"...จึงมีมูลน่าเชื่อว่า เมื่อนายศักดิ์สยามชี้แจงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ตนเองขายหุ้นทั้งหมดให้นายศุภวัฒน์ เมื่อต้นปี 2561 แต่ในงบการเงินรอบปี 2562 ยังแสดงรายการเงินให้กู้ยืมค้างอยู่ 38 ล้านบาท...เมื่อเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.ไม่ปรากฏหนี้สินในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.จำนวน 38 ล้านบาท ประกอบกับสัญญาหุ้นส่วนแก้ไขเพิ่มเติมของ หจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ที่ทำเมื่อวันที่ 26 ม.ค.2561 ก็ไม่ปรากฎข้อความว่ามีการโอนหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าวไปให้นายศุภวัฒน์..."
เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2565 พรรคร่วมฝ่ายค้าน เข้ายื่นคำร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ไต่สวน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม รวม 3 เรื่อง
1 ใน 3 เรื่อง คือ การขอให้ตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของ นายศักดิ์สยาม ที่มีมูลน่าเชื่อว่าเป็นเท็จ กรณีที่เกี่ยวข้องกับ บริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น
อย่างไรก็ตามเกี่ยวกับกรณีนี้ นายศักดิ์สยาม ยืนยันต่อสาธารณชนมาโดยตลอดว่าไม่ได้ดำเนินการฝ่าฝืนกฎหมายแต่อย่างใด
ขณะที่คำร้องฉบับเต็มของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ระบุ ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องอย่างไร ? สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปสาระสำคัญมานำเสนอ ดังนี้
ด้วย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2562 โดยระบุว่า มีทรัพย์สินทั้งหมด 115,760,030.56 บาท และไม่มีหนี้สิน
- ยื่น ป.ป.ช.ฟัน'ศักดิ์สยาม' 3 เรื่อง! 'ทวี'แนะปมเขากระโดง ส่งศาลฎีกาสอบจริยธรรมทันที
- เปิด 2 คำร้อง! ยื่น ป.ป.ช. เอาผิด-สอบจริยธรรม‘ศักดิ์สยาม’ เอื้อเครือญาติยึด‘เขากระโดง’
นอกจากนี้นายศักดิ์สยาม ยังได้ระบุประวัติการทำงานย้อนหลัง 5 ปีว่า เป็นที่ปรึกษาบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่ 30/2 หมู่ที่ 4 ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ (บ้านนายเนวิน ชิดชอบ) และเป็นที่ปรึกษา หจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ซึ่งตั้งอยู่ที่ 30/17 หมู่ที่ 15 ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ โดยมีค่าตอบแทนที่ปรึกษาบริษัทละ 400,000 บาทต่อปี รวม 2 บริษัท เป็นเงิน 800,000 บาท ต่อปี
แต่ผลจากการที่พรรคฝ่ายค้านได้นำเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนิติบุคคลทั้ง 2 แห่งที่ นายศักดิ์สยาม ระบุว่าเคยเป็นที่ปรึกษามาอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจระหว่างวันที่ 19-22 ก.ค.2565 ได้พบข้อเท็จจริงมีมูลน่าเชื่อว่า การแจ้งบัญชีทรัพย์สินอาจไม่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ส่อเจตนาปกปิดทรัพย์สินและมีพฤติกรรมน่าเชื่อว่าใช้อำนาจหน้าที่ รมว.คมนาคม เอื้อประโยชน์ให้กับ หจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น เข้าทำสัญญากับกระทรวงคมนาคม ซึ่งผู้ร้องได้ตรวจสอบได้มีข้อเท็จจริงที่ปรากฏ รวม 16 ประเด็นดังนี้
ย้อนปม ‘ที่อยู่’ และ ‘ศักดิ์สยาม’ ผู้ก่อตั้งบริษัท 2 แห่ง
1.นายศักดิ์สยาม ระบุที่อยู่ของตนเองในบัญชีทรัพย์สินว่า อยู่บ้านเลขที่ 30/2 หมู่ที่ 15 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งตรงกับข้อมูลทางทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โดยนายศักดิ์สยาม ได้เข้ามาอยู่บ้านเลขที่ดังกล่าวเมื่อวันที่ 31 ส.ค.2546
2.นายศักดิ์สยาม ไม่แจ้งระบุว่าสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 30/2 หมู่ที่ 15 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ว่าเป็นกรรมสิทธิ์หรือเป็นทรัพย์สินของตนเอง แต่ได้แจ้งต่อ ป.ป.ช.ว่าได้เป็นผู้เช่าอยู่อาศัยโดยทำสัญญาเช่ากับบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 10,000 บาท
3.บ้านเลขที่ 30/2 หมู่ที่ 15 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ นอกจากจะเป็นที่อยู่อาศัยของนายศักดิ์สยาม ยังเป็นที่ตั้งของ หจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น
4.ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่า หจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ได้ทำสัญญาเช่าบ้านเลขที่ 30/2 หมู่ที่ 15 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ เช่นเดียวกับนายศักดิ์สยาม
5.นายศักดิ์สยาม เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2534 เลขทะเบียน 0315534000071 มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการโรงโม่หิน ตามข้อมูลที่ปรากฎในแบบนำส่งงบการเงินระบุว่าบริษัทมีสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 30/2 หมู่ที่ 15 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์
ลาออกปี 61 หจก.ยังใช้ที่อยู่ ‘ศักดิ์สยาม’ เพิ่งย้ายก่อนนั่ง รมต. 23 วัน
6.นายศักดิ์สยาม เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น จดทะเบียนเมื่อวันที่ 8 มี.ค.2539 ทะเบียนเลขที่ 0313539000337 มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง โดยลาออกและโอนหุ้นเมื่อวันที่ 26 ม.ค.2561 ให้กับนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ซึ่งมีสถานะความสัมพันธ์เป็นเพื่อน (ตามคำรับข้อเท็จจริงของนายศักดิ์สยามที่ได้แถลงข่าว)
7.หลังจากลาออกและโอนหุ้นดังกล่าว นายศักดิ์สยามยังได้รับเงินตอบแทนเป็นค่าที่ปรึกษาจาก หจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ในอัตรา 400,000 บาท ต่อปี สอดคล้องกับการยื่นแบบเสียภาษีประจำปี 2560 และ 2561 และเจือสมกับข้อมูลที่ได้ยื่นแสดงรายได้กับ ป.ป.ช.
8.นายศักดิ์สยาม ยังยินยอมอนุญาตให้ หจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ใช้บ้านที่พักอาศัยของตนเองในการประกอบกิจการอย่างต่อเนื่อง และย้ายที่อยู่ของ หจก.ออกก่อนที่รับตำแหน่ง รมว.คมนาคม เพียง 23 วัน
ขายหุ้นราคาทุน 119 ล. ทั้งที่รายได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
9.ปี 2558 นายศักดิ์สยาม ลงทุนหุ้น หจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น จำนวน 119 ล้านบาท และบริหารงานห้างให้มีรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเงินจำนวนกว่า 340 ล้านบาท มีผลกำไรกว่า 10 ล้านบาทตามที่ปรากฎในงบการเงินปี 2560 และ หจก.มีรายได้และแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี
แต่นายศักดิ์สยาม กลับยอมโอนเงินลงหุ้นให้นายศุภวัฒน์ในปี 2561 เท่าราคาทุนเดิม อันเป็นข้อเท็จจริงที่ผิดปกติของเจ้าของผู้ประกอบการ
บริษัทยืมเงิน ‘เพื่อน’ หลายครั้ง แต่ไม่ปรากฎหลักฐานทางบัญชี
10.ปี 2558-2561 ระหว่างที่นายศักดิ์สยามเป็นกรรมการ บริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด บริษัทให้กู้ยืมเงินจากนายศุภวัฒน์ ไม่น้อยกว่า 250 ล้านบาท โดยไม่มีการทำสัญญากู้ยืมและไม่มีการคิดดอกเบี้ย ไม่มีการวางหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ยืม และไม่ปรากฏว่านายศุภวัฒน์เป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวนี้แต่อย่างใด
11.ปี 2558-2561 นายศักดิ์สยามเป็นกรรมการ บริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด นายศุภวัฒน์ มีสถานะเป็นลูกจ้างและรับสิทธิประกันสังคมจากบริษัท และได้รับเงินเดือนในอัตราเดือนละ 9,000 บาท จนถึงปัจจุบัน และจากการตรวจสอบต่อกรมสรรพากร รายได้ของนายศุภวัฒน์ ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี แต่มีเงินให้กู้ยืมและเงินลงทุนย้อนแย้งกับรายได้ที่แสดงต่อกรมสรรพากร
12.การที่ นายศุภวัฒน์ นำเงินให้กับบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด กู้ยืมจำนวนหลายครั้ง ไม่ปรากฏหลักฐานการเบิกเงินสดหรือโอนจากธนาคารของนายศุภวัฒน์ ว่ามาจากบัญชีใดและมาจากธนาคารใด และการเบิกเงินจำนวนเกิน 2 ล้านบาทก็ไม่ปรากฏว่าได้ยื่นแจ้งต่อ ป.ป.ง.ตามระเบียบแต่ประการใด
13.ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ นายศุภวัฒน์ เคยเป็นกรรมการบริษัทต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดเล็กและมีสถานะเป็นบริษัทร้างและขาดทุนทั้งสิ้น
ขอ ป.ป.ช.ดูปมรับงาน ‘คมนาคม’ หลายพันล.
