สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง สรุปคำร้อง-สำนวน คัดค้านการเลือกตั้งนายก-สมาชิกอบจ. 492 เรื่อง วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว 91 เรื่อง-ยื่นศาล 1 เรื่อง แจงขั้นตอนสืบสวน-ไต่สวน 4 ชั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 31 มีนาคม 2568 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ เลขที่ข่าว 116/2568 เกี่ยวกับข้อมูลสถิติคำร้องและสำนวนเรื่องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และนายกอบจ. เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 จำนวนทั้งสิ้น 492 เรื่อง (ข้อมูล ณ วันที่ 27 มี.ค.68) ประกอบด้วย เรื่องที่กกต.วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว จำนวน 91 เรื่อง แบ่งออกเป็น สั่งไม่รับ สั่งยก/ยุติ จำนวน 86 เรื่อง ยกคำร้อง จำนวน 1 เรื่อง ระงับสิทธิ จำนวน 3 เรื่อง ดำเนินคดีและยื่นศาล 1 เรื่อง คงเหลือ จำนวน 401 เรื่อง
สำหรับการเลือกตั้งนายกอบจ.และสมาชิกอบจ. จำนวน 47 จังหวัด จังหวัดที่ไม่มีเรื่องร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ได้แก่ กระบี่ นครปฐม น่าน พัทลุง ยะลา และสิงห์บุรี เฉพาะการเลือกตั้งสมาชิกอบจ.จำนวน 29 จังหวัดที่ไม่มีเรื่องร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ได้แก่ กาญจนบุรี ชัยนาท และอุทัยธานี
เอกสารข่าวของ กกต.ยังระบุถึงการดำเนินการตามขั้นตอนการพิจารณาคำร้องและสำนวน เมื่อคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน ได้รับสำนวนแล้ว ดังนี้
ชั้นที่ 1 สำนักงาน กกต. ประจำจังหวัด เมื่อคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน ได้รับสำนวนแล้ว ให้ดำเนินการสืบสวนหรือไต่สวนและจัดทำความเห็น เพื่อเสนอให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดมีความเห็นประกอบสำนวน เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ให้จัดส่งสำนวนไปยังสำนักงาน กกต. (ส่วนกลาง) โดยเร็ว
ชั้นที่ 2 สำนักงาน กกต. เมื่อสำนักงานคณะกรรมการ กกต. (ส่วนกลาง) ได้รับสำนวนจากสำนักงาน กกต. ประจำจังหวัดแล้วให้พนักงานสืบสวนและไต่สวนผู้รับผิดชอบสำนวน ดำเนินการวิเคราะห์สำนวนและจัดทำความเห็นเสนอผ่านผู้อำนวยการฝ่าย รองผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการสำนัก และเลขาธิการ กกต. (รองเลขาธิการ กกต. ที่ได้รับมอบหมาย)
ชั้นที่ 3 คณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้ง เมื่อคณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งได้พิจารณาแล้วจะทำความเห็น และสำนักงาน กกต.เสนอสำนวนให้คณะกรรม กกต. พิจารณา
ชั้นที่ 4 คณะกรรมการ กกต. เมื่อคณะกรรมการ กกต.ได้รับสำนวนจากคณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งแล้ว ต้องพิจารณาชี้ขาดหรือสั่งการโดยเร็ว