ก.ล.ต. กล่าวโทษ 6 อดีตกรรมการ TOPLINE ซึ่งเป็นบริษัทย่อย POLAR ต่อ ‘บก.ปอศ.’ ร่วมกันทุจริตซื้อขายห้องชุด ‘เดอะ โคลเวอร์’ ภูเก็ต ทำบริษัทฯเสียหาย 88 ล้านบาท พร้อมสั่งเพิกถอนการให้ความเห็น ‘ผู้แนะนำการลงทุน’ 12 ราย
....................................
เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษอดีตกรรมการ บริษัท ท็อปไลน์ ลิฟวิ่ง จำกัด (TOPLINE) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท โพลาริส แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (POLAR) และพวกรวม 6 ราย ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ในข้อหาร่วมกันกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต ผ่านธุรกรรมซื้อขายห้องชุดโครงการเดอะ โคลเวอร์ ภูเก็ต ของ TOPLINE จนทำให้ TOPLINE ได้รับความเสียหายรวมมูลค่า ประมาณ 88 ล้านบาท พร้อมทั้งแจ้งดำเนินคดีต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้รับแจ้งเบาะแสและตรวจสอบพบพยานหลักฐานว่า ในช่วงปี 2560–2561 อดีตกรรมการ TOPLINE 2 ราย ได้แก่ (1) นางสาวอรนัญช์ บุญมา (2) นายนุกูล เพ็งคำ ทำธุรกรรมขายห้องชุด โครงการเดอะ โคลเวอร์ ภูเก็ต ให้แก่พวกทั้ง 4 ราย ได้แก่ (3) นายธัญพงศ์ ลิ้มวงศ์ยุติ (4) นายอัครเดช วัฒนะ (5) นางสาววัชรวีร์ ก้องไกรจิรกิตติ์ (เดิมชื่อนางสาวพรรณนิภา นันทอุดมเจริญ) และ (6) บริษัท ปริ๊นซ์ แกรนด์ จำกัด ในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด ณ ขณะนั้นอย่างมีนัยสำคัญ
ทำให้ทั้ง 4 รายดังกล่าว ได้รับประโยชน์จากการนำห้องชุดไปขายให้แก่บุคคลภายนอกได้ในราคาที่สูงกว่าที่ซื้อมาจากบริษัท TOPLINE อย่างมีนัยสำคัญ และทำให้ TOPLINE เสียหายรวมมูลค่าประมาณ 88 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังพบว่า นางสาวอรนัญช์ได้กระทำการทุจริตผ่องถ่ายเงินของ TOPLINE ออกจากบริษัทเป็นอีกกรณีหนึ่งด้วย
การกระทำของอดีตกรรมการ TOPLINE กับพวกรวม 6 รายข้างต้น เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 และมาตรา 89/24 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) และมาตรา 83 หรือมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แล้วแต่กรณี
ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลและนิติบุคคล รวมทั้ง 6 ราย ต่อ บก.ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังได้แจ้งการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ข้างต้นต่อ ปปง. ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดีต่อไป และจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ในกระบวนการภายหลัง ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษแล้ว
@สั่งเพิกถอนการให้ความเห็น 'ผู้แนะนำการลงทุน' 12 ราย
วันเดียวกัน ก.ล.ต. สั่งพักและเพิกถอนให้ความเห็นชอบผู้แนะนำการลงทุน 11 ราย กรณีปฏิบัติหน้าที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต และสนับสนุนการกระทำผิด เกี่ยวกับการให้บริการธุรกรรม SSF Block Trade ขณะกระทำผิดสังกัด บล.อาร์เอชบี และสั่งพักการให้ความเห็นชอบผู้แนะนำการลงทุน 1 ราย กรณีไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ เกี่ยวกับการให้บริการธุรกรรม SSF Block Trade ขณะกระทำผิดสังกัด บล.พาย
โดย ก.ล.ต. ได้รับรายงานจากบริษัทหลักทรัพย์ อาร์เอชบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (บล. อาร์เอชบี) ในช่วงต้นปี 2564 เกี่ยวกับข้อพิรุธการปฏิบัติหน้าที่ของผู้แนะนำการลงทุนสาขาแห่งหนึ่ง โดยพบว่ามีการส่งคำสั่งซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีการซื้อหรือขายในปริมาณมากในลักษณะ Block Trade (Single Stock Futures Block Trade) หรือ SSF Block Trade โดยไม่มีที่มาของคำสั่งซื้อขายจากลูกค้า เพื่อนำผลกำไรและผลขาดทุนที่เกิดขึ้นไปใส่ในบัญชีของลูกค้ารายอื่น
