"...บริษัท อาร์ทีเอฯ ได้เข้าซื้อหุ้นธนาคารทหารไทยตามความต้องการของกองทัพบกแล้วในปิ พ.ศ. 2541 รวมเป็นหุ้นจำนวนทั้งสิ้น 142,041,694 หุ้น และระหว่างการถือครองหุ้นธนาคารทหารไทย นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2541 จนถึงปัจจุบันบริษัท อาร์ทีเอฯ ได้นำดอกผลอันเกิดขึ้นโดยตรงจากการเข้าซื้อและถือครองหุ้นธนธนาคารทหารไทยตามที่ได้รับมอบหมายจากกองทัพบก ส่งคืนให้แก่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกแล้วหลายครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 269,500,000 บาท จึงทำให้เงินทุนที่ได้รับมาจากสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกจากเดิม 1,453,000,000 บาท คงเหลือ ณ ปัจจุบันจำนวน 1,183,500,000 บาท..."
"ฉะนั้นเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติเช่นนี้ จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า เอกสารฉบับลงวันที่ 19 ม.ค.2541 ซึ่งใช้ชื่อว่า "สัญญากู้ยืมเงิน" เป็นเพียงนิติกรรมที่ได้แสดงเจตนาอำพรางไว้โดยที่คู่กรณีทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นบุคคลเดียวกันได้รู้ซึ่งเจตมาอำพรางนั้น เอกสารดังกล่าว จึงไม่สามารถใช้สิทธิตามกฎหมายบังคับเอาหนี้เงินก็ได้"
"หากแต่ต้องบังคับตามเจตนาที่แทนจริงของคู่กรณีซึ่งได้อำพรางไว้กล่าวคือ การให้บริษัท ททบ.5 จำกัด เป็นตัวแทนกองทัพบกเข้าซื้อและถือหุ้นธนาคารทหารไทยแทนกองทัพบก อันเป็นนิติสัมพันธ์ในลักษณะตัวการตัวแทน ซึ่งเป็นเจตนาที่แทนของคู่กรณีในการจัดทำเอกสารฉบับลงวันที่ 19 ม.ค.2514"
คือ ข้อมูลที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ทิ้งท้ายไว้ ในการนำเสนอข้อมูลเชิงลึก กรณีปัญหาข้อพิพากเงินกู้ยืมจำนวน 1,453 ล้านบาท ตามสัญญากู้ลงวันที่ 19 ม.ค.2541 ที่ปรากฏข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก หรือ ช่อง 5 ได้ทำหนังสือแจ้งให้บริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวคืนมาเป็นระยะๆ แต่ยังไม่ได้รับเงินกู้คืนครบถ้วนตามจำนวน
ในส่วนของข้อหารือร่วมกันระหว่าง สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก หรือช่อง 5 ที่มีการเชิญบริษัท อาร์ทีเอฯ เข้าหารือเพื่อกำหนดแนวทางการชำระหนี้ การปรับปรุงสัญญาเงินกู้ หลังถูกทวงถามให้ชำระหนี้คืนหลายครั้ง แต่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ ก่อนที่บริษัท อาร์ทีเอฯ จะทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง 1 ฉบับ ชี้แจงต่อสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก หรือช่อง 5 ถึงรายละเอียดข้อหารือดังกล่าว ซึ่งมีการระบุถึง "สัญญากู้ยืมเงิน" ว่า เป็นเพียงนิติกรรมที่ได้แสดงเจตนาอำพราง ก่อนที่บริษัท อาร์ทีเอฯ จะยืนยันชัดเจนว่า ไม่ได้มีนิติสัมพันธ์กับสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกอย่างเจ้าหนี้ลูกหนี้และไม่ตกเป็นลูกหนี้เงินกู้ตามที่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกกล่าวอ้าง มีสถานะเป็นตัวแทนเชิด ในการเข้าถือครองหุ้นธนาคารทหารไทยด้วยวิธีการนำเงินจากช่อง 5 หรือกองทัพบกจำนวน 1,453,000,000 บาท เข้าซื้อหุ้นธนาคารทหารไทย
