“...หากพิจารณาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ค่อนข้างชัดเจนว่านายฉลอง ผู้มีพฤติการณ์เสียบบัตรแทนกัน กระทำการลงคะแนน ‘โดยไม่สุจริต’ แต่ช่วงปี 2556-2557 ที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยกรณีนายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย เสียบบัตรแทนกันในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ฯ 2 ล้านล้านบาท และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. นั้น ศาลใช้คำว่า การกระทำดังกล่าวของนายนริศร เป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ ‘ทุจริต’ …”
แม้ประเด็น ส.ส. เสียบบัตรแทนกันในสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 สิ้นสุดลงแล้ว แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ตามมายังดังเซ็งแซ่ในแวดวงการเมือง
พลันที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า กรณี ส.ส. เสียบบัตรแทนกันนั้น ‘ผิด’ ทว่าผิดเฉพาะในช่วงเวลาที่ ‘กระทำ’ นั่นคือในช่วงการลงมติวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ส่วนการลงมติในวาระที่ 1 และในการแปรญัตติชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เป็นไปโดยถูกต้องสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญแล้ว
นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีแค่การตราร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ถูกต้องหรือไม่ ไม่มีประเด็นว่าข้อความหรือสาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯดังกล่าว ชอบตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งแตกต่างจากร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ฯ 2 ล้านล้านบาท และร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว. ในช่วงปี 2556-2557 ที่ศาลรัฐธรรมนูญขณะนั้นเห็นว่า นอกจากประเด็น ส.ส. เสียบบัตรแทนกันแล้ว ยังมีประเด็นข้อความหรือสาระสำคัญในร่างที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ จึงทำให้ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ‘เป็นโมฆะ’ ถูกตีตกไป
นั่นจึงเป็นสาเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียง ลงมติว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯดังกล่าว ‘ไม่โมฆะ’ แม้จะมีการเสียบบัตรแทนกัน แต่เกิดขึ้นในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 จึงใช้ ‘อำนาจหน้าที่ใหม่’ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 74 สั่งให้สภาผู้แทนราษฎร ‘โหวตแก้ตัว’ ในวาระที่ 2-3 ต่อไป (อ่านประกอบ : พฤติการณ์ต่างจากปี 56-มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน!คำวินิจฉัยศาล รธน.ร่าง พ.ร.บ.งบฯได้ไปต่อ)
ประเด็นที่น่าสนใจกรณีนี้ ยังมีต่อ ?
เพราะในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญช่วงต้น ระบุว่า คดีนี้ไม่มีประเด็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อความหรือเนื้อหาสาระของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้แต่อย่างใด ทั้งไม่มีประเด็นเกี่ยวกับความผิดทางอาญา หรือทางจริยธรรมของ ส.ส. คนใด คดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยเฉพาะเรื่องกระบวนการตราร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เท่านั้น ส่วนบุคคลใดจะต้องรับผิดโทษอย่างไรหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องไปดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
หมายความว่า การกระทำความผิดของ ส.ส. กรณีเสียบบัตรแทนกัน ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ชี้ขาดความผิดในทางอาญา แต่ยัง ‘เปิดช่อง’ ให้ร้องเรียนสอบสวนในช่องทางตามกฎหมายอื่นได้
สำหรับพฤติการณ์ของ ส.ส. กรณีเสียบบัตรแทนกัน จากเดิมที่ศาลรัฐธรรมนูญรับไต่สวน 2 ส.ส. พรรคภูมิใจไทย และ 1 ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกกล่าวหาว่าปรากฏพฤติการณ์ดังกล่าว ทว่าในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ระบุเหลือแค่นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย แค่รายเดียวเท่านั้น
โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 2563 เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2563 เวลาประมาณ 19.30 น.-11 ม.ค. 2563 ซึ่งเป็นการพิจารณาวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ปรากฏการแสดงตนและลงมติของนายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย ทั้งที่นายฉลองรับเองว่าตนไม่อยู่ในที่ประชุมตามวันและเวลาดังกล่าว การที่ ส.ส. มิได้อยู่ในห้องประชุม แต่ปรากฏว่ามีการใช้บัตรแสดงตนและลงมติแทน ย่อมมีผลเป็นการออกเสียงลงคะแนนโดยไม่สุจริต ทำให้ผลการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 2563 ในวันและเวลาดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
หากพิจารณาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ค่อนข้างชัดเจนว่านายฉลอง ผู้มีพฤติการณ์เสียบบัตรแทนกัน กระทำการลงคะแนน ‘โดยไม่สุจริต’ ทำให้ผลการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่นับเฉพาะช่วงเวลาที่ลงมติเท่านั้นคือ วาระที่ 2-3
อย่างไรก็ดีช่วงปี 2556-2557 ที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยกรณีนายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย เสียบบัตรแทนกันในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ฯ 2 ล้านล้านบาท และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. นั้น ศาลใช้คำว่า การกระทำดังกล่าวของนายนริศร เป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ ‘ทุจริต’ (อ่านประกอบ : ล้วงคำวินิจฉัยศาล รธน.ปม ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน-ผ่าน 7 ปีเกิดขึ้นซ้ำรอดูบรรทัดฐาน?, อีกคดี!ปมเสียบบัตรแทนแก้ที่มา ส.ว. ปี 56-ศาล รธน.สั่งโมฆะ วัดบรรทัดฐานการเมืองไทย?)