14.จากการตรวจสอบเบื้องต้นก่อนปี 2561 ไม่ปรากฏว่านายศุภวัฒน์ เคยประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างหน่วยงานภาครัฐมาก่อน โดยเฉพาะงานในกระทรวงคมนาคม
แต่หลังจากได้รับโอนหุ้นจากนายศักดิ์สยาม เมื่อวันที่ 26 ม.ค.2561 หจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ได้รับงานจากกระทรวงคมนาคม จำนวนหลายสัญญามูลค่าหลายพันล้านบาทโดยเฉพาะช่วงปี 2562 – ปัจจุบัน ที่ได้เข้าทำสัญญากับกระทรวงคมนาคมจำนวนมาก (รายละเอียดขอให้ ป.ป.ช.ใช้อำนาจเรียกพยานเอกสารเพิ่ม)
15.หลังจากที่ได้นายศุภวัฒน์ รับโอนหุ้นจากนายศักดิ์สยาม เมื่อวันที่ 26 ม.ค.2561 ได้เป็นผู้บริจาคเงินให้พรรคภูมิใจไทย เมื่อปี 2562 จำนวน 2.7 ล้านบาท และบริจาคในนาม หจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น อีก 2 ครั้ง จำนวน 10.79 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยปรากฎว่านายศุภวัฒน์ บริจาคให้พรรคภูมิใจไทยแต่ประการใด
16.จากหลักฐานงบการเงิน นายศักดิ์สยาม ขณะที่เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ได้กู้ยืมเงินในนามส่วนตัวจาก หจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ในรอบปีบัญชี 69 ล้านบาท โดยในหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 5 ระบุว่า ให้หุ้นส่วนผู้จัดการ โดยนายศักดิ์สยาม กู้ยืมโดยไม่มีการคิดดอกเบี้ย
โดยงบการเงินในรอบปี 2558 และปี 2559 มีนายศักดิ์สยาม เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแต่เพียงผู้เดียว และเป็นผู้ลงนามรับรองว่างบการเงินดังกล่าวถูกต้อง หนี้เงินกู้ดังกล่าวมีการค้างชำระจนถึงรอบบัญชีปี 2562
สงสัย ‘ศักดิ์สยาม’ ยังเป็นเจ้าของนิติบุคคล 2 แห่งหรือไม่
จากข้อเท็จจริงและหลักฐานที่กล่าวมาแล้วข้างต้น มีประเด็นให้ต้องดำเนินการไต่สวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง ดังนี้
1.มีมูลน่าเชื่อว่า นายศักดิ์สยาม ยังคงเป็นเจ้าของ และผู้มีอำนาจควบคุมการดำเนินกิจการ บริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด และ หจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ที่แท้จริง และเป็นเจ้าของที่แท้จริงในทรัพย์สินนิติบุคคลทั้ง 2 แห่ง โดยบุคคลที่ถือหุ้นและกรรมการของบริษัทและบุคคลที่เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนดังกล่าวเป็นเพียงนอมินีเท่านั้น
ตามงบแสดงฐานะทางการเงินของบริษัทปี 2556 และ ปี 2557 ระบุว่าบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด มีเงินกู้ยืมระยะยาวจากบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกัน จำนวน 25 ล้านบาท เท่าเดิมทั้ง 2 ปี
และในปี 2558 ระบุว่าเป็นประมาณการหนี้สินระยะยาวจำนวน 67.25 ล้านบาท และในปี 2559 ระบุว่ามีเงินกู้ยืมระยะยาว 137 ล้านบาท และต่อมาในปี 2560 จำนวน 120 ล้านบาท
ตามหมายเหตุประกอบการเงินที่ 12 ระบุว่า เป็นเงินกู้ยืมเพื่อเสริมสภาพคล่อง ไม่มีการทำสัญญาหรือคิดดอกเบี้ยระหว่างกันใดๆ (ไม่ระบุว่าเงินดังกล่าวเป็นของใคร)
ต่อมางบการเงินในปี 2561 – 2564 ระบุหมายเหตุประกอบงบการเงินที่ 13 ว่าเป็นเงินกู้ยืมระยะยาวจากนายศุภวัฒน์ 221.50 ล้านบาท และจำนวน 143.20 ล้านบาท และจำนวน 152.20 ล้านบาท และจำนวน 250 ล้านบาทตามลำดับ เป็นเงินกู้ยืมเพื่อเสริมสภาพคล่อง ไม่มีการทำสัญญาหรือคิดดอกเบี้ยระหว่างกันใดๆ
ขณะเดียวกันในงบการเงินรอบปี 2559 – 2561 ระบุรายการเงินให้กู้ยืมระยะสั้นแก่นายศักดิ์สยาม 68.50 ล้านบาท , 20 ล้านบาท และ 88.50 ล้านบาทตามลำดับ โดยเงินให้กู้ยืมข้างต้นไม่สัญญา ไม่คิดดอกเบี้ย
ต่อมาในปี 2562 โดยรายงานผู้สอบบัญชีรับอนุญาตลงวันที่ 17 เม.ย.2563 เรื่องอื่นๆ ข้อ 2.1 ระบุว่า กิจการปิดบัญชีเงินให้กู้ยืมแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง (นายศักดิ์สยาม) ที่ยกมาจากปี 2561 จำนวน 88.50 ล้านบาท
นายศุภวัฒน์ ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับบริษัท ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นหรือกรรมการบริษัท เป็นเพียงพนักงาน แต่กลับให้บริษัทกู้ยืมเงิน 250 ล้านบาท โดยไม่มีการทำสัญญาและไม่มีการคิดดอกเบี้ย ตามรายงานผู้สอบบัญชี ระบุว่า ยอดเงินกู้ยืมจากบุคคลภายนอก ณ วันที่ 31 ธ.ค.2564 มีจำนวน 250.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้นในรอบบัญชีนี้ 98 ล้านบาท เป็นการให้กู้ โดยไม่คิดดอกเบี้ย
นอกจากนี้มีมูลน่าเชื่อว่าเงินกู้ระยะยาวที่ปรากฏในงบการเงินของบริษัท หากพิจารณาตั้งแต่ปี 2556 – 2560 เป็นเงินกู้ยืมระยะยาวจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง จนกระทั่งปี 2561 ปรากฏเงินกู้ยืมดังกล่าวเป็นของนายศุภวัฒน์ ที่เข้ามาเป็นเจ้าหนี้เงินกู้ให้บริษัทแทนเจ้าหนี้เงินกู้คนก่อน
ตั้งข้อสังเกตงบการเงินปี 2561 บ.ศิลาชัยฯ มีพิรุธ
หลักฐานที่เป็นพิรุธสำคัญ คือชื่อของนายศุภวัฒน์ ปรากฎในงบการเงินว่าเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทครั้งแรกในงบการเงินปี 2561 ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่เคยปรากฎการระบุชื่อเจ้าหนี้มาก่อน จึงเป็นที่รู้กันในทางบัญชีว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินกู้ยืมกรรมการ ซึ่งกรรมการในขณะนั้นคือ นายศักดิ์สยาม
และงบการเงินปี 2561 นายศุภวัฒน์ ได้นำส่งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หลังจากที่นายศักดิ์สยาม เข้าดำรงตำแหน่ง ส.ส.แล้ว เป็นข้อพิรุธว่า หากไม่พบหลักฐานการโอนหรือส่งมอบเงินจำนวนดังกล่าวให้บริษัทกู้ยืมจริง การเปลี่ยนชื่อเจ้าหนี้บริษัทในงบการเงินปี 2561 อาจเป็นเพียงการอำพราง เพื่อให้นายศักดิ์ มิต้องแจ้งเงินจำนวนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.
นอกจากนี้งบการเงินของบริษัทปี 2561-2564 ไม่ได้ระบุรายการกู้ยืมระยะสั้น 2 ล้านบาทแก่ บริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ โกคาร์ท จำกัด โดยบริษัทดังกล่าวล้วนแล้วมีสำนักงานเคยตั้งที่อยู่ 30/2 หมู่ที่ 15 บ้านเดียวกับที่อยู่ของนายศักดิ์สยาม และก่อตั้งโดยนายศักดิ์สยามทั้งสิ้น
โอนหุ้นราคาทุน ผิดวิสัยการทำธุรกิจ
ส่วน หจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น มีข้อเท็จจริงมีมูลน่าเชื่อว่า หลังจากก่อตั้งนายศักดิ์สยามได้ออกจากการเป็นหุ้นส่วน และกลับเข้ามาเป็นหุ้นส่วนและหุ้นส่วนผู้จัดการปี 2558 ด้วยเงินลงหุ้น 1,000 บาท และเพิ่มทุนต่อเนื่อง 3 ครั้งในปีเดียวกันเป็น 119.50 ล้านบาท พร้อมย้ายที่อยู่มาที่อยู่เดียวกันกับนายศักดิ์สยาม
ปี 2561 นายศักดิ์สยาม ออกจากการเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดและหุ้นส่วนผู้จัดการ และได้โอนเงินลงหุ้นให้นายศุภวัฒน์ 119.49 ล้านบาท และให้นายศุภวัฒน์ เข้ามาเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการร่วมกันกับนายเอกราช ชิดชอบ ต่อมา 5 มิ.ย.2562 ได้จดทะเบียนย้ายที่อยู่ของ หจก.ออกจากบ้านของนายศักดิ์สยาม เป็นบ้านเลขที่ 30/17 หมู่ที่ 15 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์
งบการเงิน หจก.ในรอบปี 2557 ก่อนหน้าที่นายศักดิ์สยาม จะเข้าเป็นผู้บริหาร มีรายได้ 13.64 ล้านบาท ขาดทุน 1.21 ล้านบาท กระทั่งปี 2558 นายศักดิ์สยามเข้ามาเป็นหุ้น่วนและเป็นผู้บริหาร มีรายได้จำนวน 84.34 ล้านบาท และกลับมามีกำไร 3.53 ล้านบาท (นายศักดิ์สยามทยอยเพิ่มทุนในปี 2558 จำนวน 119 ล้านบาท) ต่อมาปี 2559 ห้างมีรายได้ 236.17 ล้านบาท กำไร 9.27 ล้านบาท ปี 2560 มีรายได้ 340.68 ล้านบาท กำไร 10.26 ล้านบาท ปี 2561 รายได้ 480.49 ล้านบาท กำไร 15.81 ล้านบาท
นายศักดิ์สยามลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนและผู้บริหารห้าง และได้โอนหุ้นให้นายศุภวัฒน์ในปี 2561 ซึ่งห้างมีรายได้ 379.12 ล้านบาท กำไร 10.39 ล้านบาท ปี 2563 มีรายได้ 522.99 ล้านบาท กำไร 17.32 ล้านบาท ปี 2564 รายได้ 629.47 ล้านบาท กำไร 20.85 ล้านบาท
จึงมีข้อสงสัยว่าการที่นายศักดิ์สยาม ลงหุ้นเป็นเงิน 119 ล้านบาท และ หจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ยังมีรายได้ลักษณะที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี เหตุใดจึงได้ยอมโอนเงินลงหุ้นที่ธุรกิจกำลังมีแนวโน้มที่เติบโตต่อเนื่องให้ นายศุภวัฒน์ เท่าราคาทุนเดิม เป็นการผิดวิสัยการทำธุรกิจอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ยังพบข้อมูลว่านายศุภวัฒน์ผู้รับโอนหุ้นและกิจการ หจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการรับงานก่อสร้างภาครัฐ ไม่เคยมีประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจประเภทนี้ อีกทั้งยังประสบความล้มเหลวในการประกอบกิจการด้านอื่นๆ มาโดยตลอด อันสอดคล้องกับข้อมูลการเป็นกรรมการบริษัทของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จึงมีมูลเชื่อได้ว่า หจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ยังเป็นของนายศักดิ์สยาม
การที่นายศักดิ์สยาม ออกมาแถลงอ้างว่า นายศุภวัฒน์ เป็นเพื่อนที่มีนิสัยขี้เหนียว จึงเข้ามารับสิทธิทางประกันสังคมกับ บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด เป็นข้อเท็จจริงที่ย้อนแย้งกับการที่ นายศุภวัฒน์ ที่บริจาคเงินให้พรรคภูมิใจไทย เมื่อปี 2562 ในนามส่วนตัว 2.7 ล้านบาท ทั้งที่ไม่สามารถนำเงินบริจาคไปยื่นเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ เพราะมีรายได้เพียง 9,000 บาทต่อเดือน ไม่ถึงเกณฑ์ในการเสียภาษี
ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเชื่อได้ว่าเป็นการสมคบกัน ปกปิดข้อเท็จจริงและเป็นนิติกรรมอำพรางระหว่างนายศักดิ์สยาม กับ นายศุภวัฒน์ โดยมีเจตนาพิเศษเพื่อการอย่างใดอย่างหนึ่ง
เงินกู้ยืม 38 ล.ไม่มีในบัญชีทรัพย์สินขณะนั่ง ส.ส.
กรณีความเกี่ยวกันเรื่องหนี้สินของนายศักดิ์สยาม กับ หจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ปรากฏรายละเอียดว่า รอบปีบัญชี 2558 ระบุรายการเงินให้กู้ยืมระยะยาว 67,250,655.69 บาท และในปี 2559 จำนวน 69,000,000 บาท “โดยหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 5 ระบุว่า ให้หุ้นส่วนผู้จัดการ โดยนายศักดิ์สยาม กู้ยืมโดยไม่มีการคิดดอกเบี้ย”
งบการเงินรอบปี 2558 และปี 2559 ดังกล่าว มีนายศักดิ์สยามเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแต่เพียงผู้เดียว และเป็นผู้ลงนามรับรองว่างบการเงินถูกต้องและเป็นจริง ต่อมาในปี 2560 ยังคงระบุรายการเงินให้กู้ยืมระยะยาว 69 ล้านบาทเป็นตัวเลขเช่นเดียวกันกับปี 2559 โดยในหมายเหตุประกอบงบการเงินที่ 8 ระบุว่า เงินดังกล่าวเป็นเงินให้หุ้นส่วนผู้จัดการยืม ทั้งที่ในขณะที่ยื่นงบการเงินปี 2560 นายเอกราช ชิดชอบ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการร่วมกันกับนายศักดิ์สยาม และเป็นผู้ลงนามรับรองงบการเงินดังกล่าวว่าถูกต้องและเป็นจริง
รวมทั้งรายงานผู้สอบบัญชีรับอนุญาตลงวันที่ 16 พ.ค.2561 เรื่องอื่นๆ ข้อ 2.3 ได้รายงานว่าในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2560 กิจการได้มีการบันทึกบัญชีเงินกู้ยืมจากกรรมการ ทั้งด้านเป็นลูกหนี้และเป็นเจ้าหนี้ในขณะเดียวกัน ตามหมายเหตุประกอบการเงินข้อ 8 เงินให้หุ้นส่วนผู้จัดการยืม 69 ล้านบาท และตามหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 15 เจ้าหนี้กู้ยืมกรรมการ 32 ล้านบาท
ต่อมาผู้สอบบัญชีได้สอบถามเหตุผลได้รับการชี้แจงว่าได้มีการปรับเปลี่ยนตัวผู้บริหารใหม่ ขอคงไว้และจะดำเนินการปรับปรุงภายหลัง ต่อมาในงบการเงินรอบปีบัญชี 2561 ยังคงระบุรายการเงินให้กู้ยืมแก่นายศักดิ์สยาม 69 ล้านบาทเท่าเดิมเช่นเดียวกับปี 2559 และปี 2560
ย่อมแสดงว่างบการเงินรอบปี 2561 นายศักดิ์สยามยังคงเป็นลูกหนี้เงินให้กู้ยืม หจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น จนถึงวันที่ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตได้รายงานไว้ในวันที่ 27 พ.ค.2562
ต่อมางบการเงินรอบปี 2562 ได้ระบุเงินให้กู้ยืมระยะยาวแก่นายศักดิ์สยาม ลดลงเหลือจำนวน 38 ล้านบาท นายศักดิ์ศยามเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2562 ซึ่งในรายงานผู้สอบบัญชีเมื่อวันที่ 10 ก.ค.2562 ระบุว่า รอบปีบัญชี 2562 เงินให้หุ้นส่วนผู้จัดการยืมแสดงจำนวนลดลง 31 ล้านบาท คงเหลือยอดยกไปรอบบัญชีหน้าปี 2563 จำนวน 38 ล้านบาท ตามหมายเหตุประกอบงบการเงิน ข้อที่ 10
ต่อมาในงบการเงินรอบปี 2563 รายงานผู้สอบบัญชีลงวันที่ 10 พ.ค.2564 ให้ข้อสังเกตประกอบงบการเงินในข้อ 1 ระบุว่าบัญชีเงินให้กรรมการกู้ยืมที่มียอดยกมาจากปี 2562 จำนวน 38 ล้านบาท ได้ถูกปิดลงทั้งหมดในรอบบัญชีปี 2563
จึงมีมูลน่าเชื่อว่า เมื่อนายศักดิ์สยาม ชี้แจงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ตนเองขายหุ้นทั้งหมดให้นายศุภวัฒน์ เมื่อต้นปี 2561 แต่ในงบการเงินรอบปี 2562 ยังแสดงรายการเงินให้กู้ยืมค้างอยู่ 38 ล้านบาท และยกยอดมาปิดบัญชีลงในปี 2563 และเมื่อเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.ไม่ปรากฏหนี้สินในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. จำนวน 38 ล้านบาท ประกอบกับสัญญาหุ้นส่วนแก้ไขเพิ่มเติมของ หจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ที่ทำเมื่อวันที่ 26 ม.ค.2561 ก็ไม่ปรากฎข้อความว่ามีการโอนหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าวไปให้นายศุภวัฒน์
หากผลการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงตาม ข้อ 1 กรณีย่อมถือว่า นายศักดิ์สยาม ยังคงเป็นผู้มีอำนาจในการควบคุม บริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด และเป็นเจ้าของและหุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น โดยแท้จริง ดังนั้น เมื่อเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.และรัฐมนตรี นายศักดิ์สยาม ต้องแจ้งรายการทรัพย์สินดังกล่าวต่อ ป.ป.ช.
หากไม่ได้ระบุรายการทรัพย์สินดังกล่าวไว้ ย่อมถือเป็นการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริง นอกจากนี้เมื่อรับตำแหน่ง รมว.คมนาคม นายศักดิ์สยาม ย่อมต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามย่อมมีโทษตามที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว และการกะรทำดังกล่าวยังถือเป็นกระทำอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามมาตรา 187 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ด้วย
3.หากการไต่สวนพบว่า นายศักดิ์สยาม มีสถานะลูกหนี้ของบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด จำนวน 88.5 ล้านบาท ในรอบบัญชี 2561 และเป็นลูกหนี้ หจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ในรอบปีบัญชี 2561 จำนวน 69 ล้านบาท และยอดหนี้คงเหลือในบัญชีปี 2562 จำนวน 38 ล้านบาทนั้น ได้มีการชำระจริงหรือไม่ และชำระเสร็จสิ้นก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งดังกล่าว เพื่อจะได้พิจารณาว่าขณะเข้ารับตำแหน่ง นายศักดิ์สยาม มีหนี้สินดังกล่าวอยู่ อันจะต้องแจ้งไว้ในบัญชีทรัพย์สิน แต่เจตนาปกปิดทรัพย์สินไม่แจ้งต่อ ป.ป.ช.
ไต่สวนปมบัญชีทรัพย์สินเท็จ - บริษัทรับงานโครงการรัฐ
4.กรณี บริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด ได้กู้ยืมเงินจากนายศุภวัฒน์ 250 ล้านบาท ทั้งที่นายศุภวัฒน์ ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆกับบริษัทดังกล่าว โดยการกู้เงินไม่มีสัญญาและไม่คิดดอกเบี้ยนั้น ขอให้ไต่สวนว่าเงินที่กู้ยืมดังกล่าวเป็นของนายศุภวัฒน์ หรือ นายศักดิ์สยาม เพื่อจะได้ทราบถึงผู้มีอำนาจที่แท้จริงเหนือบริษัทดังกล่าว
หากไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า เงินดังกล่าวไม่ใช่ของนายศุภวัฒน์ แต่เป็นของนายศักดิ์สยาม เมื่อเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. หากไม่ได้ระบุรายการทรัพย์สินดังกล่าวไว้ ย่อมถือเป็นการยื่นบัญชีอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริง
5.จากข้อสงสัยที่ได้เรียนไว้ข้างต้นระหว่างที่นายศักดิ์สยาม ได้เข้าดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม ปรากฏว่า หจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ได้เข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐในสังกัดกระทรวงคมนาคมหลายโครงการ เช่น กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และการรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทย
โดยปรากฏตามหมายเหตุประกอบงบการเงินรอบบัญชีปี 2562 ระบุรายได้ค้างรับปี 2562 มีรายการลูกหนี้อื่นซึ่งเป็นรายได้ค้างรับกับการรถไฟแห่งประเทศไทยหลายรายการ อีกด้วย
หากผลการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริง ว่า นายศักดิ์สยาม ยังคงเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นที่แท้จริง บริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด และเป็นหุ้นส่วนของ หจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ที่แท้จริง และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนดังกล่าว ได้เข้าเป็นคู่สัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐที่นายศักดิ์เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ
จากข้อเท็จจริงและเหตุผล กรณีจึงมีเหตุผลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ต้องดำเนินการตรวจสอบและไต่สวนข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนายศักดิ์สยาม ที่เกี่ยวข้องกับเชื่อมโยงกับการดำเนินกิจการของ บริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด และ หจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ที่หลักฐานชัดเจนว่า นายศักดิ์สยาม มีทรัพย์สินและหนี้สินกับ หจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น 38 ล้านบาท แต่ไม่แจ้งในบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.
และไต่สวนผู้เกี่ยวข้องในกรณีที่นิติบุคคลทั้ง 2 แห่ง ที่เข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐในช่วงระหว่างที่นายศักดิ์สยาม เป็น รมว.คมนาคม อันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ รวมถึงการคงไว้ซึ่งความเป็นผู้ถือหุ้นและหุ้นส่วนในนิติบุคคลทั้งสองแห่ง ตลอดจนการกระทำความผิดต่อกฎหมายภาษีอากรและความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง
อ่านข่าวในหมวดเดียวกันประกอบ
- 4 ปีหลัง ‘ศักดิ์สยาม’ ขายกิจการให้เพื่อน 119 ล. ! หจก.บุรีเจริญฯ รายได้ 2,012 ล.
- ข้อมูลใหม่! โฉนด 12 แปลง 179 ไร่ ออกทับที่ดินรถไฟ‘เขากระโดง’ โยงเครือญาติตระกูล‘ชิดชอบ’
- อภิปรายไม่ไว้วางใจ :'ศักดิ์สยาม-อนุทิน'เผยสเตทเม้นท์ หจก.บุรีเจริญ โอนหุ้น 2 ปีก่อน ลต.
- ย้อนดูข้อมูลอิศรา คุ้ย 'หจก.บุรีเจริญฯ' ก่อน ก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ 'ศักดิ์สยาม'
- หจก.บุรีเจริญฯ สินทรัพย์ 205 ล้าน ไฉน!‘ศักดิ์สยาม’ ขายให้เพื่อน 119 ล.