- Home
- South
- ข่าวทั่วไปศูนย์ข่าวภาคใต้
- ศอ.บต.แจงเสาโซลาร์เซลล์เสียแค่ 531 ต้น อ้างถูกขโมยแบตเตอรี่!
ศอ.บต.แจงเสาโซลาร์เซลล์เสียแค่ 531 ต้น อ้างถูกขโมยแบตเตอรี่!
ศอ.บต.ออกโรงแจงโครงการติดตั้งโคมไฟส่องสว่างแบบโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ชายแดนใต้ ยืนยันเสาไฟส่วนใหญ่ยังใช้งานได้อยู่ พบเสียแค่ 531 ต้น เหตุถูกขโมยแบตเตอรี่ จับกุมดำเนินคดีเรียบร้อย ตั้งงบซ่อมเตรียมโอนให้ท้องถิ่น
หลังจาก "ทีมข่าวอิศรา" เปิดประเด็นเกี่ยวกับเสาไฟโซลาร์เซลล์ที่ดำเนินการโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งติดตั้งไปแล้วกว่า 14,000 จุด ในพื้นที่ล่อแหลมทั่วสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท แต่ปรากฏว่ามีชาวบ้านร้องเรียนว่าไฟติดๆ ดับๆ หรือหลายจุดไฟดับสนิทไปเลย ไม่สามารถใช้งานได้มากถึง 80% นั้น ล่าสุดทางผู้บริหาร ศอ.บต.ที่รับผิดชอบโครงการได้ออกมาชี้แจงเรื่องนี้แล้ว
นายพิทยา รัตนพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศอ.บต.กล่าวว่า โคมไฟส่องสว่างแบบโซล่าเซลล์ที่ติดๆ ดับๆ ขึ้นอยู่กับหลายสภาวะแวดล้อม ทั้งเรื่องดินฟ้าอากาศ และอีกกว่า 70% พบว่าแบตเตอรี่สูญหายจากการโดนขโมย โดยขณะนี้ได้ดำเนินการจับกุมผู้ที่ลักลอบขโมยแล้ว
"ส่วนใหญ่ที่ไฟติดๆ ดับๆ เราพบว่าแบตเตอรี่สูญหาย โดนขโมย ซึ่งเราได้มีการติดตามจับกุมและดาเนินคดีแล้ว 2 ราย เป็นบุคคลนอกพื้นที่ อาศัยอยู่ที่ ต.ลำใหม่ เมืองยะลา และ ต.โกตาบารู อ.รามัน จ.ยะลา ทั้ง 2 คดีฟ้องศาลไปแล้ว"
สำหรับจำนวนเสาไฟโซลาร์เซลล์ที่เสีย นายพิทยา บอกว่า ศอ.บต.ได้รวบรวมพื้นที่และจำนวนเสาไฟที่แจ้งชำรุดใช้การไม่ได้ในเบื้องต้นจากที่ชาวบ้านแจ้งผ่านสายด่วน 1880 ของ ศอ.บต. พบว่ามีจำนวน 531 จุด เป็นการสำรวจล่าสุดเมื่อสิ้นเดือนที่ผ่านมานี้เอง สาเหตุส่วนใหญ่เพราะแบตเตอรี่สูญหาย และขณะนี้ได้เร่งดำเนินการซ่อมแซมแล้ว ไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบเสาไฟที่ชำรุดเพิ่มเติม ทั้งนี้กระบวนการอาจล่าช้าไปบ้างตามระเบียบของทางราชการในการจัดหางบประมาณในการซ่อมแซม โดยใช้งบ 8,000 บาทต่อเสา 1 ต้น ซึ่งเป็นการซื้อแบตเตอรี่
"กระบวนการทั้งหมด ศอ.บต.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ทางบริษัทที่ว่าจ้างก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ไม่ว่าอยู่ในประกันหรือนอกประกันก็ช่วยกันซ่อม เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหา เรามีการติดป้ายตามเสาว่าไฟดับแจ้งสายด่วนอุ่นใจ 1880 ศอ.บต." นายพิทยา กล่าว และว่าเมื่อดำเนินการซ่อมเสาไฟโซลาร์เซลล์เสร็จแล้ว ศอ.บต.มีแผนส่งให้องค์การบริหารส่วนตาบล (อบต.) ดูแล โดยมีแผนอบรมให้ช่างของเทศบาลและองค์กรปกครองท้องถิ่นด้วย
ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศอ.บต. บอกอีกว่า การดำเนินโครงการติดตั้้งโคมส่องสว่างโซลาร์เซลล์ เป็นการตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ที่สอดคล้องกับความมั่นคงและสังคมจิตวิทยา เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชนในการใช้เส้นทางสัญจรไปมา รวมทั้งเป็นภารกิจในการส่งเสริมสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากติดตั้งโคมส่องสว่างไปกว่าหมื่นจุด ปรากฏว่าช่วยลดการก่อเหตุในพื้นที่ได้มาก รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ทั้งโรงเรียน วัด และชุมชน ได้ร้องขอมายัง ศอ.บต.ให้มีการติดตั้งโคมไฟส่องสว่างโซลาร์เซลล์จำนวนมาก
ส่วนที่มีกระแสวิจารณ์ว่า โครงการเสาไฟพลังงานแสงอาทิตย์อาจไม่เหมาะกับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีฝนตกชุกนั้น นายพิทยา บอกว่า จริงๆ แล้วแม้ในพื้นที่ภาคใต้มีฝนตกชุก แต่สภาพอากาศโดยรวมจะร้อน และมีแดดตลอดทั้งวัน อีกทั้งระบบโซลาร์เซลล์ไม่จำเป็นต้องใช้แสงแดดจำนวนมาก แดดอ่อนก็สามารถเก็บไฟฟ้าได้ ถ้ามองในประเด็นว่าในพื้นที่ชาวบ้านมีการร้องขอแสงสว่างเพื่อความปลอดภัย แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานท้องถิ่น ย่อมถือว่าเสาไฟโซลาร์เซลล์เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะสามารถติดตั้งได้ทุกพื้นที่โดยไม่ต้องรอการขยายเขตไฟฟ้า
-----------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เสาไฟโซลาร์เซลล์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
อ่านประกอบ : เจาะโครงการเสาไฟโซลาร์เซลล์พันล้าน! ชาวบ้านร้องติดๆ ดับๆ