รอง ผบ.ตร.แจงประกาศ กอร.ฉ. ยันไม่ได้สั่งปิดสื่อ แค่จัดการข้อมูลข่าวสารที่มีปัญหาเป็นชิ้น ๆ ไป ชี้ต้องให้ กสทช.-ดีอีเอส ไปพิจารณาบังคับใช้กฎหมายในสภาวะปกติ ยันยังไม่มีผลบังคับใช้ ต้องกำหนดหลักเกณฑ์ให้เป็นตามขั้นตอน – ผุด กก.บริหารจัดการสื่อและข้อมูลข่าวสารที่มีความร้ายแรง ใช้มาตรการเชิงรุกบังคับใช้กฎหมาย หลังประกาศ กอร.ฉ. 4/2563 ว่อน มีชื่อ ‘วอยซ์ ทีวี-ประชาไท-เดอะ รีพอร์ตเตอร์-เดอะ สแตนดาร์ด-เพจเยาวชนปลดแอก’
...................................
เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2563 เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2563 ที่กองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เปิดเผยถึงคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฉบับที่ 4 ที่ให้ตราวจสอบและระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะตามข้อ 2 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 ที่มีการเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า เหตุผลที่ออกประกาศฉบับที่ 4 เนื่องจากได้รับการแจ้งจากหน่วยข่าวว่าได้มีการนำเสนอข้อมูลอันจะเกิดสับสนและปลุกปั่นก่อให้เกิดความไม่สงบได้จึงประกาศออกมา โดยเป็นประกาศที่ต้องให้ทั้งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม(กสทช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) ไปพิจารณาในเรื่องข้อมูลข่าวสารที่ได้รับว่าทำผิดกฎหมายหรือไม่ ถ้าทำผิดกฎหมายก็ให้หน่วยงานนั้น ๆ ไปดำเนินการพิจารณาตามการบังคับใช้กฎหมายในสภาวะปกติ ถ้าต้องการถอดข้อความออกบางช่วงหรือระงับการออกอากาศต้องไปขออำนาจศาล อย่างไรก็ดีประกาศฉบับนี้ยังไม่ได้บังคับใช้ เพราะจำเป็นต้องมีการกำหนดขั้นตอนหลักเกณฑ์วิธีการปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกันต่อไป
“กอร.ฉ. ยังไม่มีนโยบายหรือคำสั่งที่จะกำจัดสิทธิเสรีภาพของสื่อ ไม่มีการสั่งปิดสื่อ เป็นเพียงการจัดการข้อมูลข่าวสารที่มีปัญหาเป็นชิ้น ๆ หรือเป็นช่วง ๆ เวลาไป ซึ่งเป็นข้อมูลข่างสารที่อาจจะก่อให้เกิดความสับสนสถานการณ์รุนแรงขึ้นได้เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่จึงจำเป็นต้องออกมาในลักษณะนี้ก่อน” พล.ต.ท.จารุวัฒน์ กล่าว
พล.ต.ท.จารุวัฒน์ กล่าวอีกว่า ส่วนคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฉบับที่ 13
1.เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการสื่อและข้อมูลข่าวสารที่มีความร้ายแรงโดยมีหน้าที่บริหารจัดการข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏทางสื่อมวลชน เอกสารหรือข้อมูลข่าวสารอื่นใด สื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมอันส่งผลกระทบต่อความั่นคงของประเทศและให้รวบรวมไว้เป็นระบบอย่างมีประสิทธิภาพ
2.สืบสวนตรวจสอบพิสูจน์ทราบติดตามความเคลื่อนไหวของการสื่อสารหรือข้อมูลข่าวสารของบุคคลที่ได้มีการเผยแพร่รวมทั้งส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายหรือเพื่อระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม
3.กำหนดมาตรการเชิงรุกในการบังคับใช้กฎหมายหรือก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม
รอง ผบ.ตร. กล่าวด้วยว่า ในการทำงานของ กอร.ฉ. มีปลัดกระทรวงดีอีเอสเป็นประธาน และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องมาเป็นคณะกรรมการพิจารณาร่วมกัน หากมีข้อมูลข่าวสารจะแบ่งออกมาเป็นรายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เป็นข้อมูลข่าวสารที่กระทบต่อความมั่นคงหรือเป็นข้อมูลข่าวสารที่ผิดกฎหมาย ถ้าเป็นบุคคลจะเรียกมาตักเตือน ถ้าเป็นเรื่องความผิดตามกฎหมายแล้วจะให้หน่วยงานนั้นๆเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ หากเป็นเฟกนิวส์ทมี่สามารถใช้มาตรทางการปกครองได้ก็ให้หน่วยงานนั้นๆดำเนินการต่อไปตามอำนาจหน้าที่ ถ้ามีเรื่องเร่งด่วนจริงๆถึงจะประกาศใช้อำนาจระงับ ส่วนที่ไม่สวามารถรอให้หน่วยงานปกติทำได้ เพราะหากรอจะไม่ทันต่อเหตุการณ์หรือก่อให้เกิดความเสียหายได้จึงจำเป็นต้องใช้อำนาจประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ช่วงเช้าวันเดียวกันสื่อหลายสำนักรายงานอ้างเอกสารจากกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) ระบุว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบ กอร.ฉ. ออกคำสั่งที่ 4/2563 เรื่อง ให้ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะตามข้อ 2 ของข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
เอกสารดังกล่าวระบุสาระสำคัญว่า เนื่องจากปรากฏว่าได้มีการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนทางโทรทัศน์ด้วยการนำเสนอเนื้อหารายการบางส่วนของ วอยซ์ทีวี และ / หรือสื่อสังคมออนไลน์ อันได้แก่ Voice TV ประชาไท Prachatai.com The reporter THE STANDARD และ เยาวชนปลดแอก Free YOUTH จึงให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ดีอีเอส) ดำเนินการเพื่อตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศหรือระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์แล้วแต่กรณีตามหน้าที่และอำนาจ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 16 ต.ค. 2563
วันเดียวกัน ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ถึงกรณีดังกล่าวว่า ตรวจสอบแล้วเป็นเอกสารจริง กอร.ฉ.จะชี้แจงเวลา 10.00 น. ขอบคุณทุกคนที่ห่วงใยและให้กำลังใจ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งใด ๆ ทางเรายังทำหน้าทีต่อไป
ขณะที่นายนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร The Standard โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า ตนและทีมงานได้ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นเอกสารจริง อย่างไรก็ดีขอยืนยันในฐานะสื่อมวลชนว่า จะทำหน้าที่ยึดตามหลักวิชาชีพ จรรยาบรรณ สิทธิเสรีภาพสื่อตามกฎหมาย
ด้าน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดีอีเอส ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า เอกสารคำสั่งของ ผบ.ตร. ดังกล่าว ให้ตรวจสอบสำนักข่าวออนไลน์ ระงับการออกอากาศ เผยแพร่ และลบข้อมูลบางส่วน โดยอ้างกระทบความมั่นคงของรัฐที่มีการเผยแพร่ออกมานั้นเป็นของจริง แต่ไม่ใช่ทุกราย
หมายเหตุ : ภาพประกอบ กอร.ฉ. แถลงจาก https://resource.nationtv.tv/
อ่านประกอบ :
4 พรรคแถลงจุดยืน!'ชวน หลีกภัย'เชิญตัวแทน ส.ส.-ส.ว.ถกเปิดสภาหาทางออกประเทศ
19 จังหวัดนัดชุมนุมคู่ขนาน'คณะราษฎร'แจ้งจุดหลักอนุสาวรีย์ชัยฯ-อโศก
'ไมค์ ระยอง'โดนรวบหลังยุติชุมนุมที่รามคำแหง-ออกหมายจับอีก 5 มี'หมอทศพร'ด้วย
กอร.ฉ.ยันสลายชุมนุมทำจากเบาไปหาหนัก'ทัตเทพ'เลขาฯเยาวชนปลดแอกถูกจับแล้ว
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage