"...ในฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐ ของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่า นับตั้งแต่ช่วงปี 2547 ถึงปี 2561 หจก. ว.ประยูรก่อสร้าง (1984) ปรากฏชื่อเป็นคู่สัญญาหน่วยงานรัฐ หลายแห่ง รวม 44 สัญญา คิดเป็นมูลค่าว่า 483,489,889 บาท ส่วนใหญ่เป็นงานจ้างในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ของ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท แต่ยังตรวจสอบไม่พบว่า มีสัญญาว่าจ้างงานที่ได้รับจาก เทศบาลเมืองเมืองปัก ทั้งในช่วงที่ยังเป็น เทศบาลตำบลเมืองปัก และอยู่ในช่วงเวลาที่ นายมงคล ประยูรหงษ์ ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองเมืองปักด้วยหรือไม่ ..."
ประเด็นการขยายผลตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก กรณี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงมติชี้มูความผิด นายมงคล ประยูรหงษ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองเมืองปัก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา พร้อมพวก เข้าไปมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับเทศบาลเมืองเมืองปักในโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายผิวจราจร แอสฟัลท์ติกคอนกรีต สายศรีพลรัตน์ ตามสัญญาจ้าง เลขที่ 26/2559 ลงวันที่ 18 เมษายน 2559 จำนวนเงินงบประมาณ 3,500,000 บาท นั้น
- รวมฮิต14 คดีทุจริต 'โคราช-สุรินทร์-อำนาจเจริญ-ยโสธร' ป.ป.ช.ฟันผอ.ชลประทาน ซื้อท่อ PVC
- พฤติการณ์ อดีตนายกฯเมืองปักโคราช เชิด'บ.พี่เขย'รับงานถนน-ลูกสาวโดน ป.ป.ช.ชี้มูลด้วย
ในตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำข้อมูลบริษัท บุรีรัมย์ทรัพย์ศิริ จำกัด ที่ถูกระบุว่า เป็นธุรกิจของ นายอดิศักดิ์ เตียวศิริทรัพย์ พี่ชายของ นางวราภรณ์ เตียวศิริทรัพย์ คู่สมรสของนายมงคล ซึ่งถูกเชิดให้เข้ามารับงานโครงการฯ นี้ มาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบกันไปแล้ว ว่า
1. ปัจจุบันบริษัทฯ ยังดำเนินธุรกิจอยู่
2. ในฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐ ของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่า นับตั้งแต่ช่วงปี 2548 ถึงปี 2561 บริษัท บุรีรัมย์ทรัพย์ศิริ จำกัด ปรากฏชื่อเป็นคู่สัญญาหน่วยงานรัฐ จำนวนกว่า 39 สัญญา รวมวงเงิน 746,900,069 บาท มีหลายสัญญาที่ได้รับงานจาก เทศบาลเมืองเมืองปัก ทั้งในช่วงที่ยังเป็น เทศบาลตำบลเมืองปัก และอยู่ในช่วงเวลาที่ นายมงคล ประยูรหงษ์ ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองเมืองปักด้วย
คราวนี้ มาดูข้อมูล ห้างหุ้นส่วนจำกัด ว.ประยูรก่อสร้าง (1984) ซึ่งผลการไต่สวนคดีนี้ ของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า เป็นธุรกิจของ นายมงคล และเข้ามาทำงานโครงการฯ นี้ แทน บริษัท บุรีรัมย์ทรัพย์ศิริ จำกัด และเมื่อเทศบาลเมืองเมืองปัก ได้อนุมัติเบิกเงินค่าจ้าง จำนวน 3,480,000 บาท ให้บริษัท บุรีรัมย์ทรัพย์ศิริ จำกัด ผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขา ปักธงชัย จากนั้นได้มีการถอนเงินจำนวน 1,900,000 บาท เพื่อฝากเงินด้วยการโอนเข้าบัญชีเงินฝาก นางสาวนฤมล ประยูรหงษ์ ซึ่งเป็นบุตรสาวของนายมงคล และเป็นหุ้นส่วนของ หจก.ว.ประยูรก่อสร้าง (1984)
จากการตรวจสอบพบว่า ปัจจุบัน หจก. ว.ประยูรก่อสร้าง (1984) ยังดำเนินธุรกิจอยู่
ในฐานข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ว.ประยูรก่อสร้าง(1984) จดทะเบียน 4 ธันวาคม 2527 ทุนปัจจุบัน 100,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 664 หมู่ 10 ตำบลเมืองปัก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา
แจ้งประกอบธุรกิจกิจการค้า รับเหมาก่อสร้าง
ปรากฎชื่อ นาย ณัฐวุฒิ ประยูรหงษ์ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการผู้มีอำนาจ
ณ 30 พฤศจิกายน 2563 นาย ณัฐวุฒิ ประยูรหงษ์ นาย มงคล ประยูรหงษ์ นาย ยุทธพล ประยูรหงษ์ นางสาว นฤมล ประยูรหงษ์ และ นาง รติรัตน์ พงศ์ศรีเพียร ถือหุ้นใหญ่เท่ากัน คนละ 20% หรือคิดเป็นมูลค่า 20,000,000 บาท
สถานะเพิ่งคืนสู่ทะเบียน มีการแจ้งเตือนความระมัดระวังในการทำนิติกรรม หลังฝ่าฝืนคำสั่งไม่ส่งบัญชี ชี้แจงข้อเท็จจริงการทำบัญชี ช่วงปี 2558-2561 (ดูข้อมูลประกอบ)
นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ล่าสุด ณ 31 ธันวาคม 2563 แจ้งว่า มีรายได้รวม 356,402,014.62 บาท มีต้นทุนขาย และ/หรือบริการ 331,090,653.79 บาท กำไรสุทธิ 14,629,046.95 บาท
ในฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐ ของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่า นับตั้งแต่ช่วงปี 2547 ถึงปี 2561 หจก. ว.ประยูรก่อสร้าง (1984) ปรากฏชื่อเป็นคู่สัญญาหน่วยงานรัฐ หลายแห่ง รวม 44 สัญญา คิดเป็นมูลค่าว่า 483,489,889 บาท ส่วนใหญ่เป็นงานจ้างในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ของ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท (ดูตารางข้อมูลตัวอย่างบางส่วนประกอบ)
แต่ยังตรวจสอบไม่พบว่า มีสัญญาว่าจ้างงานที่ได้รับจาก เทศบาลเมืองเมืองปัก ทั้งในช่วงที่ยังเป็น เทศบาลตำบลเมืองปัก และอยู่ในช่วงเวลาที่ นายมงคล ประยูรหงษ์ ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองเมืองปักด้วยหรือไม่
(กดคลิกดูข้อมูล http://procurement-oag.in.th/index-2.php)
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา การดำเนินงานโครงการฯ เหล่านี้ ยังไม่เคยปรากฏข้อมูลว่าถูกร้องเรียนหรือถูก ป.ป.ช. ตรวจสอบเหมือนในโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายผิวจราจร แอสฟัลท์ติกคอนกรีต สายศรีพลรัตน์ วงเงินงบประมาณ 3,500,000 บาท ด้วยหรือไม่
ส่วนโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายผิวจราจร แอสฟัลท์ติกคอนกรีต สายศรีพลรัตน์ วงเงินงบประมาณ 3,500,000 บาท ที่มีปัญหานั้น สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด
ผลการต่อสู้คดีนี้ในชั้นศาลจะออกมาเป็นอย่างไร ต้องติดตามดูกันต่อไป