"..การตั้งชุดปฏิบัติการด้านการข่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ชปข.) ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในยุคปัจจุบัน มีลักษณะใกล้เคียงกับในยุค นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ที่ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งในขั้นตอนการออกไปสืบคดีจะสามารถเบิกเงินทำงานได้นับแสนบาทในแต่ละครั้ง สามารถทำได้ทุกคดี หากมองในทางปฏิบัติงานตามภารกิจ ชปข.ดังกล่าว น่าจะเป็นเครื่องไม้เครื่องมือของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในการสืบเสาะหาข่าวเชิงลึกคดีต่างๆ ได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ แต่น่าเสียดาย ที่การปฏิบัติหน้าที่สำคัญดังกล่าวกลับต้องมาเกิดปัญหามีรอยด่างพร้อย จากการถูกสอบสวนยกทีมกรณีการบุกค้นบ้านต้องสงสัยแอบอ้างเป็นบ้านพักอาศัยส่วนตัวของกงสุลใหญ่กับภรรยาและลูกดังกล่าว ..."
กรณีเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2565 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบบ้านหลังหนึ่งในพื้นที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ ซึ่งมีการแอบอ้างว่าเป็นบ้านพักอดีตกงสุลนาอูรูประจำประเทศไทย แต่ภายในกลับมีคนจีนเข้าออกพลุกพล่าน หลังเข้าตรวจค้นตามหมายค้นของศาลแล้ว พบคนจีน 1 ราย พร้อมเงินสดจำนวน 2.5 ล้านบาท จึงได้ทำการตรวจยึดส่งพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งมหาเมฆ เพื่อทำการตรวจสอบ
ต่อมาได้มีการร้องเรียนว่า มีเงินสดที่ได้จากการตรวจค้นหายไปจำนวนมาก และมีการเรียกรับผลประโยชน์แลกกับการช่วยเหลือบุคคลต่างด้าวที่อยู่ในบ้านเพื่อแลกกับการไม่ถูกจับกุม ซึ่งเจ้าหน้าที่สืบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานและขออนุมัติศาลออกหมายจับเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมของกองกำกับการสายตรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 16 ราย เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ตำรวจและ DSI ได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนแล้ว ซึ่งทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีหลักประกัน
ที่กำลังปรากฏเป็นข่าวดังอยู่ในขณะนี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า ได้พยายามติดต่อเจ้าหน้าที่ DSI จำนวน 4 ราย ที่ถูกกล่าวหาในกรณีดังกล่าว เพื่อให้ชี้แจงรายละเอียดและข้อเท็จจริงอีกด้านแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำชี้แจงเป็นทางการ
บางรายแจ้งว่าติดประชุมอยู่ หลายรายไม่ประสงค์ที่จะให้สัมภาษณ์
ขณะที่บางรายระบุว่า ให้ทำหนังสือราชการขอไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษก่อนถึงจะให้สัมภาษณ์
- 'บิ๊กโจ๊ก'สั่งขยายผลสอบ จนท.มีเอี่ยวยักยอกของกลาง เรียกผล ปย.หลังบุกค้นสถานกลสุลนาอูรู
- ติดประชุม-ทำงานปกติ! กลุ่มจนท.DSI ยังไม่แจงปมถูกสอบคดียักยอกของกลางบุกค้นสถานกลสุล
ล่าสุด นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง อดีตนักธุรกิจกลางคืน ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กระบุต้นเหตุของเรื่องว่า เกิดจากสถานกงสุลใหญ่นาอูรูประจำประเทศไทย ส่งหนังสือให้ นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ช่วยตรวจสอบ “บ้านพัก” ของกงสุลใหญ่ ว่ามีใครมาสวมรอยเช่าหรือไม่ แต่เจ้าหน้าที่ DSI ชุดปฎิบัติการกลับไปทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะ โดยที่ท่านไม่รู้เรื่อง เหมือนส่งอ้อยเข้าปากช้าง
คำถามที่น่าสนใจ คือ ที่มาที่ไปในการปฏิบัติหน้าที่ ของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ต่อกรณีนี้เป็นอย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบยืนยันข้อมูลกับแหล่งข่าวในดีเอสไอ พบว่า จุดเริ่มต้นปฏิบัติการนี้ ของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ มาจาก Mr.John Yu รองกงสุลใหญ่ สถานกงสุลนาอูรูประจำประเทศไทย ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงวันที่ 9 ธ.ค.2565 ขอความอนุเคราะห์ให้การช่วยเหลือและตรวจสอบ
เนื้อหาหนังสือ สถานกงสุลนาอูรูประจำประเทศไทย ระบุว่า สถานกงสุลนาอูรูประจำประเทศไทย ได้รับการร้องเรียนเรื่องการเช่าบ้านพักอาศัยส่วนตัวของกงสุลใหญ่กับภรรยาและลูก ซึ่งมีพฤติการณ์ได้กระทำการอันเป็นการผิดกฎบ้านพักส่วนตัวหลายข้อ เช่น มีรถป้ายขาว (ทะเบียนรถสำหรับประชาชนทั่วไป) วิ่งเข้าออกเกือบตลอดเวลา จนถึงยามวิกาลตีสามตีสี่
โดยมีเงื่อนไขตกลงไว้ว่าจะใช้สำหรับเป็นที่พักกงสุลใหญ่กับภรรยาและลูกเท่านั้น แต่กลับมีคนเอเชีย(น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลเชื้อสายจีน) เข้าออกบ้านตลอดเวลา มีพฤติการณ์รบกวนผู้พักอาศัยรอบบ้านจนมีการร้องเรียนมายังเจ้าของบ้านเช่า (ซึ่งมีทูตประเทศอื่นพักอาศัยอยู่ด้วย) ซึ่งทางเจ้าของบ้านเช่ามีความกังวลใจ
ในเบื้องต้นทางสถานกงสุลนาอูรูประจำประเทศไทยได้ตรวจสอบเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแล้วผลการตรวจสอบไม่พบความเกี่ยวข้องของสถานกงสุลใหญ่ฯหรือเจ้าหน้าที่สังกัดสถานกงสุลฯ กับข้อร้องเรียนดังกล่าวแต่อย่างใด
ทั้งนี้สถานกงสุลนาอูรูประจำประเทศไทยพิจารณาแล้วกรณีดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและอาจกระทบต่อความมั่นคงของสาธารณรัฐนาอูรูและประเทศไทย
จึงขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการสืบสวนสอบสวนกรณีดังกล่าวตามอำนาจหน้าที่ต่อไป (ดูหนังสือประกอบ)
เบื้องต้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีการรับเรื่องตามขั้นตอน เสนออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณา และมีการลงนามมอบให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการเรื่องนี้เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2565 (ดูเอกสารประกอบ)
ต่อมาวันที่ 16 ธ.ค.2565 ชุดปฏิบัติการด้านการข่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ชปข.) ตามคำสั่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2565 นำโดยนายตฤณ พิชิตกุญชร ผู้อำนวยการส่วนกลั่นกรองและการข่าวคดีพิเศษภาค ได้ทำเรื่องขอเดินทางไปปฏิบัติราชการ ระหว่างวันที่ 20 ธ.ค.2565 -20 ม.ค.2566 กรณีกลุ่มทุนชาวต่างชาติเข้าถือครองอสังหาริมทริพย์และอาจเกี่ยวข้องกับธุรกิจผิดกฎหมาย โดยไม่เบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
มีการเสนอเรื่องตามขั้นตอน อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงนามอนุมัติเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2565 พร้อมแจ้งให้รายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ให้ทราบภายใน วันที่ 4 ก.พ.2566
จากข้อมูลทั้งหมด จะเห็นได้ว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ขณะที่การปฏิบัติหน้าที่ของ ชปข. ก็มีการขออนุมัติเสนอเรื่องต่อผู้บริหารตามขั้นตอนปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
การปฏิบัติหน้าที่ของ ชปข. จึงเป็นการดำเนินการตามคำสั่งของผู้บริหารดีเอสไออย่างชัดเจน
แหล่งข่าวจากดีเอสไอ ให้ข้อมูลยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า การตั้งชุดปฏิบัติการด้านการข่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ชปข.) ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในยุคปัจจุบัน มีลักษณะใกล้เคียงกับในยุค นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ที่ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งในขั้นตอนการออกไปสืบคดีจะสามารถเบิกเงินทำงานได้นับแสนบาทในแต่ละครั้ง สามารถทำได้ทุกคดี
หากมองในทางปฏิบัติงานตามภารกิจ ชปข.ดังกล่าว น่าจะเป็นเครื่องไม้เครื่องมือของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในการสืบเสาะหาข่าวเชิงลึกคดีต่างๆ ได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ
แต่น่าเสียดาย ที่การปฏิบัติหน้าที่สำคัญดังกล่าวกลับต้องมาเกิดปัญหามีรอยด่างพร้อย จากการถูกสอบสวนยกทีมกรณีการบุกค้นบ้านต้องสงสัยแอบอ้างเป็นบ้านพักอาศัยส่วนตัวของกงสุลใหญ่กับภรรยาและลูกดังกล่าว
อย่างไรก็ดี คดีนี้ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนเท่านั้น ยังไม่ได้มีการชี้มูลความผิดเป็นทางการ ผู้ถูกกล่าวหา และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
ขณะที่ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า ป.ป.ช.พร้อมที่จะรับเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการสอบสวน เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งเจ้าพนักงานสอบสวน มีเวลาในการสอบสวนและส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ภายในกรอบระยะเวลา 30 วัน ตามขั้นตอนกฎหมาย
ส่วนท่าทีของสถานกงสุลนาอูรูประจำประเทศไทยนั้น ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้ไปติดต่อไปขอสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง ได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ว่า ขอให้ผู้สื่อข่าวทำหนังสือมาสอบถามอย่างเป็นทางการดีกว่าว่าอยากทราบรายละเอียดอะไรบ้าง เพราะปัจจุบันเรื่องนี้อยู่ในสำนวนการสอบสวนแล้ว
แต่ที่น่าสนใจมากกว่านั้น ท่ามกลางกระแสข่าวการสอบสวนเรื่องนี้ ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 18 ม.ค.66 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ได้ลงนามในคำสั่งลงวันที่ 18 ม.ค.2566 เรื่อง มอบหมายให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ราชการและรักษาราชการแทน โดยให้ นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และรักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และให้ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ และให้รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ โดยมีผู้รับผิดชอบการปฏิบัติหน้าที่ราชการที่เหมาะสมกับภารกิจในความรับผิดชอบของส่วนราชการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ของทางราชการ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 20 และมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 โดยมีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
คดีนี้ จึงอาจมีอะไรที่ซับซ้อนมากกว่าที่เห็นก็เป็นได้
.