“...การเสนอข่าว ห้ามการเสนอข่าวหรือทำให้แพร่หลายทางสื่อต่าง ๆ ซึ่งมีข้อความหรือข่าวสารเกี่ยวกับโควิด-19 อันไม่เป็นความจริงและอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารดังกล่าว อันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในกรณีเช่นนี้ให้เจ้าหน้าที่เตือนให้ระงับหรือสั่งให้แก้ไขข่าว หรือหากมีกรณีที่มีผลกระทบรุนแรงให้ดำเนินคดีอาญาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ใช้อำนาจตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยกำหนดพื้นที่ทั่วประเทศ มีผลตั้งแต่ 26 มี.ค.-30 เม.ย. 2563 นั้น (อ่านประกอบ : พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯทั่ว ปท.ถึง 30 เม.ย.! แถลงวันละครั้งป้องสับสน-ขอสื่อใช้ข้อมูลทางการ)
หลังจากนั้นมีการออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 1) สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็วและป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น อาศัยอำนาจตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายภายใต้หลักเกณฑ์เงื่อนแข และเงือนเวลา ดังต่อไปนี้
1.ห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง โดยห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่หรือสถานที่ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดต่อเชื้อโควิด-19 ตามที่กำหนดในมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2563 หรือตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อได้ประกาศหรือสั่งตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และให้ถือว่าประกาศหรือคำสั่งของผู้ว่าฯ กทม. ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อเป็นคำสั่งตามข้อกำหนดนี้
2.การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรค ให้ผู้ว่าฯ กทม. และผู้ว่าราชการจังหวัดออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 35 (1) แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ พิจารณาปิดสถานที่ซึ่งมีคนจำนวนมากไปทำกิจกรรมร่วมกันและเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 เป็นการชั่วคราว อย่างน้อยให้สั่งปิด สนามมวย สนามกีฬา สนามเด็กเล่น สนามม้า ผับ สถานบริการ สถานที่แสดงมหรสพ สถานประกอบการอาบ อบ นวด สปา ฟิตเนส สถานบันเทิง ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ได้แก่ จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี จ.นครปฐม จ.สมุทรปราการ และ จ.สมุทรสาคร สถานที่อื่น เช่น แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ พิพิธภัณฑ์สถาน ห้องสมุดสาธารณะ ศาสนสถาน สถานีขนส่งหรือโดยสาร ตลาด ห้างสรรพสินค้า ให้ปิดเฉพาะส่วน หรือปิดหมด และอาจกำหนดเงื่อนไขหรือเวลาตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยเฉพาะระยะแรกต้องมีการเตรียมตัวหรือปรับตัว กรณียังไม่ได้มีคำสั่งให้ปิดสถานที่ใด ให้เจ้าของหรือผู้ดูแลสถานที่นั้นจัดให้มีมาตรการคัดกรองและปฏิบัติมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด
3.การปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักร ในการใช้ยานพาหนะไม่ว่าจะเป็นอากาศ ยาน เรือ รถยนต์ หรือพาหนะอื่นใด เพื่อเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เว้นแต่ เป็นกรณีหรือผู้มีเหตุยกเว้นตามที่นายกรัฐมนตรี หรือหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นผู้ขนส่งสินค้าตามความจำเป็น ผู้ควบคุมยานพาหนะหรือเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะ ซึ่งจำเป็นต้องเดินทางเข้ามาตามภารกิจ และมีกำหนดเวลาเดินทางออกชัดเจน เป็นบุคคลในคณะทูต กงสุล องค์การระหว่างประเทศ หรือผู้แทนรัฐบาลที่มาปฏิบัติงานในไทย เป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย แต่มีใบอนุญาตทำงานหรือได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ทำงานในราชอาณาจักร เป็นผู้มีสัญชาติไทย ในกรณีเช่นนี้ให้ติดต่อสถานทูตไทย หรือสถานกงสุลไทยในประเทศที่พำนัก
4.การห้ามกักตุนสินค้า ห้ามผู้ใดกักตุนสินค้าซึ่งเป็นยา เวชภัณฑ์ อาหาร น้ำดื่ม หรือสินค้าอื่นที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าควบคุมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 หรือไม่ก็ตาม สำหรับกรณีที่เป็นสินค้าควบคุม การผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ ปริมาณการผลิต การควบคุมราคาจำหน่ายและการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
5.การชุมนุม ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
6.การเสนอข่าว ห้ามการเสนอข่าวหรือทำให้แพร่หลายทางสื่อต่าง ๆ ซึ่งมีข้อความหรือข่าวสารเกี่ยวกับโควิด-19 อันไม่เป็นความจริงและอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารดังกล่าว อันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในกรณีเช่นนี้ให้เจ้าหน้าที่เตือนให้ระงับหรือสั่งให้แก้ไขข่าว หรือหากมีกรณีที่มีผลกระทบรุนแรงให้ดำเนินคดีอาญาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นศูนย์กลางจัดให้มีการแถลงหรือชี้แจงข่าว ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อสร้างความรับรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเป็นประจำและต่อเนื่อง ในกรณีจำเป็นจะขอความร่วมมือจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจด้วยก็ได้
7.มาตรการเตรียมรับสถานการณ์ ให้ผู้ว่าฯ กทม. ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทุกมิติ หากมีปัญหาให้รายงานกระทรวงมหาดไทย ให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งกำหนดและประชาสัมพันธ์เผยแพร่มาตรการเพื่อช่วยเหลือหรือบรรเทาผลกระทบอันเกิดจากการบังคับใช้มาตรการของรัฐต่อประชาชน ให้โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการป้องกันและดูแลรักษาผู้ป่วยทั้งภาครัฐและเอกชน จัดหายา เวชภัณฑ์ เครื่องมือในการตรวจโรค เครื่องช่วยในการหายใจ และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็นให้เพียงพอ ในการกักกันตัวเองไว้สังเกตอาการตามคำสั่งหรือคำแนะนำของเจ้าหน้าที่หรือเป็นผู้เดินทางข้ามเขตมาจากพื้นที่จังหวัดอื่นให้เจ้าหน้าที่หรือหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดตั้งขึ้น
8.มาตรการพึงปฏิบัติสำหรับบุคคลบางประเภท โดยให้กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโควิด-19 อยู่ในเคหสถานหรือบริเวณสถานที่พำนักของตน เช่น ผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป กลุ่มคนมีโรคประจำตัว กลุ่มเด็กเล็กทั้งอายุต่ำกว่า 5 ปีลงมา
9.มาตรการเกี่ยวกับการออกนอกราชอาณาจักร ให้กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เข้มงวดในการตรวจลงตรา หรือออกวีซ่า หรืออนุญาตให้ชาวต่างประเทศซึ่งมิได้มีกิจการงานปกติหรือถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรยังคงอยู่ในราชอาณาจักร หากบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยประสงค์เดินทางออก จะได้รับการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง
10.มาตรการดูแลความสงบเรียบร้อย โดยใน กทม. ให้ สตช. จัดเวรยามหรือตั้งจุดตรวจตามถนน เส้นทางคมนาคม สถานีขนส่งหรือโดยสาร เพื่อป้องกัน อุบัติเหตุ การก่ออาชญากรรม และการรวมกลุ่มชุมนุมหรือมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค หากพบเห็นการกระทำดังกล่าวให้ดำเนินคดีตามกฎหมายทันที
11.มาตรการป้องกันโรค เช่น ให้ทำความสะอาดโดยการเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสของสถานที่ที่เกี่ยวข้อง ให้เจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการ ลูกจ้าง ผู้ใช้บริการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ให้ล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์ ให้เว้นระยะนั่งหรือยืนห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร ให้ควบคุมจำนวนมิให้แออัด ลดเวลาการทำกิจกรรมให้สั้นลง เป็นต้น
12.นโยบายการยังคงให้เปิดสถานที่ทำการ โดยให้โรงพยาบาล สถานพยาบาล คลินิกแพทย์รักษาโรค ร้านขายยา ร้านอาหารในส่วนที่มิใช่สถานบันเทิงหรือสถานบริการ และแผงจำหน่ายอาหารซึ่งผู้บริโภคต้องไปซื้อนอกสถานที่ โรงแรมในส่วนซึ่งเป็นที่พักอาศัย ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก ร้านค้าทั่วไป ห้างสรรพสินค้าในส่วนแผนกซุปเปอร์มาร์เก็ต แผนกขายยา แผนกอาหาร แผนกสินค้าเบ็ดเตล็ดอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิต โรงงาน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกรรมการเงิน ธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม ตลาด และตลาดนัดในส่วนของจำหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงสำเร็จ อาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ และสินค้าเบ็ดเตล็ดอันจำเป็น สถานที่จำหน่ายแก๊สหุงต้ม เชื้อเพลิง ปั๊มน้ำมัน ปั๊มแก๊ส การให้บริการขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้า รวมทั้งบริการส่งสินค้าและอาหารตามสั่ง (Delivery Online) ยังคงประกอบกิจการต่อไปได้ตามปกติ
ส่วนสถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐยังคงเปิดตามวันเวลาปกติ เว้นแต่ที่มีประกาศไปก่อนแล้ว เช่น สถานศึกษา ส่วนภาคธุรกิจ ร้านค้าที่เปิดบริการ และสถานที่ราชการเปิดทำการ วางมาตรการคัดกรองผู้ปฏิบัติงานและผู้มาติดต่อหรือใช้บริการให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด
13.คำแนะนำเกี่ยวกับการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด ในช่วงเวลานี้ประชาชนพึงงดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดในระยะนี้โดยไม่จำเป็น และควรพักหรือทำงานอยู่ ณ ที่พำนักของตน
14.คำแนะนำในการจัดกิจกรรมอื่น ๆ การจัดกิจกรรมหรือพิธีการทางสังคมตามประเพณีนิยม เช่น งานมงคลสมรส พิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ พิธีศพ สงกรานต์ ยังคงจัดได้ตามความเหมาะสม
15.โทษ ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อ 1 2 3 4 5 6 แห่งข้อกำหนดนี้ ต้องรับโทษตาม มาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และอาจมีความผิดตามมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ หรือมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 แล้วแต่กรณี (สำหรับ มาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
16.ข้อบังคับ ข้อกำหนดนี้ให้ใช้บังคับทั่วราชอาณาจักรทั้งพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรงตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เว้นแต่จะมีข้อกำหนดเป็นอย่างอื่น ในกรณีมีความจำเป็น นายกรัฐมนตรีอาจออกข้อกำหนดเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มลดมาตรการหรือเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาได้โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาและเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ
อ่านประกอบ :
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯทั่ว ปท.ถึง 30 เม.ย.! แถลงวันละครั้งป้องสับสน-ขอสื่อใช้ข้อมูลทางการ
บิ๊กตู่ ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คุมเข้มโรคโควิด 26 มี.ค.นี้
กาง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ‘บิ๊กตู่’ใช้แก้โควิดฯ ชัด ๆ รบ.มีอำนาจทำอะไรบ้าง?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/