"...บริษัทฯ ขอเรียนให้ท่านทราบว่าในระหว่างการถือครองหุ้นโดยบริษัทฯ นั้น ท่านไม่ได้ให้อำนาจในการเข้าดำเนินการอย่างใดๆ กับหุ้นอันหมายความรวมถึงการจัดให้มีกลยุทธ์ในการซื้อขายหุ้นเพื่อรักษามูลค่าการลงทุนจำนวนเงิน 1,453,000,000 บาท จึงเป็นเหตุให้มูลค่าต่อหุ้นจากราคา 10 บาทต่อหุ้น ลดลงเหลือ 1.75 บาทต่อหุ้น อันเป็นไปตามกลไกและปัจจัยในตลาดทุนตามปกติโดยทั่วไปจึงส่งผลให้ปัจจุบันเงินลงทุนของท่านคงเหลือน้อยกว่าเงินลงทุนในห้วงเวลาแรกในคราวปี พ.ศ. 2541..."
ประเด็นตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก!
กรณีปัญหาข้อพิพากเงินกู้ยืมจำนวน 1,453 ล้านบาท ตามสัญญากู้ลงวันที่ 19 ม.ค.2541 ที่ปรากฏข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก หรือ ช่อง 5 ได้ทำหนังสือแจ้งให้บริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวคืนมาเป็นระยะๆ แต่ยังไม่ได้รับเงินกู้คืนครบถ้วนตามจำนวน
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำข้อมูลมาเสนอไปแล้วว่า
1. ในช่วงเดือน ต.ค.2567 ที่ผ่านมา บริษัท อาร์ทีเอฯ ได้ทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงเงินกู้วงเงิน 1,453 ล้านบาท ต่อ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ยืนยันว่า บริษัท อาร์ทีเอฯ ไม่ได้มีนิติสัมพันธ์กับสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกอย่างเจ้าหนี้ลูกหนี้แต่ประการใด และไม่ตกเป็นลูกหนี้เงินกู้ตามที่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกกล่าวอ้างด้วย
บริษัท อาร์ทีเอฯ ให้เหตุผลว่า เนื่องด้วยพฤติการณ์ในทางกฎหมายรับฟังเป็นที่ยุติว่าเอกสารสัญญากู้ดังกล่าวเป็นการจัดทำขึ้นระหว่างบุคคลคนเดียวกัน คือ ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะประธานกรรมการบริหารกิจการโทรทัศน์กองทัพบก ได้มอบให้สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกซึ่งเป็นหน่วยงานในสายบังคับบัญชาของกองทัพบกและมีนายทหารในราชการของกองทัพบกเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ให้นำเงินจำนวน 1,453 ล้านบาท ออกให้บริษัท ททบ.5 จำกัด ในขณะนั้นหรือบริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน เพื่อนำเงินจำนวนดังกล่าวไปซื้อหุ้นธนาคารทหารไทยเพื่อช่วยแก้ไขวิกฤตของธนาคาร โดยที่ในขณะนั้นธนาคารทหารไทยมีกองทัพบกเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงเงินทุนเรือนหุ้น (capital stock) ของธนาคาร
บริษัท อาร์ทีเอฯ ยังยืนยันว่ามีสถานะเป็นตัวแทนเชิด ในการเข้าถือครองหุ้นธนาคารทหารไทยด้วยวิธีการนำเงินจากช่อง 5 หรือกองทัพบกจำนวน 1,453 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้นธนาคารทหารไทย และพร้อมจะหาทางออกร่วมกันกรณีถูกสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบด้วย
2. รายละเอียดในสัญญาเงินกู้ยืมจำนวน 1,453 ล้านบาท ลงวันที่ 19 ม.ค.2541 ดังกล่าว ระบุว่า
(1.) การให้กู้ยืมดังกล่าว กำหนดระยะเวลาทั้งสิ้น ไม่เกิน 12 ปี เริ่มนับวันแรกตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.2541 เป็นต้นไป
(2.) ไม่มีการคิดดอกเบี้ยแต่ประการใด
(3.) ในสัญญาเงินกู้ฉบับนี้ มิได้มีการระบุเหตุผลเรื่องการนำเงินจากช่อง 5 หรือกองทัพบก จำนวน 1,453 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้นธนาคารทหารไทยไว้แต่อย่างใด
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลว่า หลังการทำสัญญากู้ยืมเงินลงวันที่ 19 ม.ค.2541 ต่อมามีการทำบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญากู้เงิน จำนวน 2 ครั้ง
- ช่อง 5 ทวงคืนเงินกู้1.4 พันล. อาร์ทีเอฯ ปฏิเสธ-อ้างเป็นตัวแทนนำเงินออกซื้อหุ้นธ.ทหารไทย
- เปิดชัดๆ คำชี้แจง บ.อาร์ทีเอฯ ยันเป็นตัวแทนเชิด ช่อง 5 ไม่ใช่ลูกหนี้เงินกู้ 1.4 พันล.
- โชว์สัญญาเงินกู้ 1.4 พ้นล. อาร์ทีเอฯ ยันเป็นตัวแทนเชิดช่อง 5 นำเงินออกซื้อหุ้นธ.ทหารไทย
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบยืนยันข้อมูลการทำบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญากู้เงิน พบว่ามีจำนวนถึง 3 ครั้ง ปรากฏรายละเอียดดังนี้
หลังจาก กองทัพบก กับ บริษัท ททบ.5 จำกัด (หรือบริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน) ทำสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 1,453 ล้านบาท ลงวันที่ 19 ม.ค.2541
@ บันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญากู้เงิน ฉบับที่ 1
เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2553 กองทัพบก และ บริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ได้ทำบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญากู้เงิน ครั้งที่ 1
ตัวแทนกองทัพบก คือ พลโท กิตติทัศน์ บำเหน็จพันธุ์ ในฐานะผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ได้รับมอบอำนาจจากกองทัพบก และกระทำการโดยได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการทหารบก
ตัวแทนบริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) คือ พลเอกณัฐเทพ สมคะเน และพลโท อำนวย ทองสุโชติ ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทฯ
สาระสำคัญการทำบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญากู้เงิน ครั้งนี้ เป็นผลมาจากผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ จากสัญญาเดิมที่จะหมดลงวันที่ 18 ม.ค.2553 จึงขอให้ผู้กู้ผ่อนผันการชำระหนี้ และผู้ให้กู้ตกลงผ่อนผันการชำระหนี้ตามเงื่อนไข คือ ผู้กู้ยอมรับว่า ณ วันทำบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ ผู้กู้มีหนี้เงินค้างชำระตามสัญญาเดิมอยู่ จำนวน 1,287,774,940 บาท และคู่สัญญาตกลงให้ขยายเวลาการชำระหนี้ออกไปอีกมีกำหนด 5 ปี โดยเริ่มมีผลตั้งแต่ 19 ม.ค.2553 ถึง 18 ม.ค.2558 (ดูเอกสาร)
@ บันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญากู้เงิน ฉบับที่ 2
ต่อมาวันที่ 1 กันยายน 2557 กองทัพบก และ บริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ได้ทำบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญากู้เงิน ครั้งที่ 2
ตัวแทนกองทัพบก คือ พลโท ชาตอุดม ติตถะสิริ ในฐานะกรรมการผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ได้รับมอบอำนาจจากกองทัพบก และกระทำการโดยได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการทหารบก
ตัวแทนบริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) คือ พลเอกณัฐเทพ สมคะเน และพลเอกกิจพันธ์ ธัญชวนิช กรรมการซึ่งมีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทฯ
สาระสำคัญการทำบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญากู้เงิน ครั้งนี้ เป็นผลมาจากผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ จากสัญญาเดิมที่จะหมดลงวันที่ 18 ม.ค.2558 จึงขอให้ผู้กู้ผ่อนผันการชำระหนี้ และผู้ให้กู้ตกลงผ่อนผันการชำระหนี้ตามเงื่อนไข คือ ผู้กู้ยอมรับว่า ณ วันทำบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ ผู้กู้มีหนี้เงินค้างชำระผู้ให้กู้อยู่ และคู่สัญญาตกลงให้ขยายเวลาการชำระหนี้ออกไปอีกมีกำหนด 5 ปี โดยเริ่มมีผลตั้งแต่ 18 ม.ค.2558 เป็นต้นไป (ดูเอกสาร)
@ บันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญากู้เงิน ฉบับที่ 3
ต่อมาวันที่ 6 ม.ค.2563 กองทัพบก และ บริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ได้ทำบันทึกข้อตกลงแก้ไ-เพิ่มเติมสัญญากู้เงิน ครั้งที่ 3
ตัวแทนกองทัพบก คือ พลเอก กิตติเชษฐ์ ศรดิษฐพันธ์ ในฐานะกรรมการผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ได้รับมอบอำนาจจากกองทัพบก และกระทำการโดยได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการทหารบก
ตัวแทนบริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) คือ พลเอกณัฐเทพ สมคะเน และ พลตรี บุญญฤทธิ์ วิสมล กรรมการซึ่งมีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทฯ
สาระสำคัญการทำบันทึกข้อตกลงแก้ไจเพิ่มเติมสัญญากู้เงิน ครั้งนี้ เป็นผลมาจากผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ จากสัญญาเดิมที่จะหมดลงวันที่ 18 ม.ค.2563 จึงขอให้ผู้กู้ผ่อนผันการชำระหนี้ และผู้ให้กู้ตกลงผ่อนผันการชำระหนี้ตามเงื่อนไข คือ ผู้กู้ยอมรับว่า ณ วันทำบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ ผู้กู้มีหนี้เงินค้างชำระผู้ให้กู้อยู่ และคู่สัญญาตกลงให้ขยายเวลาการชำระหนี้ออกไปอีกมีกำหนด 5 ปี โดยเริ่มมีผลตั้งแต่ 19 ม.ค.2563 - 18 ม.ค.2568 เป็นต้นไป (ดูเอกสาร)
เมื่อสืบค้นรายชื่อ ผู้บัญชาการทหารบก ในช่วงทำสัญญาให้กู้ยืมเงินครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2541 พบว่าอยู่ในช่วงการดำรงตำแหน่ง ของพลเอก เชษฐา ฐานะจาโร (ดำรงตำแหน่งระหว่าง 1 ตุลาคม 2539 – 30 กันยายน 2541 )
การทำบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญากู้เงิน ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2553 อยู่ในช่วงการดำรงตำแหน่ง ของ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา (ดำรงตำแหน่ง ระหว่าง 1 ตุลาคม 2550 – 30 กันยายน 2553)
การทำบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญากู้เงิน ฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2557 อยู่ในช่วงการดำรงตำแหน่ง ของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ดำรงตำแหน่ง ระหว่าง 1 ตุลาคม 2553 – 30 กันยายน 2557)
บันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญากู้เงิน ฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2563 อยู่ในช่วงการดำรงตำแหน่ง ของ พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ (1 ตุลาคม 2561 – 30 กันยายน 2563)
อย่างไรก็ดี ในการทำบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญากู้เงินทั้ง 3 ครั้งดังกล่าว มิได้มีการระบุเหตุผลเรื่องการนำเงินจากช่อง 5 หรือกองทัพบก จำนวน 1,453 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้นธนาคารทหารไทยไว้แต่อย่างใด
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า ในการชี้แจงข้อเท็จจริงของ บริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ต่อ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก หรือ ช่อง 5 มีการระบุว่า "แม้ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายจะรับฟังเป็นที่ยุติได้ว่าบริษัท ททบ.5 จำกัด ในขณะนั้น หรือบริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบันจะไม่ใช่ลูกหนี้เงินกู้ที่จะต้องมีหน้าที่คืนเงินกู้ แต่บริษัทฯ มีฐานะเป็นตัวแทนเชิดของท่านในการจัดการตามวัตถุประสงค์ของท่านและหรือกองทัพบกในการเข้าถือครองหุ้นธนาคารทหารไทยด้วยวิธีการนำเงินจากท่านและหรือกองทัพบกจำนวน 1,453,000,000 บาท เข้าซื้อหุ้นธนาคารทหารไทย
ดังนั้น หากท่านประสงค์ที่จะให้บริษัทฯ ยุติการเป็นตัวแทนเชิดของท่าน บริษัทฯ มีความยินดีที่จะโอนคืนหุ้นธนาคารทหารไทยซึ่งปัจจุบันถือครองในหุ้นจำนวน 142,041,694 หุ้น คิดเป็นเงินจำนวน 248,572,964.50 บาท โดยคำนวณ ณ ราคาปิดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 หรือ หากท่านประสงค์จะให้บุคคลอื่นถือหุ้นจำนวนดังกล่าวแทน บริษัทฯ ยินดีดำเนินการเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงการถือครองหุ้นตามความประสงค์ของท่านต่อไป
อนึ่ง บริษัทฯ ขอเรียนให้ท่านทราบว่าในระหว่างการถือครองหุ้นโดยบริษัทฯ นั้น ท่านไม่ได้ให้อำนาจในการเข้าดำเนินการอย่างใดๆ กับหุ้นอันหมายความรวมถึงการจัดให้มีกลยุทธ์ในการซื้อขายหุ้นเพื่อรักษามูลค่าการลงทุนจำนวนเงิน 1,453,000,000 บาท จึงเป็นเหตุให้มูลค่าต่อหุ้นจากราคา 10 บาทต่อหุ้น ลดลงเหลือ 1.75 บาทต่อหุ้น อันเป็นไปตามกลไกและปัจจัยในตลาดทุนตามปกติโดยทั่วไปจึงส่งผลให้ปัจจุบันเงินลงทุนของท่านคงเหลือน้อยกว่าเงินลงทุนในห้วงเวลาแรกในคราวปี พ.ศ. 2541"
จากคำชี้แจงดังกล่าวเท่ากับว่า ปัจจุบันมูลค่าเงินกู้จำนวน 1,453,000,000 บาท ลดลงเหลือจำนวน 248,572,964.50 บาท มีความเสียหายเกิดขึ้นแล้วกว่า 1,204,427,035.5 บาท จากมูลค่าหุ้นที่ลดลงในปัจจุบัน
ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วดังกล่าว ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบบ้าง?
คงต้องรอให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสาธารณชนอีกครั้ง