'บิ๊กตู่' ลงนามคำสั่งนายกฯ จัดโครงสร้าง ศบค. แบ่ง 10 ศูนย์ย่อย มีทั้งศูนย์การฉุกเฉินการแพทย์ ศูนย์ช่วยเหลือประชาชน ศูนย์กระจายหน้ากาก-เวชภัณฑ์ ศูนย์มาตรการการเข้า-ออกประเทศ ศูนย์สื่อสารฯ ศูนย์ด้านความมั่นคง ตั้งคณะที่ปรึกษาด้านการแพทย์-กฎหมาย-ธุรกิจ ได้ ประชุมทุกวัน แต่ 28-29 มี.ค. จะมีแถลงก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 6/2563 เรื่องการจัดโครงสร้างของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) โดยมีการแบ่งศูนย์ย่อยออกเป็น 10 ศูนย์ ทั้งนี้ ตามที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 นั้นเพื่อเป็นการจัดโครงสร้างขององค์กรให้เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่และเพื่อให้การดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 วรรคห้า แห่งพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ประกอบด้วย ข้อ 4(3) ของคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 5/2563 เรื่อง การจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. 2548 ลงวันที่ 25 มี.ค. พ.ศ.2563
นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด- 19 จึงมีคำสั่งให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) มีการจัดโครงสร้างภายใน โดยมีการจัดโครงสร้างดังนี้
1.สำนักงานเลขาธิการ มีรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ที่นายกฯมอบหมายเป็นหัวหน้าสำนักงาน
2.สำนักงานประสานงานกลาง ให้เลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เป็นหัวหน้าสำนักงาน
3.ศูนย์ปฎิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์ และสาธารณสุข ให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นหัวศูนย์
4.ศูนย์ปฎิบัติการด้านมาตรการป้องกันและช่วยเหลือประชาชน ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นหัวหน้าศูนย์
5.ศูนย์ปฎิบัติการกระจายหน้ากาก และเวชภัณฑ์สำหรับประชาชน ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นหัวหน้าศูนย์
6.ศูนย์ปฎิบัติการควบคุมสินค้าให้ปลัดพาณิชย์เป็นหัวหน้าศูนย์
7.ศูนย์ปฎิบัติการมาตรการเดินทาง เข้า ออกประเทศ และดูแลคนไทยในต่างประเทศ ให้ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าศูนย์
8.ศูนย์ปฎิบัติการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และสื่อสังคมออนไลน์ ให้ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นหัวหน้าศูนย์
9.ศูนย์ปฎิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้าศูนย์
10.ศูนย์ปฎิบัติการด้านข้อมูล มาตรการแก้ไขปัญหาจากติดเชื้อโควิด-19 ให้ปลัดสำนักนายกรัฐนตรี เป็นหัวหน้าศูนย์
ทั้งนี้ ให้หัวหน้ำสำนักงำนและหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการดังกล่าวมีอำนาจกำหนดองค์ประกอบของสำนักงานและศูนย์ปฏิบัติการได้ตามความเหมาะสม และเมื่อดำเนินการแล้วให้รายงานผู้อำนวยการ ศบค. เพื่อทราบด้วย ในกรณีที่เห็นสมควร ผู้อำนวยการ ศบค. จะปรับปรุงองค์ประกอบของสำนักงาน หรือศูนย์ปฏิบัติการเพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้นก็ได้
ให้ผู้อำนวยการ ศบค. แต่งตั้งบุคคลเป็นคณะที่ปรึกษาด้านการแพทย์ ด้านกฎหมาย ด้านธุรกิจ และด้านอื่นได้ตามสมควร ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป (อ่านคำสั่งฉบับเต็ม : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/072/T_0026.PDF)
อนึ่ง สื่อมวลชนหลายสำนักรายงานว่า การประชุม ศบค.ที่ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีให้มีการประชุมทุกวันในช่วงนี้เพื่อประเมินสถานการณ์และติดตามงานนั้น สำหรับวันที่ 28-29 มี.ค. 2563 จะไม่มีประชุม ศบค. แต่จะมีแถลงข่าวเวลา 11.00 น. โดยโฆษก ศบค.
อ่านประกอบ :
เปิดโครงสร้าง-อำนาจหน้าที่‘ศอฉ.โควิดฯ’ นายกฯหัวโต๊ะ-รมต.-ผบ.สส.-ผบ.ตร. กรรมการ
เปิดกฎเหล็ก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ! ห้ามสื่อบิดเบือนข่าว-ชุมนุม-กักตุนสินค้า-โทษคุก 2 ปี
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯทั่ว ปท.ถึง 30 เม.ย.! แถลงวันละครั้งป้องสับสน-ขอสื่อใช้ข้อมูลทางการ
บิ๊กตู่ ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คุมเข้มโรคโควิด 26 มี.ค.นี้
กาง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ‘บิ๊กตู่’ใช้แก้โควิดฯ ชัด ๆ รบ.มีอำนาจทำอะไรบ้าง?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/