สื่อชนะยกแรก! ศาลแพ่งสั่งคุ้มครองชั่วคราวข้อกำหนดฯตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉ.29 ชี้การระบุห้ามแพร่ข้อความสร้างความหวาดกลัว มิได้จำกัดเฉพาะเรื่องเท็จ เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อ-ประชาชน มีลักษณะไม่แน่ชัด-ขอบเขตกว้าง ทำให้ไม่มั่นใจในการแสดงความเห็น-สื่อสาร รวมถึงการปิดกั้น IP Address ขัด รธน.ด้วย
.......................................................................
จากกรณีเมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2564 ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก สื่อมวลชนและประชาชน นำโดย The Reporters, Voice, The Standard, The Momentum, THE MATTER, ประชาไท, Dem All, The People, way magazine, PLUS SEVEN และประชาชนเบียร์ พร้อมทีมทนายความจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รวมตัวยื่นฟ้อง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเป็นผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กรณีออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ให้อำนาจ กสทช. ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตผู้โพสต์ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว เป็นการออกคำสั่งโดยไม่มีอำนาจ ไม่มีความจำเป็น ไม่ได้สัดส่วน และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองเสรีภาพประชาชนด้วย ต่อมาศาลแพ่งนัดฟังคำสั่งไต่สวนฉุกเฉินคดีดังกล่าวในวันที่ 6 ส.ค. 2564 นั้น (อ่านประกอบ : นัดฟังคำสั่งไต่สวนฉุกเฉิน 6 ส.ค.! คดีสื่อ-ปชช.ฟ้องข้อกำหนดฯ ฉ.29 ขัด รธน.)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2564 ศาลแพ่งได้ออกนั่งพิจารณาไต่สวนพยานหลักฐานแล้วมีคำสั่งอันสรุปใจความได้ว่า ข้อกำหนดฯ ข้อ 1 ที่ห้ามเผยแพร่ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว มิได้จำกัดเฉพาะข้อความอันเป็นเท็จ ดังเหตุผลและความจำเป็นตามที่ระบุไว้ในการออกข้อกำหนดดังกล่าว ย่อมเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของโจทก์ทั้ง 12 และประชาชนที่รัฐธรรมนูญปี 2560 บัญญัติคุ้มครองไว้ ทั้งยังไม่ต้องด้วยข้อกำหนดฯ ที่ระบุว่า จำเป็นต้องมีมาตรการที่กำหนดให้การใช้สิทธิเสรีภในการแสดงออกเป็นไปอย่างมีเหตุผล ถูกต้องตามข้อเท็จจริงตามกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนด
ทั้งข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวตามข้อกำหนดฯดังกล่าวนั้น มีลักษณะไม่แน่ชัดและขอบเขตกว้าง ทำให้โจทก์ทั้ง 12 ประชาชน และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนไม่มั่นใจในการแสดงความคิดเห็นและสื่อสารตามเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 34 วรรคหนึ่ง และ 35 วรรคหนึ่ง บัญญัติคุ้มครองไว้ นอกจากนี้ยังเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอันเกินแก่สมควร ไม่ต้องด้วยมาตรา 26 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญ
ทั้งข้อกำหนดฯดังกล่าว ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์หรือแนวทางในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่โจทก์ทั้ง 12 หรือประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ ตามความในมาตรา 9 วรรคสอง แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่วนข้อกำหนดฯ ข้อ 2 ที่ให้อำนาจระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ไอพี (IP Address) ที่มีการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารในอินเทอร์เน็ตที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดฯ ไม่ปรากฏว่ามาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดให้ดำเนินการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต จึงเป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อินเทอร์เน็ตมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 และรัฐสั่งปิดพื้นที่ หรือล็อกดาวน์จำกัดการเดินทาง หรือการพบปะระหว่างบุคคล ทั้งข้อกำหนดฯข้อดังกล่าวมิได้จำกัดเฉพาะการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตสำหรับการกระทำครั้งที่เป็นเหตุแห่งการระงับให้บริการอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่ยังระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตในอนาคตด้วย ปิดกั้นการสื่อสารของบุคคล และเป็นการปิดกั้นสุจริตชนผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารดังกล่าว ไม่ต้องด้วยมาตรา 36 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญ
การให้ข้อกำหนดฯทั้ง 2 ข้อดังกล่าว มีผลบังคับใช้ต่อไป อาจทำให้เกิดความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังได้ กรณีมีเหตุจำเป็นเห็นเป็นการยุติธรรม และสมควรในการนำวิธีชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้เพื่อเป็นการระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดฯทั้ง 2 ข้อดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 (2) มาตรา 255 (2) (ง) ประกอบมาตรา 267 วรรคหนึ่ง และการระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าว ไม่น่าเป็นอุปสรรคแก่การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐ หรือแก่ประโยชน์สาธารณะ เพราะยังมีมาตรการทางกฎหมายหลายฉบับ ให้สามารถดำเนินการเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายผ่านช่องทางสื่อสารต่าง ๆ อีกทั้งรัฐสามารถใช้สื่อวิทยุและโทรทัศน์ในการกำกับเป็นเครื่องมือในการให้ความรู้เพื่อการรู้เท่าทัน สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนแก่ประชาชนได้ด้วย
จึงมีคำสั่งห้ามจำเลยดำเนินการบังคับใช้ข้อกำหนดฯ ตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29 เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
อ่านประกอบ :
นัดฟังคำสั่งไต่สวนฉุกเฉิน 6 ส.ค.! คดีสื่อ-ปชช.ฟ้องข้อกำหนดฯ ฉ.29 ขัด รธน.
เชิญผู้บริหารสื่อถก! รมว.ดีอีเอสลั่นคำสั่งนายกฯเน้นเอาผิด‘สื่อเทียม’ตั้งใจบิดเบือน
บัญญัติคลุมเครือ-ขัด รธน.! สื่อ-ปชช.ฟ้องศาลแพ่งเพิกถอนคำสั่งนายกฯให้ กสทช.ตัดเน็ต
‘นพ.ประวิทย์’ชี้คำสั่งนายกฯเลี่ยงบาลีให้ สนง.กสทช.ดูเฟกนิวส์ทั้งที่ กม.ไม่ให้อำนาจ
อาจารย์วารสาร มธ.ร่วมออกแถลงการณ์ จี้ รบ.ยกเลิก พรก.จำกัดความเห็นสื่อ-ปชช.
ปิดกั้นเสรีภาพสื่อ-ปชช.! แถลงการณ์‘เพื่อไทย & ก้าวไกล’จี้เลิกคำสั่งนายกฯ ฉ.29
70 คณาจารย์นิติฯทั่ว ปท. แถลงยัน‘บิ๊กตู่’ไร้อำนาจออกกฎห้ามสื่อ-ปชช.แพร่ข่าว-ขัด รธน.
‘บิ๊กตู่’ยกระดับคุม!ห้ามเสนอข่าวให้คนหวาดกลัว สั่ง กสทช.ตรวจสอบ-ระงับไอพีทันที
6 องค์กรสื่อฯ จี้รัฐทบทวนข้อกำหนดการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินกระทบต่อเสรีภาพ
แถลงการณ์ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จี้รัฐยกเลิกจำกัดเสรีภาพสื่อ-ประชาชน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage