น. และวันที่ 18 ตุลาคม 2563 เวลา 19.29 น. ในช่วงเวลาที่มีการชุมนุมในลักษณะทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจกับกลุ่มผู้ชุมนุมมีการเผชิญหน้าและมีการบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มผู้ชุมนุมในช่วงค่ำของวันที่ 17 และ 18 ตุลาคม ทั้งที่ข้อเท็จจริงเวลาที่เพจดังกล่าวได้ทำการไลฟ์สดไม่มีเหตุการณ์ในลักษณะที่เพจได้ไลฟ์สดแต่อย่างใด แสดงให้เห็นถึงเจตนาที่นำเข้าข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิมเตอร์ที่มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความสงบเรียบร้อย
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวอีกว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท นอกจากนั้นยังเป็นการฝ่าฝืนประกาศผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฉบับที่ 4 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท ทางกอร.ฉ.จะพิจารณาดำเนินคดีกับผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊กดังกล่าวต่อไป และขอฝากประชาชนในการรับข้อมูลข่าวสารอยากให้รับข้อมูลข่าวสารจากเว็บไซต์ของทางราชการหรือสำนักข่าวหลักที่มีการตรวจสอบกลั่นกรองข้อมูลอย่างถูกต้องถี่ถ้วนแล้ว
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.thaipost.net/
อ่านประกอบ :
ส.ส.เพื่อไทย-สมาคมทนายฯร้องศาลแพ่งเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ-ปล่อยตัว‘หมอทศพร’
'พุทธิพงษ์'รับเอกสารจริง! กอร.ฉ.สั่งสอบ-ระงับ-ลบข้อมูล 4 สื่อออนไลน์แพร่เรื่องม็อบ
4 พรรคแถลงจุดยืน!'ชวน หลีกภัย'เชิญตัวแทน ส.ส.-ส.ว.ถกเปิดสภาหาทางออกประเทศ
19 จังหวัดนัดชุมนุมคู่ขนาน'คณะราษฎร'แจ้งจุดหลักอนุสาวรีย์ชัยฯ-อโศก
'ไมค์ ระยอง'โดนรวบหลังยุติชุมนุมที่รามคำแหง-ออกหมายจับอีก 5 มี'หมอทศพร'ด้วย
กอร.ฉ.ยันสลายชุมนุมทำจากเบาไปหาหนัก'ทัตเทพ'เลขาฯเยาวชนปลดแอกถูกจับแล้ว
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage