"...การที่ผู้ถูกกล่าวหาอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวงเงินงประมาณค่าบำรุงมหาวิทยาลัย จาก 10,000,000 บาท เป็น 28,506,070 บาท เพื่อนำเงินงบประมาณเข้าเป็นเงินบำรุงของมหาวิทยาลัยเพิ่มเติม เป็นการอนุมัติตามกฎ ระเบียบ ประกาศ ของมหาวิทยาลัยฯ แล้ว และมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับทางราชการแต่อย่างใด..."
กำลังเป็นประเด็นร้อน ที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชนในแวดวงการศึกษา!
กรณีปรากฏข่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ทำหนังสือแจ้งผลการดำเนินการทางวินัยกรณีตรวจสอบโครงการอบรมและส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม ปีงประมาณ 2564 ของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ให้นายกสภามหาวิทยาลัยฯ รับทราบ
หลังจากก่อนหน้านี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 4 จังหวัดนครราชสีมา ตรวจสอบพบว่ามีข้อบกพร่องเนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติหรือจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบราชการ รวมทั้งมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าทุจริต พร้อมส่งเรื่องให้ ปลัด อว. ในฐานะผู้บังคับบัญชาพิจารณาดำเนินการทางวินัยกับบุคลาการในสังกัดมหาวิทยาลัยฯ จำนวน 15 ราย ซึ่งมีชื่อนายโฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี รวมอยู่ด้วย
โดยเบื้องต้น ผลการสอบสวนของ อว. กรณีตรวจสอบโครงการฯ นี้ เห็นสมควรให้ยุติการสอบสวน เนื่องจากเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิดวินัยในการดำเนินงานโครงการฯ
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบยืนยันข้อมูลผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 4 จังหวัดนครราชสีมา กรณีนี้ ที่มีการแจ้งให้ อว. รับทราบมี 3 ประเด็นหลัก คือ
1. กรณีผู้ถูกกล่าวหาอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวงเงินงบประมาณค่าบำรุง มหาวิทยาลัยฯ จาก 10,000,000 บาท เป็น 28,506,070 บาท เพื่อนำเงินงบประมาณเข้าเป็นเงินบำรุงของมหาวิทยาลัยฯ เพิ่มเติม เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ จำนวน 18,506,585 บาท
2. กรณีอนุมัติจ่ายเงินยืมของทางราชการเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการ จำนวน 78,723,514 บาท และอนุมัติให้ยืมเงินราชการเกินความจำเป็น
3. กรณีอนุมัติจ่ายเงินยืมของทางราชการ เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการ จำนวน 78,723,514 บาท โดยกำหนดระยะเวลาส่งใช้เงินยืมในสัญญาดังกล่าวเกินกว่า 30 วัน
โดย สตง.ได้แจ้งให้มีการดำเนินการทางวินัยกับผู้เกี่ยวข้อง และแจ้งให้มีการชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐ เป็นจำนวนเงินกว่า 48,726,460.95 บาท ด้วย
น่าสนใจว่า ผลการสอบสวนของ อว. มีรายละเอียดเป็นอย่างไร ทำไมถึงสามารถหักล้างผลการสอบสวนของ สตง. และนำไปสู่การแจ้งผลว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิดวินัยในการดำเนินงานโครงการฯ
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก เรียบเรียงข้อเท็จจริงมาให้สาธารณชน รับทราบ ณ ที่นี้
หนึ่ง : จุดเริ่มต้น
ย้อนกลับไปในช่วงเดือน ธ.ค. 2566 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 4 จังหวัดนครราชสีมา ได้เข้าทำการตรวจสอบโครงการอบรมและส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม ปีงประมาณ 2564 ของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน พบว่ามีข้อบกพร่อง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติหรือจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงานและการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ. 2549 (แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 3 พ.ศ. 2555) และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าทุจริต และให้ ปลัด อว. ในฐานะผู้บังคับบัญชาพิจารณาดำเนินการทางวินัยกับบุคลากรในสังกัด มทร.อีสาน จำนวน 15 ราย
