เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา 'เกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง' อดีตนายกเทศมนตรีตำบลยางตลาด กาฬสินธุ์ เบิกจ่ายเงินจ้างเหมาขยายจุดเสียงไร้สายทางไกลอัตโนมัติโดยทุจริต ล่าสุด ศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบภาค 4 พิพากษายกฟ้อง พร้อมพวก 3 ราย- ป.ป.ช.ค้าน อสส.ไม่อุทธรณ์สู้คดีต่อ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลยางตลาด อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ กับพวก เบิกจ่ายเงินโครงการจ้างเหมาขยายจุดเสียงไร้สายทางไกลอัตโนมัติของเทศบาลตำบลยางตลาด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 โดยทุจริต
ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 , 157 , 161 และ 162 (1), (4) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563
คดีนี้ปรากฏชื่อ นายทวีชาติ ภูไวย์ เป็นจำเลยที่ 1 นายสถิต ไชยพิชิต จำเลยที่ 2 นายวิชัย ภูสีอ่อน จำเลยที่ 3 นายสมชาย ภูเขียวขำ จำเลยที่ 4 นางสาวพัชราภรณ์ ชมดวงทิพย์ จำเลยที่ 5 นางเนตรณพิศ ภูน้ำเย็น จำเลยที่ 6 นางกุณฑิกา มีศิริ จำเลยที่ 7 นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง จำเลยที่ 8
ความคืบหน้า ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 มีคำพิพากษาดังนี้
1. นายทวีชาติ ภูไวย์ จำเลยที่ 1 นายสถิต ไชยพิชิต จำเลยที่ 2 นายวิชัย ภูสีอ่อน จำเลยที่ 3 มีความผิดตามมาตรา 162 (1) (4) จำคุกคนละ 4 ปี และปรับคนละ 14,000 บาท
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษตามมาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 2 ปี และปรับคนละ 7,000 บาท
พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แล้ว เห็นว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ชดใช้เงินให้แก่เทศบาลตำบลยางตลาด จำนวน 96,000 บาท ครบถ้วนแล้ว
โดยจำเลยทั้งสามมีภาระต้องเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัวมีที่อยู่จำเลยเป็นหลักแหล่งบุคคลใกล้ชิดยังห่วงใย
ทั้งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การรับสารภาพถือว่าสำนึกผิดในการกระทำอยู่ในวิสัยที่จะแก้ไขให้กับตนเป็นคนดีได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน
จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 สักครั้ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมประพฤติ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไว้มีกำหนด 1 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดเวลาที่มีพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร กับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ 24 ชั่วโมงตามมาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามมาตรา 29,30
2. นางเนตรณพิศ ภูน้ำเย็น จำเลยที่ 6 มีความผิดตามมาตรา 147 จำคุก 5 ปี คำให้การและทางนำสืบของจำเลยที่ 6 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างตามมาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน
จำเลยที่ 6 ไม่สำนึกผิดในการกระทำ จึงไม่มีเหตุรอการลงโทษ
3. ให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับ นายสมชาย ภูเขียวขำ จำเลยที่ 4 นางสาวพัชราภรณ์ ชมดวงทิพย์ จำเลยที่ 5 นางกุณฑิกา มีศิริ จำเลยที่ 7 และนายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง จำเลยที่ 8
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 ได้พิจารณาแล้วมีมติไม่อาจเห็นพ้องด้วยในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 ในส่วนที่ยกฟ้องจำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 เห็นควรที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลในประเด็นดังกล่าว
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
มาตรา 157 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