แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ติดตาม-แก้ปัญหาแผ่นดินไหว สั่ง กระทรวงมหาดไทย-กรมโยธิการและผังเมือง ตั้ง คณะกรรมการสอบ ตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ ถล่ม ขีดเส้น 7 วัน กลับมารายงาน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 29 มีนาคม 2568 นางสาว แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจดูความเรียบร้อยรถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน (MRT) เพื่อรองรับการให้บริการประชาชนและการใช้งาน สืบเนื่องจากเหตุเเผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.68 ถึงกรณีอาคารก่อสร้างสูง 30 ชั้น ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ย่านตลาดนัดจัตตุจักร ถล่มว่า สงสัยเช่นว่า เพราะสาเหตุอะไรถึงถล่มลงมาเพียงตึกเดียว
“แน่นอนว่า ไม่ปล่อย ตามดูว่า เป็นเพราะอะไร โดยได้ให้ผู้มีความรู้ เช่น กรมโยธาธิการและผังเมืองตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบ สัปดาห์หน้าให้กลับมารายงานว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งได้ให้ไทม์ไลน์และสั่งการไปแล้วว่า ขอคณะกรรมการที่มีผู้รู้อยู่ในนั้น และสามารถให้ความเห็นเพื่อจะได้หาสาเหตุได้ว่า เกิดขึ้นเพราะอะไร แบบถูก approve (อนุมัติ) โดยใคร ผ่านได้อย่างไร และมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เพราะตึกก่อสร้างมีตั้งหลายตึก และได้ถามแล้วว่า วิธีการสร้างตึกแบบนี้เป็นตึกแรกในประเทศหรือไม่ ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นเดี๋ยวตามดู”นางสาวแพทองธารกล่าว
รายงานข่าวจากที่ประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เพื่อติดตามสถานการณ์ ผลกระทบ และการแก้ไขปัญหาภัยจากแผ่นดินไหว ที่มีนางสาว แพทองธาร เป็นประธาน ตัวแทน สตง. ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า สัญญาก่อสร้างตึกสตง.แห่งใหม่ ทำไว้เมื่อปี 2563 กำหนดเสร็จปี 2567 แต่มีการขอเลื่อนกำหนดระยะเวลาก่อสร้างเสร็จเป็นเดือนมิถุนายน 2568 โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และขาดสภาพคล่อง โดยก่อนที่จะเกิดเหตุแผ่นดินไหว การก่อสร้างมีความคืบหน้าไปแล้ว 38 %
“ในที่ประชุมได้มีการหารือถึงแนวทางการแก้ปัญหาและหาสาเหตุของตึกถล่ม โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการ โดยให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นหน่วยงานหลัก เนื่องจากหลังจากปี 2550 ภายหลังพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ.2550 อาคารของรัฐไม่ต้องส่งแบบให้สำนักงานเขตอนุมัติ ร่วมกับกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาสาเหตุตึกถล่ม และรายงานกลับมาภายใน 7-15 วัน เพื่อหาคนรับผิดชอบ”แหล่งข่าวระบุ
รายงานเพิ่มเติมในการประชุม บกปภ.ช. นางสาว แพทองธารได้มีข้อสั่งการเกี่ยวกับการแก้ปัญหาแผ่นดินไหว ดังนี้
1.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) , กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดย ให้ ปภ. ที่มีอำนาจหน้าที่เตือนภัย ดำเนินการส่งหนังสือ และข้อความ SMS ที่จะ broadcast ไปให้ กสทช. ในทันที (โดยที่ไม่ต้องรอการประชุม หรือคำสั่งการจากนายกรัฐมนตรี) โดยให้ กสทช. เตรียมงานและการรองรับไว้ให้เพียงพอ และเพิ่ม capacity ในการส่งข้อความ SMS ยามฉุกเฉิน และขอให้ ปภ. เร่งพัฒนาระบบ cell broadcast ที่สามารถส่งข้อความฉุกเฉินไปยังโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในไทยได้ทันที ภายในเวลา 3 เดือน
