"...มีข้อสังเกตและประเด็นต่างๆที่คณะกรรมการหลายคณะได้มอบหมายให้คณะทำงานฯ นำกลับไปแก้ไขปรับปรุง โดยเฉพาะในเรื่องการลงทุนในธุรกิจที่ไม่ชัดเจนของความเหมาะสมเชิงกลยุทธ์ ราคาขายหุ้นที่สูงเกินไป และข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลของบริษัท สตาร์คฯ เช่น การเกี่ยวข้องกับการทุจริตของผู้บริหารบริษัทฯ รวมถึงข้อสังเกตเกี่ยวกับความไม่ปกติของบริษัท สตาร์คฯ แต่ปรากฏว่า คณะทำงานฯไม่ได้ดำเนินการแก้ไข..."
.......................................
กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที
เมื่อมีข่าวว่า ฝ่ายบริหารของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ กรณีผู้บริหารและอดีตผู้บริหาร ปตท. กลุ่มหนึ่งเสนอให้คณะกรรมการ ปตท. ซื้อหรือลงทุนในหุ้นเพิ่มทุน บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK มูลค่า 6,000 ล้านบาท ในเดือน ต.ค.2564
แม้ว่าในท้ายที่สุด คณะกรรมการ ปตท. จะไม่อนุมัติและให้ถอนวาระการพิจารณาในเรื่องดังกล่าวออกไปก่อน เพราะพบพิรุธในการนำเสนอข้อมูลหรือมีการปกปิดข้อมูลต่อคณะกรรมการ ปตท.
แต่ทว่าการดำเนินการเพื่อเสนอให้มีการซื้อหุ้นเพิ่มทุน STARK หรือที่เรียกว่า ‘STARK Project’ ได้สร้างความเสียหายให้แก่ ปตท.แล้ว โดยเฉพาะการจัดจ้างที่ปรึกษาทางด้านการเงินฯวงเงินหลายสิบล้านบาท รวมทั้งพบพฤติการณ์ของผู้บริหาร ปตท. บางรายที่พยายามปกปิดข้อมูลในเรื่องนี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการสอบสวนเบื้องต้นของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ พบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ ดังนี้
STARK Project เป็นโครงการที่ ปตท. จะเข้าลงทุนใน บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK
โดยการซื้อหุ้นเพิ่มทุนจัดสรรให้กับบุคคลในวงจำกัด (Private Placement: PP) จาก Stark Investment Corporation Limited (โฮลดิ้งคัมปานีของบริษัท สตาร์คฯ) ในสัดส่วน 17% และจาก วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ (ผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้ก่อตั้งบริษัท สตาร์คฯ) ในสัดส่วน 3% รวมเป็นสัดส่วน 20% โดยมีที่ปรึกษาทางการเงินระดับโลกแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ในสิงคโปร์ ทำหน้าที่ประเมินมูลค่าของบริษัท สตาร์คฯ
สำหรับที่มาของโครงการ STARK Project นั้น ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2564 ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินระดับโลกแห่งหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่ขายหุ้นเพิ่มทุน STARK สาขาประเทศไทย ได้ติดต่อ ผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่ง ของ ปตท. ผ่านทางอีเมล โดยส่งข้อมูลของบริษัท สตาร์คฯ เพื่อเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน STARK ให้กับ ปตท.
ต่อมาวันที่ 13 ก.ค.2564 ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินฯดังกล่าว ได้ส่งอีเมลข้อเสนอการลงทุนหุ้นเพิ่มทุน STARK ให้แก่ ผู้บริหารระดับสูงของ ปตท. อีกรายหนึ่ง ซึ่งมีตำแหน่งสูงกว่า พร้อมทั้งส่งสำเนาอีเมลให้แก่ผู้บริหาร ปตท.รายเดิม ที่ติดต่อกันไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อทราบด้วย กระทั่งนำไปสู่การจัดตั้ง ‘คณะทำงานโครงการลงทุน STARK PROJECT’
ในเวลาต่อมา คณะทำงานโครงการลงทุน STARK PROJECT เสนอขอให้มีการจัดจ้างที่ปรึกษาด้านการเงินฯ เพื่อศึกษาละประเมินมูลค่าบริษัท สตาร์คฯ แต่ปรากฏว่า บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินฯดังกล่าว เป็นบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินฯ รายที่เสนอขายหุ้นเพิ่มทุน STARK ให้ ปตท. แต่เป็นสำนักงานที่สิงค์โปร์
ไม่เพียงเท่านั้น คณะทำงานฯ ยังนำบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินดังกล่าว เข้าร่วมประชุมกับคณะทำงานฯในหลายๆครั้ง โดยที่ยังไม่ได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างและสัญญารักษาความลับ แต่อย่างใด
ทั้งๆที่บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินดังกล่าว มีลักษณะผลประโยชน์ขัดแย้งกัน (conflict of interest)ไม่สามารถให้ความเห็นได้อย่างอิสระ เนื่องจากบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินรายนี้ เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัท สตาร์คฯ และถึงแม้จะมีการอ้างว่า เป็นการถือหุ้นแทนบุคคลอื่น แต่ก็ไม่เคยมีการตรวจสอบว่า ถือหุ้นแทนใคร
ผู้แทนของบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินรายดังกล่าว ยังได้ให้ข้อมูลด้วยว่า มีความสัมพันธ์ที่ดี และสามารถเข้าถึงตัวผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจของบริษัท สตาร์คฯ
เช่น วนรัชต์ ตั้งคาราวคุณ และ ชนินทร์ เย็นสุดใจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท สตาร์คฯ ซึ่งเป็นบุคคลที่ในภายหลังถูก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีเผยแพร่ข้อมูล อันเป็นเท็จหรือก่อให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับฐานะทางการเงิน STARK
ต่อมา คณะทำงานฯ ได้เสนอขออนุมัติการลงทุน STARK Project จากที่ประชุมคณะกรรมการชุดต่างๆที่เกี่ยวข้อง ตามระเบียบและข้อกำหนดการลงทุน ของ ปตท. โดยเสนอขออนุมัติตั้งแต่ในช่วงเดือน ส.ค.-11 ต.ค.2564
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตและประเด็นต่างๆที่คณะกรรมการหลายคณะได้มอบหมายให้คณะทำงานฯ นำกลับไปแก้ไขปรับปรุง
โดยเฉพาะในเรื่องการลงทุนในธุรกิจที่ไม่ชัดเจนของความเหมาะสมเชิงกลยุทธ์ ราคาขายหุ้นที่สูงเกินไป และข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลของบริษัท สตาร์คฯ เช่น การเกี่ยวข้องกับการทุจริตของผู้บริหารบริษัทฯ รวมถึงข้อสังเกตเกี่ยวกับความไม่ปกติของบริษัท สตาร์คฯ
แต่ปรากฏว่า คณะทำงานฯไม่ได้ดำเนินการแก้ไข
อีกทั้งยังพบว่าคณะทำงานฯ มีการปกปิดข้อเท็จจริง ด้วยการนำเสนอข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง เช่น มีการอ้างว่า ของ ปตท. มีมติเห็นชอบให้เสนอการลงทุนหุ้นเพิ่มทุน STRAK ต่อ คณะกรรมการจัดการ ของ ปตท. (PTTMC) แล้ว
ทั้งๆในรายงานการประชุมของคณะกรรมการพิจารณาการลงทุน ไม่มีข้อความดังกล่าว รวมทั้งพบว่ามีการบันทึกรายงานการประชุมที่ไม่ครบถ้วน และขาดสาระสำคัญ แต่คณะทำงานฯ ก็ยังเดินหน้าเสนอให้มีการลงทุนต่อไป
นอกจากนี้ กรณีที่คณะกรรมการพิจารณาการลงทุน มีความเห็นให้คณะทำงานฯ ไปแก้ไขปรับปรุงเรื่องการกำหนดเงื่อนไขการลงทุน (Condition Precedent) การรับประกันว่าจะไม่มีภาระภาษี (Tax warranties) และการชดใช้ค่าเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากสัญญา (Indemnity) เนื่องจากไม่ได้รับข้อมูลในเรื่องสำคัญๆจากบริษัท สตาร์ค รวมทั้งการให้ไปดำเนินการเรื่องการมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจที่เป็นอัตรายต่อสุขภาพของบริษัทย่อยของบริษัท สตาร์คฯ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ
แต่คณะทำงานฯก็ไม่ได้ดำเนินการแก้ไขเช่นกัน และยังคงเสนอวาระให้คณะกรรมการ PTTMC และ คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง หรือ ERMC พิจารณา
ที่สำคัญในการพิจารณาของ PTTMC นั้น PTTMC พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่า การลงทุนซื้อหุ้นเพิ่มทุน STARK มีความไม่เหมาะสม ทั้งในเรื่องการทำงานร่วมกัน (Synergy) ราคาหุ้นเพิ่มทุนที่สูงเกินไป และเรื่องธรรมาภิบาล รวมถึงการไม่สามารถทำการตรวจสอบและประเมินข้อมูล (Due Diligence) ได้ตามธุรกรรมปกติ
แต่คณะทำงานฯ ได้นำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง (ERMC) โดยเห็นว่า ไม่ใช่หน้าที่ของตนในการดำเนินการปิด/แก้ไขความเสี่ยงดังกล่าว ในขณะที่ทาง ERMC เอง ได้พิจารณาความเสี่ยงในการลงทุนหุ้นเพิ่มทุน STARK และมีเห็นว่า การลงทุนไม่มี Synergy และไม่สอดคล้องกับกลยุทธ์ ปตท.
คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง (ERMC) ยังตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการที่บริษัท สตาร์คฯ มีมูลค่าหุ้นตามบัญชี (Book value) และ Goodwill (ค่านิยม) ค่อนข้างสูง และขอให้บันทึกว่าคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงฯ ไม่เห็นด้วยกับการลงทุนในครั้งนี้
แต่กลับไม่พบว่ามีการบันทึกข้อความดังกล่าวในรายงานการประชุมและในเอกสารที่เตรียมเสนอคณะกรรมการ ปตท.แต่อย่างใด โดยคณะทำงานฯยังคงแจ้งเสนอวาระต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. หลังจากคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงพิจารณาเรื่องนี้ในวันที่ 11 ต.ค.2564
อีกทั้งในช่วงที่คณะทำงานโครงการลงทุน STARK PROJECTพยายามนำเสนอข้อมูลการลงทุนหุ้นเพิ่มทุน STARK นั้น ปรากฏว่าราคาหุ้นของบริษัท สตาร์คฯ ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงตั้งแต่เริ่มต้นการส่งข้อมูล การขออนุมัติจากคณะกรรมการชุดต่างๆของ ปตท.
จนราคาหุ้นบริษัท สตาร์คฯ ปิดที่ระดับสูงสุดของปี 2564 ที่ราคา 5.30 บาท/หุ้น ในวันที่ 8 ต.ค.2564 ซึ่งเป็นวันทำการซื้อขายหุ้นสุดท้ายก่อนที่จะขอถอนวาระที่จะเสนอต่อที่ประชุมกรรมการ ปตท.
ก่อนที่ราคาหุ้นบริษัท สตาร์คฯ จะเริ่มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากมีการประชุมคณะกรรมการความเสี่ยงฯในช่วงเช้าของวันที่ 11 ต.ค.2564 กระทั่งต่อมาวันที่ 13 ต.ค.2564 คณะทำงานโครงการลงทุน STARK PROJECT ได้แจ้งถอนวาระการลงทุนที่เตรียมจะเสนอต่อคณะกรรมการ ปตท.
ทั้งนี้ หากการลงทุนโครงการ STARK Project ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ปตท. และต่อมาในภายหลังได้ปรากฏการทุจริตในบริษัท สตาร์คฯ และมีการดำเนินคดีกับผู้บริหารฯ จนกระทั่งบริษัท สตาร์คฯ ถูกเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะมีความเสียหายเกิดขึ้นกับ ปตท. ประมาณ 12,000-15,000 ล้านบาท
แหล่งข่าวระดับใน ปตท.เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราว่า ในการเสนอต่อคณะกรรมการ ปตท.เพื่อให้พิจารณาซื้อหุ้นเพิ่มทุน STARK เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2564 นั้น ความจริงแล้ว มีการบรรจุในวาระการพิจารณาเรียบร้อยแล้ว แต่กรรมการ ปตท. เห็นความผิดปกติดังกล่าว จึงขอให้ฝ่ายบริหารของ ปตท.ในขณะนั้น ถอนเรื่องดังกล่าวออกไปก่อน
สำหรับข้อมูลผู้ถือหุ้นใหญ่สำหรับข้อมูลผู้ถือหุ้นใหญ่ 10 อันดับแรกของบริษัท สตาร์คฯ ณ วันที่ 11 ส.ค. 2565 มีดังนี้ :
1.นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ: ถือหุ้น 48.69%
2.Stark Investment Corporation Limited: ถือหุ้น 21.00%
3.นายรีวิน เพทายบรรลือ: ถือหุ้น 4.37%
4.นายณัฐภัทร ศุภนันตฤกษ์ : ถือหุ้น 2.03%
5. MR.Vonnarat Tangkaravakoon : ถือหุ้น 1.47%
6.นาย นเรศ งามอภิชน : ถือหุ้น 0.93%
7.CREDIT SUISSE AG, SINGAPORE BRANCH: ถือหุ้น 0.91%
8.นายกฤดา กาญจนจารี: ถือหุ้น 0.15%
9.บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด: ถือหุ้น 0.0001%
10.อื่นๆ: ถือหุ้นรวมกันประมาณ 20.00%
อ่านประกอบ :
ตั้งกก.สอบหาคนผิด! บอร์ด'ปตท.'พบ'พิรุธ-ปกปิดข้อมูล' หลอกขายหุ้นเพิ่มทุน STARK 6 พันล้าน