ของจริงหรือฉาบฉวย? พลิกโปรไฟล์สั้น ๆ ‘ทวิดา กมลเวชช’ รองผู้ว่าฯกรุงเทพฯยุคชัชชาติ ‘ตัวแสดง’ ข่าวกรณีอาคาร สตง. ถล่ม ยื่น ป.ป.ช.ทรัพย์สิน 38.7 ล. เงินฝาก 10.44 ล. บ้าน-ที่ดิน 9 ล. นาฬิกา 5 เรือน กระเป๋า 21 ใบ เครื่องประดับกว่าสองร้อยหลายรายการ
ในการบริหารจัดการกู้อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มอันเนื่องจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568 หลังนั้นอีก 3 วันชื่อของ ‘ทวิดา กมลเวชช’ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยุคนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ตกเป็นข่าวในสื่อสาธารณะและสื่อสังคมออนไลน์อย่างแพร่หลายกรณีจัดการช่วยเหลือผู้ประสบภัยใต้ซากตึกนำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งด้านบวกและลบ บ้างคนถึงขั้นยกชั้นปั้นเปรียบเทียบกับนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีด้วยซ้ำไป
@ ภาพประกอบจากกรุงเทพธุรกิจ
มาย้อนดูประวัติและมุมทรัพย์สินของรองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯรายนี้
นางสาวทวิดา ปัจจุบันอายุ 52 ปี เป็นบุตรนายทวีศักดิ์ กมลเวชช ข้าราชการบำนาญ อดีตผู้อำนวยการเขตพญาไท นางวนิดา กมลเวชช ข้าราชการบำนาญ การศึกษา ปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโท การบริหารสาธารณะ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาเอก การบริหารสาธารณะและนโยบาย จาก University of Pittsburgh, สหรัฐอเมริกา เคยเป็นอาจารย์ประจำสาขาบริหารรัฐกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างปี 2541-2565 และเป็นคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ระหว่างปี 2561-2565 ลาออกเพื่อมารับตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม.
นางสาวทวิดายื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรณีเข้ารับตำแหน่ง รองผู้ว่าฯ กทม. เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2565 ไม่ระบุสถานะ ‘โสด’ มีทรัพย์สิน 38,777,013.86 บาท
จำแนกเป็น
เงินฝาก (13 บัญชี) 10,446,944.92 บาท เงินลงทุน (7 รายการ) 1,287,360.93 บาท อาทิ ทุนเรือนหุ้นสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กองทุนต่างๆ 6 รายการ ที่ดิน (1 แปลง ทุ่งสองห้อง อ.บางเขน กทม. เนื้อที่ 1 งาน ) 3,000,000 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง (บ้านพักตึก 2 ชั้น แจ้งวัฒนะ14 ) 6,000,000 บาท ได้มาจากการให้ ,ยานพาหนะ (2 คัน) 2,500,000 บาท สิทธิและสัมปทาน (สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด นิชโมโน แจ้งวัฒนะ 1 รายการ ประกันชีวิต 4 รายการ) 4,065,508.01 บาท ทรัพย์สินอื่น 11,477,200 บาท มีหนี้สิน 48,982.58 บาทจากเงินเบิกเกินบัญชี
ทรัพย์สินที่น่าสนใจ อาทิ สร้อย สร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวน ต่างหู เข็มกลัด รวม 257 รายการ นาฬิกาข้อมือ 5 รายการ กระเป๋า 21 รายการ เหรียญและทอง 2 รายการ แจ้งข้อมูลรายได้ต่อปีและรายจ่ายต่อปี (โดยประมาณ) รายได้ต่อปี 1,083,840 บาท จากเงินเดือน 834,840 บาท เงินเพิ่ม 249,000 บาท
แจ้งมีรายจ่าย 943,400 บาท จากค่าไฟ ค่าน้ำประปา 63,600 บาท ค่าโทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์เคลื่อนที่ 24,000 บาท ค่าอินเทอร์เน็ต , ทรูวิชั่น 37,800 บาท เบี้ยประกันชีวิต ประกันภัย 400,000 บาท ค่าใช้จ่ายส่วนตัวอื่น 300,000 บาท บริจาค UNHCR , UNICEF 18,000 บาท ค่าอุปการะบิดามารดา 100,000 บาท
ข้อมูลด้านภาษี เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรอบปีภาษีที่ผ่านมา ระบุ เงินได้พึงประเมิน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1) – (8) จำนวน 2,039,232.63 บาท
ในยุคการบริหารจัดการภัยพิบัติโควิดในช่วงก่อนหน้านี้ ผู้บริหารกรุงเทพฯรวมทั้ง ‘ทวิดา’เองถูกตั้งคำถามเชิงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการบริหารสถานการณ์ การรับมือ และการแก้ไข ไม่ทันท่วงที ชื่อก็จมหายไปพร้อมกับนายชัชชาติ ก่อนนายชัชชาติจะตัดสินใจลงสมัครผู้ว่าฯวาระ 2 หรือไม่ กระทั่งในวันเหตุการณ์ตึกถล่ม ชื่อนายชัชชาติและ ทวิดา และทีมกลับมาอีกครั้ง
@ ภาพ ทวิดา กมลเวชช จาก สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร
ท่ามกลางกระแสวิจารณ์ความล้มเหลวของผู้นำและหน่วยงานภาครัฐในการจัดการเรื่องการสื่อสารไปถึงประชาชนอย่างทันท่วงที แผนการอพยพ และด้านอื่นๆ การปั่นกระแสข่าว-ภาพข่าวที่จำนวนไม่น้อยเสพข่าวอย่างฉาบฉวยยุคสื่อสังคมออนไลน์เชิงเปรียบเทียบระหว่างรองผู้ว่าฯกับผู้นำจึงเกิดขึ้น
โดยมองข้ามฝีไม้ลายมือการบริหารงานจัดการสาธารณะในเมืองหลวงของผู้บริหารกรุงเทพฯในช่วง 2 ปีก่อนหน้า ?
ของจริงหรือแค่ฉาบฉวย เก่งจริง หรือ เจ๋งในตำรา เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ?