"...ฉะนั้นเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติเช่นนี้ จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า เอกสารฉบับลงวันที่ 19 ม.ค.2541 ซึ่งใช้ชื่อว่า "สัญญากู้ยืมเงิน" เป็นเพียงนิติกรรมที่ได้แสดงเจตนาอำพรางไว้โดยที่คู่กรณีทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นบุคคลเดียวกันได้รู้ซึ่งเจตมาอำพรางนั้น เอกสารดังกล่าว จึงไม่สามารถใช้สิทธิตามกฎหมายบังคับเอาหนี้เงินก็ได้..."
กรณีปัญหาข้อพิพากเงินกู้ยืมจำนวน 1,453 ล้านบาท ตามสัญญากู้ลงวันที่ 19 ม.ค.2541 ที่ปรากฏข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก หรือ ช่อง 5 ได้ทำหนังสือแจ้งให้บริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวคืนมาเป็นระยะๆ แต่ยังไม่ได้รับเงินกู้คืนครบถ้วนตามจำนวน ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำข้อมูลเชิงลึกมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้นั้น
- ช่อง 5 ทวงคืนเงินกู้1.4 พันล. อาร์ทีเอฯ ปฏิเสธ-อ้างเป็นตัวแทนนำเงินออกซื้อหุ้นธ.ทหารไทย
- เปิดชัดๆ คำชี้แจง บ.อาร์ทีเอฯ ยันเป็นตัวแทนเชิด ช่อง 5 ไม่ใช่ลูกหนี้เงินกู้ 1.4 พันล.
- โชว์สัญญาเงินกู้ 1.4 พ้นล. อาร์ทีเอฯ ยันเป็นตัวแทนเชิดช่อง 5 นำเงินออกซื้อหุ้นธ.ทหารไทย
- เส้นทางเงินกู้ 1.4 พันล.ช่อง 5 ทำสัญญา-แก้ไข ยุค 4 ผบ.ทบ.'เชษฐา-อนุพงษ์-ประยุทธ์-อภิรัชต์'
- Top Secret : ข้อมูลลับ ช่อง 5 จากสัมปทานคลื่นทหาร สู่ ปมเงินกู้ 1.4 พันล. บ.อาร์ทีเอฯ
ล่าสุด มีความคืบหน้าเกิดขึ้น คือ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่นหรือย้ายไปสถานที่อื่นที่เหมาะสม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ เป็ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้นัดประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ในวันพุธที่ 15 มกราคม 2568 โดยมีระเบียบวาระพิจารณากรณีเงินกู้ 1.4 พันล้านบาทของช่อง 5 ให้กับบริษัทอาร์ทีเอฯ เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ด้วย เนื่องจากมีกรรมาธิการวิสามัญ ฯ สัดส่วนพรรคฝ่ายค้าน ได้เสนอเรื่องเข้ามา ซึ่งเรื่องหนี้สิน ตั้งแต่บริษัทอาร์ทีเอฯ เป็นบริษัทลูกเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว มีตัวแดงค้างชำระหนี้ให้กับ ททบ.5 ประมาณ 1,400 ล้านบาท ด้วย ขณะที่ก่อนหน้านี้ กรรมาธิการวิสามัญฯ ได้เรียกเอกสารจาก ททบ.5 ไปแล้วหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้รับเอกสารและคำชี้แจงอย่างชัดเจนในเรื่องนี้
ผลการพิจารณาของ กรรมาธิการวิสามัญฯ เป็นอย่างไร ต้องติดตามดูกันต่อไป
แต่มีข้อมูลสำคัญชุดหนึ่งเกี่ยวกับกรณีที่ยังไม่เคยเปิดเผยมาก่อน คือ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก หรือช่อง 5 เคยมีการเชิญบริษัท อาร์ทีเอฯ เข้าหารือเพื่อกำหนดแนวทางการชำระหนี้ การปรับปรุงสัญญาเงินกู้ แต่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ ก่อนที่บริษัท อาร์ทีเอฯ จะทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง 1 ฉบับ ชี้แจงต่อสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก หรือช่อง 5 ถึงรายละเอียดข้อหารือ ซึ่งมีการระบุถึง "สัญญากู้ยืมเงิน" ดังกล่าว เป็นเพียงนิติกรรมที่ได้แสดงเจตนาอำพรางไว้โดยที่คู่กรณีทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นบุคคลเดียวกันได้รู้ซึ่งเจตมาอำพรางนั้น เอกสารดังกล่าว จึงไม่สามารถใช้สิทธิตามกฎหมายบังคับเอาหนี้เงินก็ได้
ปรากฏรายละเอียดตามหนังสือ บริษัท อาร์ทีเอฯ ลงวันที่ 13 ส.ค.2567 ที่แจ้งถึงกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก หรือช่อง 5 ดังนี้
ตามที่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ได้เชิญบริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) เข้าหารือเพื่อกำหนดแนวทางการชำระหนี้ การปรับปรุงสัญญาเงินกู้ รายละเอียดปรากฏตามหนังสือ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ที่ กห 0422.10/กง.426 ลงวันที่ 15 ก.ค.2567
บริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงอันเป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก กับ บริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ภายใต้ความผูกพันเกี่ยวกับเงินลงทุน ณ วันที่ 19 มกราคม 2541 จำนวน 1,453,000,000.00 บาท และปัจจุบันคงเหลือ 1,183,500,000.00 บาท ซึ่งในการชี้แจงและร่วมหารือทั้งสองฝ่ายในวันดังกล่าวยังไม่ปรากฎข้อยุติแต่ประการใด
คงมีความเห็นร่วมกันให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเพื่อหาข้อยุติต่อกรณีดังกล่าว
ภายหลังจากการหารือกรณีดังกล่าวตามหนังสือที่อ้างถึงนั้น บริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นชุดหนึ่ง ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายและผู้ทรงคุณวุฒิด้านบัญชีและการเงิน โดยมีวัตถุประสงค์ในการหาแนวทางทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เพื่อให้ได้ข้อยุติต่อกรณีตามหนังสือที่อ้างถึง ซึ่งคณะทำงานดังกล่าว ได้สืบค้นทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายจนกระทั่งสามารถรับฟังเป็นข้อยุติได้ดังนี้
@ นิติสัมพันธ์ระหว่างสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก กับ บริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน)
เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2540 กองทัพบกโดยผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ในฐานะผู้ถือหุ้นได้ร่วมกับบุคคลอื่นอีกจำนวนหนึ่ง จัดตั้งบริษัทจำกัดซึ่งเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ขึ้นในชื่อ "บริษัท ททบ.5 จำกัด" มีทุนจดทะเบียน 25,000,000.00 บาท ซึ่งมีกองทัพบก โดยผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก เป็นผู้ถือหุ้นแทนกองทัพบก จำนวน 10 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 40 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดและในสัดส่วนหุ้นอื่นยังคงเป็นการถือครองหุ้นโดยบุคคลที่ถือแทนกองทัพบกอีกหลายราย อาทิ พลเอกแป้ง มาลากุล ณ อยุธยา ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานีวิทยุวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ถือหุ้นจำนวน 2,499,999 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 9.99 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด (ปัจจุบัน บริษัท ททบ.5 จำกัด ได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนในชื่อ บริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน)
ต่อมาในวันที่ 19 มกราคม 2541 ภายหลังการก่อตั้งบริษัท ททบ.5 จำกัดได้เพียง 9 เดือน สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ซึ่งเป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกองทัพบก โดยในขณะนั้นมีพลเอกแป้ง มาลากุล ณ อยุธยา เป็นผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ได้ตกลงจัดทำเอกสารฉบับหนึ่งใช้ชื่อว่า "สัญญากู้ยืมเงิน" ซึ่งมีพลตรีบุลฤทธิ์ เจริญราช ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท ททบ. 5 จำกัด ลงนามในเอกสารฉบับดังกล่าว
โดยที่ในขณะนั้นบริษัท ททบ.5 จำกัด มีผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 โดย พลเอกแป้ง มาลากุล ณ อยุธยา ในฐานะผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกถือหุ้นบริษัทแทนกองทัพบก จำนวน 10 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 40 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และ พลเอกแป้ง มาลากุล ณ อยุธยา ยังถือหุ้นในฐานะส่วนตัวจำนวน 2,499,999 หุ้น คิดเป็นร้อย 9.99 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดและในสัดส่วนหุ้นอื่น ยังคงเป็นการถือครองหุ้นโดยบุคคลที่ถือแทนกองทัพบก อีก 5 ราย ๆ ละ 2,500,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 10 และอีก 1 ราย ถือหุ้นจำนวน 1 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 1 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ซึ่งถือได้ว่า กองทัพบกโดยสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 โดยผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกรวมกับพลเอกแป้ง มาลากุล ณ อยุธยา ในฐานะส่วนตัวจะมีสัดส่วนถือครองหุ้นบริษัท ททบ.5 จำกัด เป็นร้อยละ 49 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด
เมื่อพิจารณาตามลายลักษณ์อักษรในเอกสารฉบับลงวันที่ 19 มกราคม 2541 พบว่า สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 โดย พลเอกแป้ง มาลากุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ระบุด้วยลายลักษณ์อักษรให้เรียกว่า "ผู้ให้กู้" และมี พลตรีบุลฤทธิ์ เจริญราช ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท ททบ. 5 จำกัด ระบุด้วยลายลักษณ์อักษรให้เรียกว่า "ผู้กู้" และเอกสารดังกล่าว แสดงข้อความว่า "ผู้กู้ตกลงกู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้และผู้ให้กู้ตกลงให้ผู้กู้ กู้ยืมเงินเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 1,453,000,000 บาท ซึ่งในวันทำสัญญานี้ผู้กู้ได้รับเงินกู้จากผู้ให้กู้ครบถ้วนแล้ว"
จากข้อความดังกล่าว รับฟังในพฤติการณ์ได้ว่าเป็นเอกสารในลักษณะบุคคลสองฝ่ายตกลงเข้ากู้ยืมเงินกัน โดยมีทรัพย์ที่กู้ยืมเป็นเงินมีจำนวนที่แน่นอน
อย่างไรก็ดี เมื่อนำข้อความในเอกสารฉบับลงวันที่ 19 มกราคม 2541 ไปพิจารณาในทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่และเจตนาการก่อนิติสัมพันธ์ พบว่า นอกจากสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 จะเป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกองทัพบกและอยู่ในฐานะ "ผู้ให้กู้" ตามเอกสารฉบับดังกล่าวแล้วนั้น ยังปรากฎข้อเท็จจริงด้วยว่าผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกเป็นผู้ถือครองหุ้นบริษัท ททบ.5 จำกัด ไว้แทนกองทัพบกด้วย ซึ่งในเอกสารฉบับดังกล่าว ให้เรียกบริษัท ททบ.5 จำกัด ว่า "ผู้กู้"
จากพฤติการณ์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่า กองทัพบกอยู่ในฐานะผู้ให้กู้และผู้กู้ในขณะเดียวกัน
โดยมีผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นผู้ดำเนินการ จึงเป็นเรื่องพ้นวิสัยเยี่ยงวิญญูชนโดยทั่วไปที่จะประสงค์หรือแสดงเจตนาที่จะก่อนิติสัมพันธ์กันในลักษณะการกู้ยืมตามความในมาตรา 650 ประกอบมาตรา 653 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
นอกจากนั้นในข้อเท็จจริง หลังการได้รับเงินจำนวน 1,453,000,000.00 บาทแล้วบริษัท ททบ.5 จำกัด ได้นำเงินจำนวนดังกล่าว ที่ได้รับจากสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก หน่วยขึ้นตรงต่อกองทัพบก ตามเอกสารฉบับลงวันที่ 19 ม.ค.2541 เข้าซื้อหุ้นธนาคารทหารไทย ซึ่งมีกองทัพบกเป็นผู้ถือหุ้นในธนาคารทหารไทย ในราคาหุ้นละ 10 บาท จำนวนทั้งสิ้น 142,041,694 หุ้น คิดเป็นเงิน 1,420,416,940 บาท
ดังนั้นจากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดทำเอกสารฉบับลงวันที่ 19 ม.ค. 2541 โดยใช้ชื่อว่า "สัญญากู้ยืมเงิน" อันเป็นความสัมพันธ์กันระหว่างกองทัพบก โดยผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 กับ บริษัท ททบ.5 จำกัด โดยมีผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกในฐานะผู้ถือหุ้นบริษัท ททบ.5 จำกัด แทนกองทัพบก
จึงมิอาจรับฟังว่าเป็นการทำสัญญากู้ยืมเงินตามความในมาตรา 650 ประกอบมาตรา 653 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และไม่อาจบังคับเอาหนี้ ระหว่างกู้ได้ เพราะเหตุที่ผู้ให้กู้และผู้กู้เป็นบุคคลเดียวกัน แม้จะปรากฏในเอกสารฉบับลงวันที่ 19 ม.ค.2541 ว่าพลตรีบุลฤทธิ์ เจริญราช เป็นผู้ลงนามในเอกสารดังกล่าวและแม้พลตรีบุลฤทธิ์ เจริญราช จะมิใช่ผู้ถือหุ้นคงเป็นเพียงกรรมการ แต่การดำเนินการอย่างใด ๆ ของกรรมการ ย่อมตกอยู่ในการครอบงำของที่ประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้น อันหมายความถึงกองทัพบกในฐานะผู้ถือหุ้นบริษัท ททบ. 5 จำกัด ตามความในมาตรา 1144 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
แม้พฤติการณ์จะไม่สามารถรับฟังได้ว่า มีการกู้ยืมเงินกันตามที่ปรากฎเป็นเอกสาร ฉบับลงวันที่ 19 ม.ค.2541 นั้น แต่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเงินจำนวน 1,453,000,000.00 บาท ซึ่งได้รับมาภายใต้เอกสารดังกล่าว บริษัท ททบ.5 จำกัด ได้นำไปซื้อห้นและถือครองหุ้นธนาคารทหารไทย ซึ่งมีกองทัพบกเป็นผู้ถือหุ้นในธนาคารทหารไทย โดยที่บริษัท ททบ.5 จำกัด มิได้มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการหลักทรัพย์การลงทุนและกองทุนแต่อย่างใด
จึงรับฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติได้ว่า กองทัพบกโดยสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ไม่ได้มีเจตนาให้บริษัท ททบ.5 จำกัด กู้ยืมเงินเยี่ยงวิญญูชนที่จะมีเจตนากู้ยืมเงินกันโดยปกติวิธี หากแต่เป็นเพียงแสดงเจตนาให้มีการนำเงินจำนวน 1,453,000,000.00 บาท ไปซื้อและถือครองหุ้นธนาคารทหารไทย ซึ่งมีกองทัพบกเป็นผู้ถือหุ้น เพื่อประโยชน์ในกิจการของธนาคารทหารไทยในขณะนั้น
ฉะนั้นเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติเช่นนี้ จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า เอกสารฉบับลงวันที่ 19 ม.ค.2541 ซึ่งใช้ชื่อว่า "สัญญากู้ยืมเงิน" เป็นเพียงนิติกรรมที่ได้แสดงเจตนาอำพรางไว้โดยที่คู่กรณีทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นบุคคลเดียวกันได้รู้ซึ่งเจตมาอำพรางนั้น เอกสารดังกล่าว จึงไม่สามารถใช้สิทธิตามกฎหมายบังคับเอาหนี้เงินก็ได้
หากแต่ต้องบังคับตามเจตนาที่แทนจริงของคู่กรณีซึ่งได้อำพรางไว้กล่าวคือ การให้บริษัท ททบ.5 จำกัด เป็นตัวแทนกองทัพบกเข้าซื้อและถือหุ้นธนาคารทหารไทยแทนกองทัพบก อันเป็นนิติสัมพันธ์ในลักษณะตัวการตัวแทน ซึ่งเป็นเจตนาที่แทนของคู่กรณีในการจัดทำเอกสารฉบับลงวันที่ 19 ม.ค.2514
(หมายเหตุ ข้อมูลส่วนนี้ยังไม่จบ ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับการเป็นตัวแทน สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก หรือ ช่อง 5 ของ บริษัท อาร์ทีเอฯ ในช่วงที่ผ่านมาด้วย ติดตามตอนหน้า)