"... ในการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ชุดดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกถึง 6 คน เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยระดับคณบดีและผู้บริหาร เป็นนายทหารยศนายพล ถ้าบุคคลเหล่านี้ที่เข้าร่วมประชุมเห็นว่า บันทึกรายงานการประชุมไม่ถูกต้องก็ต้องขอให้มีการแก้ไข แต่เมื่อไม่แก้ไข และมีการรับรองต้องถือว่า เป็นบันทึกการประชุมที่ถูกต้อง แล้วจะเป็นบันทึกรายงานการประชุมเท็จได้อย่างไร ...."
กรณีเมื่อวันที่ 6 ก.พ.2568 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ ถูกบริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ฟ้องร้องในข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 ในการออกหนังสือเตือนทีวีดิจิทัลว่า มีโฆษณาแทรกในรายการ
ทั้งนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้เผยแพร่ข่าวสรุปคำพิพากษา มีการระบุข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับพฤติการณ์การกระทำความผิดของ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ในฐานะจำเลยว่า มีการใช้อํานาจหน้าที่โดยมิชอบโดย กระทําการเร่งรัดสั่งการหรือดําเนินการให้สํานักงาน กสทช. ทําหนังสือแจ้งไปยังผู้ให้บริการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ในนามสํานักงาน กสทช. ภายหลังจากการประชุมคณะกรรมการทันที โดยที่ กสทช. ยังไม่ได้มีการพิจารณา มีมติ หรือมีคําสั่งการในเรื่องดังกล่าว
โดยจําเลยได้กล่าวในที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2566 ที่แสดงให้เห็นถึงเจตนาที่จะล้มกิจการของโจทก์ โดยกล่าวทํานองว่า วิธีการที่เราจะจัดการเรื่องนี้ไม่ได้ไปทําที่โจทก์โดยตรง แต่ไปทําที่ช่องรายการที่รับใบอนุญาตจาก กสทช. เป็นการใช้วิธีตลบหลัง โดยในที่ประชุมมีผู้เข้าประชุมไม่เห็นด้วยกับวิธีการของจําเลย เนื่องจากเป็นการกระทําเฉพาะการให้บริการแอปพลิเคชัน True ID ของโจทก์
แต่จําเลยพยายามโน้มน้าวและรวบรัดการพิจารณา และก่อนจบการประชุมของคณะอนุกรรมการฯ จําเลยให้เตรียมความพร้อมที่จะล้มหรือระงับการให้บริการแอปพลิเคชัน True ID ของโจทก์ โดยใช้คําพูดว่า “ต้องเตรียมตัวจะ จะล้มยักษ์” และจําเลยก็ยอมรับว่า คําว่า “ยักษ์” หมายถึงโจทก์ ถ้อยคําดังกล่าวเป็นการสื่อความหมายชัดเจนว่า ประสงค์ให้กิจการของโจทก์ได้รับความเสียหาย
พฤติการณ์ของจําเลยดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ เจตนามุ่งประสงค์กลั่นแกล้งโจทก์ และใช้อํานาจหน้าที่ของตนไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กฎหมายกําหนด ทําให้โจทก์ได้รับความ เสียหาย
ต่อมาสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568 ได้นำคำพิพากษาคดีนี้ฉบับเต็มความยาว 25 หน้ามาเผยแพร่
ผู้เขียนได้อ่านคำพิพาพากษาดังกล่าวอย่างละเอียด ในฐานะที่เล่าเรียนทางกฎหมายมาบ้างมีข้อสังเกต ดังต่อไปนี้
หนึ่ง : รูปแบบการเขียนคำพิพากษา
ในคำพิพากษาจำนวน 25 หน้า มีเพียง 2 ส่วน คือ
1.รายละเอียดคำฟ้องของโจทก์
2.ข้อสรุปและคำวินิจฉัยของศาล
ไม่มีคำให้การหรือคำแก้ต่างของจำเลยซึ่งน่าจะเป็นส่วนสำคัญ (ในคำพิพากษาที่ผู้เขียนเคยอ่านจะมีส่วนที่เป็นคำให้การของจำเลยจะปรากฏอยู่ด้วยเสมอ) ที่ทำให้ผู้อ่านคำพิพากษาเห็นว่า ศาลให้เหตุผลและมีการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายอย่างเป็นธรรม
ถ้าคำพิพากษาให้เหตุผลที่รัดกุมเหมาะสมแล้ว จะทำให้คำพิพากษามีความเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
ปรมาจารย์ทางกฎหมายที่เคยสอนผู้เขียนเคยกล่าวไว้ว่า ถ้าเป็นคำพิพากษาเขียนได้ดีมีเหตุผล ไม่จำเป็นต้องไปแถลงหรืออธิบายเพิ่มเติมอะไรอีกแล้ว
สิ่งที่เห็นในคำพิพากษาว่า เป็นคำแก้ต่าง ๆ ของจำเลย เป็นเพียงการสรุปเพียงไม่กี่บรรทัด ดังนี้
“ส่วนที่จําเลยให้การต่อสู้ในทํานองว่า จําเลยไม่สามารถชี้นําหรือโน้มน้าวอนุกรรมการได้ และมติคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์เป็นไปตามความเห็นของอนุกรรมการทุกคน
จําเลยไม่ได้สั่งการ ติดตาม เร่งรัดให้เจ้าหน้าที่สํานักงาน กสทช. จัดทําและส่งหนังสือแจ้งไปยังผู้ให้บริการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ที่ได้รับใบอนุญาต
จําเลยมิได้ให้แก้ไขรายงานการประชุมครั้งที่ 3/2566
จําเลยไม่ได้พูดถ้อยคําว่า ตลบหลัง ล้มยักษ์ ระหว่างการประชุม จําเลยพูดถ้อยคําดังกล่าว หลังการประชุมเป็นเพียงการเปรียบเปรยไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์
จําเลยไม่ได้เป็นผู้ทําหนังสือแจ้งไปยังผู้รับใบอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ตามเอกสารหมาย จ.6 และ โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายจากหนังสือดังกล่าว โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย เห็นว่า ศาลได้วินิจฉัยดังกล่าวไปแล้วข้างต้น และจําเลยให้การต่อสู้ลอย ๆ ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏ และพฤติการณ์ของจําเลย ข้อต่อสู้และพยานหลักฐานของจําเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์”
นอกจากนั้นข้อความดังกล่าว ไม่ใช่คำให้การหรือคำแก้ต่างของจำเลยโดยแท้ แต่ศาลเพียงสรุปสั้นๆ มาเพื่อกล่าวอ้างสำหรับตัดสินว่า ศาลได้วินิจฉัยดังกล่าวไปแล้วข้างต้น และจําเลยให้การต่อสู้ลอย ๆ ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏ และพฤติการณ์ของจําเลย ข้อต่อสู้และพยานหลักฐานของจําเลย จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์
สอง : การให้เหตุผลและตรรกะในการวินิจฉัย
ในคำพิพากษาที่วินิจฉัยว่า จำเลยมีความผิดมีประเด็นสำคัญอยู่ 2-3 ประเด็น
1.จำเลยและอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์สั่งการหรือดําเนินการให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์มีอำนาจในการออกหนังสือถึงผู้ประกอบการที่เป็นกรณีพิพาทหรือไม่
2.การแก้ไขบันทึกรายงานการประชุมอนุกรรมการฯเป็นการทำรายงานบันทึกการประชุมเท็จหรือไม่
3.การพูดหรือการเปรียบเปรยในที่ประชุมหรือหลังการประชุมเป็นการจงใจหรือเจตนาที่จะให้โจทก์เสียหาย
ผู้เขียนอยากหยิบยกประเด็นที่ 2 มาวิเคราะห์ก่อน เนื่องจากเป็นประเด็นสำคัญเพราะศาลใช้วินิจฉัยว่า การทำบันทึกรายงานการประชุมเท็จเป็นส่วนสำคัญที่แสดงเจตนาพิเศษของจำเลยในการกลั่นแกล้งโจทก์
คำพิพากษาตอนหนึ่งระบุว่า “ในการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 จําเลยได้ทําหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม โดยมีวาระที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับการตรวจสอบการแพร่เสียงแพร่ภาพผ่านการให้บริการกล่องรับสัญญาณ โทรทัศน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (Internet TV Box) และแอปพลิเคชัน True ID
โดยในที่ประชุมได้มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับลักษณะหรือพฤติการณ์ในการให้บริการของTrue ID แต่ที่ประชุมยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ประกอบกับที่ประชุมเห็นว่า ปัจจุบันมีผู้ให้บริการในลักษณะโอทีที เช่นเดียวกับ True ID จํานวนมาก ซึ่งไม่ได้เป็นผู้รับใบอนุญาตและไม่ได้รับการกํากับดูแลจาก กสทช. หากไม่ทําการศึกษาแนวทางการพิจารณาหรือตรวจสอบลักษณะการดําเนินการของผู้ให้บริการแต่ละรายให้ละเอียดรอบคอบและครอบคลุมก่อนนําเอาประเด็นลักษณะของการให้บริการของ True ID มาพิจารณาเพียงรายเดียวอาจส่งผลต่อการพิจารณาในประเด็นต่าง ๆ ในอนาคตได้ และอาจมีประเด็นอื่น ๆ ที่บริษัททรู ดิจิทัล กรุ๊ป จํากัด สามารถยกมาเป็นข้อกล่าวอ้างได้”
ต่อมาจำเลยเรียกเจ้าหน้าที่ให้มาแก้ไขรายงานการประชุม
“ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ครั้งที่ 3/2566 ที่ประชุมไม่ได้มีมติ ดังกล่าวแต่อย่างใด อันเป็นการทําเอกสารรายงานการประชุมอันเป็นเท็จ ซึ่งจําเลยก็ทราบ เป็นอย่างดี ปรากฏว่าหลังจากนั้นในคราวประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการ โทรทัศน์ ครั้งที่ 5/2560 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 จําเลยก็ได้ร่วมประชุมและมีมติรับรอง รายงานการประชุมอันเป็นเท็จดังกล่าว พยานหลักฐานในทางไต่สวนจึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่าจําเลยเป็นผู้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์จัดทําบันทึกและหนังสือตามเอกสารหมาย จ.6 เพื่อให้นางรมิดาซึ่งรักษาการรองเลขาธิการ กสทช. ในขณะนั้นลงนามในหนังสือดังกล่าวแจ้งถึงผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ ประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ 127 ราย”
สำหรับผู้บริหารหรือผู้ที่เป็นคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ย่อมทราบดีว่า เมื่อในที่ประชุมมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ในการบันทึกรายงานการประชุมอาจมีการคลาดเคลื่อนหรือไม่ถูกต้อง
ดังนั้น ในฐานะประธานที่ประชุมที่มีความรับผิดชอบ ย่อมต้องมีการตรวจบันทึกรายงานการประชุมก่อนที่จะมีการประชุมเพื่อรับรองในครั้งต่อไป
นอกจากนั้น ยังจะให้กรรมการท่านอื่นได้แก้ไขรายงานการประชุมก่อนที่จะมีการรับรอง ถ้าบันทึกการประชุมไม่ตรงกับมติหรือไม่ถูกต้องกรรมการรายอื่น ๆย่อมมีสิทธิ์ขอแก้ไขหรือคัดค้านเช่นกัน
คำพิพากษาฉบับนี้ได้ระบุเองว่า “หลังจากนั้นในคราวประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการ โทรทัศน์ ครั้งที่ 5/2560 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 จําเลยก็ได้ร่วมประชุมและมีมติรับรอง รายงานการประชุมอันเป็นเท็จดังกล่าว”
ในการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ชุดดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกถึง 6 คน เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยระดับคณบดีและผู้บริหาร เป็นนายทหารยศนายพล ถ้าบุคคลเหล่านี้ที่เข้าร่วมประชุมเห็นว่า บันทึกรายงานการประชุมไม่ถูกต้องก็ต้องขอให้มีการแก้ไข แต่เมื่อไม่แก้ไข และมีการรับรองต้องถือว่า เป็นบันทึกรายงานการประชุมที่ถูกต้อง แล้วจะเป็นบันทึกรายงานการประชุมเท็จได้อย่างไร
นอกจากนั้นในคำพิพากษา ที่จำเลยแก้ต่างก็ระบุว่า “จําเลยไม่สามารถชี้นําหรือโน้มน้าวอนุกรรมการได้ และมติคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์เป็นไปตามความเห็นของอนุกรรมการทุกคน”
อยากตั้งคำถามว่า อนุกรรมการ ฯ ชุดนี้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกระดับผู้บริหารมหาวิทยาลัย นายทหารยศนายพล จำเลยสามารถโน้มน้าวบงการให้กระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้หรือ?
สาม : ความเสียหายของโจทก์
บทสรุปสุดท้ายของคำวินิจฉัยก่อนสั่งจำคุกจำเลย 2 ปี ระบุว่า
“แต่จําเลยกลับใช้อํานาจหน้าที่ของตนชี้นํา กดดันและบงการให้กระทําการดังกล่าวข้างต้น พฤติการณ์ของจําเลยดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ เจตนามุ่งประสงค์กลั่นแกล้งโจทก์ และใช้อํานาจหน้าที่ของตนไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กฎหมายกําหนดทําให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
เพราะภายหลังจากมีหนังสือดังกล่าวแจ้งไปยังผู้ประกอบการรวม 127 รายแล้ว มีผู้ประกอบกิจการหลายรายได้ชะลอหรือขยายระยะเวลาเข้าทํานิติกรรมกับโจทก์ การกระทําของจําเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157”
การที่คำพิพากษาอ้างว่า มีผู้ประกอบกิจการหลายรายได้ชะลอหรือขยายระยะเวลาเข้าทํานิติกรรมกับโจทก์ เป็นเพียงประโยคสั้น ๆ ลอย ๆ ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงพยานหลักฐานใด ๆ อาจทำให้ผู้อ่านไม่เชื่อถือในคำพิพากษา ดังนั้นในคำพิพากษาควรแสดงให้เห็นพยานหลักฐานในเรื่องนี้อย่างชัดเจนด้วย
สี่ : การตีความคำพูดในที่ประชุม
คำพิพากษาฉบับนี้ยังยอมรับว่า ในการประชุมมีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง ซึ่งสำหรับผู้ที่เคยร่วมประชุมในคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ย่อมทราบดีว่า การประชุมย่อมต้องสามารถแสดงความคิดเห็นโดยอิสระ
แต่คำพิพากษาฉบับนี้วินิจฉัยว่า “จำเลยคาดหวังว่าผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตจะไปไล่เบี้ยเอากับโจทก์ หรือ เพื่อกดดันให้โจทก์ เข้าสู่ระบบที่ผู้ประกอบการต้องขอรับใบอนุญาต เป็นการใช้อํานาจหน้าที่ฝ่าฝืน ต่อกฎหมายและระเบียบชัดแจ้ง อีกทั้งจําเลยย่อมเล็งเห็นว่า ทางออกสําหรับโจทก์ในเรื่องนี้ มีไม่มากนัก หากจะซื้อขายหรือโอนลิขสิทธิ์ก็ไม่อาจทําได้เพราะฝ่าฝืนกฎหมายชัดแจ้ง ดังนั้น แนวทางที่จําเลยดําเนินการ ส่งผลกระทบต่อกิจการของโจทก์มากมาย อันเป็นที่มาของคําว่า “ตลบหลัง” “ และคําว่า “ล้มยักษ์”
จําเลยก็ยอมรับว่า คําว่า “ยักษ์” หมายถึงโจทก์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ ถ้อยคําดังกล่าวเป็นการสื่อความหมายชัดเจนว่า จําเลยมีความประสงค์ ให้กิจการของโจทก์ได้รับความเสียหาย”
เมื่อในการประชุมมีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง ในการประชุมจึงมีถ้อยคำและคำพูดมากมาย ที่เป็นทั้งสาระสำคัญ และไม่ใช่สาระสำคัญ ดังนั้น การพิจารณาว่า สาระการประชุมคืออะไรต้องมองภาพรวมและเป้าประสงค์ในการประชุม
การจับถ้อยคำหรือวลีเพียงบางส่วน ในการประชุมอันยาวนานมาตีความเพื่อบอกว่า ผู้หนึ่งผู้ใด มีเจตนาพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการตีความที่สมเหตุสมผลหรือไม่
บทวิเคราะห์นี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นกรณีศึกษาและให้สังคมได้วิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมอย่างมีเหตุมีผล มิได้มีเจตนาจะหมิ่นอำนาจองค์กรใดองค์หนึ่ง