จากเหตุข้างต้น ก.ล.ต. จึงเข้าตรวจสอบการทำธุรกรรม Block Trade ของ บล. อาร์เอชบี ทำให้พบว่า ระหว่างเดือนมกราคม 2562 ถึงเดือนธันวาคม 2563 ผู้แนะนำการลงทุนของ บล. อาร์เอชบี จำนวน 6 ราย ได้แก่ (1) นายพงศ์พัทธ์ ทวีสมบูรณ์ (2) นายยศวรรษ ไพสิฐวิโรจน์ (3) นายยศพล ไพสิฐวิโรจน์ (4) นายณัฐพล เตชสิทธิชัย (5) นายธนกร จงสุขศิริโชค และ (6) นายต่อพงศ์ กฤตยาเกียรณ์
ได้ทำธุรกรรม SSF Block Trade โดยความร่วมมือหรือสนับสนุนของผู้แนะนำการลงทุนที่ทำหน้าที่ส่งคำสั่งซื้อขาย (เทรดเดอร์) จำนวน 5 ราย ได้แก่ (7) นางสาวภูริชิตา สุคนธ์ปิตุมาต (8) นายภูวิศ พงษ์เฉลิม (9) นางสาววลัยทิพย์ รุ่งโรจนาธร (10) นายโชติวิทย์ จิรธนานุวงศ์ และ (11) นางสาวกชพร อรุณทศิริ โดยใช้บัญชีเงินลงทุนของ บล. อาร์เอชบี ซื้อขายเพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น และมีวัตถุประสงค์หลีกเลี่ยงหลักเกณฑ์ที่มีไว้เพื่อคุ้มครองทรัพย์สินหรือประโยชน์ของผู้ลงทุนหรือเป็นช่องทางให้เกิดการแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น
ก.ล.ต. พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้แนะนำการลงทุน บล. อาร์เอชบี จำนวน 6 ราย เป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยทำรายการซื้อขายโดยใช้บัญชีเงินลงทุนของบริษัทซื้อขายเพื่อตนเองหรือบุคคลอื่นโดยบริษัทยินยอม และมีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงหลักเกณฑ์และที่มีไว้เพื่อคุ้มครองทรัพย์สินหรือประโยชน์ของผู้ลงทุน หรือเป็นช่องทางให้เกิดการแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น
อันเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ก.ล.ต. จึงเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุน และหรือกำหนดระยะเวลาในการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนในคราวต่อไป แล้วแต่กรณี ดังนี้
(1) นายพงศ์พัทธ์ ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อน ประเภท 1 และนักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ ขณะกระทำผิดมีฐานะเป็นผู้จัดการสาขาด้วย จึงเพิกถอนการให้ความเห็นชอบ เป็นเวลา 4 ปี 12 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2566
(2) นายยศวรรษ ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อน ประเภท 1 เพิกถอนการให้ความเห็นชอบ เป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2566
(3) นายยศพล ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อน ประเภท 1 เพิกถอนการให้ความเห็นชอบ เป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2566
(4) นายณัฐพล ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อน ประเภท 1 เพิกถอนการให้ความเห็นชอบ เป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2566
(5) นายธนกร ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อน ประเภท 1 เพิกถอนการให้ความเห็นชอบ เป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2566
(6) นายต่อพงศ์ ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อน ประเภท 1 เพิกถอนการให้ความเห็นชอบ เป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2566
สำหรับการกระทำของผู้แนะนำการลงทุน บล. อาร์เอชบี ที่ทำหน้าที่เทรดเดอร์ จำนวน 5 ราย เป็นการมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนผู้แนะนำการลงทุนทั้ง 6 รายข้างต้นกระทำผิด ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ก.ล.ต. จึงพักการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุน และหรือกำหนดระยะเวลาในการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนในคราวต่อไป เป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน แล้วแต่กรณี ดังนี้
