พลิกธุรกิจ 6 บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มผสม ‘วิตามินซี’ ก่อนถูกมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคออกโรงเผยแพร่ข้อมูลไม่พบวิตามินซีผสมจริง ด้าน ‘ยันฮี-ดี.อาร์.ดริ้งค์.’ ออกแถลงการณ์โต้ด่วน เป็นสารเปราะบาง-สลายง่าย แต่ไม่หายไปทั้งหมด
.......................
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงที่ผ่านมาเครื่องดื่มผสม ‘วิตามินซี’ กำลังเป็นที่นิยมของประชาชนจำนวนไม่น้อย เนื่องจากการอวดอ้างสรรพคุณว่าช่วยเสริมสร้างสุขภาพให้ร่างกายกลับมามีสุขภาพดี ตรงจริตกับ ‘มนุษย์เงินเดือน’ ในเมืองใหญ่ที่ไม่ค่อยมีเวลาออกกำลังกาย หรือดูแลสุขภาพเท่าที่ควร?
อย่างไรก็ดีเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา กลายเป็นประเด็น ‘ดราม่า’ ครั้งใหญ่ เมื่อศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ภายใต้โครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพผยผลทดสอบปริมาณวิตามินซีในเครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวน 47 ตัวอย่าง ที่วางจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด พบมีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลากสินค้า และมีถึง 8 ตัวอย่างที่ไม่พบปริมาณวิตามินซี แนะผู้บริโภครับประทานวิตามินซีจากผักหรือผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม ฝรั่ง หรือลูกหม่อน
ตัวอย่างเครื่องดื่มผสมวิตามินซี ที่ตรวจไม่พบปริมาณวิตามินซี จำนวน 8 ตัวอย่าง ได้แก่
1) ยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์ Yanhee VITAMIN C WATER กราสเจลลี่ (เครื่องดื่มผสมน้ำเฉาก๊วยสกัดและวิตามินซี) ขนาด 460 มล.(วันผลิต 07-10-2020 / 07-10-2021)
2) นูริชเมท Nurish Mate ขนมเยลลี่บุก และคาราจีแนน ผสมคอลลาเจน วิตามินซี และน้ำองุ่นขาว 15% กลิ่นสตรอเบอร์รี่ และพีช ขนาด 150 มล.( วันผลิต 11-08-2020 / 10-08-2021 )
3) มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นกลิ่นส้มผสมวิตามิน ขนาด 48 มล. ( วันผลิต12-06-2019 / 12-06-2021 )
4) มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นกลิ่นเบอร์รี่เลมอนผสมวิตามิน ขนาด 48 มล. ( วันผลิต 07-03-2019 / 07-03-2021 )
5) เครื่องดื่มรสมะนาวเลม่อน ตรามินิ Lemonade Vitamin C200 ขนาด 345 มล. ( วันผลิต00-00-0000 / 03-10-2021 )
6) เฟสต้า-ซี เดลี่ ไฟเบอร์ ลิ้นจี่ เฟลเวอร์ เครื่องดื่มน้ำรสลิ้นจี่ 12% ผสมวิตามินซี และใยอาหาร 100 ขนาด มล.( วันผลิต 02-09-2019 / 01-03-2021 )
7) มินิ พิงค์เลม่อนเนด เครื่องดี่มรสเลม่อนผสมเบอร์รี่ ขนาด 345 มล. ( วันผลิต 00-00-00 / 26-08-21 )
8) ดี.อาร์.ดริ้งค์ D.R.DRINK เจนไม วิตามิน วอเตอร์ (เครื่องดื่มผสมวิตามินซี วิตามินบี3 บี6 บี12 ไบโอติน กรดโฟลิค แซฟฟลาเวอร์และแคลเซียมจากสาหร่ายลิโทรามเนียน) ขนาด 500 มล. ( วันผลิต 09-11-2020 / 09-11-2021)
ขณะที่ นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีนี้คอนเฟิร์มว่า การดื่มน้ำผสมวิตามิน หากเกินความต้องการของร่างกายจะมีการขับทิ้ง อาจเป็นการเสียเงินเปล่า แนะนำว่าให้ดื่มน้ำสะอาดวันละ 6-8 แก้ว ช่วยให้มีสุขภาพดี (อ้างอิงข้อมูลจาก เดลินิวส์ออนไลน์ : https://www.dailynews.co.th/politics/813304)
อย่างไรก็ดี ยันฮี วิตามินซี วอเตอร์ ออกแถลงการณ์ตอบโต้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคดังกล่าว ยืนยันว่า เครื่องดื่มยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์ ได้ใส่ส่วนผสมวิตามินซีตามที่ระบุไว้ในฉลากเครื่องดื่ม แต่ด้วยคุณสมบัติบางประการของวิตามินซี ที่มีความเปราะบาง อาจมีโอกาสสลายได้ง่ายกว่าวิตามินตัวอื่น ๆ (อ้างอิงข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/912842)
เช่นเดียวกับ ดี.อาร์.ดริ้งค์ โดยบริษัท ดี.อาร์.ดริ้งค์ จำกัด ออกแถลงการณ์ชี้แจงยืนยันว่าคุณสมบัติบางประการของวิตามินซีมีโอกาสสลายง่ายกว่าวิตามินตัวอื่น ๆ แต่ไม่ถึงกับสลายจนไม่สามารถตรวจพบวิตามินซีในสินค้าได้ (อ้างอิงข้อมูลจาก เดลินิวส์ออนไลน์ : https://www.dailynews.co.th/regional/813374)
ไม่ว่าข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นอย่างไร คงต้องรอผู้เชี่ยวชาญมาพิสูจน์ผลทางวิทยาศาสตร์กันต่อไป
ประเด็นที่น่าสนใจคือ บริษัทที่ผลิตเครื่องดื่มผสมวิตามินซีเหล่านี้ มีรายได้กันเท่าไหร่บ้างในช่วงปีที่ผ่านมา ท่ามกลางการตื่นตัวของประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เลือกบริโภคเครื่องดื่มเหล่านี้?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นข้อมูลพบรายละเอียดอย่างน้อย 6 แห่งดังนี้
ข้อมูลจากกรมธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2563 พบว่า เครื่องดื่มผสมวิตามินซีทั้ง 8 รายการข้างต้น ผลิตภายใต้ชื่อบริษัทเหล่านี้
1.ยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์ Yanhee VITAMIN C WATER มีบริษัท ยันฮี วิตามิน วอเตอร์ จำกัด เป็นเจ้าของ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2556 ทุนปัจจุบัน 150 ล้านบาท แจ้งประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่มืดสนิท
ปรากฏชื่อนายสุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา นางลดาวดี สัมฤทธิวณิชชา นายสรรพสิทธิ์ สัมฤทธิวณิชชา น.ส.สิรินทรา สัมฤทธิวณิชชา นายสิรภพ สัมฤทธิวณิชชา และ น.ส.สุชาวดี สัมฤทธิวณิชชา เป็นกรรมการ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2562 มีรายได้รวม 467,820,785 บาท รายจ่ายรวม 326,902,760 บาท เสียภาษีเงินได้ 6,560,985 บาท กำไรสุทธิ 127,005,194 บาท
2.นูริชเมท Nurish Mate มีบริษัท แม็กซ์ม่าฟู้ด จำกัด เป็นเจ้าของ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2550 ทุนปัจจุบัน 1 ล้านบาท แจ้งประกอบธุรกิจผลิตสินค้าจำพวกเครื่องดื่ม
ปรากฏชื่อนายสารสิทธิ์ ชาตะเมธีกุล เป็นกรรมการ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2561 มีรายได้รวม 2,573,716 บาท รายจ่ายรวม 3,813,062 บาท ขาดทุนสุทธิ 1,239,345 บาท
3.มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นกลิ่นส้มผสมวิตามิน และ 4.มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นกลิ่นเบอร์รี่เลมอนผสมวิตามิน มีบริษัท รูมซกาย จำกัด เป็นเจ้าของ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2557 ทุนปัจจุบัน 1 ล้านบาท แจ้งประกอบธุรกิจรับเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำปัญหาเกี่ยวกับด้านบริหาร งานพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม
ปรากฏชื่อนายพรรธน ชวนะเบญจวุฒิ น.ส.กรรณิกา วงศ์มยุรฉัตร นายสามารถ ชวนะเบญจวุฒิ และนางวรรณรัตน์ ชวนะเบญจวุฒิ เป็นกรรมการ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2560 มีรายได้รวม 711,178 บาท รายจ่ายรวม 1,335,994 บาท ขาดทุนสุทธิ 624,815 บาท
5.เฟสต้า-ซี เดลี่ ไฟเบอร์ ลิ้นจี่ เฟลเวอร์ มีบริษัท นูทริน่า อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด เป็นเจ้าของ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2550 ทุนปัจจุบัน 50 ล้านบาท แจ้งประกอบธุรกิจขายสินค้า
ปรากฏชื่อนายพิรุณโรจน์ ไกรสุรพงศ์ เป็นกรรมการ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2562 มีรายได้รวม 196,439,976 บาท รายจ่ายรวม 201,029,722 บาท เสียภาษีเงินได้ 620,301 บาท ขาดทุนสุทธิ 6,880,052 บาท
6.ดี.อาร์.ดริ้งค์ D.R.DRINK เจนไม วิตามิน วอเตอร์ มีบริษัท ดี.อาร์.ดริ้งค์ จำกัด เป็นเจ้าของ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2562 แจ้งประกอบธุรกิจการผลิตน้ำดื่มบริสุทธิ์และน้ำแร่บรรจุขวด
ปรากฏชื่อนางณัฐชญา ไมตรีเวช และนายอัตรนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ เป็นกรรมการ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2562 มีรายได้รวม 13,591 บาท รายจ่ายรวม 793,879 บาท กำไรสุทธิ 780,287 บาท
อย่างไรก็ดีข้อมูลผู้ผลิต เครื่องดื่มรสมะนาวเลม่อน ตรามินิ Lemonade Vitamin C200 และมินิ พิงค์เลม่อนเนด เบื้องต้นยังตรวจสอบไม่พบรายละเอียด หากตรวจสอบพบสำนักข่าวอิศราจะนำมาเสนออีกครั้ง
ทั้งหมดคือข้อมูลโดยสังเขปของธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตน้ำดื่มผสม ‘วิตามินซี’ ที่กำลังเป็นที่โจษจันในหมู่ประชาชนผู้บริโภค และแวดวงการแพทย์อยู่ในขณะนี้!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/