ทั้งนี้ ในเนื้อหาหนังสือที่ บริษัท อาร์ทีเอฯ ทำชี้แจงต่อ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก หรือช่อง 5 ดังกล่าว ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับการเป็นตัวแทน สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก หรือ ช่อง 5 ของ บริษัท อาร์ทีเอฯ ในช่วงที่ผ่านมาด้วย
ปรากฏข้อมูลดังต่อไปนี้
ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงอย่างเดียวกันกับกรณีของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก กับ บริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์โพรส์ จำกัด (มหาชน) นั้น ศาลฎีกาได้พิเคราะห์และวางแนวคำพิพากษาในคดีต่างไว้ดังที่ได้ชี้แจงมาแล้ว
ข้อเท็จจริงซึ่งรับฟังได้เป็นข้อยุติดังที่ได้ชี้แจงมาแล้วข้างต้น เป็นข้อเท็จจริงอย่างเดียวกันกับผลการสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 5 (ททบ.) ซึ่งมี พลเอกวัฒนชัย วุฒิศิริ เป็นประธานสอบข้อเท็จจริงและได้รายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2547 และข้อเท็จจริงในทางสอบข้อเท็จจริง รวมถึงมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือ ที่ นร 0504/ว(ล)14691 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2547 นำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในคราวเดียวกันแล้ว
อนึ่ง นอกจากข้อเท็จจริงจะปรากฏเป็นการภายในองค์กรแล้วนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1199 วรรคสอง ยังได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของกรรมการบริษัทจำกัด ที่จะต้องส่งสำเนางบดุล (งบการเงิน) ทุกฉบับ ไปยังนายทะเบียนในลักษณะเป็นข้อมูลสาธารณะที่บุคคลโดยทั่วไปจะสืบค้นได้
โดยงบการเงินของบริษัท ททบ.5 จำกัด (ก่อนจะเปลี่ยนเป็นบริษัท อาร์ทีเอฯ) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2541 ซึ่งเป็นช่วงปรากฎพติการณ์ในการจัดทำเอกสารฉบับลงวันที่ 19 มกราคม 2541 ผู้สอบบัญชีให้ความเห็นตามมาตรฐานบัญชีไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน ดังนี้
"เงินกู้ยืมจากกองทัพบกโดยสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก โดยผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ผู้ได้รับมอบอำนาจจากกองทัพบก และทำการโดยได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการทหารบก (ผู้ให้กู้) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายหนึ่งของบริษัท"
จากข้อเท็จจริงที่กองทัพบกโดยสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก โดยผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกได้ทราบดีนับแต่มีเหตุแห่งกรณี รวมถึงข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นข้อยุติได้จากการสอบข้อเท็จจริงทั้งในส่วนของคณะทำงานบริษัท อาร์ทีเอฯ ) และ ผลสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง รวมถึงความเห็นของผู้สอบบัญชี ดังที่ได้ชี้แจงในข้างต้นโดยละเอียดแล้วนั้น
จึงเป็นข้อยุติได้ว่า "เอกสารฉบับลงวันที่ 19 มกราคม 2541 ระบุข้อความว่า "สัญญากู้ยืมเงิน" ไม่ได้เป็นสัญญากู้ยืมเงินที่ผู้ให้กู้ในฐานะเจ้าหนี้จะบังคับเอาหนี้เงินกู้จากผู้กู้ในฐานะลูกหนี้ได้ตามกฎหมาย"
เพราะเหตุที่ได้มีการอำพรางเจตนาอันแท้จริงไว้โดยผู้ให้กู้และผู้ก็ได้รู้เห็นในข้อเท็จจริงนั้นมาแต่เริ่มต้น กองทัพบกโดยสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก กับ บริษัท ททบ.5 จำกัด (หรือบริษัท อาร์ทีเอฯ) ในปัจจุบัน จึงไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ต่อกัน แต่มีนิติสัมพันธ์ต่อกันในลักษณะตัวการตัวแทน อันเป็นเจตนาที่แท้จริงของทั้งสองฝ่าย
ฉะนั้น หนังสือตามที่อ้างถึงจึงไม่อาจนำมาใช้บังคับเอาเงินจากบริษัท อาร์ทีเอฯ หรือ บริษัท ททบ.5 จำกัด ในขณะก่อนิติกรรมในฐานะลูกหนี้เงินกู้ได้
@ การดำเนินการในฐานะตัวแทน
เมื่อข้อเท็จจริงทั้งปวงรับฟังเป็นที่ยุติได้ว่าบริษัท อาร์ทีเอฯ หรือ บริษัท ททบ.5 จำกัด ในขณะนั้นไม่ได้เป็นลูกหนี้เงินกู้ยืม แต่เป็นตัวแทนในการเช้าซื้อหุ้นธนาคารทหารไทยจำนวน 142,041,694 หุ้น แทนกองทัพบก นั้น
ในการนี้บริษัท อาร์ทีเอฯ จึงขอรายงานให้ทราบว่า บริษัท อาร์ทีเอฯ ได้เข้าซื้อหุ้นธนาคารทหารไทยตามความต้องการของกองทัพบกแล้วในปิ พ.ศ. 2541 รวมเป็นหุ้นจำนวนทั้งสิ้น 142,041,694 หุ้น และระหว่างการถือครองหุ้นธนาคารทหารไทย นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2541 จนถึงปัจจุบันบริษัท อาร์ทีเอฯ ได้นำดอกผลอันเกิดขึ้น
โดยตรงจากการเข้าซื้อและถือครองหุ้นธนธนาคารทหารไทยตามที่ได้รับมอบหมายจากกองทัพบก ส่งคืนให้แก่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกแล้วหลายครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 269,500,000 บาท จึงทำให้เงินทุนที่ได้รับมาจากสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกจากเดิม 1,453,000,000 บาท คงเหลือ ณ ปัจจุบันจำนวน 1,183,500,000 บาท
อย่างไรก็ดี บริษัท อาร์ทีเอฯ หรือ บริษัท ททบ.5 จำกัด ในขณะนั้น ไม่ได้เป็นบริษัทที่ก่อตั้งมาเพื่อมีวัตถุประสงค์ในกิจกรรมการจัดการหลักทรัพย์การลงทุนและกองทุน และแม้ภายหลังจะได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนและได้แก้ไขวัตถุประสงค์การดำเนินกิจการให้มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับกิจกรรมการจัดการหลักทรัพย์การลงทุนและกองทุนก็ตาม บริษัท อาร์ทีเอฯ ก็ยังขาดความสามารถในการจัดการหุ้นธนาคารทหารไทย ซึ่งในปัจจุบันได้มีการควบรวมกับธนาคารธนชาตเป็นธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) ยิ่งส่งผลต่อการกำหนดปัจจัยเพื่อรักษาเสถียรภาพในมูลค่าการลงทุนต่อหุ้น
นับแต่ที่บริษัท อาร์ทีเอฯ หรือ บริษัท ททบ.5 จำกัด ในขณะนั้นได้เข้าซื้อหุ้นในราคาหุ้นละ 10 บาท เมื่อระยะเวลาล่วงไปกว่า 25 ปี มูลค่าหุ้นปัจจุบันคงเหลือเพียง 1.67 บาท และยังไม่ปรากฏปัจจัยใดที่จะทำให้มูลค่าหุ้นกลับขึ้นไปมีมูลค่าเท่ากับวันที่บริษัท อาร์ทีเอฯ หรือ บริษัท ททบ.5 จำกัด ในขณะนั้น (ดูตารางประกอบ)
จากแผนภูมิภาพแสดงความเคลื่อนไหว ของราคาหรือมูลค่าหุ้น TTB ที่มีแนวโน้มราคาสูงสุดในรอบปี 2567 ที่ราคา 1.88 บาท และมีแนวโน้มจากหลายปัจจัยทำให้ราคาต่อหุ้นอยู่ที่ 1.67 บาท
