"...ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ชปข.ที่ขึ้นตรงอยู่กับ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดังกล่าว ถูกสอบสวนเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่โปร่งใส น่าสนใจ ว่า เจ้าหน้าที่ ชปข. มีการรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่คดีนี้ ต่อ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือไม่? อย่างไร? ..."
ชปข. หรือชื่อเต็มว่า" ชุดปฏิบัติการด้านการข่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษ"
กำลังถูกจับตามองมากยิ่งขึ้น
เมื่อสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการยืนยันข้อมูลว่า ชปข. เป็นหน่วยงานที่ได้รับอนุมัติจาก นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในการออกไปปฏิบัติราชการสอบสวน กรณีกลุ่มทุนชาวต่างชาติเข้าถือครองอสังหาริมทริพย์และอาจเกี่ยวข้องกับธุรกิจผิดกฎหมาย
หลังสถานกุงสุลนาอูรูประจำประเทศไทย ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงวันที่ 9 ธ.ค.2565 ขอความอนุเคราะห์ให้การช่วยเหลือและตรวจสอบบ้านหลังหนึ่งในพื้นที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ ซึ่งมีการแอบอ้างว่าเป็นบ้านพักอดีตกงสุลนาอูรูประจำประเทศไทย แต่ภายในกลับมีคนจีนเข้าออกพลุกพล่าน ซึ่งจากการเข้าตรวจค้นตามหมายค้นของศาล พบคนจีน 1 ราย พร้อมเงินสดจำนวน 2.5 ล้านบาท จึงได้ทำการตรวจยึดส่งพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งมหาเมฆ เพื่อทำการตรวจสอบ
ก่อนที่จะถูกร้องเรียนในเวลาต่อมาว่า มีเงินสดที่ได้จากการตรวจค้นหายไปจำนวนมาก และมีการเรียกรับผลประโยชน์แลกกับการช่วยเหลือบุคคลต่างด้าวที่อยู่ในบ้านเพื่อแลกกับการไม่ถูกจับกุม ซึ่งเจ้าหน้าที่สืบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานและขออนุมัติศาลออกหมายจับเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมของกองกำกับการสายตรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 16 ราย
ขณะที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจและ DSI ได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนแล้ว ซึ่งทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีหลักประกัน
- 'บิ๊กโจ๊ก'สั่งขยายผลสอบ จนท.มีเอี่ยวยักยอกของกลาง เรียกผล ปย.หลังบุกค้นสถานกลสุลนาอูรู
- ติดประชุม-ทำงานปกติ! กลุ่มจนท.DSI ยังไม่แจงปมถูกสอบคดียักยอกของกลางบุกค้นสถานกลสุล
- ฟ้าผ่าดีเอสไอ! ย้อนปฏิบัติการ ชปข.บุกค้นบ้านพักอดีตกงสุลนาอูรู ก่อนย้ายด่วน 'ไตรยฤทธิ์'
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับ ชปข. พบข้อมูลเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
หนึ่ง. : ที่มา-วัตถุประสงค์
เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2565 นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ลงนามในคำสั่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ 1509/2565 เรื่องแต่งตั้งชุดปฏิบัติการด้านการข่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ชปข.) เป็นทางการ
ระบุเหตุผล ด้วยกรมสอบสวนคดีพิเศษมีภารกิจเกี่ยวกับการป้องกัน ปราบปราม การสืบสวนและสอบสวนคดีความผิดทางอาญาที่มีความซับซ้อนต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวบโดยใช้วิธีการพิเศษ รวมทั้งการปฏิบัติงานด้านการข่าว อันเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติงานด้านการสืบสวนสอบสวนเชิงรุกและทันต่อเหตุการณ์
ทั้งนี้ การปฏิบัติงานด้านการข่าวต้องมีการปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง ทั้งในทางตรง และทางลับ ภายใต้การปฏิบัติการที่รวดเร็ว เพื่อการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพื่อให้การปฏิบัติงานตามภารกิจข้างต้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2553
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงมีคำสั่งดังนี้
1. ให้จัดตั้ง ชุดปฏิบัติการด้านการข่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษ ใช้คำย่อว่า "ชปข. กสพ." เป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กำกับดูแลของ นายตฤณ พิชิตกุญชร ผู้อำนวยการส่วนกลั่นกรองคคีและการข่าวคดีพิเศษภาค กองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าชุดปฏิบัติการด้านการข่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษ
อีกหน้าที่หนึ่ง ใช้คำว่า "หน.ชปข.กสพ."
โดยให้ปฏิบัติหน้าที่ขึ้นตรงต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
สอง. : ภารกิจ-อำนาจหน้าที่
2. ชุดปฏิบัติการด้านการข่าวกรมสอบสวนคคีพิเศษ มีภารกิจและอำนาจหน้าที่ ดังนี้
2.1. ปฏิบัติภารกิจเร่งด่วนตามข้อสั่งการของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
2.2 ติดตามสถานการณ์ภายในประเทศ ต่างประเทศ ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงและระบบเศรษฐกิจของประเทศ และรายงานต่ออธิบดีกรมสอบสวนคคีพิเศษ
2.3 กระจายข่าวกรองที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติให้หน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์ตามความเหมาะสม
2.4 การประสานงานด้านการข่าว การต่อต้านข่าวกรอง การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน หน่วยงานของรัฐ เอกชน และองค์กรภาคประชาชนในการปฏิบัติการด้านการข่าว และแก้ปัญหาให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
2.5 การต่อต้านข่าวกรองกับหน่วยข่าวอื่น ๆ ของต่างประเทศในเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ และประสานการปฏิบัติงานกับหน่วยงานส่วนราชการทั้งภายในและภายนอกสังกัดกระทรวงยุติธรรมดำเนินการและติดตามผลตามมาตรการและการบังคับใช้กฎหมายและการอำนวยความยุติธรรมตามกรอบแห่งกฎหมาย
2.6 ดำเนินการสืบสวนและตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานตามที่ อธิบดีกรมสอบสวนคตีพิเศษ มอบหมายตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติมและบทกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริงและให้ข้อมูลเอกสารที่เกี่ยวข้อง และสามารถนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาให้เป็นคดีพิเศษต่อไป
2.7 กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนชุดปฏิบัติการด้านการข่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยอธิบดีกรมสอบสวนคคีพิเศษ มีอำนาจสั่งการด้วยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษร ให้ถือว่าเป็นการอนุมัติเดินทางไปปฏิบัติราชการนอกสถานที่ได้ทั่วราชอาณาจักร และอนุมัติให้เบิกจ่ายได้ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ
เมื่อได้ปฏิบัติราชการตามคำสั่งแล้วเสร็จให้ผู้รับคำสั่งจัดทำบันทึกรายงานให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษทราบผลการปฏิบัติราชการโดยด่วน โดยอ้างอิงการสั่งด้วยวาจาแจ้งไว้ในบันทึก
2.8 กรณีเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มอบอำนาจให้หัวหน้าชุดปฏิบัติการด้านการข่าวกรมสอบสวนดีพิเศษลงนามในหนังสือถึงหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลส่งข้อมูลหรือกระทำการใดเพื่อประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่
ทั้งนี้เมื่อดำเนินการแล้วต้องรายงานต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษโดยด่วน
2.9 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ อนุมัติให้ใช้รถยนต์ของทางราชการ ในการเดินทางไปปฏิบัติราชการ พร้อมเบิกค่าน้ำมันเชื้อเพลิงตามระเบียบ และค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการด้านการข่าว
2.10 อนุญาตให้พกพาอาวุธปืนของราชการและอาวุธปืนส่วนตัวพร้อมเครื่องกระสุนปืนไปปฏิบัติราชการในครั้งนี้ ตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการมีและใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียบอาวุธปืน พ.ศ.2547 จนกว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจ
สาม. : ข้าราชการ-พนักงาน-ลูกจ้าง ใน ชปข.
3. แต่งตั้งข้าราชการ พนักงานราชการและลูกจ้าง ให้ปฏิบัติงานในชุดปฏิบัติการด้านการข่าวกรมสอบสวนดีพิเศษ ประกอบด้วย
3.1 นายตฤณ พิชิตกุญชร ผู้อำนวยการส่วนกลั่นกรองคดีและการข่าวคดีพิเศษภาคกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ปฏิบัติหน้าที่ หัวหน้าชุดปฏิบัติการด้านการข่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษ
3.2 นายอนัน สีลาโคตร เจ้าหน้าที่คคีพิเศษชำนาญการ กองปฏิบัติการคคีพิเศษภาค เป็นเจ้าหน้าที่ประจำชุดปฏิบัติการ
3.3 นายอดิศร สนธิวรชัย เจ้าหน้าที่คดีพิเศษชำนาญการ กองคดีความมั่นคง เป็นเจ้าหน้าที่ประจำชุดปฏิบัติการ
3.4 ร้อยตำรวจโทหญิง ธราธร สาระคร เจ้าหน้าที่คดีพิเศษชำนาญการ ปฏิบัติหน้าที่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินทางอาญา เป็นเจ้าหน้าที่ประจำชุดปฏิบัติการ
3.5 ร้อยตำรวจโทนิติธร แยกโคกสูง เจ้าหน้าที่คดีพิเศษปฏิบัติการ ปฏิบัติหน้าที่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินทางอาญา เป็นเจ้าหน้าที่ประจำชุดปฏิบัติการ
3.6 นายพัทธคนย์ ตันติภัณทรักษ์ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการกองเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ เป็นเจ้าหน้าที่ประจำชุดปฏิบัติการ
