ก.ล.ต. สั่ง ‘บมจ.ณุศาศิริ’ แจงปมขายกรรมสิทธิ์ที่ดินโครงการ ‘มายโอโซน’ ต่ำกว่าราคาประเมินอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมรายงานความคืบหน้าขาย ‘เอสเซน พระราม 5’ ออกคำสั่งให้ 'NEWS' ชี้แจงข้อมูลขายใบสำคัญแสดงสิทธิ NEWS-W8
.........................................
เมื่อวันที่ 26 เม.ย. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งการให้บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) (NUSA) ชี้แจงข้อมูลภายในวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 กรณีบริษัทบริษัทย่อยจำหน่ายที่ดินกรรมสิทธิ์โครงการมายโอโซนในราคาที่ต่ำกว่าราคาประเมินทรัพย์สินอย่างมีนัยสำคัญ และความคืบหน้าของกรณีการขายโครงการเอสเซน พระราม 5 รวมถึงชี้แจงความเพียงพอและเหมาะสมของระบบควบคุมภายในของ NUSA ในการกำกับดูแลการขายทรัพย์สินของบริษัท พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลผ่านระบบการเผยแพร่ข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ระบบ SETLink)
ตามที่หมายเหตุประกอบงบการเงินประจำปี 2566 ของบริษัท ณุศา มาย โอโซน จำกัด (NMO) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ NUSA เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 การประชุมคณะกรรมการ NMO ครั้งที่ 2/2567 มีมติอนุมัติขายที่ดินกรรมสิทธิ์ไม่มีสิ่งปลูกสร้างรวม 9 โฉนด ในจังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 13-2-83 ไร่ ให้กับ บริษัท ชีวาคุณ เอสเตทส์ จำกัด (บ.ชีวาคุณ) ในราคา 68.54 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปเป็นทุนหมุนเวียนและเสริมสภาพคล่องในกิจการของบริษัท
ต่อมา ก.ล.ต. ได้รับข้อมูลว่า ที่ดินที่ NMO ได้ขายไปนั้น ตามรายงานการประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่จัดทำโดยบริษัท ที.เอ. มาเนจเม้นท์ คอร์โปเรชั่น (1999) จำกัด (ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2566) มีราคาประเมินราชการอยู่ที่ 115.14 ล้านบาท และราคาประเมินของบริษัทผู้ประเมินอยู่ที่ 274.15 ล้านบาท
แต่ NMO ขายที่ดินไปในราคา 68.5 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินของบริษัทย่อยของบริษัทจดทะเบียนในราคาที่ต่ำกว่าราคาประเมินของผู้ประเมินราคาทรัพย์สิน และต่ำกว่าราคาประเมินของทางราชการอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้ง NUSA เปิดเผยว่ายังมีแผนในการจำหน่ายทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ เพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องทางการเงินและชําระคืนภาระหนี้สินที่จะครบกำหนดชำระภายใน 1 ปี จำนวน 2,352 ล้านบาท
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 NUSA ได้เปิดเผยผ่านระบบ SETLink ว่าฝ่ายบริหารของ NUSA อยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบของการแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น กรณีการขายโครงการเอสเซน พระราม 5 ในราคาที่ต่ำกว่าราคาประเมิน โดยไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การทำรายการกับบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน โดยได้ดำเนินการร่วมกับ คณะกรรมการตรวจสอบเพื่อหาข้อสรุปที่ให้เกิดความเสียหายในรูปตัวเงินและชื่อเสียงของ NUSA น้อยที่สุดนั้น ทั้งนี้ นับตั้งแต่ที่ NUSA เผยแพร่ข่าวข้างต้นจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการเปิดเผยความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการกรณีดังกล่าว
ก.ล.ต. พิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า ประเด็นที่ปรากฏข้างต้นนั้น อาจส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจและการบริหารจัดการ NUSA หรือบริษัทย่อยอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นของ NUSA และผู้ลงทุนประกอบกับข้อมูลที่ NUSA ได้เปิดเผยต่อผู้ลงทุนนั้น ยังมีความไม่ชัดเจนในหลายประการเกี่ยวกับการขายที่ดินให้กับ บ.ชีวาคุณ รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างกรรมการและผู้บริหารของ NUSA กับผู้ซื้อที่ดินด้วย ซึ่งข้อมูลดังกล่าวอาจจะมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหลักทรัพย์ หรือต่อการตัดสินใจในการลงทุนของผู้ลงทุน
ก.ล.ต. จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 สั่งการให้ NUSA ชี้แจงข้อมูลดังต่อไปนี้
1.วัตถุประสงค์ในการขายที่ดินของ NMO ที่มาและความสมเหตุสมผลของราคาขาย กระบวนการขั้นตอนการพิจารณาและอนุมัติขายที่ดินของคณะกรรมการ NMO รวมทั้งความสัมพันธ์กับผู้ซื้อที่ดิน รวมถึงบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการ NUSA ในการกำกับดูแลการบริหารงานของบริษัทย่อยในปัจจุบัน
2.ความคืบหน้าของกรณีการขายโครงการเอสเซน พระราม 5
3.บทบาทของคณะกรรมการ NUSA ในการติดตาม กำกับดูแลความเพียงพอและเหมาะสมของระบบควบคุมภายในของ NUSA และบริษัทย่อยในการป้องกันไม่ให้มีการใช้ช่องทางการจำหน่ายทรัพย์สินของ NUSA และบริษัทย่อยในการกระทำที่ไม่เหมาะสม ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อบริษัทจดทะเบียน รวมถึงแผนการใช้เงินที่ได้จากการขายทรัพย์สิน
นอกจากนี้ ขอให้คณะกรรมการและผู้บริหารของ NUSA ให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทในการเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็น ทั้งข้อมูลของบริษัทและข้อมูลทางการเงิน หรือข้อมูลอื่นใดที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมต่าง ๆ ภายในบริษัท และขอให้คณะกรรมการทุกรายของ NUSA กำกับดูแลและตรวจสอบธุรกรรมการดำเนินการต่าง ๆ ที่ NUSA ดำเนินการอยู่และที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่าเป็นไปอย่างถูกต้อง เหมาะสม และเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทด้วย
ทั้งนี้ ให้กรรมการทุกรายของ NUSA ชี้แจงข้อมูลดังกล่าวต่อ ก.ล.ต. พร้อมกับเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ภายในวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 และเผยแพร่คำชี้แจงดังกล่าวผ่านระบบ SETLink
@สั่ง NEWS แจงข้อมูลขาย‘ใบสำคัญแสดงสิทธิ’
วันเดียวกัน ก.ล.ต. ยังสั่งการให้บริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (NEWS) ชี้แจงข้อมูลภายในวันที่ 29 เมษายน 2567 เนื่องจาก NEWS ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลผลกระทบจากการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญครั้งที่ 8 (NEWS-W8) และหุ้นรองรับในหนังสือนัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 และให้เปิดเผยข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ระบบ SETLink) พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ถือหุ้นในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ทราบด้วย
ตามที่ NEWS ได้เผยแพร่หนังสือนัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 พร้อมเอกสารประกอบการประชุมบนเว็บไซต์ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2567 โดยมีวาระการประชุมเกี่ยวกับการพิจารณาอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนของ NEWS เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับบุคคลในวงจำกัด จำนวนไม่เกิน 90,994,520,700 หุ้น และเพื่อรองรับการใช้สิทธิตามใบสําคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทครั้งที่ 8 (NEWS-W8) จำนวน 39,328,943,670 หุ้น ซึ่งบริษัทจะจัดสรร NEWS-W8 ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น โดยการประชุมผู้ถือหุ้นจะจัดขึ้นในวันที่ 30 เมษายน 2567 นั้น
เนื่องจากการเสนอขาย NEWS-W8 ต่อผู้ถือหุ้นของ NEWS ต้องปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ. 34/2551 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นที่ออกใหม่และหุ้นที่ออกใหม่เพื่อรองรับใบสำคัญแสดงสิทธิ ลงวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551 อย่างไรก็ดี ก.ล.ต. พบว่า NEWS ยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นของบริษัท (dilution effect) ในส่วนของการเสนอขาย NEWS-W8 ในหนังสือนัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ซึ่งมีวาระเกี่ยวกับการขออนุมัติการออกใบสำคัญแสดงสิทธิและหุ้นรองรับ มีผลทำให้ไม่เป็นไปตามที่ประกาศกำหนด
ทั้งนี้ เนื่องจากการเปิดเผยข้อมูลในหนังสือนัดประชุมอาจยังมีข้อมูลเกี่ยวกับ dilution effect ไม่ครบถ้วน จึงเป็นกรณีที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหลักทรัพย์และต่อการตัดสินใจในการลงทุนของผู้ลงทุน ก.ล.ต. จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 58(2) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ให้ NEWS ชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องและแนวทางการดำเนินการต่อไปของ NEWS รวมทั้งให้เปิดเผยคำชี้แจงดังกล่าวผ่านระบบ SETLink ภายในวันที่ 29 เมษายน 2567 พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล dilution effect ในหนังสือนัดประชุมที่ไม่ครบถ้วนไปพร้อมกันด้วย
อ่านประกอบ :
ก.ล.ต.ลงโทษทางแพ่งผู้กระทำผิด 6 ราย ปั่นหุ้น BM สั่งปรับ 8 ล.-ห้ามนั่งกก.-ผู้บริหาร บจ.
สั่งปรับรวม 28.2 ล้าน! 'ก.ล.ต.'ลงโทษทางแพ่ง‘ชนน วังตาล-พวก’ 12 ราย สร้างราคาหุ้น SCN
มีพยานหลักฐานสนับสนุน! ก.ล.ต.กล่าวโทษผู้กระทำผิดเพิ่มอีก 8 ราย ร่วมกันปั่นหุ้น MORE
สั่งปรับ 65 ล้าน! ก.ล.ต.ลงโทษทางแพ่ง ‘บล.บียอนด์-พวก’ รวม 15 ราย ร่วมกันปั่นหุ้น STAR
ปรับ 4.6 ล้าน-ห้ามบริหาร บจ.! ก.ล.ต.ลงโทษฯ‘ภาสิตา ลี้สกุล-พวก’ใช้ข้อมูลภายในขายหุ้น TRC
ก.ล.ต.กล่าวโทษ‘เอกลาภ ยิ้มวิไล’อดีตซีอีโอZipmex ต่อ‘บก.ปอศ.’ปมแสดงข้อความเท็จหลอกลวงปชช.
ก.ล.ต.สั่ง Zipmex ระงับให้บริการ‘ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ฯ’-ขีดเส้น 15 วันแก้ไขฐานะการเงิน
ก.ล.ต.กล่าวโทษ‘มรกต ฉายทองคำ’ต่อ'บก.ปอศ.' ปมประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ โดยไม่ได้รับใบอนุญาต
สั่งปรับ 33 ล้าน! ก.ล.ต.ลงโทษทางแพ่งผู้กระทำผิด 9 ราย ปั่นหุ้น NMG-EIC-TH
ก.ล.ต.กล่าวโทษ ‘สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย-พวก’ รวม 13 ราย ต่อ ‘บก.ปอศ.’ ร่วมกันปั่นหุ้น FVC
ก.ล.ต.กล่าวโทษ Bybit ต่อ‘บก.ปอศ.’ ทำธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลฯโดยไม่ได้รับอนุญาต
ก.ล.ต.กล่าวโทษ 6 อดีต กก. บ.ย่อย POLAR ต่อ‘บก.ปอศ.’ปมทุจริตซื้อขายห้องชุด เสียหาย 88 ล.
ก.ล.ต.กล่าวโทษ‘ซีอีโอ WORLD-พวก’ต่อ‘บก.ปอศ.’ แสวงหาปย.มิชอบกรณีทำธุรกรรมที่ดิน 30 ล้าน
ปรับ 8 ล้าน! ก.ล.ต.ลงโทษทางแพ่ง‘นพ.กำพล พลัสสินทร์-พวก’ รวม 3 ราย อินไซเดอร์หุ้น CHG
สั่งปรับ 13.75 ล้าน! ก.ล.ต.ลงโทษทางแพ่ง ผู้กระทำผิด 3 ราย ร่วมกันปั่นหุ้น TIGER ปี 61
ก.ล.ต.กล่าวโทษ‘วิน อุดมรัชตวนิชย์-พวก’ต่อ‘บก.ปอศ.’ ร่วมกันปั่นหุ้น TIGER เมื่อปี 61
ก.ล.ต.ยื่น‘อัยการ’ฟ้องผู้กระทำผิด 13 ราย เรียก 25 ล. คดีปั่นหุ้น‘SCI-GSC-ASIAN-FLOYD-RP’
ก.ล.ต.ยื่น‘อัยการ’ฟ้อง 2 ผู้กระทำผิด ชำระเงิน 12 ล. คดีสร้างปริมาณเทียมสินทรัพย์ดิจิทัล
ปรับ 4.9 ล้าน! ก.ล.ต.ลงโทษทางแพ่ง‘ลักษณา ทรัพย์สาคร-พวก’ใช้ข้อมูลภายในซื้อหุ้น TIPCO