"...ไม่ต้องถึงขั้นลาออก ถ้าเกิดเรื่องที่นายณัฏฐ์ชนนแก้ต่างไม่ได้ และถูกแจ้งข้อกล่าวหา ถูกดำเนินคดีเขาก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่โดยอัตโนมัติ และถ้าศาลพิพากษาว่า มีความผิดก็จะต้องหยุดจากตำแหน่ง..."
“ใครก็ถูกกล่าวหาได้ คนที่ถูกกล่าวหาก็ต้องเอาหลักฐาน ข้อมูล ไปแก้ต่างไว้ก่อน มีขั้นตอนอยู่แล้ว ถ้าแก้ต่างแล้วฟังไม่ขึ้น ก็ถูกแจ้งข้อกล่าวหาอยู่ดี แล้วก็ส่งฟ้องดำเนินคดี ศาลประทับรับฟ้องเมื่อไหร่ คนนั้นก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ มันมีขั้นตอนอยู่ แต่ถ้าถึงขั้นตอนนั้น นายณัฏฐ์ชนนแก้ต่างไม่ได้ ฟังไม่ขึ้น ป.ป.ช.ก็จะต้องส่งเรื่องไปที่ศาลดำเนินคดี ถ้าศาลประทับรับฟ้องเขาก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ถ้าศาลพิพากษาแล้วผิด พ้นจากตำแหน่ง นายณัฏฐ์ชนนก็ต้องรับผิดชอบตัวเอง จะมีอะไรอย่างอื่นตามมาอีกมากมาย”
เมื่อถามว่าจะไม่ลาออกจากตำแหน่ง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ ... เพื่อแสดงสปิริตลาออกใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า “ผมถามเขา (นายณัฏฐ์นน) เขาบอกว่า เขาไม่ผิด และผมก็ไม่ใช่คนที่จะไปบอกว่า คุณผิดหรือไม่ผิด”
"ไม่ต้องถึงขั้นลาออก ถ้าเกิดเรื่องที่นายณัฏฐ์ชนนแก้ต่างไม่ได้ และถูกแจ้งข้อกล่าวหา ถูกดำเนินคดีเขาก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่โดยอัตโนมัติ และถ้าศาลพิพากษาว่า มีความผิดก็จะต้องหยุดจากตำแหน่ง"
คือ คำชี้แจงของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ต่อกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดทางอาญาและจริยธรรมอย่างร้ายแรง นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ขณะดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเขตเลือกตั้งที่ 7 จังหวัดสงขลา พรรคภูมิใจไทย ได้เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลพญาไท 2 ระหว่างวันที่ 19 - 21 กันยายน 2562 และวันที่ 23 กันยายน 2562 ถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2562 มีค่ารักษาพยาบาล รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,449,223 บาท นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ได้ยอมให้บุคคลอื่นชำระค่ารักษาพยาบาลให้แก่โรงพยาบาลแทนตนเอง รวมเป็นเงินจำนวน 1,335,778 บาท และได้นำใบเสร็จรับเงินค่ารักษาไปเบิกค่ารักษาพยาบาล จากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเบิกจ่ายได้เป็นเงิน จำนวน 495,409.50 บาท มีส่วนที่เกินสิทธิ ไม่สามารถเบิกจ่ายได้เป็นเงินจำนวน 953,813.50 บาท ต่อมานายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ได้เสนอให้มีการแต่งตั้งบุคคลหนึ่ง ในสามราย ที่ชำระค่ารักษาพยาบาลแทนตน เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัว ตามคำสั่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ 2455/2563 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2563
พร้อมให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็นพร้อมสำเนาอิเล็กทรอนิกส์ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และให้เสนอเรื่องกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตราฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย ตามฐานความผิดดังกล่าวตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 76 และมาตรา 87 ประกอบระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง พ.ศ. 2561 แล้วแต่กรณีต่อไป
- ‘อนุทิน’ ป้อง ‘ณัฏฐ์ชนน’ สส.ภูมิใจไทย ไม่ต้องลาออก กมธ.กฎหมาย ป.ป.ช.
