"ผมเคยเห็นกล่องไม้อยู่ คล้ายๆว่าข้างในมีรูปปั้นแกะสลัก เข้าใจว่ามันน่าจะเป็นอะไรที่มันหนักๆเพราะมันต้องใช้รถยกแบบมือหมุนยกขึ้นไป คือเวลาเขาจะเข้ามาทีก็จะเอารถคอนเทนเนอร์ถอยหลังเข้ามา แล้วใช้รถยกเข็นของเข้าไป" ผู้อยู่อาศัยห้องเช่าในพื้นที่อีกรายกล่าว
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอข่าวกรณีร้านค้าในประเทศไทย มีส่วนเกี่ยวข้องการลักลอบส่งออกโบราณวัตถุจากอียิปต์ อายุหลายพันปีเข้าสู่สหรัฐอเมริกาในช่วงปี 2563-2564 โดยรายงานจากเอกสารกระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิสหรัฐฯ หรือ HSI มีการระบุชื่อบริษัทไทยแห่งหนึ่งชื่อว่าบริษัท ฟาดา ที่พยายามส่งออกรูปปั้นอียิปต์โบราณผ่านผู้ให้บริการขนส่งเฟดเอ็กซ์ไปยังผู้รับสินค้าที่แคนาดา มีการสำแดงลักษณะพัสดุว่าเป็นตุ๊กตาประดับสวน มูลค่า 1,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ (39,895 บาท) ขณะที่ค่าขนส่งพัสดุอยู่ที่ 1,600 ดอลลาร์สหรัฐฯ (53,249 บาท)
แต่ปรากฎว่าพัสดุชิ้นนี้ถูกเจ้าหน้าที่ หน่วยงานศุลกากรและการป้องกันชายแดนหรือ CBP ตรวจยึดได้ที่เมืองแองเคอเจ รัฐอลาสกา และส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งประเมินราคารูปปั้นน่าจะอยู่ที่ 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (199,620,000 บาท)
จากกรณีดังกล่าว สำนักข่าวอิศราได้พยายามจะติดต่อกับบริษัทฟาดา หรือชื่อเต็มที่มีการระบุในเอกสาร HSI ว่าคือบริษัท ฟาดา เทรดดิ้ง จำกัด อย่างไรก็ตาม จากไม่พบชื่อบริษัท ฟาดา เทรดดิ้ง จำกัด อยู่ในสารบบการจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราจึงได้สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมจากเอกสารใบแจ้งหนี้จากฮ่องกงที่คาดว่าน่าจะเป็นผู้ส่งรูปปั้นอียิปต์ ให้กับบริษัท ฟาดา ผู้ซื้อรูปปั้น ก็มีการระบุชื่อบริษัท ฟาดา ว่าอยู่ที่เลขที่ 101/2 ซอยพุทธบูชา 39 แยก 1-1 แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร (ดูภาพประกอบ)
จากกรณีดังกล่าว ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราได้เดินทางไปยังที่ตั้งบริษัท ฟาดา เทรดดิ้ง จำกัด และเมื่อไปถึงก็พบว่าที่ตั้งดังกล่าวเป็นตึกแถวความสูงประมาณ 4 ชั้น
แต่ปรากฎว่าห้องเช่าเลขที่ 101/2 ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทฟาดา เทรดดิ้ง กลับมีการปิดประตูแน่น ไม่มีผู้อยู่อาศัยแต่อย่างใด
จากกรณีดังกล่าวผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราได้สอบถามผู้ที่อยู่อาศัยห้องเช่นอื่นๆในพื้นที่ ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าผู้ที่่เช่าห้องเช่าแห่งนี้มีลักษณะเป็นแขกขาว เป็นแขกซิกข์ มีด้วยกันสองคน น่าจะเป็นพ่อลูกกัน โดยคนลูกอายุประมาณ 35 ปี ส่วนคนพ่อก็มีอายุแล้ว เช่าพื้นที่ห้องเช่าแห่งนี้เก็บของอยู่ แต่ไม่ทราบว่าของประเภทไหน คือปกติแล้วเขาเอาของลงไปไว้ให้ห้องเช่าแล้วก็จากไป
"เมื่อก่อนเขาเปิดเป็นบริษัท ชื่อก็น่าจะฟาดา เทรดดิ้ง เคยมีป้ายอยู่แล้วเขาก็เอาออกหลังจากช่วงโควิด" ผู้อยู่อาศัยห้องเช่าในพื้นที่กล่าว
เมื่อถามต่อถึงประเภทของที่ถูกนำเข้าไปเก็บ ผู้ที่อยู่อาศัยห้องเช่าข้างเคียงกล่าวว่าเมื่อก่อนเขาเคยเอาของจำพวกที่มีผ้าคลุมเข้าไปเก็บ มีการเก็บของประเภทเครื่องปั้นดินเผา แล้วต่อมาก็มีของที่มีลักษณะหนักๆ เป็นกล่องแต่ละชิ้น หนักประมาณ 500- 600 กิโลกรัม
ผู้ที่อาศัยห้องเช่าในพื้้นที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่าที่บอกว่าสามารถประเมินได้ว่าของมันหนักก็เพราะว่าแต่ละครั้งที่เขาขนของมาเก็บ เขาขนมาด้วยรถที่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ เวลาขนกล่องลงมาก็ต้องใช้รถยกขน ดังนั้นจึงคาดว่าต้องเป็นกล่องที่ค่อนข้างหนัก
เมื่อถามว่าเห็นผู้เช่าห้องเช่าเลขที่ 101/2 ครั้งสุดท้ายเมื่อไร ผู้อยู่อาศัยห้องเช่าในพื้นที่กล่าวว่าน่าจะ 2-3 สัปดาห์ที่แล้ว เขามาเปิดบ้านสักพักแล้วก็ออกไป
"ผมเคยเห็นกล่องไม้อยู่ คล้ายๆว่าข้างในมีรูปปั้นแกะสลัก เข้าใจว่ามันน่าจะเป็นอะไรที่มันหนักๆเพราะมันต้องใช้รถยกแบบมือหมุนยกขึ้นไป คือเวลาเขาจะเข้ามาทีก็จะเอารถคอนเทนเนอร์ถอยหลังเข้ามา แล้วใช้รถยกเข็นของเข้าไป" ผู้อยู่อาศัยห้องเช่าในพื้นที่อีกรายกล่าว
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรายังได้สำรวจข้อมูลจาก Google Maps เพิ่มเติมพบว่าอย่างน้อยในช่วงเดือน ก.ค. 2560 ห้องเช่าเลขที่ 101/2 มีการติดป้ายบริษัท ฟาดา เทรดดิ้ง จำกัด ตั้งแต่ช่วงเวลานั้นแล้ว และน่าจะเอาป้ายออกไปในช่วงปี 2565 (ดูภาพประกอบ)
ทั้งหมด คือข้อมูลเกี่ยวกับที่ตั้งบริษัท ฟาดา เทรดดิ้ง จำกัด ที่สำนักข่าวอิศราสามารถสืบค้นได้ ณ เวลานี้
อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าหน่วยงานใดในประเทศไทย ได้เข้าไปตรวจสอบเอกชนที่ปรากฎชื่อในข่าวแล้วหรือยัง ดังนั้นบริษัทเอกชนที่ถูกกล่าวถึง จึงถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ และผู้เกี่ยวข้องสามารถชี้แจงข้อมูลอีกด้านมายังสำนักข่าวอิศราได้ตลอดเวลา
อ่านประกอบ:
- รายงาน ก.ความมั่นคงฯ แฉเอกชนไทยแห่ง 2 ส่งโบราณวัตถุอียิปต์ 7 ครั้งเข้าสหรัฐฯ ช่วงปี 63
- พนักงาน บ.เซ็นจูรี่ยืนยัน ไม่เคยส่งออกโบราณวัตถุอียิปต์ หลังสหรัฐฯ ออกเอกสารแฉเอกชนไทย
- ก.ความมั่นคงสหรัฐฯ เปิดโปงเอกชนไทยเอี่ยวลักลอบส่งออกโบราณวัตถุอียิปต์ 199 ล.เข้าอลาสกา
- สหรัฐฯ เผยปี 63-64 ยึดโบราณวัตถุอียิปต์อายุหลายพันปีได้นับสิบชิ้น ต้นทางจากเอกชนไทย