‘สภาผู้บริโภค’ ยื่นหนังสือถึง ‘กสทช.’ ชะลอประมูลคลื่น ‘มือถือ’ 1.2 แสนล้าน หลังพบไม่มีการกำหนดหลักประกันคุ้มครอง ‘ผู้บริโภค’ ทั้งด้าน ‘คุณภาพบริการ-ราคา’ ระบุอาจไม่มีการแข่งขันประมูลอย่างแท้จริง เหตุเหลือผู้แข่งขันหลัก 2 เจ้า
..................................
เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ตัวแทนของสภาองค์กรของผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคฯ เข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (คณะกรรมการ กสทช.) เพื่อคัดค้านการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 2/2568 โดยมี พล.อ.สิทธิชัย มากกุญชร ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำ ประธาน กสทช. เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคมีความกังวลต่อการตัดสินใจของ กสทช. ที่มีมติให้จัดประมูลคลื่นความถี่ฯพร้อมกันถึง 6 ย่านความถี่ และทราบว่าในวันที่ 12 มี.ค.นี้ กสทช. จะมีการจัดประชุมเพื่อลงมติเห็นชอบร่างประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ฯ ดังนั้น สภาผู้บริโภคจึงมายื่นหนังสือคัดค้านก่อนการประชุมดังกล่าว
“การมายื่นคัดค้านถึง กสทช. เนื่องจากสภาผู้บริโภคมองว่าการประมูลครั้งนี้ อาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคม โดยเฉพาะเมื่อมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียงสองรายหลัก อีกทั้งการประมูลดังกล่าวไม่มีหลักประกันที่ชัดเจนว่าผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นด้านคุณภาพบริการ ราคา หรือความคุ้มครองจากภาครัฐ และอาจนำไปสู่การผูกขาดที่กระทบต่อผู้บริโภคในระยะยาว” น.ส.สุภิญญา ระบุ
น.ส.สุภิญญา ระบุว่า การประมูลคลื่นความถี่ฯในครั้งนี้ อาจเป็นโอกาสสำหรับบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ที่จะได้รับผลประโยชน์อย่างมาก ในขณะที่อนาคตของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ยังคงไม่แน่นอน จึงทำให้เกิดคำถามว่า กสทช. กำลังให้ความคุ้มครองแก่ผู้บริโภคหรือกำลังช่วยเหลือกลุ่มนายทุนกันแน่
“การออกหลักเกณฑ์การประมูลความถี่ดังกล่าว มีลักษณะคล้ายกับการประเคนมากกว่าการประมูลแข่งขัน และอาจสวนทางกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ กสทช. มีบทบาทในการจัดการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศและประชาชน
พร้อมทั้งสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของภาครัฐและความเป็นธรรมสำหรับผู้ประกอบการ โดยมีเงื่อนไขการประมูลที่กระตุ้นการแข่งขัน รวมถึงต้องมีมาตรการที่ชัดเจนในการคุ้มครองผู้บริโภคหลังการประมูลเพื่อประโยชน์ของประชาชนและผู้ใช้บริการในอนาคต” น.ส.สุภิญญา กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับสาเหตุหลักๆที่ทำให้สภาผู้บริโภคเสนอให้มีการชะลอการประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนี้ มี 2 ประเด็นหลัก ได้แก่
1.การประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้อาจไม่มีการแข่งขันที่แท้จริง เนื่องจากมีผู้ให้บริการรายใหญ่เพียงสองรายเท่านั้น คือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ TRUE กับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ดังนั้น การประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนี้ที่มีการนำคลื่นมาประมูลทั้งหมด 6 ย่านความถี่นั้น จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพและราคาของบริการที่ผู้บริโภคต้องรับในอนาคต ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
โดยก่อนหน้านี้ กสทช.อนุญาตให้มีการควบรวมกิจการในธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งจากผลการวิจัยจาก 101 Public Policy Think Tank พบว่า ผู้บริโภคที่ใช้บริการจากสองค่ายนี้ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.9% หรือ 100 บาทต่อคนต่อเดือน และแพ็กเกจที่ราคาถูกที่สุดในปี 2565 ที่ราคา 299 บาท/เดือนนั้น หายไป และกลายเป็น 399 บาทต่อเดือน แทน
2.การประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้ ไม่มีการกำหนดเพดานราคาค่าบริการสูงสุดที่เหมาะสมกับปริมาณและคุณภาพการบริการที่จะเก็บจากผู้บริโภค รวมถึงผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (MVNO) ที่ต้องแข่งขันในตลาดเดียวกัน ซึ่งหมายความว่า ไม่มีการรับประกันว่า ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบการรายเล็กจะได้รับความคุ้มครองอย่างเป็นธรรมจากการประมูลครั้งนี้ในตลาดที่มีผู้ประกอบการรายใหญ่เหลือแค่ 2 รายเท่านั้น
ด้าน ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภครายหนึ่ง กล่าวว่า การประมูลคลื่นฯครั้งนี้ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียง 2 รายหลักนั้น จะส่งผลให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกในการเลือกบริการที่ดีที่สุด เนื่องจากอาจเกิดการผูกขาดในตลาด ขณะเดียวกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นหลังเกิดการควบรวมกิจการในธุรกิจโทรคมาคมก่อนหน้านี้ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพบริการในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการลดคุณภาพบริการและการเพิ่มค่าใช้จ่ายสำหรับผู้บริโภค
“ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่า เมื่อมีการควบรวมแล้ว คุณภาพของบริการลดลง เช่น สัญญาณอินเทอร์เน็ตที่แย่ลง และการต้องจ่ายเงินมากขึ้นสำหรับบริการที่มีคุณภาพต่ำกว่าเดิม ซึ่งทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินมากขึ้นในขณะที่คุณภาพบริการกลับลดลง” ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค กล่าว
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2568 สำนักงาน กสทช. เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 850 MHz 1500 MHz 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz และ 26 GHz และร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลที่เกี่ยวข้อง และจะนำความคิดเห็นต่างๆที่ได้รับไปปรับปรุงร่างประกาศฯ ก่อนเสนอ กสทช. เห็นชอบและประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ทั้งนี้ ภายใต้ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 850 MHz 1500 MHz 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz และ 26 GHz ดังกล่าว กสทช.จะนำคลื่นย่านความถี่ 850 1500 1800 2100 2300 MHz และ 26 GHz มาเปิดประมูล รวม 43 ชุด ราคาขั้นต่ำรวม 121,026 ล้านบาท
อ่านประกอบ :
'สภาผู้บริโภค'ยื่น'กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ'เสนอแนวทางป้องกันผูกขาดประมูลคลื่นมือถือ 1.2 แสนล.
'กสทช.'เปิดยื่นประมูลคลื่นฯ 1.2 แสนล.เม.ย.-เคาะราคา พ.ค. ‘สรณ’หวังผู้แข่งขันเกิน 2 เจ้า
'กสทช.'เปิดเวทีรับฟังความเห็นฯ ร่างประกาศหลักเกณฑ์ประมูลคลื่น'มือถือ'ล็อตใหญ่ 1.21 แสนล.