กอร.ฉ.ยันปฏิบัติการสลายกลุ่มผู้ชุมนุม ทำตามขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก เผยมีแกนนำและผู้ชุมนุมอย่างน้อย 7 คนถูกจับเพิ่มวันนี้ รวมถึง 'ทัตเทพ' เลขาฯเยาวชนปลดแอกด้วย
....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2563 หลังจากกลุ่มคณะราษฎรใหม่ ยุติการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 เวลา 22.00 น. และแกนนำได้ประกาศนัดชุมนุมใหมในช่วงเย็นวันนี้ โดยมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ชุมนุมที่ราชประสงค์ เป็นแยกปทุมวันแทน ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ 19.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุม และตั้งแถวขบวน ถือโล่ และกระบอง เดินหน้ารุกไล่กลุ่มผู้ชุมนุม หลังประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมสลายการชุมนุมในทันที
เมื่อเวลา 22.20 น. กองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) แถลงความคืบหน้าปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายในการสลายการชุมนุมม็อบคณะราษฎรที่เกิดขึ้นบริเวณแยกปทุมวัน โดย พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงหัวค่ำที่ผ่านมา ตำรวจควบคุมฝูงชนได้ทำตามขั้นต่างๆ เนื่องจากเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ห้ามการชุมนุมและมั่วสุมเกินกว่า 5 คนขึ้นไป หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศ โดยตำรวจได้ปฏิบัตตามขั้นตอนตามหลักสากลอย่างเคร่งครัด ประกาศด้วยวาจาหลายครั้งให้กลุ่มผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมในเวลาที่กำหนด อย่างไรก็ตามเมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน จึงมีความจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยจากเบาไปหาหนัก ดังจะเห็นได้จากการที่ตำรวจดำเนินการตามขั้นตอน มีหลักการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ควบคุมฝูงชนตามความจำเป็นตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างการใช้น้ำผสมสารเคมีประเภทสี มีวัตถุประสงค์เพื่อแยกแยะระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อใช้ในการดำเนินคดีในอนาคต ยืนยันว่าเป็นสารที่ไม่ได้มีอันตราย เป็นวัสดุอุปกรณ์ที่เป็นสากลทั่วโลกที่ต่างประเทศมีการใช้กัน นอกจากนั้นมีสารเคมีผสมน้ำทำให้ผู้ชุมนุมได้ระงับ ยับยั้ง ยุติ และล่าถอยออกไป โดยปกติจะส่งผลกระทบต่อผิวหนังเกิดอาการแสบร้อนเป็นเรื่องปกติ แต่สามารถใช้น้ำล้างบรรเทาได้ไม่เกิดอันตราย ทั้งนี้ผลจากปฏิบัติการมีกลุ่มผู้ชุมนุมและตำรวจได้รับบาดเจ็บบางส่วน จึงขอแสดงความเสียใจไปยังผู้บาดเจ็บ ณ โอกาสนี้ด้วย
เมื่อถามว่าหากหลังจากนี้หากมีการนัดชุมนุมจะดำเนินการอย่างไร พ.ต.ต.กฤษณะ กล่าวว่า อย่างที่นำเรียนวันที่มีการชุมนุมตั้งแต่วันแรก คงมีการดำเนินการหลายมติ ทั้งรักษาความสงบเรียบร้อยที่จะทำควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย มาตรการของตำรวจในการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆคงมีการดำเนินการคู่ขนานกันไป ซึ่งที่ผ่านมามีการแจ้งเตือนโดยตลอดว่าหลังจากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เรามีการแจ้งเตือน ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ให้ทราบถึงข้อห้ามข้อกำหนดต่างๆ และวันนี้ได้แจ้งเตือน ประกาศอย่างต่ำ 5 ฉบับเพื่อให้ทราบถึงสิทธิ และสิ่งที่พึงกระทำหรือไม่พึงกระทำ ฉะนั้นหากยังมีผู้ฝ่าฝืน คงต้องบังคับใช้กฎหมายในทุกมิติ โดยยึดหลักสากล และยึดหลักสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว
ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) แบ่งพื้นที่ปฏิบัติการเป็น 7 ส่วน ประกอบด้วย คือ 1.พื้นที่ราชประสงค์และพื้นที่ส่วนกลาง มีพล.ต.ต.สหรัฐ ศักดิ์ศิลปชัย รอง ผบช.น.เป็นผู้ควบคุมดูแลภารกิจ 2.พื้นที่ประตูน้ำ-ราชดำริ 3.แยกเฉลิมเผ่า 4.แยกสารสินและถนนราชดำริ 5.แยกชิดลม 6.บนสกายวอล์ก และ 7.พื้นที่โดยรอบ ซึ่งในการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายวันนี้ เราได้ทำการจับกุมแกนนำและผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมมีจำนวนมากกว่า 7 คน โดยขณะนี้นำตัวส่งพนักงานสอบสวนที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 (ตชด.ภาค 1 ) จ.ปทุมธานี โดยเป็นการดำเนินคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
พล.ต.ต.ปิยะ สำหรับการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย หลังจาก กอร.ฉ.ออกประกาศห้ามยานพาหนะ ทั้งรถบรรทุกอาหารเพื่อใช้ในการชุมนุม รถเครื่องเสียง เข้าพื้นที่ชุมนุม เมื่อคืนนี้ตำรวจได้ทำการควบคุมตัวผู้เกี่ยวข้องรวม 7 คน พร้อมรถเครื่องเสียง มาดำเนินคดีตามกฎหมาย สำหรับผู้ชุมนุม 7 คนที่ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมาได้ถูกนำตัวไปผัดฟ้องฝากขังที่ศาลแขวงปทุมวันเรียบร้อยแล้ว
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวยืนยันว่า บช.น.ขอยืนยันการดำเนินการตามกฎหมายครั้งนี้ ไม่มีการใช้กระสุนยาง และไม่มีการยิงแก๊สน้ำตา มีแต่สารเคมีที่ใช้ปกติตามมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นสารเคมีที่ชุดควบคุมฝูงชนที่สหภาพยุโรปและทั่วโลกใช้ตามปกติ ซึ่งปกติสารเคมีที่ใช้จะทำให้ระคายเคืองผิวหนังหรือแสบตาบ้าง แต่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือร่างกายแต่อย่างใด
ทั้งนี้เมื่อเวลา 22.30 น. นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี เลขาธิกากลุ่มเยาวชนปลดแอก โพสต์ภาพหมายจับผ่านเฟซบุ๊ก ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี - Tattep Ruangprapaikitseree พร้อมระบุข้อความว่า "ผมโดนจับแล้ว กำลังไป ตชด.ภาค 1" ทั้งนี้นายทัตเทพ เป็นหนึ่งในแกนนำที่ศาลแขวงปทุมวัน ได้อนุมัติหมายจับพร้อมกับพวกรวม 12 คน
ก่อนหน้านี้เมื่อเวลา 21.20 น.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อม ส.ส.ก้าวไกล จำนวนหนึ่ง ลงพื้นที่บริเวณแยกปทุมวัน พร้อมเข้าเจรจากับผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ขอเข้าพื้นที่ด้านใน เพื่อช่วยเหลือมวลชนที่อยู่ติดค้างอยู่บริเวณด้านใน โดยเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนตามเข้าไปด้วย
มีรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. แกนนำที่ยังเหลือในที่ชุมนุมขึ้นรถขยายเสียง ประกาศยุติการชุมนุม โดยจะไม่มีการชุมนุมต่อ ขอให้มวลชนที่จะเดินทางกลับ ให้ใช้เส้นทางพญาไท บริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อไปขึ้นรถไฟใต้ดินสถานีสีลม ขณะที่กองร้อยควบคุมฝูงชนเคลื่อนที่ถึงแยกปทุมวันแล้ว
ความคืบหน้า เมื่อเวลาประมาณ 20.20 น. มีรายงานว่า กองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) ชี้แจงกรณีใช้น้ำฉีด และใช้แก๊สน้ำตาประเภทสารเคมีผสมน้ำใส่ผู้ชุมนุม เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมได้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนดำเนินการเป็นไปตามหลักการสากล
"ขอเรียนชี้แจงว่า ที่ปรากฏเห็นเป็นน้ำสีต่าง ๆ จากรถฉีดน้ำ คือ การนำสีซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายมาผสมกับน้ำ โดยสีต่าง ๆ ที่ใช้ผสมลงไปในน้ำเป็นเพียงสีธรรมดาเท่านั้น เป็นการใช้จิตวิทยาให้ผู้ชุมนุมเกิดความกลัว และสีดังกล่าวล้างออกยากทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถแยกผู้ชุมนุมออกจากประชาชนทั่วไปได้" กอร.ฉ. ระบุ
@ศาลแขวงปทุมวันอนุมัติหมายจับ 'ไมค์ ระยอง-12 แกนนำม็อบ'
เมื่อเวลาประมาณ 19.30 น. มีรายงานว่า ศาลแขวงปทุมวัน ได้อนุมัติออกหมายจับที่ 158-169/2563 ลงวันที่ 16 ต.ค. 2563 ตามคำร้องของพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ให้จับกุม นายภาณุพงศ์ จาดนอก อายุ 23 ปี และพวกรวม 12 คน ในความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 ทั้งนี้ เมื่อจับกุมได้แล้วให้ส่งกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 จ.ปทุมธานี โดยให้จับกุมตัวให้ได้จนกว่าสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง หรือสถานการณ์ฉุกเฉินถูกยกเลิก นอกจาก นี้จัดทำรายงานเกี่ยวกับการจับกุมและควบคุมตัวเสนอต่อศาลโดยพลัน
สำหรับผู้ที่ถูกออกหมายจับ 12 คน ได้แก่
น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ อายุ 22 ปี
นายกรกช แสงเย็นพันธ์ อายุ 27 ปี
น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล อายุ 25 ปี
นายสิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ อายุ 20 ปี
นายณัฐชนน พยัฆพันธ์ อายุ 29 ปี
นายสมบัติ ทองย้อย อายุ 52 ปี
นายวสันต์ กล่ำถาวร อายุ 48 ปี
นายอรรถพล บัวพัฒน์ อายุ 30 ปี
นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี อายุ 23 ปี
นายณวรรษ เลี้ยงวัฒนา อายุ 26 ปี
นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง อายุ 28 ปี
นายภาณุพงศ์ จาดนอก อายุ 23 ปี
(หมายเหตุ : ภาพประกอบไมค์ ระยอง จาก https://www.thairath.co.th/)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 ที่กองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ได้ออกประกาศฉบับที่ 5 “แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจจับกุมและควบคุม และมีอำนาจออกคำสั่งเรียกบุคคลตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548”
เนื้อหาระบุว่า ตามที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2563 นั้น อาศัยอำนาจตาม ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และ คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 36/2563ลงวันที่ 15 ตุลาค พศ 2563 เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบ และ พนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ข้อ 3 และข้อ 4 จึงมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชหนดการบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งเป็นนายทหารสัญญาบัตรที่มียศตั้งแต่ร้อยตรี เรือตรี และเรืออากาศตรี นายตำรวจสัญญาบัตร ที่มีชั้นยศตั้งแต่ ร้อยตำรวจตรี หรือพนักงานฝ่ายปกครอง ตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเป็นผู้มีอำนาจ ดังนี้
ข้อ 1 ออกคำสั่งเรียกให้บุคคลมารายงานตัว หรือมาให้ถ้อยคำหรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยวเนื่องกับสถนกาณ์ฉุกเฉิน แล้วให้รายงานผู้บังคับบัญชาและรายงานกองอำนวยการร่วมแก็ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ทราบโดยทันที
ข้อ2. ยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจหรือศาลอาญา เพื่อขออนุญาตจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย ตามมาตรา11(1) แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548เมื่อดำเนินการแล้วให้รายงานกองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ทราบโดยด่วน
ข้อ 3 ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
@บุกค้นสำนักงานคณะก้าวหน้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 เวลาประมาณ 14.20 น. ที่สำนักงานคณะก้าวหน้า อาคารไทยซัมมิท ชั้น 5 ระหว่างที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า แถลงข่าวเรื่อง ‘ข้อเสนอต่อสังคมไทย กรณีประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมกรณีขบวนเสด็จฯ’ นั้น
มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายราย บุกเข้าตรวจค้นพื้นที่ภายในสำนักงาน โดยมีนายปิยบุตร และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า พร้อมกับสมาชิกคณะก้าวหน้า ร่วมกันพาเดินให้ตรวจค้นภายในสำนักงาน (ดูภาพประกอบท้ายข่าว)
@ปิดการจราจร-ห้ามชุนนุมแยกราชประสงค์
วันเดียวกัน ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อ่านแถลงการณ์กองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) ว่า ขอชี้แจงให้ประชานทำความเข้าใจ ประการที่ 1. พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตาม ม.9 และ 11 เนื้อหาใจความสำคัญคือ ห้ามมีการจับกลุ่มมั่วสุมชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปในพื้นที่กรุงเทพฯ , ห้ามมีการเสนอข่าวจำหน่ายทำให้แพร่หลายสิ่งพิมพ์ หรือสิ่งอื่นใดทั้งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ทำให้เกิดความหวาดกลัว ยุงยงส่งเสริมให้เกิดการชุมนุมหรือความรุนแรงในสถานการณ์ ห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะ เชื่อว่าทุกคนเข้าใจหลักกฎหมายอยู่แล้ว แต่อยากย้ำเตือนอีกครั้งว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงเย็นของวันที่ 15 ต.ค.2563 ยังมีการฝ่าฝืนกฎหมาย เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมสถานการณ์ให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย และยังไม่ได้บังคับใช้กฎหมายเต็มรูปแบบ
พล.ต.ต.ยิ่งยศ กล่าวย้ำว่า เวลานี้จะจัดการชุมนุมไม่ได้โดยเด็ดขาด เราจำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย หากพบการกระทำความผิด อย่างไรก็ตาม เราคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน หลักที่เป็นสากล ขอให้มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามหลักการดังกล่าว ทั้งนี้ตนมั่นใจว่าความรุนแรงไม่น่าจะเกิดขึ้นหากมีการเคารพกติกากัน
พล.ต.ต.ยิ่งยศ กล่าวด้วยว่า สำหรับภาพรวมการชุมนุมเมื่อวานนี้ ได้มีการจับกุมผู้ชุมนุมเพิ่มเติมอีก 6 ราย ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดย 6 รายนี้อาจจะเป็นแกนนำในการชักชวน ชักนำคนเข้ามาชุมนุม อย่างไรก็ตามมาตรการบังคับใช้กฎหมายจะเริ่มเข้มข้นขึ้น ส่วนการห้ามเข้ามาในพื้นที่ก็ถือเป็นหนึ่งในมาตรการจะอาจดำเนินการได้ วันนี้เราจะมีมาตรการที่ควบคุมเข้มข้นขึ้น อย่างการปิดกั้นการจรจาจรก็เป็นหนึ่งมาตรการอย่างหนึ่ง
ส่วน พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า ในวันนี้จะมีการปิดการจราจรเวลา 14.00 น. รวม 3 เส้นทาง คือ ถนนราชดำริ ตั้งแต่แยกราชดำริ แยกราชดำริ-แยกประตูน้ำ , ถนนเพลินชิด ตั้งแต่แยกชิดลม-แยกราชประสงค์ และถนนพระราม 1 จากแยกราชประสงค์–แยกเฉลิมเผ่า ทั้งนี้ผู้ที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวต้องมีการปรับเวลาการใช้ยานพาหนะหรือการเดินทาง หรือถ้าต้องการสอบถามเส้นทางการจราจรสามารถสอบถามได้ที่ 1197 ตลอด 24 ชม.
ขณะที่ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) กล่าวว่า สำหรับประเด็นการใช้สื่อโซเชียลหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันมีข้อกำหนดควบคุมไว้ คือ การห้ามเสนอข่าวจำหน่ายหรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือสิ่งพิมพ์และสื่ออื่นใดตลอดทั้งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจมีข้อความทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยศีลธรรมอันดีของประชาชนทั่วราชอาณาจักร เพราะฉะนั้นการแสดงความคิดเห็น หากเป็นการส่งต่อหนรือแสดงความคิดเห็นเข้าข่ายการกระทำความผิดเรื่องความมั่นคง อาจถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อัตราโทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท นอกจากนั้นกฎหมายที่มีอยู่แล้ว พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2560 นำเข้าข้อมูลที่มีลักษณะเป็นความผิดต่อความมั่นคงต่อราชอาณาจักอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท การแสดงความคิดเห็นขอให้ใช้วิจารณญาณเป็นพิเศษ ฝากความห่วงใยไปยังผู้ปกครองดูแลบุตรหลานที่อาจเข้าถึงสื่อและแสดงความคิดเห็นอาจผิดกฎหมา
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage