‘สภาผู้บริโภค’ ยื่นหนังสือถึง ‘กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ’ เสนอแนวทางป้องกันการ ‘ผูกขาด’ ประมูลคลื่นฯ 1.2 แสนล. ระบุการประมูลฯ ส่อไม่มีการแข่งขันที่แท้จริง-ไม่มีกำหนดเพดาน ‘ค่าบริการ’ สูงสุด
.......................................
เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ผู้แทนของสภาองค์กรของผู้บริโภค นำโดยนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค และเครือข่ายสมาชิกสภาผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอแนะแนวทางเพื่อป้องกันการผูกขาดในการประมูลคลื่นความถี่ โดยมี นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นผู้รับหนังสือ
นายอิฐบูรณ์ กล่าวว่า จากกรณีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติเห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. นำร่างประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 850 MHz, 1500 MHz, 1800 MHz, 2100 MHz, 2300 MHz และ 26 GHz ไปเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2568 ก่อนนำเสนอต่อ กสทช. พิจารณารอบสุดท้าย และนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดว่าจะมีเปิดประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2568 นั้น
สภาผู้บริโภค พบว่า การประมูลความถี่ฯในครั้งนี้ ครอบคลุมคลื่นความถี่ 6 ย่านความถี่ ได้แก่ คลื่นที่กำลังหมดอายุใบอนุญาตของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ,คลื่นความถี่ฯที่ว่างอยู่และไม่มีผู้ประมูลในรอบที่ผ่านมา ,คลื่นความถี่ที่ไม่เคยถูกนำมาประมูลมาก่อน และคลื่นความถี่ที่ยังไม่หมดอายุแต่ถูกนำมาประมูลล่วงหน้า ซึ่งการนำคลื่นความถี่ดังกล่าวมาประมูลพร้อมกัน อาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมและสิทธิของผู้บริโภคได้ ทำให้สภาผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการประมูลครั้งนี้ใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่
1.การประมูลครั้งนี้ไม่มีการแข่งขันที่แท้จริง เนื่องจากเหลือผู้ให้บริการรายใหญ่เพียง 2 ราย คือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เท่านั้น โอกาสในการแข่งขันจึงแทบไม่มีเมื่อเทียบกับจำนวนย่านความถี่ที่ถูกนำมาเปิดประมูลพร้อมกันถึง 6 ย่านความถี่ ซึ่งอาจส่งผลให้ตลาดโทรคมนาคมขาดแรงจูงใจในการแข่งขันและพัฒนา
2.ไม่มีการกำหนดเพดานราคาค่าบริการสูงสุด เทียบกับปริมาณและคุณภาพของบริการที่ผู้ให้บริการสามารถเรียกเก็บจากผู้บริโภคและผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายย่อย (MVNO) ภายใต้เงื่อนไขการแข่งขันการประมูล ซึ่งอาจทำให้ไม่มีหลักประกันว่าผู้บริโภคหรือผู้ประกอบการรายเล็กจะได้รับความคุ้มครองที่เป็นธรรมจากโครงสร้างตลาดที่เปลี่ยนไป
“แม้ว่าการเปิดประมูลคลื่นความถี่พร้อมกัน อาจช่วยให้เกิดการบริหารจัดการคลื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สภาผู้บริโภคตั้งข้อสังเกตว่า ไม่มีหลักประกันที่ชัดเจนว่าผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะในด้านปริมาณ คุณภาพของการให้บริการ และราคาค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่
สภาผู้บริโภค จึงมีความกังวลเรื่องความเสี่ยงในการลดการแข่งขันในตลาด เนื่องจากต้นทุนการเข้าประมูลที่สูงอาจเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการรายใหม่ ทำให้ตลาดถูกครอบครองโดยผู้ให้บริการรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย อีกทั้งไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการควบคุมค่าบริการหรือกำหนดมาตรฐานคุณภาพการให้บริการ ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคต้องเผชิญกับค่าบริการที่สูงขึ้น และทางเลือกที่ลดลง” นายอิฐบูรณ์ กล่าว
นายอิฐบูรณ์ กล่าวต่อว่า สภาผู้บริโภค ขอให้คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ ตรวจสอบการดำเนินการประมูลคลื่นความถี่ทั้ง 6 ย่านความถี่ของ กสทช. ว่า เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 60 กำหนดหรือไม่ พร้อมทั้งขอเรียกร้องให้ กสทช. กำหนดมาตรการที่ชัดเจนเพื่อป้องกันการผูกขาด ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม เพื่อให้ตลาดโทรคมนาคมยังคงเปิดกว้างและเอื้อต่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค
ด้าน น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า ปัญหาการกระจุกตัวของผู้ให้บริการโทรคมนาคมนั้น เป็นผลจากการควบรวมกิจการของผู้ให้บริการโทรคมนาคม และที่ผ่านมา กสทช. ปล่อยปละละเลยในการกำกับดูแลหลังการควบรวมกิจการฯ อีกทั้งยังขาดความชัดเจนในกติกาการจัดสรรคลื่นความถี่ ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้ กสทช. แสดงความชัดเจนในการออกกติกาการจัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อเป็นหลักประกันว่า การบริหารจัดการคลื่นความถี่จะสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล
น.ส.สุภิญญา กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีแนวโน้มว่าจะต้องสูญเสียคลื่นความถี่จากการประมูลในครั้งนี้นั้น แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจดิจิทัล ความมั่นคงทางไซเบอร์ และการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ดังนั้น การจัดสรรคลื่นความถี่ฯครั้งนี้ จะต้องมีการวางแผนที่ชัดเจนเพื่อให้สามารถแข่งขันได้และไม่ส่งผลเสียต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลที่อาจเข้าถึงบริการได้ยากหากการจัดสรรไม่เป็นธรรม
“ขอให้คณะกรรมาธิการฯช่วยติดตามและทวงถามถึงการดำเนินการของ กสทช. และการรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังพัฒนา โดยเน้นการรับฟังเสียงจากทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการตัดสินใจและการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะในอนาคต” น.ส.สุภิญญากล่าว
น.ส.สุภิญญา ยังกล่าวถึงอนาคตของทีวีดิจิทัลที่อายุใบอนุญาตจะสิ้นสุดลงในอีก 5 ปีข้างหน้า ว่า เรื่องนี้ หากยังไม่มีความชัดเจนจาก กสทช. อาจนำไปสู่การจอดับของช่องทางการสื่อสารทางเลือก และทำให้ประเทศไทยต้องพึ่งพาการสื่อสารบนเครือข่ายออนไลน์ของเอกชนเพียง 2 รายเท่านั้น
ขณะที่ นายสิทธิพล เผยว่า ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการฯได้ติดตามการทำงานของ กสทช. อย่างใกล้ชิด และพบว่า กสทช. ยังไม่สามารถให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในการควบรวมกิจการของผู้ประกอบธุรกิจโทรคมนาคมทั้ง 2 ราย โดยเฉพาะในเรื่องของราคาค่าบริการและคุณภาพที่ได้รับจากผู้ให้บริการ จึงกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการประมูลคลื่นความถี่ในอนาคต
ส่วนการประมูลคลื่นความถี่ฯในครั้งนี้ กสทช. จะต้องมีเงื่อนไขที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและมีประโยชน์ต่อผู้บริโภค โดยคณะกรรมาธิการฯ จะมีการเชิญ กสทช. มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมในการประชุมที่จะจัดขึ้นต่อไป และขอเชิญผู้แทนจากสภาผู้บริโภคเข้าร่วมประชุมครั้งหน้าด้วย ทั้งนี้ ยืนยันว่า คณะกรรมาธิการฯ จะติดตามการปฏิบัติอย่างเข้มงวดเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภค
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2568 สำนักงาน กสทช. เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 850 MHz 1500 MHz 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz และ 26 GHz และร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลที่เกี่ยวข้อง และจะนำความคิดเห็นต่างๆที่ได้รับไปปรับปรุงร่างประกาศฯ ก่อนเสนอ กสทช. เห็นชอบและประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ทั้งนี้ ภายใต้ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 850 MHz 1500 MHz 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz และ 26 GHz ดังกล่าว กสทช.จะนำคลื่นย่านความถี่ 850 1500 1800 2100 2300 MHz และ 26 GHz มาเปิดประมูล รวม 43 ชุด ราคาขั้นต่ำรวม 121,026 ล้านบาท
อ่านประกอบ :
'กสทช.'เปิดยื่นประมูลคลื่นฯ 1.2 แสนล.เม.ย.-เคาะราคา พ.ค. ‘สรณ’หวังผู้แข่งขันเกิน 2 เจ้า
'กสทช.'เปิดเวทีรับฟังความเห็นฯ ร่างประกาศหลักเกณฑ์ประมูลคลื่น'มือถือ'ล็อตใหญ่ 1.21 แสนล.