ต่อมา ในช่วงเดือน ก.พ.2567 สำนักงานปลัด อว. มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยกับ รองศาสตราจารย์โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน และได้แจ้งคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบคำสั่ง พร้อมแจ้งสิทธิในการคัดค้านคณะกรรมการ โดยผู้ถูกกล่าวหาได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานเมื่อวันที่ 6 ก.พ.2567 ไม่ได้ใช้สิทธิคัดค้านคณะกรรมการแต่อย่างใด โดยการสอบสวนดังกล่าว ระบุต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน
จากนั้น คณะกรรมการสอบสวน ได้ดำเนินการสอบสวนโดยพิจารณาเรื่องกล่าวหาตามหนังสือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตินภูมิภาค 4 จังหวัดนครราชสีมา ผู้ถูกกล่าวหาได้ลงลายมือชื่อรับทราบข้อกล่าวหาและให้การปฏิเสธในทุกข้อกล่าวหา การสอบสวนได้พิจารณาพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยพยานบุคคล 3 ราย และพยานเอกสาร 16 รายการ ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนได้แจ้งข้อกลำวหาและรับทราบข้อกล่าวหาและสุรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา กรณีผู้ถูกกล่าวหาในฐานะอธิการบดี ซึ่งมีหน้าที่บริหารกิจการของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศและข้อบังคับของราชการ ตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548 มีพฤติการณ์และการกระทำโดยสรุป ดังต่อไปนี้
1. กรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวงเงินงบประมาณค่าบำรุง มหาวิทยาลัยฯ จาก 10,000,000 บาท เป็น 28,506,070 บาท เพื่อนำเงินงบประมาณเข้าเป็นเงินบำรุงของมหาวิทยาลัยฯ เพิ่มเติม เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ จำนวน 18,506,585 บาท เป็นการอนุมัติให้จ่ายงบประมาณไม่เป็นไปตามรายการ วงเงิน และรายละเอียดอื่นใด ที่สำนักงประมาณกำหนดในการอนุมัติเงินจัดสรร โดยไม่มีการทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ
2. กรณีอนุมัติจ่ายเงินยืมของทางราชการให้ นางนิภาพร อามัสลา หัวหน้าโครงการฯ เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการจำนวน 78,723,514 บาท ตามหลักเกณฑ์ประกาศคณะกรรมการสถาบันบริการวิชาการฯ และอนุมัติให้นางนิภาพร ยืมเงินของราชการเกินความจำเป็น โดยมีรายการค่าวัสดุ ซึ่งต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจัดจ้างตามกระบวนการและขั้นตอนตาม พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 รวมถึงมีการส่งใช้เงินยืมที่ไม่ถูกต้องและส่งผลการตรวจตอบหลักฐานการส่งใช้เงินยืมล่าช้า
3. กรณีอนุมัติจ่ายเงินยืมของทางราชการให้นางนิภาพร เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการจำนวน 78,723,514 บาท ตามหลักเกณฑ์ในประกาศคณะกรรมการสถาบันบริการวิชาการฯ โดยกำหนดระยะเวลาส่งใช้เงินยืมในสัญญาดังกล่าวเกินกว่า 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเงินและชำระคืนเงินไม่เสร็จสิ้นภายในกำหนดระยะเวลาของสัญญา รวมถึงสถาบันบริการวิชาการ ได้ดำเนินการทักท้วงหรือเรียกให้ชดใช้เงินยืมล่าช้า ไม่เป็นไปตามกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายและระเบียบกำหนด
สอง. การสอบสวน
เมื่อมีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว คณะกรรมการสอบสวน ได้ให้โอกาสถูกกล่าวหาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเป็นหนังสือพร้อมเอกสารประกอบ จากนั้นคณะกรรมการสอบสวน ได้รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และมีความเห็นโดยสรุปตามประเด็นดังต่อไปนี้
@ กรณีอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวงเงินงบประมาณค่าบำรุงมหาวิทยาลัยฯ จาก 10,000,000 บาท เป็น 28,506,070 บาท เพื่อนำเงินงบประมาณเข้าเป็นเงินบำรุงของมหาวิทยาลัยฯ เพิ่มเติม เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ จำนวน 18,506,585 บาท
เนื่องจากโครงการอบรมและส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม ปีงบประมาณ พ.ศ.2564 เป็นโครงการที่ได้รับจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณจำนวน 407,229,585 บาท ซึ่งงบประมาณดังกล่าวเมื่ออธิการบดีได้มีหนังสือมอบหมายให้สถาบันบริการวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ซึ่งเป็นส่วนงานภายในที่สภามหาวิทยาลัยฯ จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินโครงการบริการวิชาการและโครงการวิจัย และตามหนังสือกรมบัญชีกลาง ที่ กค 1409.6/ว 126 ลงวันที่ 7 ก.ย.2548 ได้มีการกำหนดให้อำนาจหน่วยงานที่รับจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนทั่วไปสามารถที่จะกำหนดระเบียบภายในควบคุมการใช้จ่ายเงินเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ งบประมาณการดำเนินโครงการดังกล่าวจึงอยู่ในอำนาจการบริหารจัดการของสถาบันบริการวิชาการ ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ว่าด้วยการบริหารสถาบันบริการวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน พ.ศ. 2564 ข้อ 12 ดังนั้น เมื่อโครงการอบรมและส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรมเป็นโครงการที่ดำเนินการโดยสถาบันบริการวิชาการฯ การบริหารจัดการโครงการ จึงต้องอยู่ภายใต้กฎ ระเบียบ และประกาศสถาบันบริการวิชาการฯ ตามพระราชบัญญัติการบริหารส่วนงานภายในของสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2550 มาตรา 5
เมื่อประกาศคณะกรรมการสถาบันบริการวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินโครงการบริการวิชาการและวิจัย พ.ศ. 2564 ข้อ 4 กำหนดให้โครงการบริการวิชาการที่บุคลากรของมหาวิทยาลัยฯ เป็นผู้ดำเนินโครงการจะต้องนำส่งเงินเป็นคำบำรุงมหาวิทยาลัยในอัตราร้อยละ 5 ค่าบำรุงหน่วยงานต้นสังกัด ร้อยละ 5 และค่าบำรุงสถาบันบริการวิชาการร้อยละ 5 และหากโครงการบริการวิชาการใดไม่สามารถนำส่งเงินค่าบำรุงตามอัตราดังกล่าวได้ สามารถขออนุมัติจากอธิการบดี เพื่อเปลี่ยนแปลงหรือปรับลดอัตราค่าบำรุงดังกล่าวได้ โดยจะต้องหักนำส่งหน่วยงานในอัตราร้อยละ 15 ของวงเงินโครงการฯ เมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้พิจารณาวงเงินงบประมาณที่หัวหน้าโครงการได้จัดทำเสนอขออนุมัติไปยังสำนักงบประมาณแล้วพบว่า มีการกำหนดเงินค่าบำรุงหน่วยงานไว้ในโครงการเป็นเงินเพียงจำนวน 10,000,000 บาท ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศของสถาบันบริการวิชาการที่กำหนดไว้ร้อยละ 15 ของวงเงินโครงการข้างต้น จึงได้มีการขอให้ทบทวนการปรับเงินค่าบำรุงให้มหาวิทยาลัยฯ เพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นจำนวน 28,506,070 บาท เพื่อให้มหาวิทยาลัยฯ สามารถนำเงินค่าบำรุงดังกล่าวมาใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนานักศึกษา บุคลากร และมหาวิทยาลัยฯ ได้
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินโครงการยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ จึงมีความจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงการจัดสรรเงินค่าบำรุงของมหาวิทยาลัยและสถาบันบริการวิชาการเป็นเงินในอัตราร้อยละ 7 ของวงเงินงบประมาณจำนวน 28,506,070 บาท ซึ่งการเปลี่ยนแปลงงบประมาณดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการตามที่ขออนุมัติจากสำนักงบประมาณไว้แต่อย่างใด
การที่ผู้ถูกกล่าวหาอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวงเงินงประมาณค่าบำรุงมหาวิทยาลัย จาก 10,000,000 บาท เป็น 28,506,070 บาท เพื่อนำเงินงบประมาณเข้าเป็นเงินบำรุงของมหาวิทยาลัยเพิ่มเติม เป็นการอนุมัติตามกฎ ระเบียบ ประกาศ ของมหาวิทยาลัยฯ แล้ว และมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับทางราชการแต่อย่างใด
@ กรณีอนุมัติจ่ายเงินยืมของทางราชการให้นางนิภาพร อามัสลา หัวหน้าโครงการ เพื่อการดำเนินโครงการ จำนวน 78,723,514 บาท และอนุมัติให้นางนิภาพร ยืมเงินของราชการเกินความจำเป็น โดยมีรายการค่าวัสดุ ซึ่งต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจัดจ้างตามกระบวนการและขั้นตอนตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 รวมถึงมีการส่งใช้เงินยืมที่ไม่ถูกต้องและส่งผลการตรวจตอบหลักฐานการส่งใช้เงินยืมล่าช้า
โครงการอบรมและส่งเสริมพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม ปึงบประมาณ พ.ศ. 2564 เป็นโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน จึงมีความจำเป็นต้องมีการยืมเงินในคราวเดียวจำนวน 78,723,514 บาท เพื่อการนำไปใช้จ่ายเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ และตามประกาศคณะกรรมการสถาบันบริการวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการยืมเงินรายได้ของสถาบันบริการวิชาการ ฉบับลงวันที่ 7 กันยายน 2560 ข้อ 7 กำหนดให้ผู้อำนวยการมีอำนาจในการอนุมัติเงินยืมให้แก่ผู้อำนวยการหรือผู้รับผิดชอบโครงการเท่านั้น ซึ่งอธิการบดีไม่มีอำนาจในการอนุมัติเงินยืมของสถาบันบริการวิชาการได้
ส่วนกรณีที่นางนิภาพร ได้ทำหนังสือขอถอนเงินเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการจำนวน 78,763,514 บาท ผ่านผู้อำนวยการสถาบันบริการวิชาการมายังอธิการบดี นั้น การลงนามอนุมัติของอธิการบดีดังกล่าว เป็นเพียงการอนุมัติในการเบิกถอนเงินจากบัญชีของสถาบันบริการวิชาการ ตามที่ประกาศคณะกรรมการสถาบันบริการวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เรื่อง การบริหารการเงินของสถาบันบริการวิชาการ ฉบับลงวันที่ 3 ก.พ.2560 ข้อ 17 (2) การที่อธิการบดีลงนามอนุมัติในหนังสือขอเบิกถอนเงินฉบับดังกล่าวเป็นเพียงการอนุมัติการเบิกถอนเงินตามประกาศเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาการอนุมัติเงินยืมในโครงการแต่อย่างใด
ดังนั้น การที่ผู้อำนวยการสถาบันบริการวิชาการได้มีการอนุมัติยืมเงินในการดำเนินการดังกล่าว และเสนอให้อธิการบดีลงนามในเอกสารการอนุมัติการเบิกถอนเงินในการให้นางนิภาพร ยืมเงินของทางราชการเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการ จำนวน 78,723,514 บาท เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในประกาศของสถาบันบริการวิชาการแล้ว
@ กรณีอนุมัติให้นางนิภาพร ยืมเงินของทางราชการเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการ จำนวน 78,723,514 บาท โดยกำหนดระยะเวลาส่งใช้เงินยืมในสัญญาดังกล่าวเกินกว่า 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเงิน และไม่คืนเงินภายในกำหนดระยะเวลาของสัญญา
การอนุมัติเงินยืมดังกล่าว เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 13 ก.ย. 2564 ถึงวันที่ 31 มี.ค.2565 และกำหนดส่งใช้เงินยืมคืน ภายในวันที่ 31 มี.ค.2565 เป็นกระบวนการปฏิบัติงานของสถาบันบริการวิชาการ ประกาศคณะกรรมการสถาบันบริการวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินโครงการบริการวิชาการและวิจัย พ.ศ.2564 และประกาศคณะกรรมการสถาบันบริการวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เรื่องหลักเกณฑ์ และวิธีการยืมเงินรายได้ของสถาบันบริการวิชาการ โดยกำหนดให้ผู้อำนวยการสถาบันบริการวิชาการเป็นผู้มีอำนาจในการอนุมัติให้ผู้รับผิดชอบยืมเงิน และในประกาศดังกล่าวมิได้มีการกำหนดกรอบระยะเวลา 30 วัน ของการส่งใช้เงินยืมไว้ เช่นเดียวกับระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ พ.ศ.2562 แต่อย่างใด
