‘ไพบูลย์ วงษ์เทศ’ อดีตนักหนังสือพิมพ์ นักเขียน นักกวี เจ้าของผลงานดังวรรณอำ ฉันจึงมาหาความหงอย เสียชีวิตแล้ว พร้อมทิ้งกลอนบทสุดท้าย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2567 เฟสบุ๊กส่วนตัว Paibul Wongthes ของ นายไพบูลย์ วงษ์เทศ อดีตนักหนังสือพิมพ์ นักคิด นักเขียน นักกวี ได้เผยข้อความจากลูกชาย แจ้งข่าว การเสียชีวิตของนายไพบูลย์ โดยมีรายละเอียดดังนี้
สวัสดีครับ
ผมเป็นลูกชายของพ่อ ไพบูลย์ วงษ์เทศ ขอแจ้งให้ทุกท่านทราบว่า พ่อได้จากพวกเราไปอย่างสงบ เมื่อเวลา 16.40 น. ของวันนี้
ก่อนจากไป พ่อได้ทิ้ง กลอนบทนี้ ไว้เป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของพ่อครับ
“นอนอยู่บนเตียงคนไข้ศิริราช
ปฏิเสธเด็ดขาดไม่รักษา
ถึงคราวตายก็ต้องตายในเวลา
ไม่อาจหลีกเลี่ยงฟ้าพญายม
มีชีวิตยาวนานพอสมควร
แม้จะม้วยมรณ์ประมวลก็เหมาะสม
ไม่ห่วงหน้าพะวงหลังรั้งอารมณ์
เหมือนสายลมพัดผ่านกาลเวลา”
ไพบูลย์ วงษ์เทศ
22 ธันวาคม 2567
14.35 น. ตึกผู้ป่วยนอก
โรงพยาบาลศิริราช
งานสวดพระอภิธรรมจะจัดขึ้นในวันที่ 28-30 ธันวาคม 2567
กำหนดการและเวลา จะอัพเดทให้ทราบอีกครั้ง
ที่ วัดชิโนรสารามวรวิหาร
ทั้งนี้ พ่อได้อุทิศร่างให้เป็น อาจารย์ใหญ่ เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการศึกษา ณ โรงพยาบาลศิริราช
ด้วยความรัก คิดถึง และอาลัย
ครอบครัว
“ไพบูลย์ วงษ์เทศ” เป็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ร่วมสมัยยุคเดือนตุลาคนหนึ่ง ชีวิตและบทบาทของไพบูลย์เกี่ยวข้องกับแวดวงหนังสือพิมพ์และสำนักพิมพ์หลายแห่ง อาทิ The Voice of Nation, ประชาธิปไตย, ประชาชาติรายสัปดาห์, ประชาชาติรายวัน เป็นต้น ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ การเฟื่องฟูของขบวนการนักศึกษาและขวาพิฆาตซ้าย จนลี้ภัยหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519
#มติชนออนไลน์ รายงานถึงประวัติ “ไพบูลย์ วงษ์เทศ” เกิดที่ปราจีนบุรี เมื่อปี 2495 เป็นน้องชายของ “สุจิตต์ วงษ์เทศ” ผู้ก่อตั้ง #นิตยสารศิลปวัฒนธรรม หลังจากเรียนจบวิทยาลัยช่างศิลป เข้าทำงานหนังสือพิมพ์ครั้งแรกที่ เดอะเนชั่น จากนั้นย้ายไปประจำการที่หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย และประชาชาติรายวัน จนได้เป็นบรรณาธิการข่าวในประเทศ เป็นผู้ริเริ่มเขียนคอลัมน์ “นอกประเด็น” ซึ่งเป็นคอลัมน์ขำขัน เสียดสีการเมือง นักการเมือง หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวัน ถูกคณะปฏิวัติสั่งปิด นายไพบูลย์ได้เดินทางออกนอกประเทศ ตั้งแต่บาห์เรน อิหร่าน ตุรกี ยุโรป และสแกนดิเนเวีย กระทั่งขอลี้ภัยทางการเมือง ที่ประเทศสวีเดน หลายปี
ทั้งนี้ นายไพบูลย์ มีผลงานเขียน และกวีนิพนธ์หลายเล่ม อาทิ ความคิดสีขาว, คำประกาศของคนรุ่นใหม่, หมายเหตุร่วมสมัย, ฉันจึงมาหาความหงอย, ล้อเลื่อนรางเหล็ก, ลมพันต้องส่องแสงเดือน เป็นต้น และยังมีผลงาน กวี ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งฉบับวันที่ 27 ธันวาคม 2567 ฉบับล่าสุดก่อนเสียชีวิต