“…เมื่อพิจารณาเหตุผลเบื้องหลังของการออกข้อกำหนดนี้จะเห็นได้ว่า รัฐบาลและ ศบค. บริหารงานล้มเหลวในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากทุกภาคส่วน จนกระทบต่อสถานะการดำรงอยู่ของรัฐบาล โดยเฉพาะตัวของนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ส่วนสื่อมวลชนไม่ปรากฏว่ามีสื่อสำนักใดเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จเกี่ยวกับโรคโควิด-19 จึงเห็นได้ว่า เหตุผลที่แท้จริงในการออกข้อกำหนดนี้มิได้เกี่ยวกับความจำเป็นที่จะทำให้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยุติลงโดยเร็ว หรือเพื่อป้องกันมิให้การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวรุนแรงขึ้นตามเงื่อนไขของกฎหมายแต่อย่างใด แต่เป็นการดำเนินการโดยมีเหตุผลทางการเมืองแอบแฝงโดยมิได้คำนึงว่าการกระทำเช่นนี้ จะไปจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนอย่างไร…”
.................................................................................
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล 2 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ออกแถลงการณ์ถึงคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) มีผลบังคับใช้เมื่อ 30 ก.ค. 2564 เป็นต้น โดยมีเนื้อหาห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและยังกำหนดต่อไปว่า กรณีมีการเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตให้สำนักงาน กสทช.แจ้งผู้รับใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ตตรวจสอบ IP Address ของผู้นั้น และให้ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ผู้นั้นได้ทันทีนั้น
(ภาพประกอบจาก : https://www.thaipost.net/)
@พรรคเพื่อไทย
พรรคเพื่อไทย เห็นว่า ข้อกำหนดดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพของสื่อมวลชนในการเสนอข้อมูล ข่าวสาร และเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นอย่างร้ายแรง ดังนี้
1. การออกข้อกำหนดดังกล่าวต้องเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงโดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้นเท่านั้น ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 วรรคแรก แต่การจำกัดการเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชน และการจำกัดเสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจะทำให้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยุติลงโดยเร็วหรือไม่ให้โรคระบาดรุนแรงขึ้นแต่อย่างใด ดังนั้น การออกข้อกำหนดดังกล่าวจึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
2. ข้อความที่ว่าห้ามเสนอข่าวที่มีข้อความอันทำให้ประชาชนเกิดความกลัวนั้น มีความหมายไม่ชัดเจน ไม่มีมาตรวัดใดที่จะใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานได้ ข้อความข้างต้นจึงขาดความชัดเจนแน่นอน ปล่อยให้เกิดการใช้ดุลยพินิจและการเลือกปฏิบัติได้ ข้อกำหนดดังกล่าวจึงขัดต่อหลักการตรากฎหมายที่มีโทษทางอาญาและกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและยังเป็นการจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนและเสรีภาพของประชาชนเกินสมควรแก่เหตุอันขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วย
3. ข้อกำหนดที่ให้อำนาจแก่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตตรวจสอบและวินิจฉัยว่า การเสนอข้อมูลข่าวสารของบุคคลใดเป็นการต้องห้ามตามข้อกำหนดหรือไม่ และให้อำนาจในการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตของผู้นั้น เป็นการมอบอำนาจให้องค์กรเอกชนซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้วินิจฉัยว่าบุคคลใดกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดหรือไม่ ผิดหลักการของกฎหมายมหาชน และการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างร้ายแรง เพราะอำนาจการวินิจฉัยว่าผู้ใดกระทำความผิดและต้องระงับการใช้อินเทอร์เน็ตควรเป็นอำนาจของศาลหรือ กสทช.ตามกรอบที่กฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น
4. เหตุผลของการออกข้อกำหนดระบุไว้ชัดเจนว่า “โดยที่มีการเผยแพร่โดยทั่วไปซึ่งข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้ประชาชนเกิดความกลัว หรือข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน...” ดังนั้น หากจะออกข้อกำหนดดังกล่าวจะต้องจำกัดการเสนอข่าวว่าต้องเป็นข้อมูลที่เป็นเท็จเท่านั้น การเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริงไม่ควรถูกห้ามไปด้วย การออกข้อกำหนดเพื่อเอาผิดกับผู้ที่พูดความจริงจึงมีเจตนาเพื่อปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน
5. เมื่อพิจารณาเหตุผลเบื้องหลังของการออกข้อกำหนดนี้จะเห็นได้ว่า รัฐบาลและ ศบค. บริหารงานล้มเหลวในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากทุกภาคส่วน จนกระทบต่อสถานะการดำรงอยู่ของรัฐบาล โดยเฉพาะตัวของนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ส่วนสื่อมวลชนไม่ปรากฏว่ามีสื่อสำนักใดเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จเกี่ยวกับโรคโควิด-19 จึงเห็นได้ว่า เหตุผลที่แท้จริงในการออกข้อกำหนดนี้มิได้เกี่ยวกับความจำเป็นที่จะทำให้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยุติลงโดยเร็ว หรือเพื่อป้องกันมิให้การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวรุนแรงขึ้นตามเงื่อนไขของกฎหมายแต่อย่างใด แต่เป็นการดำเนินการโดยมีเหตุผลทางการเมืองแอบแฝงโดยมิได้คำนึงว่าการกระทำเช่นนี้ จะไปจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนอย่างไร
6. การแก้ไขปัญหาและต่อสู้กับโรคระบาดร้ายแรงเช่นนี้มีความจำเป็นที่ต้องเข้าใจสถานการณ์และรับรู้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมดอย่างรอบด้าน เพื่อให้ทั้งภาครัฐและประชาชนเข้าใจในความจริงที่เกิดขึ้น เพื่อจะสามารถเห็นถึงปัญหาและประเมินสถานการณ์ได้ถูกต้อง ตรงกับสภาพของปัญหาที่เกิดขึ้น การระงับ ยับยั้ง หรือปิดกั้นการรับรู้ข้อเท็จจริงด้วยการ ออกข้อกำหนดดังกล่าว นอกจากจะทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในข้อเท็จจริง ที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบต่อการระดมความร่วมมือของประชาชนเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาด้วย
พรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่า ไม่มีเหตุผลและความจำเป็นที่นายกรัฐมนตรีจะต้องออกข้อกำหนดนี้ และการออกข้อกำหนดก็ขัดต่อรัฐธรรมนูญและไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ พรรคจึงขอเรียกร้องให้ยกเลิกข้อกำหนดฉบับนี้เสียจึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
(ภาพจากทีมโฆษกพรรคก้าวไกล)
@พรรคก้าวไกล
พรรคก้าวไกลมีความเห็นดังนี้
1. การระบาดของไวรัสโควิด 19 ในปัจจุบัน อยู่ในสถานการณ์วิกฤตรุนแรงกว่าที่ควรจะเป็น เป็นเพราะการบริหารที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเจตนาที่จะแทงม้าตัวเดียวเรื่องวัคซีน และความบกพร่องในการยกระดับระบบสาธารณะให้เตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่แย่ที่สุด มิได้เกิดจากการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน เมื่อสถานการณ์การระบาดเข้าขั้นวิกฤตในขณะนี้ แทนที่รัฐบาลจะใช้อำนาจที่มีเร่งแก้ไขความบกพร่องผิดพลาดของตนเองในอดีต และสื่อสารกับประชาชนด้วยข้อมูลที่รอบด้านและชัดเจนไม่สับสน รัฐบาลกลับมองสื่อมวลชนและประชาชนเป็นภัยความมั่นคง แล้วใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินจำกัดการเสนอข่าวสารอย่างรอบด้านของสื่อมวลชน และปิดกั้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดจากการออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 เมื่อวานนี้
2. การกำหนดข้อห้ามในลักษณะเช่นนี้ได้เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ในข้อกำหนดฉบับที่ 27 ที่ออกเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 และแม้จะมีเสียงคัดค้านเป็นวงกว้างจากทั้งประชาชน นักวิชาการ รวมถึง 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่เห็นว่าเป็นการใช้อำนาจเกินกว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้วก็ตาม แต่รัฐบาลก็หาได้รับฟังไม่ ยังคงเนื้อหาข้อห้ามไว้เช่นเดิมในข้อบังคับฉบับล่าสุดคือฉบับที่ 29 ซึ่งการมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. สามารถระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ผู้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารได้นั้นถือเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 36 ที่รับรองเสรีภาพของบุคคลในการติดต่อสื่อสารถึงกันไม่ว่าในทางใดๆ เนื่องจากการระงับให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ผู้ใช้บริการรายใดๆ นั้นหมายความว่าผู้ใช้บริการนั้นมิอาจเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยสมบูรณ์ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานประการใดก็ตาม
3. พรรคก้าวไกลเคยเตือน พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลไว้ตั้งแต่ก่อนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในแถลงการณ์ของพรรคเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ว่าหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาการระบาดของโรค COVID-19 มิใช่อำนาจพิเศษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หากแต่เป็นการมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน การบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ การวางแผนอย่างรอบคอบ เตรียมความพร้อมและประเมินผลกระทบมาอย่างรอบด้านแล้ว รวมถึงการสื่อสารที่ชัดเจนหนักแน่นและการเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา นอกจากนี้พรรคก้าวไกลยังได้กำชับรัฐบาลต้องไม่ฉวยโอกาสใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินตามอำเภอใจ แต่ต้องใช้อย่างจำกัดและระมัดระวังเพียงเพื่อวัตถุประสงค์ของการแก้ปัญหา COVID-19 เท่านั้น รวมถึงต้องไม่ฉวยโอกาสลิดรอนเสรีภาพของสื่อมวลชนและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และละเมิดสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน เนื่องจากข้อมูลข่าวสารที่รอบด้านมีความสำคัญในช่วงเวลาวิกฤต เพื่อให้ประชาชนเท่าทันกับสถานการณ์ที่เป็นจริงและสามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้
ทว่าตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี 4 เดือนที่ผ่านมา ตลอดการประกาศและต่ออายุสถานการณ์ฉุกเฉินมาแล้วทั้งสิ้น 14 ครั้ง เรากลับเห็นรัฐบาลเน้นใช้อำนาจพิเศษไปกับการปราบปรามการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ในขณะที่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือประชาชนทั้งประเทศให้รอดพ้นจากวิกฤต ทั้งการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคมาฉีดโดยเร็วที่สุด ทั้งการอนุมัติยา เครื่องมือตรวจโรค และอุปกรณ์จำเป็นต่างๆ ทั้งการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรค ทั้งหมดนี้ควรได้รับประโยชน์จากการรวมศูนย์บริหารจัดการและลดขั้นตอนดำเนินงานโดยผลของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่กลับกลายเป็นว่าในทางปฏิบัติก็ยังคงต้องมาติดหล่มของระเบียบวิธีราชการเหมือนที่เคยเป็นมา เกิดปัญหาความซ้ำซ้อนกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ และขาดหน่วยงานรับผิดชอบที่ชัดเจน ทุกอย่างสับสนวุ่นวายท่ามกลางสถานการณ์ที่ประชาชนต้องเสียชีวิตไปวันละนับร้อยคน
4. ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาแล้ว พรรคก้าวไกลจึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรยกเลิกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ทันที และจากนั้นควรยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แล้วกลับไปสู่การรับมือและแก้ไขสถานการณ์ COVID-19 อย่างจริงจังภายใต้ระบบกฎหมายปรกติ โดยรัฐบาลที่สามารถแก้ไขวิกฤตได้ ไม่ใช่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกต่อไปแล้ว เพราะในวันนี้พิสูจน์แล้วว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นภาระอันหนักอึ้งเหลือเกินสำหรับประเทศนี้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage