‘สภาผู้บริโภค’ เรียกร้อง ‘กสทช.’ เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะฯ ก่อนเปิดประมูล 'คลื่นมือถือ' รอบใหม่ ยื่น 6 ข้อเสนอ แก้ปมผูกขาด-การแข่งขันไม่เป็นธรรม ย้ำต้องกำหนดเงื่อนไขคุ้มครอง ‘ผู้บริโภค’ ไว้ใน ‘ใบอนุญาต’
........................................
จากการที่เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ไปทบทวนและศึกษาแนวทางการเปิดประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมฯใหม่ หลังจากมีข้อกังวลเกี่ยวกับการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมและความเสี่ยงในการผูกขาด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ นั้น
เมื่อวันที่ 18 มี.ค. น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือถึงประธาน กสทช. โดยมีข้อเสนอให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับแนวทางการเปิดประมูลคลื่นฯรอบใหม่อีกครั้ง เพื่อให้เกิดการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน และ กสทช.ต้องกำหนดเงื่อนไขในการคุ้มครองผู้บริโภคไว้ในใบอนุญาตฯด้วย
“เราอยากมาเสนอต่อเนื่องว่า ถ้าจะมีการเพิ่มเติมข้อมูลหรือทบทวนอะไรก่อนการประมูลแล้ว ทางผู้บริโภคเราอยากให้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ซึ่งเราได้ช่วยทำการบ้านและมีเสนอแนะใน 5-6 ประเด็น โดยเฉพาะการกำหนดเงื่อนไขการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ต้องกำหนดไว้ในหลักประกันเงื่อนไขใบอนุญาต และเรามีความกังวลว่า หากเปิดประมูลแบบเทกระจาดรวดเดียวเลย ก็จะไม่เหลือคลื่นความถี่ที่จะนำไปให้รายอื่นๆ
โดยในต่างประเทศนั้น มีหลายโมเดล เช่น มีการกันคลื่นความถี่บางส่วน เพื่อเอามาทำเรื่อง private 5G หรือ 6G หรือบริการสาธารณะ แม้กระทั่งการให้รัฐวิสาหกิจและผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่ไม่มีคลื่นเป็นของตัวเอง นำคลื่นไปใช้เพื่อทำบริการ MVNO (การให้บริการเครือข่ายเสมือน) เพราะตอนนี้เราก็รู้อยู่แล้วว่า มีผู้ให้บริการรายใหญ่เหลือเพียง 2 ราย จึงอยากให้คลื่นบางส่วนกระจายออกมา อย่างน้อยก็ใช้เรื่องการให้บริการสาธารณะ” น.ส.สุภิญญา กล่าว
น.ส.สุภิญญา ย้ำว่า อยากให้สำนักงาน กสทช. ออกแบบแนวทางการเปิดประมูลคลื่นฯครั้งนี้ โดยหากไม่มีความจำเป็นจริงๆ ก็ไม่ควรนำคลื่นออกมาประมูลทั้งหมดในคราวเดียว แต่ให้ทยอยประมูล และอย่างน้อยต้องมีหลักประกันในเรื่องผู้ให้บริการรายที่ 3 ซึ่งรัฐวิสาหกิจอย่าง บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) แม้ว่าจะมีปัญหาและข้อจำกัดในอดีต แต่ยังมีความจำเป็นที่ NT จะต้องอยู่ในตลาด เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค
น.ส.สุภิญญา ยังระบุว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค อยากให้สำนักงาน กสทช. ติดตามผลการดำเนินการภายหลังการควบรวมธุรกิจระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ ทรู (TRUE) และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค (DTAC) ให้เป็นไปตามเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะที่ กสทช. กำหนดไว้ และได้รับทราบว่า มีการเสนอให้แก้ไขเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะดังกล่าว จึงเกิดคำถามว่าจะมีอะไรเป็นหลักประกันให้กับผู้บริโภคได้บ้าง
รายงานข่าวแจ้งว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคได้เสนอให้มีการกำหนดประเด็นสำคัญในการรับฟังความคิดเห็นฯรอบใหม่ เช่น ความสมเหตุสมผลของการลดราคาขั้นต่ำ (Reserved Price) ลง 30% ในสถานการณ์ที่ตลาดมีผู้เล่นหลักเพียง 2 ราย ,การพิจารณาว่าราคาเริ่มต้นที่กำหนดไว้สอดคล้องกับสภาพตลาดหรือไม่ ,ควรพิจารณาความเหมาะสมของสิทธิ หน้าที่ และเงื่อนไขในการอนุญาตว่ามีส่วนช่วยส่งเสริมการให้บริการเครือข่ายเสมือน (MVNO) หรือไม่
การพิจารณาถึงผลกระทบต่อผู้บริโภคในกรณีที่คลื่นความถี่ของ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ หมดอายุสัญญา และความจำเป็นของการประมูลคลื่นความถี่ใน 6 ย่านความถี่ว่าจะช่วยให้มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดจริงหรือไม่
นอกจากนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค เห็นว่า กรณีที่เหลือผู้ประกอบการรายใหญ่ 2 รายนั้น ควรมีการจำกัดการถือครองคลื่นความถี่หรือไม่ หากถือครองเกินกว่าครึ่งจะส่งผลต่อการแข่งขันอย่างไร และความพร้อมของ กสทช. ในการกำกับดูแลด้านกิจการโทรคมนาคม โดยเฉพาะหลังการรวมธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้านและโทรศัพท์เคลื่อนที่ กสทช. ยังมีประเด็นการกำกับดูแลเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะ แต่ภาคเอกชนสามารถเสนอให้ปรับลดเงื่อนไขได้
ก่อนหน้านี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคเข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร และ กสทช. เพื่อเรียกร้องให้ชะลอการเปิดประมูลและทบทวนหลักเกณฑ์การเปิดประมูลคลื่น เนื่องจากมีความกังวลว่าการประมูลครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขัน โดยเฉพาะในตลาดที่มีผู้เล่นหลักเพียงสองราย อีกทั้งยังไม่มีหลักประกันว่าผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์สูงสุด ทั้งในด้านคุณภาพบริการ ราคา หรือการคุ้มครองจากภาครัฐ ซึ่งอาจนำไปสู่การผูกขาด
อ่านประกอบ :
‘กสทช.’สั่งทบทวนแนวทางประมูลคลื่น‘มือถือ’ 1.2 แสนล. หวั่นไม่เกิดการแข่งขัน‘ราคา’-ผูกขาด
ไม่มีหลักประกันคุม‘คุณภาพ-ราคา’!‘สภาผู้บริโภค’ยื่น‘กสทช.’ชะลอประมูลคลื่นมือถือ 1.2 แสนล.
'สภาผู้บริโภค'ยื่น'กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ'เสนอแนวทางป้องกันผูกขาดประมูลคลื่นมือถือ 1.2 แสนล.
'กสทช.'เปิดยื่นประมูลคลื่นฯ 1.2 แสนล.เม.ย.-เคาะราคา พ.ค. ‘สรณ’หวังผู้แข่งขันเกิน 2 เจ้า
'กสทช.'เปิดเวทีรับฟังความเห็นฯ ร่างประกาศหลักเกณฑ์ประมูลคลื่น'มือถือ'ล็อตใหญ่ 1.21 แสนล.