3.7 นายอำนาจ คำแสนเดช เจ้าพนักงานสื่อสารชำนาญงาน ปฏิบัติหน้าที่กองปฏิบัติการคคีพิเศษภาค เป็นเจ้าหน้าที่ประจำชุดปฏิบัติการ
3.8 นายศุภชัย ลิ้มพิพัฒนโสภณ นักจัตการงานทั่วไป กองปฏิบัติการคคีพิเศษภาค เป็นเจ้าหน้าที่ประจำชุดปฏิบัติการ
ในคำสั่งยังระบุด้วยว่า ทั้งนี้ การปฏิบัติตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ ตามข้อ 2.3 - ข้อ 2.10 หากได้กระทำโดยสุจริตตามสมควรแก่เหตุและเป็นไปเพื่อประโยชน์ต้านความมั่นคงหรือการป้องกันภัยสาธารณะให้ถือว่าเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย
อนึ่งให้ สำนัก/กอง/ศูนย์ ภายในกรมสอบสวนคดีพิเศษให้ความร่วมมือและสนับสนุนบุคคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือ และยานพาหนะในการดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งนี้ โคยเคร่งครัด
สั่ง ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565
ลงนามโดย นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
จากข้อมูลในคำสั่งดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ชปข. มีภารกิจและอำนาจในการสืบสวนคดีต่าง ๆ เป็นอย่างไรมาก ส่วนการดำเนินงานขึ้นตรงต่อ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหลัก
ขณะที่ในการแถลงข่าว ของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ถึงการสอบสวนคดีนี้ มีการระบุชื่อเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าไปเกี่ยวข้องจำนวน 5 รายคือ 1. นายตฤณ ผู้อำนวยการส่วนกลั่นกรองและการข่าวคดีพิเศษภาค 2. นายอนัน เจ้าหน้าที่ DSI 3. นายอดิศร เจ้าหน้าที่ DSI 4. นายอำนาจ เจ้าหน้าที่ DSI 5. นายศุภชัย เจ้าหน้าที่ DSI
ทั้ง 5 ชื่อ ล้วนตรงกับชื่อเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่อยู่ใน ชปข. ชัดเจน (ดูชื่อในคำสั่งประกอบ)
ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ชปข.ที่ขึ้นตรงอยู่กับ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดังกล่าว ถูกสอบสวนเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่โปร่งใส
น่าสนใจ ว่า เจ้าหน้าที่ ชปข. มีการรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่คดีนี้ ต่อ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือไม่? อย่างไร?
ที่สำคัญเรื่องนี้จะมีความเกี่ยวข้องกับการที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลงนามในคำสั่งย้ายให้ นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และรักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และให้ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ และให้รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษแทน หรือไม่
คงต้องรอฟังคำชี้แจงจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอีกครั้ง
แต่ล่าสุด นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ ให้สัมภาษณ์กับ บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวเนชั่น สุทธิรักษ์ อุฒมนตรี ว่า กรณีคำสั่งนี้เป็นเรื่องที่ตนเองเสนอตัวสมัครใจขอย้ายออกจากตำแหน่งอธิบดี DSI ทั้งนี้เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย โดยก่อนที่รัฐมนตรียุติธรรม มีคำสั่งให้ตนย้ายจากอธิบดี DSI เมื่อวานนี้ 17 ม.ค.2566 ได้เข้ารายงานให้กับทีมงานของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ทำเนียบรัฐบาล แล้ว และได้พูดคุยถึงแนวทางที่จะยุติ และให้การตรวจสอบเรื่องร้องเรียนต่างๆ ในกรมสอบสวนคดีพิเศษ เดินหน้าต่อไป ตนจึงเป็นฝ่ายขอย้ายออกจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ส่วนตัวถือว่า 1 ปีเศษที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ นั้น พอแล้ว
นายไตรยฤทธิ์ ยังระบุด้วยว่า ที่ผ่านมาทำงานในตำแหน่งอธิบดี DSI ประมาณ 1 ปีเศษ ได้พยายามทำให้คน DSI ซึ่งมีที่มาจากหลากหลายที่ ให้รักษาคุณธรรมองค์กร คือ เกียรติศักดิ์ เชี่ยวชาญ ซื่อสัตย์ ถือว่าได้ทำอย่างเต็มที่ และรวมถึงการนำซอฟพาวเวอร์ มาใช้ในการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น การทวงคืนหาดเลพัง ลายัน จ.ภูเก็ต เนื้อที่ 178 ไร่ มูลค่า 5 หมื่นล้านบาท และทวงคืนป่าต้นน้ำย่าง อ.ปัว จ.น่าน รัฐได้พื้นที่คืนกลับมากกว่า 300 ไร่ เป็นต้น (อ้างอิงข่าวส่วนนี้จาก https://www.posttoday.com/politics/689729)
อย่างไรก็ดี กรณีเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ จำนวน 5 ราย และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร พัวพันกับคดียักยอกเงินของกลางและเรียกรับประโยชน์จากชาวจีน 20 ล้านบาท กรณีบุกค้นสำนักงานที่ตั้งเดิมของสถานกงสุลนาอูรู
สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างขั้นตอนสอบสวน ศาลฯ ยังไม่ได้มีคำพิพากษาตัดสินความผิดใคร ผู้ถูกกล่าวหา และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่