"...ส่วนเหตุผลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เห็นควรให้ฟ้องคดีนี้เอง เพราะเห็นเจตนา แม้ในขั้นตอนการประกวดราคาจะไม่มีลายเซ็นแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์เข้าไปเกี่ยวข้อง ด้วย แต่ตัวแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์เสนอตั้งของบประมาณเพิ่มเอง ราคาจัดซื้อครั้งก่อนก็รู้ ระเบียบกำหนดต่างๆ ตัวเองเป็นหัวหน้าหน่วยงานต้องรู้เรื่องทั้งหมด..."
เป็นอีกหนึ่งคดีสำคัญที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน
กรณี ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดใหญ่ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 มีมติเอกฉันท์ให้ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องเองในคดีจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด GT200 และ Alpha6 ในส่วนสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จำนวน 4 สัญญา ซึ่งปรากฎชื่อแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ส.ว. ในฐานะอดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ถูกชี้มูลการกระทำความผิดทางอาญาด้วย
หลังจากที่ อัยการสูงสุด (อสส.) ได้ตั้งข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวนการสอบสวนทำให้ต้องมีการตั้งคณะทำงานร่วม ป.ป.ช.และอัยการ เพื่อพิจารณาหาข้อสรุปอีกครั้ง
แต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ เนื่องคณะทำงานฝ่ายอัยการพิจารณาแล้วเห็นควรสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ยกเว้นแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โดยอ้างว่า หลักฐานค่อนข้างห่างตัวแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์
ขั้นตอนปัจจุบัน คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มอบหมายให้สำนักคดีไปดำเนินการร่างคำฟ้อง เพื่อนำมาเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. อีกครั้งแล้ว
- หลักฐานห่างตัว! ลุ้น ป.ป.ช. สั่งฟ้อง 'คุณหญิงพรทิพย์' คดีจีที 200 หลัง อสส.ตีเรื่องกลับ
- มติเอกฉันท์! ป.ป.ช.ยื่นฟ้องเองคดีจัดซื้อจีที 200 สถาบันนิติฯ 'จนท.-คุณหญิงพรทิพย์"
ทั้งนี้ ในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลคดีจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด GT200 และ Alpha6 ในส่วนสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จำนวน 4 สัญญานั้น
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา เคยนำเสนอไปแล้วว่า ในสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. ระบุว่า เป็นผลมาจากการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด GT200 และ Alpha6 จำนวน 4 สัญญา
แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ ถูกชี้มูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรง กรณีการไม่ตั้งผู้ชำนาญการ อนุมัติเบิกจ่าย ไม่ส่งสำเนาสัญญา ในการจัดซื้อครั้งที่ 1 และ 3 และถูกชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีอนุมัติจัดซื้อไม่มีราคาครั้งหลังสุด และจัดซื้อแพงในการจัดซื้อครั้งที่ 2 ด้วย
ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่เหลือมีชื่อของผู้บริหารระดับสูงในสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ (ขณะนั้น) อย่างน้อย 2 ราย โดยรายแรกมียศ ‘พันโท’ ถูกชี้มูลผิดวินัยร้ายแรง ส่วนอีกรายถูกชี้มูลผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้วฯ) มาตรา 10, 12 และผิดวินัยร้ายแรง
นอกจากนี้คณะกรรมการเปิดซองสอบราคา ถูกชี้มูลผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้วฯ) มาตรา 10, 12 และผิดวินัยร้ายแรง คณะกรรมการตรวจรับ ถูกชี้มูลผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162 (1) (4) อย่างไรก็ดีความผิดตามมาตรา 162 ขาดอายุความไปแล้ว และผิดวินัยร้ายแรง ส่วนเจ้าหน้าที่พัสดุ ถูกชี้มูลผิดวินัยร้ายแรง
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา สืบค้นฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐ พบว่า ในช่วงปี 2550 -2552 สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มีการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด GT200 จำนวน 3 ครั้ง วิธีพิเศษ จาก บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด
โดยการจัดซื้อในครั้งที่ 2 ปี 2551 มีราคาแพงกว่าการจัดซื้อในครั้งที่ 1 ในปี 2550 และครั้งที่ 3 ปี 2552 ราคา 80,000 บาท ต่อเครื่อง
ปรากฏรายละเอียดดังนี้
ครั้งที่ 1 ปีงบประมาณ 2550 จำนวน 1 เครื่อง ราคา 1,120,000 บาท ตามใบสั่งซื้อเลขที่ 79/2551 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2550
ครั้งที่ 2 ปีงบประมาณ 2551 จำนวน 1 เครื่อง ราคา 1,200,000 บาท ตามใบสั่งซื้อเลขที่ 365/2551 ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2551
ครั้งที่ 3 ปีงบประมาณ 2552 จำนวน 4 เครื่อง วงเงินรวม 4,480,000 บาท เฉลี่ยราคาเครื่องละ 1,120,000 บาท ตามใบสั่งซื้อเลขที่ 98/2552 ลงวันที่ 13 มกราคม 2552
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า การจัดซื้อในครั้งที่ 2 ราคาต่อเครื่องสูงกว่าราคาจัดการจัดซื้อครั้งที่ 1 และ 3 เป็นจำนวนเงิน 80,000 บาท
ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่อง Alpha6 ของ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ นั้น จากการตรวจสอบพบว่า ในช่วงปี 2551 ได้ทำการจัดซื้อจำนวน 2 เครื่อง โดยวิธีสอบราคา จากบริษัท เอ เอส แอล เอ็มเทรดดิ้ง จำกัด ในราคาเครื่องละ 447,000 บาท รวมเป็นเงิน 894,000 บาท ตามสัญญาเลขที่ 59/2552 ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2551
สำหรับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการจัดซื้อ เครื่อง Alpha6 ของ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ นั้น สำนักข่าวอิศรา เคยสืบค้นรายละเอียดคำพิพากษาศาลแขวงดอนเมือง เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2562 ที่ตัดสินคดีฉ้อโกง กรณีสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ สั่งซื้อเครื่องอัลฟ่า จาก บริษัท เอ เอส แอลเอ็มเทรดดิ้ง จำกัด จำนวน 2 เครื่อง รวมวงเงิน 894,000 บาท พบข้อมูลสำคัญหลายส่วน
อาทิ เครื่อง Alpha 6 ที่จัดซื้อมาเป็นสินค้าที่ผลิตโดยบริษัทคอมส์แทรค จํากัด (Coms Trac Ltd.) ประเทศสหราชอาณาจักร โดยบริษัท เอ เอส แอลเอ็มเทรดดิ้ง จำกัด ซื้อต่อมาจากบริษัทแจ็คสัน อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นตัวแทนจําหน่ายเครื่อง Alpha 6 ในประเทศไทย
ต่อมาสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ต้องการจัดซื้อเครื่องครุภัณฑ์วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องที่ใช้ตรวจหาสารเสพติดเพื่อใช้ปฏิบัติงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีพันตํารวจโท ว. (ชื่อย่อ) ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ทําเรื่องขอจัดซื้อเครื่องดังกล่าว โดยเป็นผู้กําหนดคุณลักษณะ เฉพาะของเครื่องเพื่อให้ได้เครื่องมือที่ตรงกับความต้องการ และนำเรื่องเสนอผู้อํานวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ผ่าน กลุ่มงานพัสดุ พิจารณา
เมื่อผู้อํานวยการสถาบันให้ความเห็นชอบให้ดําเนินการจัดซื้อเครื่องตรวจพิสูจน์ สารเสพติดชนิดพกพาโดยวิธีสอบราคาแล้ว จึงแต่งตั้งพันตํารวจโท ว. เป็นคณะกรรมการ จัดซื้อโดยวิธีสอบราคาและประกาศเรื่องสอบราคาจัดซื้อจัดจ้างเครื่องตรวจพิสูจน์สารเสพติด ชนิดพกพา
ต่อมา คณะกรรมการดําเนินการจัดซื้อโดยวิธีสอบเปิดซองสอบราคา ได้ตัว บริษัท เอ เอส แอลเอ็มเทรดดิ้ง จำกัด เป็นผู้ชนะ จึงทํารายงานผลการพิจารณา ถึงผู้อํานวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ งานพัสดุจัดทําเรื่องขออนุมัติจัดซื้อจำนวน 2 เครื่อง รวมราคา 894,000 บาท โดยชําระเงินให้เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2552 ตามใบสั่งซื้อ และสําเนาใบตรวจรับพัสดุ
ก่อนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จะมีหนังสือแจ้งในเวลาต่อมาให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีแก่บริษัท เอ เอส แอลเอ็มเทรดดิ้ง จำกัด ในข้อหาร่วมกันขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในสภาพหรือ คุณภาพแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ และแจ้งหาร่วมกันฉ้อโกงด้วย หลังผลการตรวจพิสูจน์เครื่องปรากฏว่า ไม่พบว่ามีการแผ่สนามแม่เหล็กไฟฟ้าจากเครื่องในทุกสภาวะการทดสอบ ไม่พบประจุไฟฟ้าสถิตสะสม บนพื้นผิวของเครื่องในทุกสภาวะการทดสอบ ไม่พบว่ามีการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเครื่องในทุก สภาวะการทดสอบ ไม่พบการเคลื่อนที่ของเข็มชี้ทิศทางของเครื่องที่ทํางานภายใต้สภาวะแวดล้อมที่มี สนามแม่เหล็กรบกวนและไม่พบการเคลื่อนที่บอกทิศทางของเครื่อง เครื่อง Alpha 6 ของกลางทําจากพลาสติกแข็ง 2 แผ่น ประกบกัน มีเสาอากาศไดโพลแบบชัก ทําด้วยโลหะ
ในคำพิพากษาของศาลฯ ยังระบุด้วยว่า คดีนี้ผู้เสียหายเป็นสถาบันนิติวิทยาศาสตร์มีหน้าที่ตรวจพิสูจน์พยานหลักฐาน ทางวิทยาศาสตร์แต่กลับไม่นําวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาทดสอบประสิทธิภาพของเครื่อง Alpha 6 ของกลางซึ่งเป็นพัสดุที่จัดซื้อมาในราคาที่สูงมาก และอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการ ปฏิบัติงานของผู้เสียหายด้วย
ก่อนที่ศาลฯ จะมีคำตัดสินว่า บริษัท เอ เอส แอลเอ็มเทรดดิ้ง จำกัด มีความผิด พร้อมปรับเงิน ริบของกลางเครื่องอัลฟ่า
ส่วนกรณีปรากฏข่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 มีมติเอกฉันท์ให้ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องคดีจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด GT200 และ Alpha6 ในส่วนสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จำนวน 4 สัญญา ซึ่งปรากฎชื่อแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ส.ว. ในฐานะอดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ถูกชี้มูลการกระทำความผิดทางอาญาด้วยเองนั้น
สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า "จริง ๆ ทุกข้อหาในคดีนี้ แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ถูกตีตกเกือบหมด ยกเว้นกรณีการจัดซื้อครั้งที่ 2 ที่มีประเด็นอยู่ที่ซื้อราคาแพงกล่าวครั้งแรกเครื่องละ 80,000 บาท มีส่วนต่างเกิดขึ้น ทำให้ถูกตั้งข้อกล่าวหา มาตรา 157"
"ในการพิจารณาสำนวนคดีนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 8 ต่อ 1 เสียง เห็นว่า แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ ที่ความผิดในส่วนนี้ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง เป็นกรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างน้อย" แหล่งข่าวระบุ
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ส่วนผลการพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวนคดี ระหว่างคณะทำงานฝ่ายอัยการ กับ ป.ป.ช. นั้น เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. รายงานว่า ในช่วงแรกอัยการเจ้าของสำนวนเสนอสั่งฟ้องทั้งหมด แต่มีการเปลี่ยนความเห็นว่า ไม่สั่งฟ้องทั้งหมด ในช่วงที่เรื่องกลับมาจากอัยการสูงสุดแล้ว
"ส่วนเหตุผลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เห็นควรให้ฟ้องคดีนี้เอง เพราะเห็นเจตนา แม้ในขั้นตอนการประกวดราคาจะไม่มีลายเซ็นแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์เข้าไปเกี่ยวข้อง ด้วย แต่ตัวแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์เสนอตั้งของบประมาณเพิ่มเอง ราคาจัดซื้อครั้งก่อนก็รู้ ระเบียบกำหนดต่างๆ ตัวเองเป็นหัวหน้าหน่วยงานต้องรู้เรื่องทั้งหมด" แหล่งข่าวจาก ป.ป.ช.ระบุ
ภาพจาก / https://www.sanook.com/women/32753/
ด้านแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า "...วันนี้มีข่าวจากสำนักข่าวหนึ่งให้ทราบว่าถูก ป.ป.ช. มีมติให้ดำเนินคดีเรื่องจีที200ทั้งที่อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง หลายคนตกใจ ห่วงไย บางคนอาจบูลลี่ถล่มซ้ำ ก็ต้องขอบคุณ นับเป็นความคืบหน้า เป็นความชัดเจน และนับว่าจะใกล้จุดสิ้นสุดของเรื่องหนักๆเสียที คนไม่เคยลงปฏิบัติงานในพื้นที่จะไม่เข้าใจความเหนื่อยยาก ความลำบาก อันตรายที่มีตลอดเวลา เวลาทำงานต้องมีสติ ต้องเร่งให้เสร็จเร็วเพราะมีแต่อันตราย
รอบกายหมอมีทีมงานผู้หญิงตัวเล็กๆที่มีความกล้าที่จะร่วมเส้นทางกับหมอในการเก็บหลักฐาน เราอยากเห็นความยุติธรรม เราอยากเห็นความสงบสุข อยากเห็นสันติสุขในแผ่นดิน เราจึงต้องทำงานท่ามกลางการอารักขาเพราะทุกคนใช้สมาธิกับงานไม่มีเวลาระวังตน
เราอดทนสร้างแนวทางการใช้นิติวิทยาศาสตร์ในคดีความมั่นคง ร่วมเก็บหลักฐานในคดีและในการปิดล้อมตรวจค้น เราเริ่มมาตั้งแต่ช่วงแรกๆที่ยังไม่มีใครทำ
เมื่อหน่วยงานหลักเริ่มเข้าใจบทบาทหน้าที่ เริ่มตั้งหลักได้ เราก็ต้องถอยออกทั้งด้วยตัวเองและถูกถีบออก แต่หมอสอนทุกคนว่าขอให้ตั้งมั่นในการทำสิ่งที่ดีที่ถูกต้องมาวันนี้ วันที่หมอต้องเกษียนจากงานก็ยังยากที่จะหาคนที่ตั้งใจมาสานต่อ ยามนั้นมีคนทำงานไม่มากทีมที่ลงใต้ก็ต้องทำงานสนับสนุนเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง หากจะมีความผิดพลาดก็หาใช่การทุจริตคอร์รัปชันตามที่ถูกกล่าวหา
แม้จะเหนื่อย แม้จะรู้สึกหนัก แต่จะท้อไม่ได้เด็ดขาด ที่สำคัญหมอจะไม่ปล่อยให้ทีมงานต้องต่อสู้โดยลำพังแน่นอน
ที่ชัดเจนที่สุดคือเราต้องต่อสู้ด้วยตัวเอง อดทนอีกนิดเชื่อว่าจะผ่านได้แน่นอน
ขอบคุณวิกฤติที่เป็นโอกาสเสมอ..."
อนึ่งเกี่ยวกับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า ปัจจุบันศาลยังไม่มีคำพิพากษาตัดสิน คุณหญิงพรทิพย์และผู้เกี่ยวข้องยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
ในท้ายที่สุด บทสรุปผลการต่อสู้คดีในชั้นศาลจะออกมาเป็นอย่างไร ต้องคอยติดตามดูกันต่อไป
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
- หมอพรทิพย์โดนด้วย! ป.ป.ช.ชี้มูลคดีจีที-อัลฟ่า 100 ราย - เจ้าตัวยันไม่เคยเรียกแจง ม.157
- GT200-Alpha6! อสส.สั่งฟ้องไปแล้ว 15 คดี 'ปค.-ทอ.-สถาบันนิติฯ' สะดุดเจอตั้งข้อไม่สมบูรณ์
- เทียบชัดๆ ราคาซื้อจีที200 สถาบันนิติฯ 3 ครั้ง ก่อน 'หมอพรทิพย์-พวก' โดนชี้มูล ม.157
- ตามไปดูบ.เอวิเอ หลังแพ้คดีขายจีที200 -รปภ.ปัดไม่รู้จักผู้บริหารโดนโทษจำคุกคนเดียว19 ปี