ประกอบกับจากการให้ถ้อยคำของหัวหน้าโครงการ ผู้อำนวยการสถาบันบริการวิชาการ ได้ให้ถ้อยคำสอดคล้องว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และไม่ให้เกิดปัญหาในเรื่องการดำเนินโครงการ ผู้อำนวยการสถาบันบริการวิชาการจึงเป็นผู้กำหนดระยะเวลาการส่งใช้เงินยืมตามระยะเวลาการดำเนินโครงการ คือ ระหว่างวันที่ 13 ก.ย. 2564 ถึงวันที่ 31 มี.ค. 2565 และ กำหนดส่งใช้เงินคืนภายในวันที่ 31 มี.ค.2565 เพื่อให้สอดคล้องกับข้อ 12 ของประกาศดังกล่าว ที่กำหนดให้ผู้รับผิดชอบโครงการ ส่งเอกสารการรับ - จ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่การเงินตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วน และเสนอความเห็นต่อผู้อำนวยการ ภายใน 30 วัน นับแต่วันสิ้นสุดโครงการ
ดังนั้น การกำหนดระยะเวลาให้ส่งใช้เงินยืมคืนภายในวันที่ 31 มี.ค. 2565 จึงเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการสถาบันบริการวิชาการ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการการดำเนินโครงการบริการวิชาการและโครงการวิจัยดังกล่าวแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการตามสัญญายืมเงินเลขที่ 115/2564 แต่อย่างใด
@ สรุปผลสอบสวน
ในการนี้ คณะกรรมการสอบสวนจึงเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำความผิด ตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ข้อ 10 แห่งระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 ข้อ 35 แห่งระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บ รักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง พ.ศ. 2562 และ มาตรา 37 มาตรา 38 และมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการตามข้อกล่าวหาแต่อย่างใด
ขณะที่กองกฎหมาย อว. ได้มีการพิจารณารายงานการสอบสวน และมีความเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติตามการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนแล้วว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิดวินัย กรณีตรวจสอบโครงการอบรมและส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ปึ2564 รายงานการสอบสวนและความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนที่เสนอให้ยุติเรื่อง จึงเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว จึงมีการเสนอเรื่องมายังปลัด อว. พิจารณาตามขั้นตอน ก่อนที่จะมีการทำหนังสือแจ้งผลการดำเนินการทางวินัยกรณีนี้ ให้นายกสภามหาวิทยาลัยฯ รับทราบ ตามที่ปรากฏเป็นข่าวแล้ว
ทั้งหมดนี้ คือ รายละเอียดผลการสอบสวนของ อว. ต่อกรณีนี้ ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบล่าสุด
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า ในการแจ้งผลการดำเนินการทางวินัยดังกล่าว ทาง อว. ได้อ้างอิงมาตรา 60 ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 ที่กำหนดไว้ว่า เมื่อผู้บังคับบัญชาได้ดำเนินการทางวินัยหรือสั่งให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาออกจากราชการในเรื่องใดไปแล้ว ให้รายงานสถาบันอุดมศึกษาทราบ ในกรณีที่สภาสถาบันอุดมศึกษาพิจารณาเห็นว่า ผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งลงโทษมิได้ดำเนินการทางวินัยหรือมิได้สั่งให้ออกจากราชการโดยเคร่งครัดหรือเป็นธรรม จะสั่งให้ผู้บังคับบัญชาทบทวนการดำเนินการและสั่งการใหม่ให้ถูกต้องเหมาะสมต่อไปก็ได้
ด้าน แหล่งข่าวจาก อว. ยืนยันสำนักข่าวอิศรา การสอบสวนโครงการอบรมและส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม ปีงประมาณ 2564 ของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ที่ออกมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับระเบียบการใช้จ่ายเงินเท่านั้น ยังมีประเด็นการสอบสวนอื่นๆ ที่ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนดำเนินการอีก แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้
หากมีความคืบหน้าเพิ่มเติม สำนักข่าวอิศรา จะนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป