พบข้อมูลใหม่ ‘สมคิด เอื้อนสุภา’ ลูกน้องคนสนิท 'เสี่ยเปี๋ยง' มือซื้อเช็คหมื่นล. คดีข้าวจีทูจีเก๊ โดนโทษคุก 16 ปี ติดแค่ 3 ปี 8 ด. 29 วัน ได้รับพักโทษก่อนหน้าเจ้านายไปแล้ว ตั้งแต่ปี 64
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอข้อมูลเชิงลึกกรณี นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง อดีตนักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่ ผู้ต้องขังในคดีทุจริตหลายโครงการของรัฐบาล ได้รับการพักการลงโทษไปแล้วหลังถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางคลองเปรม เหลือกำหนดโทษปัจจุบัน 21 ปี 11 เดือน 38 วัน นับแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2558 หักขัง 1,191 วัน จำมาแล้ว 12 ปี 1 เดือน (นับถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2567) จะพ้นโทษวันที่ 27 กรกฎาคม 2577
พบว่า นายอภิชาติ มี 4 คดีความ คือ
คดีที่ 1 และ 2 เป็นเรื่องการยักยอกทรัพย์ (คดีทุจริตยักยอกข้าวรัฐ หลังตกเป็นจำเลยร่วมกับบริษัทเพรสซิเดนท์ อะกิ เทรดดิ้ง จำกัด ศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกนายอภิชาติ สำนวนละ 3 ปีปรับสำนวนละ 6,000 บาท รวมจำคุกสองสำนวนเป็นเวลา 6 ปี ไม่รอลงอาญา และปรับ 12,000 บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมคืนข้าวสารที่ยักยอกไปในสำนวน อ.833-834/2558 จำนวน 16,400 ตัน หรือใช้เป็นเงินแทนจำนวน 175,480,000 บาท ให้กับกรมการค้าต่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ ผู้เสียหาย และให้ร่วมกันคืนข้าวสารในสำนวน อ.835-836/2558 จำนวน 4,742.96 ตัน หรือใช้เงินแทน 54,385,902.07 บาท (รวมวงเงิน 229,865,902.07 บาท) )
คดีที่ 3 คดีทุจริตโครงการระบายข้าวจีทูจี ถูกตัดสินลงโทษเป็นระยะเวลากว่า 48 ปี และยังถูกสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหาย พร้อมกับ บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด และ นายนิมล รักดี (โจ) คนใกล้ชิด เป็นจำนวนเงินกว่า 1.69 หมื่นล้านบาท
คดีที่ 4 คดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร ถูกตัดสินลงโทษจำคุกเป็นเวลา 66 ปี ให้จำคุกได้สูงสุด 50 ปี และรวมชดใช้เงินจำนวน 1,323 ล้านบาท
ขณะที่ในระหว่างการรับโทษ พบข้อสังเกตสำคัญดังนี้
1. การเลื่อนชั้นนักโทษ ของ นายอภิชาติ จาก ชั้นกลาง เป็นชั้นเยี่ยม เกิดภายในเวลาแค่ 2 ปี (ปี2561 -2562) เท่านั้น ขณะที่การเลื่อนจากชั้นกลาง เป็นชั้นดี เป็นชั้นดีมาก เกิดขึ้นในปี 2561
2. คดีที่ 1 , 2 และ 3 ครบกำหนดวันพ้นโทษไปแล้ว เหลือแค่คดีที่ 4 กำหนดวันพ้นโทษ วันที่ 7 ก.ย.2579 (นับจากปี 2567 จนถึง 79 จะเหลือโทษอีก 12 ปี)
3. รวมจำนวน บทลงโทษจำคุก 4 คดี อยู่ที่ 104 ปี (3+3+48+50) หากเริ่มนับโทษคดี 1 และคดี 2 ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบันปี 2567 จะเป็นเวลาประมาณ 9 ปี
- ก.ยุติธรรม-ราชทัณฑ์ แจง ‘เสี่ยเปี๋ยง’ พักโทษ ป่วยโรคไตระยะสุดท้าย-ใกล้เสียชีวิต
- ชอบด้วย กม.! ราชทัณฑ์ แจงพักโทษ 'เสี่ยเปี๋ยง' ป่วยร้ายแรง-อายุเกิน70-ติดคุก 1 ใน 3
- ข้อมูลคุก 'เสี่ยเปี๋ยง' ก่อนได้พักโทษ โดนเป็น 100 ติดจริง 9 ปี? ชาติเสียหายหมื่นล.
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับแจ้งข้อมูลลับจากแหล่งข่าวในกรมราชทัณฑ์ ว่า นายสมคิด เอื้อนสุภา หนึ่งในผู้ต้องขังคนสำคัญในคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยทุจริต ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาลงโทษจำคุก 16 ปี ก็ได้รับการพักโทษปล่อยตัวออกมาแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2564 หลังจากรับโทษไปแล้วเป็นเวลา 3 ปี 8 เดือน 29 วัน
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ นายสมคิด เอื้อนสุภา นั้น สำนักข่าวอิศรา เคยนำเสนอไปแล้วว่า ภายหลังจากที่ บริษัท “GSSG IMP AND EXPORT CORP” จากเมืองกวางเจา ประเทศจีน คู่สัญญาการซื้อขายข้าวจีทูจี กับกรมการค้าต่างประเทศ ได้มอบอำนาจให้ "นายรัฐนิธ โสจิระกุล" เข้ามาทำสัญญาซื้อข้าวกับกรมการค้าต่างประเทศ และ "นายรัฐนิธ โสจิระกุล" ได้มอบอำนาจให้ นายนิมล รักดี (เสี่ยโจ) ชาว อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร ดำเนินการรับมอบข้าวออกจากโกดังแทน และมีการตรวจสอบพบข้อมูลว่า ข้าวในสต็อกรัฐบาล ถูกนำไปเร่ขายให้กับบริษัทเอกชนผู้ค้าข้าวในประเทศไทย ในราคาต่ำ
ส่วนเช็คจำนวนหลายใบ ที่มีการสั่งจ่ายให้กับกรมการค้าต่างประเทศ เพื่อชำระเป็นค่าข้าว ถูกระบุว่า ผู้สั่งซื้อคือ นายสมคิด เอื้อนสุภา แทนที่จะเป็นบริษัทตัวแทนจากจีนที่เข้ามาทำสัญญาซื้อข้าว ทำให้ถูกระบุว่าไม่ได้เป็นการซื้อขายแบบจีทูจีจริง
ขณะที่ข้อมูลในคำพิพากษาศาล ระบุว่า นายสมคิด เอื้อนสุภา เคยทำงานที่บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด ที่มีนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร เป็นเจ้าของกิจการ หลังจากนั้นย้ายมาทำงานที่บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ตั้งแต่ปี 2550 หลังทำสัญญาข้าวฉบับที่ 1 และ 2 บริษัท กวางตุ้งฯ มีหนังสือลงวันที่ 23 พ.ย. 2554 แจ้งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศว่า ได้มอบอำนาจให้นายสมคิด เป็นผู้ชำระเงิน รับมอบข้าว และจัดการเรื่องเอกสารต่าง ๆ
นายสมคิด เป็นผู้ซื้อแคชเชียร์เช็คนำไปชำระค่าข้าวตามสัญญาทั้ง 4 ฉบับ จำนวนหลายร้อยฉบับ สัญญาที่ 1 เป็นเงินประมาณ 13,568,803,166 บาท (ราว 1.3 หมื่นล้านบาท) สัญญาฉบับที่ 2 เป็นเงินประมาณ 28,988,111,652 บาท (ราว 2.8 หมื่นล้านบาท) สัญญาฉบับที่ 3 เป็นเงินประมาณ 22,505,865,369 บาท (ราว 2.2 หมื่นล้านบาท) และยังเป็นผู้ซื้อแคชเชียร์เช็คชำระค่าข้าวตามสัญญาฉบับที่ 4 อีกบางส่วน
ส่วนที่นายสมคิด อ้างว่าได้ลาออกจากการเป็นพนักงานของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2553 มาประกอบอาชีพรับส่งเอกสารเป็นการทั่วไป ซึ่งมีรายได้ดีกว่า แต่นายสมคิดยังคงรับจ้างส่งเอกสารให้บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ด้วย
