“...จัดหาและบริหารจัดการหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ เพื่อกระจายให้ถึงประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์โดยวิธีแจกหรือจำหน่าย … ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องตามความเป็นจริง เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลและประชาชน รวมทั้งปฏิบัติการทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้อง…”
เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.-30 เม.ย. 2563 โดยแต่งตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศอฉ.โควิด-19) พร้อมกับคลอดมาตรการกฎเหล็ก 16 ข้อ โดยมีข้อห้ามสื่อมวลชนนำเสนอข่าวสารบิดเบือน ให้ใช้ข้อมูลจากทางการในการนำเสนอสถานการณ์โควิด-19 ห้ามมีการชุมนุม ห้ามการกักตุนสินค้า โดยผู้กระทำความผิดอาจได้รับโทษจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับนั้น (อ่านประกอบ : )
ประเทศไทยหลังจากนี้ไป (อย่างน้อยที่สุดถึงวันที่ 30 เม.ย. 2563) อำนาจหน้าที่ต่าง ๆ จะไปตกอยู่ในมือนายกรัฐมนตรีเกือบทั้งหมด และการบริหารจัดการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 จะขึ้นตรงต่อหน่วยงานสำคัญคือ ศอฉ.โควิด-19 (อ่านประกอบ : เปิดกฎเหล็ก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ! ห้ามสื่อบิดเบือนข่าว-ชุมนุม-กักตุนสินค้า-โทษคุก 2 ปี, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯทั่ว ปท.ถึง 30 เม.ย.! แถลงวันละครั้งป้องสับสน-ขอสื่อใช้ข้อมูลทางการ)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำโครงสร้าง ศอฉ.โควิด-19 มาให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 5/2563 เรื่อง การจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยมีการจัดตั้ง ศอฉ.โควิด-19 มีผู้ปฏิบัติงานแบ่งเป็น 5 ส่วน ได้แก่
1.นายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการศูนย์
2.รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม รมว.คลัง รมว.ต่างประเทศ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รมว.เกษตรและสหกรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รมว.พลังงาน รมว.พาณิชย์ รมว.มหาดไทย รมว.ยุติธรรม รมว.แรงงาน รมว.วัฒนธรรม รมว.ศึกษิการ รมว.สาธารณสุข รมว.อุตสาหกรรม ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นกรรมการ
3.เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการ และผู้ประสานงานทั่วไป
4.รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (นายประทีป กีรติเรขา) เป็นกรรมการ และเลขานุการ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร (นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวกรรม) เป็นกรรมการ และผู้ช่วยเลขานุการ อธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นกรรมการ และผู้ช่วยเลขานุการ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นกรรมการ และผู้ช่วยเลขานุการ
5.ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ และข้าราชการพลเรือน ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับนี้ เป็นเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์
ทั้งนี้ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการโดยรวดเร็ว และจะเรียกประชุมคณะกรรมการให้ทันท่วงทีมิได้ นายกรัฐมนตรีมีอำนาจใช้อำนาจคณะกรรมการไปพลางก่อนได้ หรือจะประชุมร่วมกับกรรมการเฉพาะบางคนในเรื่องที่อยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบของกรรมการผู้นั้น โดยอาจเชิญบุคคลอื่นมาร่วมหารือด้วยก็ได้ มติของที่ประชุมถือเป็นมติคณะกรรมการ
นายกรัฐมนตรีอาจแต่งตั้งที่ปรึกษาหรือคณะกรรมการเฉพาะกิจ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในการแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด-19 เพื่อกลั่นกรอง เสนอแนะทางวิชาการ ป้องกัน แก้ไขปัญหา หรือดำเนินการเฉพาะเรื่องอันมีความจำเป็นเร่งด่วนก็ได้ โดยการประชุมคณะกรรมการฯดังกล่าว อาจใช้วิธีการประชุมทางไกล หรือสื่อสารด้วยระบบอื่นแทนการเชิญมาประชุมร่วมกันก็ได้
นอกจากนี้ให้ผู้ปฏิบัติงานใน ศอฉ.โควิด-19 เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
สำหรับอำนาจหน้าที่ของ ศอฉ.โควิด-19 ได้แก่
1.ปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กฎหมายที่โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี หรือกฎหมายที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการ ทั้งนี้เท่าที่จำเป็นในการปฏิบัติงานให้สถานการณ์ฉุกเฉินยุติลง
2.จัดหาและบริหารจัดการหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ เพื่อกระจายให้ถึงประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์โดยวิธีแจกหรือจำหน่าย
3.จัดโครงสร้างขององค์กรให้เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ และจัดตั้งหน่วยงานหรือศูนย์ปฏิบัติการเพื่อเป็นองค์กรปฏิบัติการตามที่เห็นสมควร
4.ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องตามความเป็นจริง เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลและประชาชน รวมทั้งปฏิบัติการทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้อง
5.จัดให้มีกำลังข้าราชการตำรวจ ข้าราชการทหาร ข้าราชการพลเรือน เพื่อดำเนินการตามแผนรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ และสถานที่สำคัญต่าง ๆ รวมทั้งประสานให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบสถานที่นั้น ๆ ดำเนินการป้องกันตนเองตามความสามารถเป็นอันดับแรก
6.จัดให้มีชุดปฏิบัติการจากข้าราชการตำรวจ ข้าราชการทหาร และข้าราชการพลเรือน เพื่อเข้าระงับเหตุในกรณีการก่อความไม่สงบหรือช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่เกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉิน
7.มอบหมายให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนเกี่ยวกับกำลังพล งบประมาณ วัสดุครุภัณฑ์ ยานพาหนะ และเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ เพื่อการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
8.เรียกให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ชี้แจง ให้ข้อมูลข่าวสาร จัดส่งเอกสาร หรือดำเนินการอื่นใดตามที่เห็นสมควร
9.ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
ทั้งนี้ตั้งแต่ 26 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ 25 มี.ค. 2563
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
อ่านประกอบ :
เปิดกฎเหล็ก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ! ห้ามสื่อบิดเบือนข่าว-ชุมนุม-กักตุนสินค้า-โทษคุก 2 ปี
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯทั่ว ปท.ถึง 30 เม.ย.! แถลงวันละครั้งป้องสับสน-ขอสื่อใช้ข้อมูลทางการ
บิ๊กตู่ ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คุมเข้มโรคโควิด 26 มี.ค.นี้
กาง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ‘บิ๊กตู่’ใช้แก้โควิดฯ ชัด ๆ รบ.มีอำนาจทำอะไรบ้าง?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/