- ยืนยันมติ! ป.ป.ช.แพร่ผลชี้มูลคดี 'ณัฏฐ์ชนน' รับค่ารักษา 1.3 ล.ผิดอาญา-จริยธรรมร้ายแรง
น่าสนใจว่า ปัจจุบัน นายณัฏฐ์ชนน นอกจากเป็น สส.สงขลา เขต 7 พรรค ภท. มีตำแหน่งทางการเมืองอื่นในสภาผู้แทนราษฎรอะไรบ้าง?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์รัฐสภา พบว่า ปัจจุบัน นายณัฏฐ์ชนน ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร หลายตำแหน่ง ได้แก่
- โฆษกคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน
- เลขานุการคณะกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการการแรงงาน
- กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
- รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สี่ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่นหรือย้ายไปสถานที่อื่นที่เหมาะสม
- กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่นหรือย้ายไปสถานที่อื่นที่เหมาะสม
- รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สาม คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้
- อนุกรรมาธิการ คณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน
- รองประธานคณะอนุกรรมาธิการ คนที่สอง คณะอนุกรรมาธิการฝึกอบรม สัมมนา ประชาสัมพันธ์ ค่าจ้างเหมาบริหาร ค่าจ้างที่ปรึกษา ค่าเช่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศ งบดำเนินงาน งบเงินอุดหนุน งบรายจ่ายอื่น
ทั้งนี้ ข้อมูลในส่วนกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... นั้น
สำนักข่าวอิศรา ได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวในรัฐสภาว่า มีการแต่งตั้ง นายณัฏฐ์ชนน เข้ามาดำรงตำแหน่ง เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2567 ที่ผ่านมา (ดูเอกสารประกอบ) ปัจจุบันมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาหลังจากที่ นายณัฏฐ์ชนน ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทั้งทางอาญาและทางจริยธรรมร้ายแรงกรณีดังกล่าว ว่า การดำรงตำแหน่งในกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....มีความเหมาะสมหรือไม่
"การแต่งตั้ง นายณัฏฐ์ชนน เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมาธิการฯ ชุดนี้ เกิดขึ้นหลังจากปรากฏข่าว ป.ป.ช.ชี้มูล นายณัฏฐ์ชนน ตั้งแต่ช่วงเดือนส.ค.2567 หลังจากนั้น นายณัฏฐ์ชนน ได้ทำเรื่องขออุทธรณ์มติ ป.ป.ช.ไป ก่อนที่จะมีการยืนยันมติชี้มูลเมื่อวันที่ 2 ม.ค.2568 ที่ผ่านมา "แหล่งข่าวระบุ
ขณะที่ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราได้โทรศัพท์สอบถามกับบุคคลในพรรคภูมิใจไทย 2 ราย คือ นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจํากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และอดีตนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย และนายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย และในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่ง กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ดังกล่าว
นายศุภชัยกล่าวกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ว่า ขณะนี้หลังจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลมาแล้วก็คงว่ากันไปตามขั้นตอน ส่วนการที่นายณัฏฐ์ชนนดำรงตำแหน่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….ด้วย ให้ถามคณะกรรมการบริหารพรรคดีกว่า เพราะส่วนตัวก็ไม่ได้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคแล้ว ควรให้นายไชยชนก ชิดชอบ เลขาธิการพรรค หรือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นผู้ตอบชี้แจง
ก่อนที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล จะชี้แจงกับสำนักข่าวอิศราตามที่นำเสนอไปในช่วงต้น ว่า "ไม่ต้องถึงขั้นลาออก ถ้าเกิดเรื่องที่นายณัฏฐ์ชนนแก้ต่างไม่ได้ และถูกแจ้งข้อกล่าวหา ถูกดำเนินคดีเขาก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่โดยอัตโนมัติ และถ้าศาลพิพากษาว่า มีความผิดก็จะต้องหยุดจากตำแหน่ง"
อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกชี้มูลความผิดยังมีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลได้อีก
ส่วนข้อมูลเชิงลึกอื่นๆ สำนักข่าวอิศรา จะติดตามมานำเสนอต่อไป
อ่านประกอบ :
- ป.ป.ช.ชี้มูล 'ณัฏฐ์ชนน' สส.ภท. รับค่ารักษา 1.3 ล.ผิดอาญา-จริยธรรม-เจ้าตัวโต้ยังไม่มีมติ
- คอนเฟิร์ม! มติ ป.ป.ช.ชี้มูล 'ณัฏฐ์ชนน' สส.ภท.รับค่ารักษา 1.3 ล. ผิดอาญา-จริยธรรมร้ายแรง
- หลักฐานสำคัญ คดี 'ณัฏฐ์ชนน' รับค่ารักษา 1.3 ล.-โพสต์เองผู้ใจบุญ 2 คน ดูแลทั้งหมด
- คดีรับค่ารักษา1.3 ล.ยังไม่จบ! 'ณัฏฐ์ชนน'ขอความเป็นธรรม ป.ป.ช.สั่งสรุปประเด็น-หลักฐานเพิ่ม
- ยืนยันมติ! ป.ป.ช.แพร่ผลชี้มูลคดี 'ณัฏฐ์ชนน' รับค่ารักษา 1.3 ล.ผิดอาญา-จริยธรรมร้ายแรง