"...จากข้อมูลในสัญญาเงินกู้ดังกล่าว พบว่า 1. การให้กู้ยืมดังกล่าว กำหนดระยะเวลาทั้งสิ้น ไม่เกิน 12 ปี เริ่มนับวันแรกตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.2541 เป็นต้นไป, 2. ไม่มีการคิดดอกเบี้ยแต่ประการใด , 3. ในสัญญาเงินกู้ฉบับนี้ มิได้มีการระบุเหตุผลเรื่องการ นำเงินจากช่อง 5 หรือกองทัพบกจำนวน 1,453 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้นธนาคารทหารไทยไว้แต่อย่างใด ..."
กรณีปัญหาข้อพิพากเงินกู้ยืมจำนวน 1,453 ล้านบาท ตามสัญญากู้ลงวันที่ 19 ม.ค.2541 ที่ปรากฏข่าวว่า สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก หรือ ช่อง 5 ได้ทำหนังสือแจ้งให้บริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวคืนมาเป็นระยะๆ แต่ยังไม่ได้รับเงินกู้คืนครบถ้วนตามจำนวน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า ในช่วงเดือน ต.ค.2567 ที่ผ่านมา บริษัท อาร์ทีเอฯ ได้ทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงเงินกู้วงเงิน 1,453 ล้านบาท ต่อ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ยืนยันว่า บริษัท อาร์ทีเอฯ ไม่ได้มีนิติสัมพันธ์กับสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกอย่างเจ้าหนี้ลูกหนี้แต่ประการใด และไม่ตกเป็นลูกหนี้เงินกู้ตามที่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกกล่าวอ้างด้วย
บริษัท อาร์ทีเอฯ ให้เหตุผลว่า เนื่องด้วยพฤติการณ์ในทางกฎหมายรับฟังเป็นที่ยุติว่าเอกสารสัญญากู้ดังกล่าวเป็นการจัดทำขึ้นระหว่างบุคคลคนเดียวกัน คือ ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะประธานกรรมการบริหารกิจการโทรทัศน์กองทัพบก ได้มอบให้สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกซึ่งเป็นหน่วยงานในสายบังคับบัญชาของกองทัพบกและมีนายทหารในราชการของกองทัพบกเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ให้นำเงินจำนวน 1,453 ล้านบาท ออกให้บริษัท ททบ.5 จำกัด ในขณะนั้นหรือบริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน เพื่อนำเงินจำนวนดังกล่าวไปซื้อหุ้นธนาคารทหารไทยเพื่อช่วยแก้ไขวิกฤตของธนาคาร โดยที่ในขณะนั้นธนาคารทหารไทยมีกองทัพบกเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงเงินทุนเรือนหุ้น (capital stock) ของธนาคาร
บริษัท อาร์ทีเอฯ ยังยืนยันว่ามีสถานะเป็นตัวแทนเชิด ในการเข้าถือครองหุ้นธนาคารทหารไทยด้วยวิธีการนำเงินจากช่อง 5 หรือกองทัพบกจำนวน 1,453 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้นธนาคารทหารไทย และพร้อมจะหาทางออกร่วมกันกรณีถูกสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบด้วย
- ช่อง 5 ทวงคืนเงินกู้1.4 พันล. อาร์ทีเอฯ ปฏิเสธ-อ้างเป็นตัวแทนนำเงินออกซื้อหุ้นธ.ทหารไทย
- เปิดชัดๆ คำชี้แจง บ.อาร์ทีเอฯ ยันเป็นตัวแทนเชิด ช่อง 5 ไม่ใช่ลูกหนี้เงินกู้ 1.4 พันล.
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับ สัญญากู้ยืมเงินลงวันที่ 19 ม.ค.2541 วงเงินจำนวน 1,453 ล้านบาท ดังกล่าว
ระบุว่า จัดทำที่สถานีโทรทัศน์กองทัพบก ลงนามโดย ตัวแทน กองทัพบก ในฐานะผู้ให้กู้ คือ พลเอกแป้ง มาลากุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์กองทัพบก (เสียชีวิตแล้ว) ผู้ได้รับมอบอำนาจจากกองทัพบกและกระทำการโดยได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการ ทหารบก
กับ ตัวแทน บริษัท ททบ.5 จำกัด (หรือบริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน) ในฐานะผู้กู้ คือ พลตรีบุลฤทธิ์ เจริญราช กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม และประทับตราสำคัญผูกพันบริษัท (ดูเอกสารประกอบ)
จากข้อมูลในสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว จะพบว่า
1. การให้กู้ยืมดังกล่าว กำหนดระยะเวลาทั้งสิ้น ไม่เกิน 12 ปี เริ่มนับวันแรกตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.2541 เป็นต้นไป
2. ไม่มีการคิดดอกเบี้ยแต่ประการใด
3. ในสัญญาเงินกู้ฉบับนี้ มิได้มีการระบุเหตุผลเรื่องการนำเงินจากช่อง 5 หรือกองทัพบก จำนวน 1,453 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้นธนาคารทหารไทยไว้แต่อย่างใด
4. ขณะที่ในการชี้แจงข้อเท็จจริงของ บริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า "แม้ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายจะรับฟังเป็นที่ยุติได้ว่าบริษัท ททบ.5 จำกัด ในขณะนั้น หรือบริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบันจะไม่ใช่ลูกหนี้เงินกู้ที่จะต้องมีหน้าที่คืนเงินกู้ แต่บริษัทฯ มีฐานะเป็นตัวแทนเชิดของท่านในการจัดการตามวัตถุประสงค์ของท่านและหรือกองทัพบกในการเข้าถือครองหุ้นธนาคารทหารไทยด้วยวิธีการนำเงินจากท่านและหรือกองทัพบกจำนวน 1,453,000,000 บาท เข้าซื้อหุ้นธนาคารทหารไทย
ดังนั้น หากท่านประสงค์ที่จะให้บริษัทฯ ยุติการเป็นตัวแทนเชิดของท่าน บริษัทฯ มีความยินดีที่จะโอนคืนหุ้นธนาคารทหารไทยซึ่งปัจจุบันถือครองในหุ้นจำนวน 142,041,694 หุ้น คิดเป็นเงินจำนวน 248,572,964.50 บาท โดยคำนวณ ณ ราคาปิดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 หรือ หากท่านประสงค์จะให้บุคคลอื่นถือหุ้นจำนวนดังกล่าวแทน บริษัทฯ ยินดีดำเนินการเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงการถือครองหุ้นตามความประสงค์ของท่านต่อไป
อนึ่ง บริษัทฯ ขอเรียนให้ท่านทราบว่าในระหว่างการถือครองหุ้นโดยบริษัทฯ นั้น ท่านไม่ได้ให้อำนาจในการเข้าดำเนินการอย่างใดๆ กับหุ้นหอันหมายความรวมถึงการจัดให้มีกลยุทธ์ในการซื้อขายหุ้นเพื่อรักษามูลค่าการลงทุนจำนวนเงิน 1,453,000,000 บาท จึงเป็นเหตุให้มูลค่าต่อหุ้นจากราคา 10 บาทต่อหุ้น ลดลงเหลือ 1.75 บาทต่อหุ้น อันเป็นไปตามกลไกและปัจจัยในตลาดทุนตามปกติโดยทั่วไปจึงส่งผลให้ปัจจุบันเงินลงทุนของท่านคงเหลือน้อยกว่าเงินลงทุนในห้วงเวลาแรกในคราวปี พ.ศ. 2541"
จากคำชี้แจงดังกล่าวเท่ากับว่า ปัจจุบันมูลค่าเงินกู้จำนวน 1,453,000,000 บาท ลดลงเหลือจำนวน 248,572,964.50 บาท มีความเสียหายเกิดขึ้นแล้วกว่า 1,204,427,035.5 บาท จากมูลค่าหุ้นที่ลดลงในปัจจุบัน
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลว่า หลังการทำสัญญากู้ยืมเงินลงวันที่ 19 ม.ค.2541 ต่อมามีการทำบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญากู้เงิน จำนวน 2 ครั้ง
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา อยู่ระหว่างตรวจสอบยืนยันข้อมูล หากมีความชัดเจน จะนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป