เผยมติ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดคดีอาญา จนท.รัฐ ซี 7 - พวก 3 ราย ทำโครงการเสาโซลาร์เซลล์พันล้าน ศอ.บต. หลังทีมข่าวอิศรา ตีข่าวช่วงปี 60
..............................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่รัฐและผู้เกี่ยวข้องกับโครงการโคมไฟส่องสว่างโซลาร์เซลล์ให้กับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) โดยมีโครงการจัดซื้อจัดจ้างและติดตั้งรวม 6 สัญญาใช้งบประมาณ 1,011,916,500 บาท เป็นทางการแล้ว
โดยมีผู้ถูกกล่าวหา จำนวน 4 ราย เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ระดับ ซี 7 จำนวน 1 ราย กระทำความผิดทางอาญา ตามมาตรา 149 และ 157 ส่วนผู้เกี่ยวข้องที่เหลืออีก 3 ราย ถูกชี้มูลฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำความผิด
อย่างไรก็ดี ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดในคดีนี้ ยังมีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลได้อีก
สำหรับกรณีนี้ ทีมข่าวอิศรา เคยติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกในช่วงปี 2560 พบว่าโครงการติดตั้งโคมไฟส่องสว่างแบบโซลาร์เซลล์ ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ได้รับงบประมาณอุดหนุนจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2557 ต่อเนื่องถึงปี 2559 เท่าที่ “ทีมข่าวอิศรา” ตรวจสอบพบจากเอกสาร มีทั้งสิ้น 6 โครงการด้วยกัน คือ
1.โครงการจัดซื้อพร้อมติดตั้งชุดโคมส่องสว่างถนนแบบโซล่าเซลล์ในพื้นที่เพื่อความปลอดภัยของประชาชน จำนวน 2,000 ชุด งบประมาณ 126,000,000 บาท
2.โครงการติดตั้งเสาไฟฟ้าพร้อมโคมส่องสว่างโซล่าเซลล์ในศาสนสถานและสถานที่ฝังศพ เผาศพ จำนวน 3,484 ชุด งบประมาณ 219,492,000 บาท
3.โครงการสนับสนุนการติดตั้งโคมไฟฟ้าส่องสว่างระบบโซล่าเซลล์ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,500 ชุด งบประมาณ 94,500,000 บาท
4.โครงการติดตั้งโคมไฟถนนแอลอีดีด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 3,365 ชุด งบประมาณ 212,000,000 บาท
5.โครงการติดตั้งโคมไฟส่องสว่างด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมหลอดประหยัดพลังงานชนิดแอลอีดี เพื่อความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 4,500 ชุด งบประมาณ 270,000,000 บาท
6.โครงการติดตั้งโคมไฟส่องสว่างแบบโซล่าเซลล์ จำนวน 1,555 ชุด งบประมาณ 89,924,500 บาท
รวมงบประมาณทั้งจัดซื้อและติดตั้งทั้งสิ้น 1,011,916,500 บาท โดยเป็นการติดตั้งโคมไฟฟ้าส่องสว่างด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซล่าเซลล์ 14,849 ชุด ราคาโดยเฉลี่ยชุดละ 63,000 บาท มีศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศอ.บต. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ และทั้งหมดเป็นการจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ
วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ เน้นไปที่การสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน โดยติดตั้งโคมไฟส่องสว่างในจุดที่ล่อแหลม สองข้างทางมีแสงสว่างไม่เพียงพอ หากเกิดเหตุรุนแรงขึ้น กล้องโทรทัศน์วงจรปิดก็ไม่สามารถบันทึกภาพได้ เพราะแสงสว่างน้อย จุดที่ติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลล์ส่วนใหญ่เป็นถนนสายที่มีสถิติเหตุรุนแรง ซึ่งนอกจากจะเพิ่มความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชนที่สัญจรไปมาแล้ว ยังช่วยในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ทั้งการลาดตระเวน และเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ ด้วย
ส่วนการติดตั้งโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ในศาสนสถานและสถานที่ฝังศพ ทั้งกุโบร์ของพี่น้องมุสลิม สุสานจีน และฌาปสถานของคนพุทธนั้น ก็เพื่อเป็นการเพิ่มแสงสว่างให้ครอบคลุมในหมู่บ้านพื้นที่ห่างไกล และเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจและมีส่วนร่วมในพื้นที่ของรัฐ ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ตามหลักศาสนาจำเป็นต้องทำพิธีฝังศพภายใน 24 ชั่วโมงหลังเสียชีวิต ฉะนั้นการประกอบพิธีหลายๆ ครั้งจึงทำในเวลากลางคืน การใช้ไฟส่องสว่างจากโซลาร์เซลล์จะเป็นการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานตามนโยบายของรัฐบาลด้วย
ทั้งนี้ จากเอกสารประเมินผลงานของ ศอ.บต. ระบุว่า หลังจากติดตั้งโคมไฟส่องสว่างแบบโซลาร์เซลล์ ปรากฏว่าหลังการติดตั้ง 2 ปี ไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ติดตั้งเสาไฟเลย ประชาชนมีความพึงพอใจอย่างมาก กล้าเดินทางสัญจรไปมามากขึ้น จึงถือว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์
แต่จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของ “ทีมข่าวอิศรา” หลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน พบว่าเสาไฟโซลาร์เซลล์ส่วนใหญ่มีปัญหาไฟไม่สว่าง บ้างก็ติดๆ ดับๆ และมีบางส่วนที่เสาเอียงเหมือนจะล้ม สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากตัวแทนผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่บอกว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี เพราะช่วยให้จุดเสี่ยง หรือจุดล่อแหลมต่อการก่อเหตุรุนแรงมีแสงสว่างมากขึ้น นอกจากนั้น หากไฟฟ้าดับ ไม่ว่าจะด้วยฝีมือของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง หรือระบบไฟขัดข้อง แต่โคมไฟโซลาร์เซลล์ก็ยังทำงานได้ ทว่าปัญหาใหญ่ที่พบก็คือ โคมไฟโซลาร์เซลล์ใช้งานได้จริงแค่ 3 เดือนแรก จากนั้นก็เริ่มเสีย และหลังจาก 3 เดือน ใช้งานได้ไม่ถึงร้อยละ 20 ประกอบกับพื้นที่ชายแดนใต้มีฝนตกชุก มีแดดน้อย โครงการนี้จึงอาจไม่เหมาะสม
นอกจากนั้นชาวบ้านยังไม่รู้ว่าเป็นโครงการของ ศอ.บต. ทำให้เมื่อไฟดับ ก็จะมาร้องเรียนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บ้างก็กล่าวหาว่าท้องถิ่นทุจริต ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างเลยแม้แต่น้อย
ขณะที่ นายพิทยา รัตนพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศอ.บต. ในขณะนั้น ชี้แจงว่า โคมไฟส่องสว่างแบบโซล่าเซลล์ที่ติดๆ ดับๆ ขึ้นอยู่กับหลายสภาวะแวดล้อม ทั้งเรื่องดินฟ้าอากาศ และอีกกว่า 70% พบว่าแบตเตอรี่สูญหายจากการโดนขโมย โดยขณะนี้ได้ดำเนินการจับกุมผู้ที่ลักลอบขโมยแล้ว
"ส่วนใหญ่ที่ไฟติดๆ ดับๆ เราพบว่าแบตเตอรี่สูญหาย โดนขโมย ซึ่งเราได้มีการติดตามจับกุมและดาเนินคดีแล้ว 2 ราย เป็นบุคคลนอกพื้นที่ อาศัยอยู่ที่ ต.ลำใหม่ เมืองยะลา และ ต.โกตาบารู อ.รามัน จ.ยะลา ทั้ง 2 คดีฟ้องศาลไปแล้ว"
สำหรับจำนวนเสาไฟโซลาร์เซลล์ที่เสีย นายพิทยา บอกว่า ศอ.บต.ได้รวบรวมพื้นที่และจำนวนเสาไฟที่แจ้งชำรุดใช้การไม่ได้ในเบื้องต้นจากที่ชาวบ้านแจ้งผ่านสายด่วน 1880 ของ ศอ.บต. พบว่ามีจำนวน 531 จุด เป็นการสำรวจล่าสุดเมื่อสิ้นเดือนที่ผ่านมานี้เอง สาเหตุส่วนใหญ่เพราะแบตเตอรี่สูญหาย และขณะนี้ได้เร่งดำเนินการซ่อมแซมแล้ว ไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบเสาไฟที่ชำรุดเพิ่มเติม ทั้งนี้กระบวนการอาจล่าช้าไปบ้างตามระเบียบของทางราชการในการจัดหางบประมาณในการซ่อมแซม โดยใช้งบ 8,000 บาทต่อเสา 1 ต้น ซึ่งเป็นการซื้อแบตเตอรี่
"กระบวนการทั้งหมด ศอ.บต.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ทางบริษัทที่ว่าจ้างก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ไม่ว่าอยู่ในประกันหรือนอกประกันก็ช่วยกันซ่อม เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหา เรามีการติดป้ายตามเสาว่าไฟดับแจ้งสายด่วนอุ่นใจ 1880 ศอ.บต." นายพิทยา กล่าว และว่าเมื่อดำเนินการซ่อมเสาไฟโซลาร์เซลล์เสร็จแล้ว ศอ.บต.มีแผนส่งให้องค์การบริหารส่วนตาบล (อบต.) ดูแล โดยมีแผนอบรมให้ช่างของเทศบาลและองค์กรปกครองท้องถิ่นด้วย
ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศอ.บต. บอกอีกว่า การดำเนินโครงการติดตั้้งโคมส่องสว่างโซลาร์เซลล์ เป็นการตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ที่สอดคล้องกับความมั่นคงและสังคมจิตวิทยา เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชนในการใช้เส้นทางสัญจรไปมา รวมทั้งเป็นภารกิจในการส่งเสริมสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากติดตั้งโคมส่องสว่างไปกว่าหมื่นจุด ปรากฏว่าช่วยลดการก่อเหตุในพื้นที่ได้มาก รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ทั้งโรงเรียน วัด และชุมชน ได้ร้องขอมายัง ศอ.บต.ให้มีการติดตั้งโคมไฟส่องสว่างโซลาร์เซลล์จำนวนมาก
ส่วนที่มีกระแสวิจารณ์ว่า โครงการเสาไฟพลังงานแสงอาทิตย์อาจไม่เหมาะกับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีฝนตกชุกนั้น นายพิทยา บอกว่า จริงๆ แล้วแม้ในพื้นที่ภาคใต้มีฝนตกชุก แต่สภาพอากาศโดยรวมจะร้อน และมีแดดตลอดทั้งวัน อีกทั้งระบบโซลาร์เซลล์ไม่จำเป็นต้องใช้แสงแดดจำนวนมาก แดดอ่อนก็สามารถเก็บไฟฟ้าได้ ถ้ามองในประเด็นว่าในพื้นที่ชาวบ้านมีการร้องขอแสงสว่างเพื่อความปลอดภัย แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานท้องถิ่น ย่อมถือว่าเสาไฟโซลาร์เซลล์เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะสามารถติดตั้งได้ทุกพื้นที่โดยไม่ต้องรอการขยายเขตไฟฟ้า
- เจาะโครงการเสาไฟโซลาร์เซลล์พันล้าน! ชาวบ้านร้องติดๆ ดับๆ
- ศอ.บต.แจงเสาโซลาร์เซลล์เสียแค่ 531 ต้น อ้างถูกขโมยแบตเตอรี่!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/