‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ โต้ ‘กรรมการด้วยว่าสัญญา’ สคบ. หลังร่วมโต๊ะแถลงกับ ‘ผู้ประกอบการ’ การันตีเครื่องดื่มผสมวิตามินซี ‘ยันฮี วิตามิน วอเตอร์’ มีวิตามินตามที่ขออนุญาต ชี้ทำนอกเหนือหน้าที่หรือไม่ ยันผลการสุ่มตรวจได้มาตรฐานขององค์กรผู้บริโภคทั่วโลก โต้ไม่เคยรับผลประโยชน์จากคู่แข่ง
................
จากกรณี นพ.สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยันฮี วิตามิน วอเตอร์ จำกัด และศ.เมธี ดร.สุปรีดิ์ วงศ์ดีพร้อม กรรมการว่าด้วยสัญญา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมแถลงข่าวเมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา ว่า จากการเก็บตัวอย่างเครื่องดื่มผสมวิตามินซีล็อตที่เป็นข่าว ไปตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตามคำสั่งของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ผลยืนยันว่าเครื่องดื่มยันฮี วิตามิน วอเตอร์ มีวิตามินตามที่ขออนุญาตไว้
ทั้งนี้ ในการแถลงข่าวดังกล่าว มีการนำเอกสารผลการตรวจสอบจากสำนักงานสาธารณสุขนนทบุรีมาแสดง ขณะที่ศ.เมธี ดร.สุปรีดิ์ ได้กล่าวว่า การตรวจสอบผลิตภัณฑ์เป็นอำนาจของ สคบ. เพราะมีกฎหมายรองรับไม่เหมือนองค์กรหรือสมาคม ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และในหลายกรณีอาจจะเกิดจากการกลั่นแกล้ง หรือรับจ้างคู่แข่งทางการค้ามาโจมตี ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ผลิต
ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มี.ค. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ออกแถลงการณ์ในกรณีดังกล่าว โดยมีเนื้อหาว่า ตามที่กรรมการว่าด้วยสัญญา สคบ. ได้ร่วมแถลงข่าวกับผู้ประกอบการ ตอบโต้ผลการทดสอบน้ำดื่มผสมวิตามินซีของนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยชี้แจงว่า การตรวจสอบผลิตภัณฑ์ เป็นอำนาจของ สคบ. เพราะมีกฎหมายรองรับ ไม่เหมือนองค์กร หรือสมาคม ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมาย และในหลายกรณีอาจจะเกิดจากการกลั่นแกล้ง หรือรับจ้างคู่แข่งทางการค้ามาโจมตี ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ผลิต แนะนำหากสินค้ามีปัญหาร้องเรียนได้ที่ สคบ. ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐเท่านั้น
หากใครติดตามเรื่องดังกล่าวคงจะทราบว่า เป็นการกล่าวพาดพิงถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และที่สำคัญการตรวจน้ำดื่มผสมวิตามินซีของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นการตรวจผลิตภัณฑ์จากโรงงานผู้ผลิต ไม่ใช่การตรวจสอบสินค้าที่ผู้บริโภคซื้อจากร้านค้าทั่วไป เหมือนที่นิตยสารฉลาดซื้อดำเนินการที่ผ่านมา
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอเรียกร้องไปยัง สคบ. พิจารณาการทำหน้าที่ของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาคนดังกล่าว ที่ไปร่วมแถลงข่าวกับผู้ประกอบธุรกิจ ทั้งที่เรื่องดังกล่าว สคบ. ไม่ได้รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าว หรือไม่ได้มีส่วนในการทดสอบผลิตภัณฑ์นั้นเอง จึงถือว่าเป็นการทำหน้าที่ที่ชอบหรือไม่ และนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสัญญาหรือไม่ และขอให้ อย.เปิดเผยข้อมูลกับผู้บริโภคถึงแหล่งที่มาของสินค้าที่ตรวจสอบ
“อนุกรรมการสัญญา ถือเป็นกลไกส่วนหนึ่งของสคบ. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค ควรทำหน้าสนับสนุนองค์กรผู้บริโภค นอกเหนือการดำเนินงานสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประกอบการ ที่สำคัญการให้ข่าวในครั้งนี้ขาดการตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริงจากองค์กรที่เกี่ยวข้องว่า มีการดำเนินการอย่างไร ถือเป็นกล่าวหาและวิจารณ์การทำงานของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภค ว่ารับผลประโยชน์จากบริษัทคู่แข่ง โดยไม่เป็นความจริง ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์กรผู้บริโภคโดยรวม” มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคระบุ
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระด้วยว่า ที่สำคัญการทดสอบสินค้าของอย. หรือหน่วยงานรัฐ ส่วนใหญ่ดำเนินเก็บตัวอย่างจากโรงงานเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ได้ทำการเก็บตัวอย่างสินค้าจากแหล่งซื้อขายทั่วไป การทดสอบสินค้าและบริการ (Rating Comparative Test) เป็นการดำเนินการขององค์กรผู้บริโภคทั่วโลก เพื่อเผยแพร่ข้อมูลให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้า เพราะเชื่อว่าการซื้อของผู้บริโภคเป็นการลงคะแนนออกแบบการผลิตสินค้า จะช่วยยกระดับมาตรฐานและคุณภาพสินค้าในประเทศได้เป็นอย่างดี และประเทศไทยถือได้ว่า การดำเนินการด้านนี้ มีความเข้มแข็งมากที่สุดในระดับภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ตามประกาศของกระทรวงการคลัง เลขที่ 576 มีวัตถุประสงค์คุ้มครองสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค มีกิจการสำคัญ คือ การจัดทำนิตยสารฉลาดซื้อ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลผลทดสอบสินค้าหรือบริการให้ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อ และมีอำนาจในการฟ้องคดีแทนผู้บริโภค ตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522
รวมทั้งปัจจุบันมีองค์กรผู้บริโภคจำนวนมาก ไม่น้อยกว่า 200 องค์กร ที่มีการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 46 วรรค 2 บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค และมูลนิธิฯ ได้จดแจ้งเป็นองค์กรผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคคือใคร)
ส่วนนิตยสารฉลาดซื้อ ได้ทำงานเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิผู้บริโภค และเผยแพร่ข้อมูลผลทดสอบสินค้าหรือบริการ เพื่อให้ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ มาเป็นเวลากว่า 27 ปี โดยผลการทดสอบของนิตยสารฉลาดซื้อสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมมากมาย การทดสอบใช้ห้องทดลองที่ได้มาตรฐานในด้านนั้น ๆ มีความเป็นกลาง เชื่อถือได้ มีความเป็นอิสระ ให้ความเป็นธรรมกับทุกบริษัทเท่าเทียมกัน ไม่มีการรับโฆษณาจากบริษัทใดๆ หรือรับจ้างทดสอบแต่อย่างใด โดยการทดสอบมีขั้นตอนที่สำคัญ ดังนี้
1.สุ่มเก็บตัวอย่างสินค้า โดยการซื้อมากยี่ห้อที่จะซื้อได้จากร้านค้าทั่วไปทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ในระยะเวลาตั้งแต่ 1 วันถึงไม่เกิน 1 สัปดาห์
2.บันทึกรายละเอียดบนฉลากของสินค้าทุกรายการ ก่อนนำส่งห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ISO 17025 และทดสอบตามมาตรฐานที่หน่วยงานรัฐกำหนด หรือหากไม่มีมาตรฐานของประเทศก็ใช้มาตรฐานระหว่างประเทศที่ได้รับการยอมรับร่วมกัน เช่น CODEX
3.เผยแพร่ผลการทดสอบโดยระบุยี่ห้อเพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และดังที่องค์กรผู้บริโภคมีการดำเนินการกันทั่วโลก
4.ส่งผลการทดสอบให้หน่วยงานที่กำกับดูแลตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อบังคับใช้กฎหมายและยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของสินค้า
อ่านประกอบ :
ยืนยันใส่ทุกขวด!'ยันฮี'แจง 4 ข้อปม'ฉลาดซื้อ'ตรวจไม่เจอวิตามินซีในเครื่องดื่ม
ธุรกิจ 6 ผู้ผลิตเครื่องดื่มผสม‘วิตามินซี’ ก่อนดราม่าไม่พบสาร-‘ยันฮี-ดี.อาร์ฯ’ยันมีจริง
'ฉลาดซื้อ'ตรวจไม่พบวิตามินซีในเครื่องดื่มผสมวิตามินซี 8 ยี่ห้อ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/