“...ผมมาอยู่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ผมไม่มีรุ่น ผมก็ประสานกับพนักงานสอบสวนทุกรุ่นในกรมนี้ และช่วงหนึ่งที่ปฏิบัติราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเกือบ 6 เดือน ผมก็ต้องทำหน้าที่ในการเซ็นสำนวนออก มีการเซ็นแย้งซึ่งเป็นเรื่องที่ดังๆ แต่ผมก็ไม่ได้เล่นกับข่าว จึงเป็นเรื่องที่พิจารณาและให้ความเห็นแบบเงียบๆ เพราะผมคิดว่าคดียังไม่ถึงที่สุดในการเอาความลับในสำนวนมาพูดก็จะเกิดการได้เสียของคู่กรณีและกฏหมายก็เขียนห้ามไว้ด้วย...”
จากเด็กยิงนกตกปลาเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน สู่นักศึกษาแพทย์ นักกิจกรรม ชอบผ่าตัด หมอมะเร็ง
ผลิกผันจากการชันสูตรตรงไปตรงมา ถูกกดดัน มาเริ่มต้นใหม่ที่นิติวิทยาศาสตร์-อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ต้องสั่งสำนวนคดีแบบไม่จบกฏหมายใช้วอร์รูม ชาวบ้านจะเลือกเป็นที่พึ่งได้หรือไม่ สะท้อนการสืบสวนสอบสวนแบบซับซ้อน “จะบริหารคนด้วยคุณธรรม”
นายแพทย์ ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เรื่องราวของเขาในบรรทัดถัดไป
ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ หรือเรียกกันว่า ‘หมอต้น’ เล่าว่า ตัวเอง เกิดที่ภาคเหนือของเมืองไทย เนื่องจาก บิดา เป็นคนสตูล เป็นคนไทยเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน และไปเรียนแพทย์รุ่น 1 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และในช่วงที่ บิดา รับราชการ ก็ได้โยกย้ายหลายที่ ที่มั่นหนึ่งของบิดาหมอต้น แพทย์คนเดียวที่รักษาคนไข้ที่โรงพยาบาลอำเภอปากพยูน จังหวัดพัทลุง ในขณะนั้น ซึ่งถ้าจำไม่ผิดสมัยนั้นยังเป็นสถานีอนามัย โดยมีคุณแม่ซึ่งเป็นพยาบาลเป็นผู้ช่วย ในช่วงที่พัทลุง ยังเป็นเมืองไกลปืนเที่ยงในสายตาคนอันดามัน หลังจากนั้น ก็โยกย้าย ไปอยู่ ยะลา และ ปัตตานี อยู่ยะลาในห้วงที่ มีความสับสนของสังคม คือ พื้นที่ชายแดนใต้ที่มีสังคมที่หลากวัฒนธรรม ฉะนั้น ชาวบ้านจึงเรียก องค์กรอาชญากรรมหนึ่ง ว่า โจรจีน เช่นเดียวกัน ก็มีโจรแขกด้วย แต่ความเป็นหมอที่ต้องให้การรักษาทุกคนที่เข้ามารับการรักษายังคลินิก จึงสามารถอยู่ได้
“สมัยเด็ก ผมซุกซนมาก มีพาสเตอร์ติดตามเนื้อตัวตลอด ผมใช้ชีวิต ในช่วงสมัยเด็ก แบบเด็กบ้านนอกเรียกว่า เที่ยวยิงนกตกปลา หลังจากที่ผมสอบเข้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะแพทย์ รหัส 2526 ซึ่งเป็นการเรียนในช่วงที่เป็น มศ.5 รุ่น สุดท้าย ในช่วงที่ผมเรียนแพทย์ผมเป็นนักกิจกรรม ผมทำกิจกรรมทุกอย่าง เพียงแต่ การเรียนผมก็ไม่เสีย”
หมอต้นเล่าต่อ “สมัยที่ผมทำงานผมเริ่มที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี เพราะเห็นว่าเป็นโรงพยาบาลใหญ่ ด้วยความที่ขาดแคลนแพทย์ทางด้านผ่าตัด จึงได้อยู่แผนกผ่าตัดประกอบกับมีความชอบและมีทักษะด้านผ่าตัดตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ ช่วงฝึกงานปีสุดท้าย (ปี6) ที่โรงพยาบาลมหาราช นครศรีธรรมราช มีโอกาสได้ผ่าตัดคนไข้จำนวนมาก และงานแรกที่ผมต้องผ่าตัดคนไข้ในช่วงฝึกงาน ก็ปรากฏว่า ขณะที่กำลังผ่าตัดคนไข้ไฟฟ้าดับ ผมต้องพยายามบรรจง ผ่าตัดในสภาวะที่ไม่มีไฟฟ้า เมื่อไฟฟ้าติดผม ผ่าตัดคนไข้ใด้เรียบร้อยแล้ว ผมมักจะพบกับเรื่องแบบนี้ และในขณะนั้น คนไข้ในจังหวัดนครศรีธรรมราช เยอะ มีกรณีที่ต้องผ่าตัดเยอะมาก โดยเฉพาะผ่าคลอด ผมต้องช่วยอาจารย์ผ่าตัดคลอดวันละๆ หลายคน
ด้วยความที่เป็นแพทย์ใหม่ บางครั้ง หลังจากที่ให้ยาสลบคนไข้ ผมลงมือผ่าตัด และ หลังจากที่เสร็จเรียบร้อย ก็ต้องให้ อาจารย์หมอมายืนเพื่อสร้างความมั่นใจให้คนไข้ ผมทำงานอยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี หลังจากจบแพทย์เฉพาะทาง (บอร์ด) ด้านนิติเวช (เป็นคนแรกของกระทรวงสาธารณสุข) เป็นเวลาห้วงหนึ่ง ซึ่งห้วงเวลานั้น ผมมักจะต้องชันสูตรบาดแผล ชันสูตรศพ ผลการชันสูตรออกเร็วมากและผมทำตรงไปตรงมา จนกระทั่ง มีการถูกกดดันจากกลุ่มผู้มีอิทธิพล ที่มีธงในการชันสูตร ผมถูกกดดันจนมีความรู้สึกว่าต้องพกปืนไปทำงาน ผมมีความรู้สึกว่า ถูกกดดันมากแต่พนักงานสอบสวนจำนวนมากคอยให้การสนับสนุน
จังหวะนั้นมีการตั้งโรงพยาบาลมะเร็ง ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผมไปเริ่มต้นใหม่ที่โรงพยาบาลมะเร็ง และอยู่ตรงนั้น ในช่วงเรียนนิติเวชที่ รพ.จุฬาฯ ผมได้ลงเรียนกฎหมายแต่ไม่ได้เรียนจนจบ ในช่วงที่ทำงานที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มีคนชวนไปเรียนวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางค์ เพราะเขาบอกว่ามีการปั้นน้ำเป็นตัว ในความหมายก็น่าจะแปลว่า เป็นการโกหก จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอยากรู้ จึงสมัครเรียนปรากฏว่า มีการปั้นน้ำเป็นตัวจริง คือการเอาผลิตภัณท์ที่เป็นน้ำมาทำเป็นครีมต่างๆ จากน้ำราคาถูกๆ ก็กลายเป็นครีมที่มีค่าเป็นหมื่นเป็นพันบาท
หมอต้นเล่าต่อ หลังจากนั้นผมได้รับการเชิญชวนจากท่านคุณหญิงหมอพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ให้มาเริ่มต้นตั้งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ด้วยกันในตำแหน่ง หัวหน้ากลุ่มนิติเวชคลีนิก จนกระทั่งเติบโตเป็นรองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์
แล้ววันหนึ่งจุดผลิกผัน เมื่อมีคำสั่งย้ายมารับตำแหน่ง รองอธิบดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยที่เจ้าตัวยืนยัน “ผมไม่ทราบมาก่อน”
“ผมมาอยู่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ผมไม่มีรุ่น ผมก็ประสานกับพนักงานสอบสวนทุกรุ่นในกรมนี้ และช่วงหนึ่งที่ปฏิบัติราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเกือบ 6 เดือน ผมก็ต้องทำหน้าที่ในการเซ็นสำนวนออก มีการเซ็นแย้งซึ่งเป็นเรื่องที่ดังๆ แต่ผมก็ไม่ได้เล่นกับข่าว จึงเป็นเรื่องที่พิจารณาและให้ความเห็นแบบเงียบๆ เพราะผมคิดว่าคดียังไม่ถึงที่สุดในการเอาความลับในสำนวนมาพูดก็จะเกิดการได้เสียของคู่กรณีและกฏหมายก็เขียนห้ามไว้ด้วย”
ส่วนคำถามที่ว่าไม่จบกฎหมายผมใช้วิธีการอย่างไร
“ผมก็ใช้วิธีการในการถามนักกฎหมายเยอะๆ และมีการตั้งวอร์รูม ผมมีเพื่อนเป็นนักกฎหมายอยู่ในองค์กรดังๆ มาก มีเพื่อนเป็นรองเลขาฯกฤษฏีกาผมก็ปรึกษาหารือข้อกฎหมาย ก่อนที่จะสรุปสั่งคดี”
“การบริหารบุคคลในกรมสอบสวนคดีพิเศษนั้น ผมใช้ระบบคุณธรรม ในช่วงที่ผมเป็นรองอธิบดีฯ เวลาผมขึ้นเวที ผมมักติดคำนี้ “จงเป็นคนดีมีคุณธรรม” บริหารด้วยหลักคุณธรรม
ทั้งหมดคือเรื่องราวชีวิตของ ‘หมอต้น’ อธิบดีกรมสอบสวนคดี ต้องติดตามกันต่อไปว่า ใช้ระบบคุณธรรมอย่างไร? ระหว่างผู้ใต้บังคับบัญชาในหน่วยงาน ระหว่างผู้บังคับบัญชากับประชาชน ระหว่างผู้ใต้บังคับบัญชาของนักวิ่ง และเรื่องเล่าขาน ใต้พรม ฯลฯ
นับเป็นเรื่องที่ท้าทายการบริหาร ของ นายแพทย์ ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ยิ่งนัก