ดังนั้น การที่จะถือครองหุ้นต่อไป ย่อมอาจเกิดผลเสียต่อเงินลงทุน 1,453,000,000 บาท ไปในทิศทางที่จะเสียหายต่อกองทัพบกอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อกองทัพบกเกินกว่าสมควร
บริษัท อาร์ทีเอฯ ในฐานะตัวแทนผู้ถือหุ้นแทนกองทัพบก เห็นควรให้ท่านพิจารณาหาตัวแหนที่มีความรู้ความสามารถในการจัดการหลักทรัพย์การลงทุนและกองทุนเพื่อหาโอกาสสร้างผลกำไรหรือการชดเชยเงินลงทุนให้เสียหายจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้น TTB จากกลไกของตลาดหลักทรัพย์ หรือ ให้ บริษัท อาร์ทีเอฯ ขายหุ้น 142,041,694 หุ้น ในราคาที่เหมาะที่สุด เพื่อลดผล กระทบต่อเงินลงทุนให้ได้มากที่สุด
เมื่อขายได้จำนวนเท่าใดให้นำเงินดังกล่าว ส่งคืนสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก เพื่อโทรทัศน์กองทัพบกจะได้ชำระบัญชีเงินลงทุนจำนวน 1,453,000,000 บาท ตามระเบียบและหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกต่อไป
จากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังที่ได้ชี้แจงให้ทราบแล้วนั้น รวมถึงการดำเนินการต่อหุ้นคารทหารไทยหรือธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบันและแนวทางให้การจัดการกิจกรรมจัดการหลักทรัพย์การลงทุนและกองทุนเพื่อหาโอกาสสร้างผลกำไรหรือการชดเชยเงินลงทุนให้เสียหาย
บริษัท อาร์ทีเอฯ ขอเรียนให้ทราบว่า แม้เอกสารฉบับลงวันที่ 19 มกราคม 2541 จะนำมาในสิทธิบังคับเอาตามกฎหมายไม่ได้นั้นก็เป็นไปตามข้อเท็จจริงซึ่งแต่ละฝ่ายได้ทราบข้อเท็จจริงในส่วนนี้มาแต่เริ่มต้น
การที่บริษัท อาร์ทีเอฯ ชี้แจงให้ทราบเช่นว่านั้น จึงเป็นการแสดงข้อเท็จจริงโดยสุจริด เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อให้ให้ข้อยุติต่อกรณี
นอกจากนั้นบริษัท อาร์ทีเอฯ ยังได้ตระหนักถึงเจตนารมณ์ ในการก่อตั้ง บริษัท ททบ.5 จำกัด จนกระทั้งได้แปรงสภาพเป็นบริษัท อาร์ทีเอฯ จึงยังยืนยันในเจตนาสุจริตต่อการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุต่อวัตถุประสงค์ของทั้งสองฝ่าย อันจะนำไปสู่การดำเนินการของแต่ละหน่วยงานอย่างปกติต่อไป
*************
อนึ่งเกี่ยวกับกรณีนี้ สำนักข่าวอิศรา ได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ตัวแทน กองทัพบก, ช่อง 5 ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว แต่ยังไม่ได้รับทราบคำชี้แจงเป็นทางการแต่อย่างใด หากมีความคืบหน้าเพิ่มเติม สำนักข่าวอิศรา จะนำมาเสนอต่อไป
อ่านเรื่องประกอบใน :
- ช่อง 5 ทวงคืนเงินกู้1.4 พันล. อาร์ทีเอฯ ปฏิเสธ-อ้างเป็นตัวแทนนำเงินออกซื้อหุ้นธ.ทหารไทย
- เปิดชัดๆ คำชี้แจง บ.อาร์ทีเอฯ ยันเป็นตัวแทนเชิด ช่อง 5 ไม่ใช่ลูกหนี้เงินกู้ 1.4 พันล.
- โชว์สัญญาเงินกู้ 1.4 พ้นล. อาร์ทีเอฯ ยันเป็นตัวแทนเชิดช่อง 5 นำเงินออกซื้อหุ้นธ.ทหารไทย
- เส้นทางเงินกู้ 1.4 พันล.ช่อง 5 ทำสัญญา-แก้ไข ยุค 4 ผบ.ทบ.'เชษฐา-อนุพงษ์-ประยุทธ์-อภิรัชต์'
- Top Secret : ข้อมูลลับ ช่อง 5 จากสัมปทานคลื่นทหาร สู่ ปมเงินกู้ 1.4 พันล. บ.อาร์ทีเอฯ