ทางการจีนยืนยันขอตรวจแบบ ‘ไฮสปีดไทย-จีนเฟส 2 โคราช-หนองคาย’ ‘สุริยะ' มอบ ‘รถไฟ' หารือ ‘คลัง' เว้นกฎหมายบางฉบับ เปิดทางที่ปรึกษานอกเข้ามาตรวจงานได้ ‘รฟท.' ขีดเส้นให้ตรวจแค่ความปลอดภัย-ตรงแบบจีนหรือไม่ ไม่ให้รื้อใหม่เด็ดขาด ส่วนปม ‘สถานีอยุธยา' ‘กรมศิลป์ฯ' แนะให้รอ ‘ยูเนสโก' ก่อน เตรียมหารือรับเหมายืดเวลายืนราคาเสนอออกไป หลังกำหนดยืนราคาสิ้นสุดปลายเดือนนี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 28 มีนาคม 2568 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดผยว่า เนื่องจากระหว่างวันที่ 1-2 เม.ย.นี้ มีการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน วานนี้ (27 มี.ค. 68) จึงได้นัดหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือถึงประเด็นสำคัญที่จะต้องมีการพูดคุยกับทางการจีน
นายสุริยะกล่าวว่า สำหรับประเด็นที่หารือกันคือ การที่ทางการจีนมีความประสงค์จะขอตรวจแบบก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา–หนองคาย ระยะทาง 357.12 กิโลเมตร (กม.) กรอบวงเงิน 341,351.42 ล้านบาท และขอการขอค่าตรวจแบบก่อสร้างมาด้วย วงเงิน 250 ล้านบาท จึงได้มอบหมายการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พิจารณาความเหมาะสมต่อไป เบื้องต้นมี 2-3 ประเด็นที่จะหารือกันก่อน สำคัญที่สุดคือ ต้องหารือกระทรวงการคลังให้บริษัทที่ปรึกษาจากจีนเข้ามาตรวจสอบแบบงานได้ ส่วนวงเงินที่ขอมาก็ให้ รฟท.ไปพิจารณาว่าจะเอาเงินจากส่วนใดมาใช้
ด้านแหล่งข่าวจากรฟท.กล่าวว่า เหตุผลที่ทางการจีนต้องการตรวจแบบก่อสร้าง ก็เนื่องจากตัวโครงการรถไฟความเร็วสูงสายนี้ ใช้เทคโนโลยีจากประเทศจีนตั้งแต่ระยะแรก เมื่อมีการอนุมัติก่อสร้างโครงการระยะที่ 2 จึงต้องมีการออกแบบให้ทั้ง 2 ส่วน เชื่อมต่อไหลลื่นไปด้วยกัน
ส่วนขั้นตอนที่ทางการจีนจะเข้ามาตรวจสอบได้นั้น แหล่งข่าวจากรฟท.ยอมรับว่า จะต้องมีการพูดคุยกับกระทรวงการคลัง ขอยกเว้นกฎหมายบางฉบับ เพื่ออำนวยความสะดวกให้วิศวกรที่ปรึกษาจากจีนเข้ามาตรวจสอบแบบได้ ถ้าเป็นก่อนหน้านี้ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ยังมีคำสั่งหัวหน้าคสช.ออกตามความในมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ก็จะใช้ช่องทางนี้ได้ แต่เมื่อไม่มีแล้วก็คงต้องดำเนินการจ้างที่ปรึกษา ซึ่งตามระเบียบกรมบัญชีกลาง การจะจ้างที่ปรึกษาจะต้องมีชื่อบริษัทนั้นปรากฎอยู่ในบัญชีของกรมบัญชีกลางก่อน อาจจะขอให้มีมติครม.ของดเว้นการบังคับใช้ระเบียบตรงนี้ โดยได้ให้เหตุผลทางการจีนไปแล้วว่า การเข้ามาตรวจแบบก่อสร้างจะไม่ใช่การทบทวนใหม่ทั้งหมด จะให้มาดูแค่ว่าแบบที่มีปลอดภัยไหม? มาตรฐานของงานโครงสร้างเป็นไปตามมาตรฐานจีนใช่หรือไม่? เป็นต้น เพราะถ้าให้ตรวจแบบจับผิด จะผิดกฎหมายวิชาชีพ ส่วนหน่วยงานที่ต้องมีการหรือหลักๆ น่าจะเป็นกรมบัญชีกลางกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
ส่วนความคืบหน้าการดำเนินการเกี่ยวกับประเด็นสถานีอยุธยา ที่อยู่ในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีย ระยะที่ 1 ช่วงกทม.-โคราช สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. วงเงิน 9,913 ล้านบาท ที่ได้อนุมัติการสั่งจ้างบริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัดนั้น แหล่งข่าวจากรฟท.กล่าวว่า ในที่ประชุมตัวแทนจากกรมศิลปากรเสนอให้ รฟท. รอคำตอบที่ชัดเจนจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ก่อน หลังจากที่มีการลงพื้นที่สถานีอยุธยาเมื่อเดือน ม.ค. 2568 ที่ผ่านมา อีกทั้งตัวสถานีอยุธยาได้รับการจดทะเบียนเป็นโบราณสถานด้วย จึงควรที่จะรอ ซึ่งจะใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 เดือน โดย รฟท. จะมีการแจ้งไปยังบริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัดให้ขยายระยะเวลายืนราคาเสนออกไปอีก โดยต้องรอดูท่าทีของเอกชนว่า จะยังยืนราคาหรือไม่ต่อไป