คณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่างพระราชกำหนดเก็บภาษีส่วนเพิ่ม-แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เก็บภาษีบริษัทข้ามชาติขั้นต่ำ 15 % สอดรับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา คาดเก็บภาษีเพิ่มได้ปีละหมื่นล้าน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 11 ธันวาคม 2567 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. .... และ ร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อเก็บภาษีนิติบุคคลต่างประเทศขั้นต่ำ (Global Minimum Tax : GMT) ร้อยละ 15 โดยจะนำภาษีบางส่วนส่งเข้ากองทุนเพิ่มขีดความสามารถเพื่อการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเข้าหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่มีชั้นความลับ เผยแพร่เฉพาะในที่ประชุมครม.เท่านั้น จนกว่าจะมีการประกาศลงในราชกิจจาเบกษา
แหล่งข่าวจากที่ประชุมครม.เปิดเผยว่า เหตุผลของการออกเป็น ร่าง พ.ร.ก. เนื่องจาก เป็นเรื่องของความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งเรื่องของภาษี ส่วนใหญ่จะออกเป็นพ.ร.ก.ทั้งสิ้น เพราะไม่ต้องการส่งสัญญาณนาน ซึ่งสืบเนื่องจากการไปคุยกับต่างประเทศ และเป็นเรื่องที่นักลงทุนต่างชาติร้องขอ เพื่อเป็นตัวเลือกในการตัดสินใจว่า จะเสียภาษีประเทศแม่หรือประเทศไทย ซึ่งเป็นกติกาที่ตกลงกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และมี 100 กว่าประเทศที่เข้าสู่ข้อตกลงนี้แล้ว และมีการประกาศใช้ไปแล้ว 20 กว่าประเทศ
“การขยับก่อนได้เปรียบ เพราะจะดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนเข้ามาได้ และเมื่อกลไกนี้ออก เราจะสามารถเก็บเงินรายได้เพิ่มเติมจากบริษัทเหล่านี้เป็นหมื่นล้านบาทต่อปี ถ้ากฎหมายประกาศใช้ปีนี้ก็จะมีผลปีภาษีหน้าทันที หรือ สามารถเก็บได้ทันทีในปี 68”แหล่งข่าวกล่าว