2.กรุงเทพมหานคร (กทม.) เร่งดำเนินการค้นหาผู้สูญหาย และเร่งหามาตรการในการควบคุมการออกใบอนุญาตอาคารสูง และการกำหนดมาตรฐาน ทบทวนผังเมือง และกฎหมายอาคารสูง และตรวจสอบอาคารสูงเพื่อรองรับการเกิดแผ่นดินไหวได้ หากปล่อยปละละเลยแล้วสร้างอาคารเสร็จ แล้วมีผู้อาศัย แล้วไม่มีคุณภาพ จะเกิดปัญหาที่มากกว่าขณะนี้ ขอให้ร่วมมือกับทางกระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานพระพุทธศาสนา ในการตรวจสอบโบราณสถานต่างๆ ว่ามีผลกระทบหรือไม่
3.กระทรวงกลาโหม นอกจากการจัดหายุทโธปกรณ์ในการบริการประชาชน รถโรงครัว รถขนส่งแล้ว ขอให้ทางหน่วยงานความมั่นคง เตรียมกำลังพล เพื่อช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว
4.กระทรวงสาธารณสุข เตรียมแพทย์สำรอง และเตียงเสริมให้เพียงพอต่อความต้องการ ที่สำคัญการเยียวยาทางด้านจิตใจแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบและครอบครัว
5.กระทรวงมหาดไทย โดย ปภ. ต้องมีมาตรการที่ชัดเจนในการแจ้งเตือน ถ้าหากไม่มีแนวทางที่ชัดเจน จะต้องมีการจัดการที่เด็ดขาดต่อไป และดิฉันจะติดตามเองเป็นระยะๆ รวมถึงเงินเยียวยาที่จะต้องถึงมืออย่างรวดเร็ว
6.กระทรวงคมนาคม ขอให้มีมาตรการที่ชัดเจนในการตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐาน อาคารสูง ขอให้กรมโยธาธิการ สภาวิศวกรรมสถานในการตรวจสอบที่เข้มงวด
7.กระทรวงท่องเที่ยว ร่วมมือกับทางสภาวิศวกรรม และกรมโยธาธิการ ตรวจสอบโรงแรมขนาดสูง เพื่อสร้างความมั่นให้กับนักท่องเที่ยว
@ อนุทิน ลงพื้นที่ตึกถล่ม
ต่อมาเมื่อเวลา 15.00 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้าตรวจสอบความคืบหน้าการรื้อถอนเศษซากอาคาร โครงการก่อสร้างสำนักงาน สตง. แห่งใหม่ ที่เกิดเหตุถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว เปิดเผยว่า มาติดตามความคืบหน้าในการกู้ชีพผู้เคราะห์ร้ายที่ติดอยู่ใต้สร้างอาคาร ซึ่งหากพบผู้บาดเจ็บรอดชีวิตจะมีการเร่งนำส่งโรงพยาบาลใกล้เคียงให้เร็วที่สุด
นายอนุทินกล่าวว่า ส่วนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ก็จะมีการดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งจะช่วยเหลือเยียวยาตามระเบียบของกฎหมาย โดยทางกระทรวงมหาดไทยได้ประสานไปยังกรมบัญชีกลางขอเพิ่มงบประมาณทดลองจ่ายในยามฉุกเฉินวงเงิน 200 ล้านบาท ซึ่งอธิบดีกรมบัญชีกลางยืนยันมาว่าจะเร่งอนุมัติงบประมาณส่วนนี้
นายอนุทินกล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้รับการประสานความช่วยเหลือมาจากต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้ปฏิเสธ แต่ว่าตอนนี้เรามีความพร้อมปฏิบัติการเพียงพอ ส่วนปฏิบัติการเน้นทั้งการกู้ซากและกู้ชีวิต โดยเน้นการค้นหาผู้รอดชีวิตเป็นอันดับแรก แต่หากไม่ทำการกู้ซากก็จะเข้าไม่ถึงตัวผู้ที่ติดอยู่ใต้ซากอาคาร เนื่องจากอาคารมีความสูง 30 ชั้น เกิดถล่มลงมาเหลืออยู่ 5 ชั้น นั่นหมายถึงอาคารยุบตัวลึกลงไปใต้พื้นดินมาก พร้อมกับมีซากปรักหักพังขวางกั้นกันเข้าช่วยเหลือ
นายอนุทินกล่าวว่า สำหรับผู้รอดชีวิต 15 คน ได้มีทีมกู้ภัยจากเออซ่า เป็นทีมที่มีประสบการณ์การกู้ภัยอาคารถล่ม ช่วยดูข้อมูลผ่านอุปกรณ์ค้นหาสัญญาณชีพ และทีมสภาวิศวกร ร่วมทำภารกิจให้การช่วยเหลือ แต่ต้องประเมินความปลอดภัยตามหลักวิชาการ เพื่อไม่ให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับอันตราย ซึ่งเป็นการทำงานแข่งกับเวลา พอเครื่องสแกนสัญญาณชีพพบจุดไหนก็ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปค้นหา แต่อุปสรรคคือสิ่งกีดขวางใต้อาคารที่มีจำนวนมาก
นายอนุทินกล่าวว่า ขณะนี้พยายามใช้เครื่องจักรหนักเปิดทางเข้าไปช่วยเหลือผู้รอดชีวิต ซึ่งยังไม่สามารถส่งนักกู้ภัยเข้าไประหว่างเครื่องจักรหนักทำงานได้ เพราะไม่ปลอดภัย ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของการทำงาน ไม่ล่าช้า เพราะกำลังพยายามทำทุกอย่างที่ทำได้
นายอนุทิน กล่าวยอมรับว่า ครบ 24 ชั่วโมงแล้ว กังวลเรื่องความปลอดภัยของผู้รอดชีวิต ยืนยันว่าจะทำทุกอย่างให้เร็วที่สุด แต่ไม่สามารถวางกรอบระยะเวลาได้ว่าต้องทำภารกิจให้สำเร็จภายในกี่วัน ตอนนี้อะไรทำได้ก็ทำก่อน สำหรับสัญญาณชีพที่ตรวจพบ 15 คน เจ้าหน้าที่ได้ทำการใช้อุปกรณ์เป่าลมเข้าไปตามช่องและซอกของซากตึกถล่ม เพื่อนำอากาศเข้าไปใต้ซากอาคารให้ได้มากที่สุด
“ส่วนสาเหตุของการถล่มของอาคาร สตง. แห่งใหม่ ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบภายใน 7 วัน เพื่อดูว่าวิธีการก่อสร้างเป็นอย่างไร เพราะอะไรถึงเป็นอาคารแห่งเดียวที่เกิดถล่ม ซึ่งจำเป็นจะต้องสืบหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้”นายอนุทินกล่าว
@ นายกวิศวกรรม แนะ รื้อถอนอาคารถล่มใช้เครื่องจักรเบา
ขณะที่ นายธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า โครงสร้างของอาคารที่ถล่มลงมายังไม่สามารถตรวจสอบหาสาเหตุได้ในขณะนี้ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือการรื้อถอนโครงสร้างเพื่อค้นหาผู้รอดชีวิตเป็นไปได้ยาก จึงต้องมีวิศวกรผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบแรงเคลื่อนตัวของโครงสร้าง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ปฏิบัติงาน และผู้ที่ติดค้างภายใน
นายธเนศกล่าวว่า การรื้อถอนขณะนี้ยังจำเป็นต้องใช้เครื่องจักรเบา หรือเครื่องจักรขนาดเล็กในการเข้าไปรื้อย้ายในจุดที่ยังพบสัญญาณชีพ ส่วนในเรื่องของเครื่องจักรหนักนั้นสามารถรื้อถอนในส่วนที่ไม่มีผลกระทบ แต่ในส่วนที่เจ้าหน้าที่จะทำการเจาะโพรงเพื่อที่จะเข้าไปค้นหาผู้รอดชีวิตมีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก แต่เป็นวิธีกู้ภัยที่สามารถเข้าไปช่วยได้รวดเร็วที่สุด จำเป็นต้องประเมินทุกขั้นตอนในการช่วยเหลือ ในส่วนของการรื้อโครงสร้างที่ถล่มทั้งหมด จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์หรือเครื่องจักรขนาดใหญ่ รื้อถอนจากชิ้นส่วนด้านบนลงมา
นายธเนศ กล่าวว่า สำหรับรอยร้าวของอาคารคอนโดมิเนียม จะแบ่งระดับได้เป็นสีเขียว คืออยู่ในระดับปลอดภัยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัย สีเหลือง คือโครงสร้างเริ่มมีการแตกร้าว และสีแดง คือเป็นอันตรายไม่สมควรเข้าไปอยู่อาศัย ซึ่งรอยร้าวที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ รอยร้าวที่เห็น ทะลุอีกฝั่งของผนัง และเห็นโครงเหล็ก ซึ่งรอยร้าวลักษณะนี้ จะเป็นผลมาจากโครงสร้าง ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จึงจำเป็นต้องออกจากพื้นที่และให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาประเมิน
นายธเนศกล่าวว่า ส่วนรอยร้าวที่เป็นลักษณะแตก ไม่ว่าจะเป็นแนวนอนหรือแนวตั้ง ถ้าอีกฝั่งนึงไม่ได้เป็นรอยในลักษณะเดียวกัน หรือมองทะลุได้ จะเป็นรอยร้าวที่เกิดจาก อุณหภูมิ หรือแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดจากตัวผนังไม่ใช่โครงสร้างแต่ถ้าเป็นรอยร้าวที่มุมผนังแนวแยกออกจากกัน แสดงว่าโครงสร้างอาคารได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตามหากบ้านได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว และพบว่ามีรอยร้าว จะต้องให้ผู้เชี่ยววชาญเข้ามาตรวจสอบและประเมิน
ด้าน พล.ต.ท.สยาม บุญสม ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า วันนี้พบเพิ่ม 1 ศพ รวมขณะนี้ศพที่เคลื่อนย้ายออกมาแล้ว มีจำนวน 7 ศพ และที่เห็นว่าเสียชีวิตแล้วอีก 2 ศพ แต่ยังเอาออกมาไม่ได้ ต่อไปนี้จะสรุปแค่เพียงตัวเลขจำนวนศพที่ออกมาได้ก่อนเท่านั้น เพื่อความชัดเจน และเป็นไปในทิศทางเดียวกันต่อไป
ทั้งนี้ ยอดผู้เสียชีวิตขณะนี้จำนวนทั้งหมด 9 ราย เป็นชาย 5 ราย หญิง 2 ราย และยังไม่สามารถระบุอัตลักษณ์ได้อีก 2 ราย ยอดสูญหายคงเหลือ 78 ราย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องประกอบ :