ต่อมาประมาณกลางปี 2554 นายนิมล รักดี หรือโจ ว่าจ้างให้ส่งตัวอย่างข้าวหอมมะละและเอกสารให้นางโจวจิ้ง หรือซินดี้ ที่สำนักงานบริเวณ ถ.รัชดาภิเษก 2-3 ครั้ง และปลายปี 2554 พนักงานของนางโจวจิ้ง หรือซินดี้ ได้ว่าจ้างนายสมคิดติดต่อกับธนาคารและกรมการค้าต่างประเทศ รวมทั้งรับส่งเอกสาร นายสมคิดได้มอบสำเนาบัตรประชาชนให้เพื่อทำหนังสือมอบอำนาจ โดยมี น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง เบิกความสนับสนุนว่า นานยสมคิดได้ลาออกจากบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2553
แต่ข้อเท็จจริงได้เบิกความจากพยานที่เป็นอดีตพนักงานบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. ว่า เมื่อเดือน ก.พ. 2557 พยานไปเก็บของที่บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ยังพบว่านายสมคิดทำงานอยู่ แม้ว่านายสมคิดมีหนังสือของสำนักงานประกันสังคมเป็นพยานหลักฐานยืนยันว่าได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนที่บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด แค่วันที่ 1 ธ.ค. 2553 เท่านั้น
แต่เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2554 นายสมคิด ได้เปิดบัญชีออมทรัพย์ที่ธนาคารกรุงไทย สาขารัชดาภิเษก-ห้วยขวาง ระบุในคำขอเปิดบัญชีว่า ทำงานอยู่บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด แม้นายสมคิดจะอธิบายว่า การระบุข้อมูลเช่นนั้นเกิดจากความเข้าใจผิดของพนักงานธนาคาร แต่ปรากฏว่า นายสมคิดยังคงเกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงินของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เป็นจำนวนมาก เช่น นายสมคิดฝากเงินเข้าบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ที่เปิดในนามของ น.ส.เรืองวัน เลิศศรารักษ์ กรรมการบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด จำนวนประมาณ 150 ล้านบาท เป็นต้น
อีกทั้งข้อเท็จจริงหลายประการตามที่นายสมคิดอ้าง ก็ปรากฏข้อพิรุธ เช่น ตอบพนักงานอัยการซักถามว่า วันที่ 20 ก.ย. 2555 นายสมคิดไปรับเอกสารที่บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด นำไปเบิกเงินจากบัญชีของ น.ส.เรืองวัน จำนวน 35 ล้านบาท มาซื้อแคชเชียร์เช็คแล้วนำกลับมาส่งให้บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ที่มีที่ตั้งสำนักงานห่างจากธนาคารเพียง 500 เมตร หรืออ้างว่า เป็นคนขอให้นายกฤษณะ สุรมนต์ พนักงานบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด (จำเลยที่ 18) ช่วยซื้อแคชเชียร์เช็คให้บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เนื่องจากนายสมคิดติดงานอื่นกลับไม่ทัน
โดยเฉพาะข้ออ้างว่าเป็นผู้รับมอบอำนาจของบริษัท กวางตุ้งฯ ทำหน้าที่เอกสาร ได้ค่าตอบแทนเป็นรายเที่ยว เที่ยวละ 300 บาท แต่ไม่เคยพบ Ms.Luo Wensui ผู้แทนของบริษัท กวางตุ้งฯ ไม่เคยเห็นต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจไม่รู้ว่าผู้แทนของบริษัท กวางตุ้งฯ ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจเมื่อใด
คณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบกับกรมสรรพากรว่า นายสมคิด ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพียง 2 ปี ปี 2551 มีเงินได้พึงประเมิน 149,000 บาท และปี 2552 มีเงินได้พึงประเมิน 128,800 บาท และจากการตรวจสอบของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไม่พบการเดินทางไปต่างประเทศของนายสมคิด ตามหนังสือแจ้งผลตรวจสอบข้อมูลการเดินทาง
สถานะของนายสมคิดจึงไม่น่าเชื่อว่า รัฐวิสาหกิจของมณฑลประเทศจีนจะแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนรับมอบข้าวตามสัญญามูลค่าหลายหมื่นล้านบาท
ข้อมูลส่วนนี้สอดคล้องกับการลงพื้นที่ของสำนักข่าวอิศรา เมื่อปี 2558 พบว่า พื้นเพ และที่อยู่ของนายสมคิด อยู่ในชุมชนมัสยิดบ้านตึกดิน หลังศึกษาภัณพ์พาณิชย์ (ถ.ราชดำเนิน กทม.) โดยชุมชนนี้มีที่พักลักษณะคล้ายกับห้องเช่าทั่วไป ปรากฏบ้านเลขที่ 199 ของครอบครัวนายสมคิดด้วย ขณะเดียวกันพี่ชายของนายสมคิดยืนยันว่า น้องตัวเองเป็นเพียแมสเซนเจอร์รับส่งเอกสารเท่านั้น ไม่มีเงินมูลค่าหลายล้านบาทอย่างแน่นอน และเชื่อว่าน้องตัวเองคือ ‘แพะ’ (อ่านข้อมูลประกอบของนายสมคิด : เผยโฉม! 'สมคิด เอื้อนสุภา' นอมินี ขนเงินสดซื้อเช็ค ข้าวถุง 5.4 พันล. ?, คำให้การพี่ชาย "สมคิด เอื้อนสุภา" น้องผมแค่แมสเซ็นเจอร์-แพะ คดีข้าวถุง, แกะรอยเส้นทาง"เงินสด"ซื้อเช็คข้าวถุง 5.4พันล.หาตัว "ผู้บงการ"เหนือ "สมคิด")
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายสมคิด มีฐานะเป็นพนักงานของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ตลอดมาจนถึงขณะเกิดเหตุ การที่นายสมคิดได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รับมอบอำนาจของบริษัท กวางตุ้งฯ และทำหน้าที่ซื้อแคชเชียร์เช็คหลายร้อยฉบับ คิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท นำไปชำระค่าข้าว แสดงว่านายสมคิด เป็นบุคคลที่กลุ่มบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด กับพวก ไว้วางใจจึงมอบหมายให้เป็นผู้รับมอบอำนาจ อันเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำตั้งแต่ต้น และร่วมอยู่ในแผนงานในการแอบอ้างนำบริษัท กวางตุ้งฯ มาทำสัญญาซื้อข้าวตามสัญญาฉบับที่ 1-3 กับกรมการค้าต่างประเทศโดยมิชอบ
การกระทำของนายสมคิด จึงเป็นความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง 10 และ 12 ประกอบประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 86 เป็นความผิดหลายกรรมแยกตามรายสัญญา รวม 3 กระทง
ส่วนการทำสัญญาฉบับที่ 4 ทางไต่สวนไม่ปรากฏว่านายสมคิดมีส่วนเกี่ยวข้องในขั้นตอนการทำสัญญา คงได้ความเพียงว่า นายสมคิด เป็นผู้ซื้อแคชเชียร์เช็คชำระค่าข้าวตามสัญญาฉบับที่ 4 จำนวนหนึ่ง การกระทำส่วนหนึ่งเป็นความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 123/1 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 อีกกระทงหนึ่ง
รวมจำคุกนายสมคิด 16 ปี
ส่วนข้อมูลเชิงลึกอื่นๆ สำนักข่าวอิศรา จะติดตามมานำเสนอต่อไป