กระทรวงการคลัง สรุปมาตรการช่วยเหลือลูกค้า-ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ของธนาคารรัฐ 8 แห่ง ทั้งพักเงินต้น-ลดดอกเบี้ย สินเชื่อส่วนบุคคล- ซ่อมแซมบ้าน สินเชื่อฟื้นฟูกิจการเอสเอ็มอี ดอกเบี้ยอัตราพิเศษ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า สืบเนื่องจากกรณีผลกระทบจากแผ่นดินไหว มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่มัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ขนาดความแรง 8.2 ริกเตอร์ ความลึก 10 กิโลเมตร ซึ่งแรงสั่นสะเทือนส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทยหลายจังหวัดตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รวมถึงกรุงเทพมหานคร กระทรวงการคลังได้สรุปมาตรการช่วยเหลือลูกค้าและลูกหนี้ของธนาคารของรัฐ จำนวน 8 แห่ง ดังนี้
1.ธนาคารออมสิน โครงการออมสินห่วงใย ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหว ประกอบด้วย มาตรการแบ่งเบาภาระ ลูกค้าสินเชื่อปัจจุบัน สำหรับลูกค้าสินเชื่อบ้าน สินเชื่อธนาคารประชาชนและสินเชื่อธุรกิจ SME ลดค่างวด พักชำระเงินต้นทั้งหมด ลดดอกเบี้ย 0 % นาน 3 เดือน
มาตรการสินเชื่อ เพื่อกู้ซ่อมบ้าน กู้ฟื้นฟูกิจการ สำหรับลูกค้า กู้เพิ่มหรือกู้ใหม่ สินเชื่อฉุกเฉินผู้ประสบภัย วงเงินสูงสุด 20,000 บาท ดอกเบี้ย 0 % 3 เดือนแรก สินเชื่อกู้ซ่อมแซมบ้าน 0 % นาน 3 เดือน สินเชื่อกู้ฟื้นฟูกิจการ 0 % นาน 3 เดือน
2.ธนาคารกรุงไทย เคียงข้างผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว ประกอบด้วย มาตรการแบ่งเบาภาระลูกค้าสินเชื่อปัจจุบัน สินเชื่อบ้านและสินเชื่อเพื่อธุรกิจ SSME (Term Loan) ลดค่างวด 75 % ของค่างวดปัจจุบัน (ชำระเพียง 25%) นาน 1 ปี ลดดอกเบี้ย ดอกเบี้ยคงที่ 0 % ต่อปี นาน 3 เดือน หลังจากนั้นดอกเบี้ยคงที่ 2.5 % ต่อปี นาน 33 เดือน (รวมระยะเวลาดอกเบี้ยพิเศษ นาน 3 ปี)
สินเชื่อบุคคล (Term Loan) ลดค่างวด 75 % ของค่างวดปัจจุบัน (ชำระเพียง 25%) นาน 1 ปี ดอกเบี้ยคงที่ 4.5 % ต่อปี นาน 3 ปี สินเชื่อเพื่อธุรกิจ SME ลดดอกเบี้ยและค่างวดการชำระหนี้ พักชำระเงินต้น/ดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาสัญญา/ปรับตารางผ่อนชำระหนี้
มาตรการสินเชื่อเพื่อกู้ซ่อมบ้าน/กู้ฟื้นฟูกิจการ สินเชื่อบ้าน Top up สินเชื่อบ้านแลกเงิน/สินเชื่อเพื่อธุรกิจ SSME (Term Loan) อัตราดอกเบี้ยพิเศษ ดอกเบี้ยคงที่ 0 % ต่อปี นาน 3 เดือน หลังจากนั้น ดอกเบี้ยคงที่ 2.5 % ต่อปี นาน 33 เดือน (รวมระยะเวลาดอกเบี้ยพิเศษนาน 3 ปี) กรณีสินเชื่อบ้าน ฟรีค่าประเมินและค่าจดจำนอง
สินเชื่อบุคคล (Term Loan) ดอกเบี้ยคงที่ 4.5 % ต่อปี นาน 3 ปี สินเชื่อเพื่อธุรกิจ SME (Term Loan) ระยะเวลา 7 ปี ดอกเบี้ย 2 ปีแรก 3.5 % ต่อปี หลังจากนั้น MLR-1 ต่อปี
3.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โครงการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือที่อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย สำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แผ่นดินไหว กรณีลูกค้าเดิม พักชำระหนี้นาน 3 เดือน พร้อมลดดอกเบี้ยเดือนที่ 1-3 อัตรา 0 % ต่อปี เดือนที่ 4-12 อัตรา 2 % ต่อปี กรณีกู้เพิ่มหรือกู้ใหม่ ปลอดชำระเงินงวด 3 เดือน ดอกเบี้ยเดือนที่ 1-3 อัตรา 0 % ต่อปี เดือนที่ 4-24 อัตรา 2 % ต่อปี
5 มาตรการช่วยเหลือ มาตรการประนอมหนี้ สำหรับลูกค้าที่ค้างชำระเงินงวดติดต่อกันมากกว่า 3 เดือน หรือ มีสถานะอยู่ระหว่างการประนอมหนี้ หลักประกันเสียหาย ปลอดดอกเบี้ยและเงินงวด 6 เดือนแรก เดือนที่ 7 – 18 ดอกเบี้ย 1 % ต่อปี (ผ่อนเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน) กระทบรายได้ ปลอดดอกเบี้ยและเงินงวด 6 เดือนแรก ผ่อนชำระเงินงวด 10,000 บาท (ตัดเงินต้นทั้งหมด) เดือนที่ 7-12 ดอกเบี้ย 1 % ต่อปี (ผ่อนเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน+เงินต้น 100 บาท
เสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวร ผู้กู้ร่วม/ทายาท ผ่อนชำระต่ออัตราดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาที่คงเหลือ 0.01 % ต่อปี เสียหายทั้งหลังไม่สามารถซ่อมแซมได้ ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินคงเหลือ สำหรับลูกค้าที่เป็นผู้ประสบภัย (มาตรการสินไหมเร่งด่วน) ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ สามารถแจ้งแคลมความเสียหาย รับค่าสินไหมเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ
4.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แผ่นดินไหว ประกอบด้วย โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ปี 2568 เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย รายละไม่เกิน 50,000 บาท 6 เดือนแรก อัตราดอกเบี้ย 0 % เดือนที่ 7 เป็นต้นไป ดอกเบี้ยตามอัตรา MRR (6.725 %)
โครงการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นค่าลงทุน รายละไม่เกิน 500,000 บาท ดอกเบี้ย MRR-2 ระยะเวลาชำระหนี้ ไม่เกิน 15 ปี
5.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ประกอบด้วย มาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย (ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อม) กลุ่มเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา สูงสุดไม่เกิน 12 เดือน
กลุ่มสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนประเภทตั๋วสัญญาใช้เงินและสินเชื่อแฟคตอริ่ง ขยายระยะเวลาชำระตั๋วสัญญาใช้เงินออกไปอีกสูงสุด 180 วัน และสามารถพักชำระดอกเบี้ยได้
มาตรการ เติมทุนฉุกเฉิน เพื่อซ่อมแซมฟื้นฟูกิจการ (ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบทางตรง) วงเงินกู้ 10 % ของวงเงินเดิม ขั้นต่ำ 30,000 บาท สูงสุด 200,000 บาท ดอกเบี้ย MLR ต่อปี ระยะเวลากู้ 3 ปี ปลอดชำระเงินต้น 12 เดือน ไม่ต้องมีหลักประกัน ยกเว้นค่าธรรมเนียม
6.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย มาตรการช่วยเหลือสำหรับวงเงินกู้ระยะสั้น ขยายระยะเวลาตั๋วสัญญาใช้เงินสูงสุด 180 วัน เพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราว สูงสุด 20 % ของวงเงินหมุนเวียนเดิม ทั้งนี้ ไม่เกิน 2 ล้านบาท โดยใช้อัตราดอกเบี้ยเดิม เปลี่ยนแปลงภาระหนี้ระยะสั้นเป็นภาระหนี้ระยะยาว ผ่อนชำระสูงสุด 3 ปี
มาตรการช่วยเหลือสำหรับวงเงินกู้ระยะยาว ขยายระยะเวลาวงเงินกู้ สูงสุด 7 ปี ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ปีแรกลง 0.5 % หรือ จ่ายดอกเบี้ยเพียง 50 % ในช่วง 6 เดือนแรก พักชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 1 ปี Top up วงเงินสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น
7.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ ไอแบงก์ ประกอบด้วย ลูกค้ารายเดิม พักชำระหนี้เงินต้นและกำไร ทุกประเภทวงเงิน (ไม่ร่วมสินเชื่อหมุนเวียน) ระยะเวลาสูงสุด 6 เดือน ลูกค้ารายเดิมและรายใหม่ ให้สินเชื่อซ่อมแซม ฟื้นฟูที่อยู่อาศัยวงเงิน 1 ล้านบาท อัตรากำไรปีแรก 1.99 % ต่อปี และฟื้นฟูกิจการ วงเงินสูงสุด 5 ล้านบาท อัตรากำไรปีแรก 3.25 % ต่อปี ระยะเวลาสูงสุด 5 ปี เคลมประกันเร่งด่วน (Fast track) ประกันตะกาฟุล สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ ธนาคารจะเร่งประสานการเคลมสินไหมให้เป็นการเร่งด่วน
8.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาตรการช่วยลูกค้าและลูกหนี้ บสย. พักชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันและค่าจัดการค้ำประกัน 6 เดือน พักค่างวด 3 เดือน ลูกค้า พักชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อและค่าจัดการค้ำประกัน นาน 6 เดือน นับจากวันถึงกำหนดชำระค่าธรรมเนียม ลูกหนี้ พักชำระค่างวด นาน 3 เดือน
ทั้งนี้รายละเอียดทั้งหมดของมาตรการสามารถติดต่อกับธนาคารทั้ง 8 แห่งโดยตรงอีกครั้ง