ที่น่าสนใจคำที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ระบุพฤติการณ์ ส.ส. ในคดีเสียบบัตรแทนกันเมื่อปี 2556-2557 และปี 2563 แตกต่างกัน และมีนัย ‘ความรุนแรง’ ไม่เหมือนกันด้วย ?
คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 1965/2560 เคยวางหลักการคำว่า ‘ทุจริต’ กับ ‘ไม่สุจริต’ ไว้ว่า การทุจริตมีความหมายตามพจนานุกรมว่า ความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง ส่วนไม่สุจริต หมายถึง ความประพฤติมิชอบ ซึ่งความหนักเบาแห่งพฤติกรรมไม่เท่ากัน (อ้างอิงข้อมูลจาก : http://jobdst.com/index.php?option=com_content&view=article&id=610&Itemid=136)
ประเด็นที่น่าสนใจต่อจากนี้คือ มีการร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อไต่สวนนายฉลอง และ ส.ส. ที่ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์เสียบบัตรแทนกันไปแล้วอย่างน้อย 4 ราย และนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยให้สัมภาษณ์ว่า กรอบการทำงานในเรื่องที่รับมาแสวงข้อเท็จจริงเบื้องต้น ใช้ระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.แจงกรอบสอบ 4 ส.ส.เสียบบัตรเบื้องต้น 180 วัน-ตุลาการศาล รธน.เริ่มประชุมแล้ว)
ดังนั้นต้องรอดูผลการไต่สวนของสำนักงาน ป.ป.ช. ว่า จะมีบทสรุปออกมาเหมือนกับกรณีของนายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทั้งทางถอดถอน และทางอาญา ด้วยหรือไม่ ?
ปัจจุบันคดีของนายนริศร อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมาศาลฎีกาฯนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีนี้ไปแล้ว
ทั้งหมดคือข้อเท็จจริง-ความแตกต่างระหว่างคดีเสียบบัตรแทนกันช่วงปี 2556-2557 และปี 2563 ที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ในช่วงเวลานี้ !
อ่านประกอบ :
พฤติการณ์ต่างจากปี 56-มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน!คำวินิจฉัยศาล รธน.ร่าง พ.ร.บ.งบฯได้ไปต่อ
เปิดชื่อตุลาการศาล รธน.ลงมติ 5:4 ร่าง พ.ร.บ.งบฯไม่โมฆะ-ให้โหวตใหม่วาระ 2-3
อีกคดี!ปมเสียบบัตรแทนแก้ที่มา ส.ว. ปี 56-ศาล รธน.สั่งโมฆะ วัดบรรทัดฐานการเมืองไทย?
ป.ป.ช.แจงกรอบสอบ 4 ส.ส.เสียบบัตรเบื้องต้น 180 วัน-ตุลาการศาล รธน.เริ่มประชุมแล้ว
‘ศรีสุวรรณ’ร้อง ป.ป.ช.สอบ ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน อาจเข้าข่ายทุจริต-ขัดกันแห่งผล ปย.
คำร้อง ปธ.สภาฯถึงศาล รธน.แล้ว! ขอให้วินิจฉัยปม 4 ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน
เทียบยุคก่อนไม่ได้! ปธ.ป.ป.ช.ชี้ปมเสียบบัตรแทนข้อเท็จจริงอาจต่างกัน-แบะท่ารอรับคำร้อง
90 ส.ส.ชง ปธ.สภาฯส่งศาล รธน.วินิจฉัยปมเสียบบัตรแทนกันตอนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ
ล้วงคำวินิจฉัยศาล รธน.ปม ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน-ผ่าน 7 ปีเกิดขึ้นซ้ำรอดูบรรทัดฐาน?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/