(7) นางสาวภูริชิตา ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อน ประเภท 1 และผู้วางแผนการลงทุน นับตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2566
(8) นายภูวิศ ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อน ประเภท 1 นับตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2566
(9) นางสาววลัยทิพย์ ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อน ประเภท 1 นับตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2566
(10) นายโชติวิทย์ ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อน ประเภท 1 ได้สิ้นสุดแล้ว เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ก.ล.ต. จึงกำหนดระยะเวลาในการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนในคราวต่อไป ของนายโชติวิทย์ เป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2566
(11) นางสาวกชพร ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อน ประเภท 3 นับตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2566
นอกจากนี้ จากตรวจสอบการทำธุรกรรม Block Trade ของ ก.ล.ต. ยังพบว่า ระหว่างเดือนมกราคม-ธันวาคม 2563 นางสาวพัชร์ศศิ ทวีภูมินันท์ (เดิมชื่อนางสาวพรพิมล ตั้งกิติเสถียร) ผู้แนะนำการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) (บล. พาย) ได้ทำธุรกรรม SSF Block Trade โดยมีวัตถุประสงค์หลีกเลี่ยงเกณฑ์ที่สำคัญเพื่อช่วยเหลือลูกค้าตนเอง โดยการเปิดและปิดฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับลูกค้าสองรายภายในวันเดียวกัน ทำให้ลูกค้าไม่ต้องวางหลักประกันตามที่ บล. พาย เรียกให้วางหลักประกัน หรือถูก บล. พาย บังคับปิดฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเมื่อไม่สามารถวางหลักประกันเพิ่มเติม
ก.ล.ต. พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของนางสาวพัชร์ศศิ เป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือให้บริการด้วยความรับผิดชอบและรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ โดยทำรายการซื้อขายโดยมีวัตถุประสงค์หลีกเลี่ยงหลักเกณฑ์ที่สำคัญเพื่อช่วยเหลือลูกค้า ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ก.ล.ต. จึงพักการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อน ประเภท 1 และนักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ เป็นเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2566
สำหรับระบบงานที่เกี่ยวข้องของ บล. อาร์เอชบี และ บล. พาย นั้น ก.ล.ต. ได้ดำเนินการเปรียบเทียบปรับทั้งสองบริษัทแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565
ในการพิจารณากำหนดโทษของผู้แนะนำการลงทุน ก.ล.ต. ได้นำปัจจัยดังต่อไปนี้มาใช้ประกอบการพิจารณาของ ก.ล.ต. ด้วย ได้แก่ บทบาทความเกี่ยวข้องและพฤติกรรมของบุคคลที่ถูกพิจารณา การลงโทษที่บุคคลนั้นได้รับไปแล้ว ผลกระทบ ความเสียหายหรือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น การแก้ไขหรือการดำเนินการอื่นที่เป็นประโยชน์หรือขัดขวางการปฏิบัติงานของ ก.ล.ต. และประวัติหรือพฤติกรรมในอดีตอื่นใดที่แสดงถึงความไม่เหมาะสมที่จะเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน
“ก.ล.ต. ขอกำชับให้บริษัทหลักทรัพย์ควบคุมและกำกับดูแลผู้แนะนำการลงทุนในการทำธุรกรรม SSF Block Trade ระหว่างบัญชีเงินลงทุนของบริษัทกับบัญชีของลูกค้าที่อยู่ในความดูแลของผู้แนะนำ โดยให้เป็นไปตามนโยบายของบริษัทอย่างเคร่งครัด และเพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์เกี่ยวกับการทำธุรกรรม SSF Block Trade และขอย้ำให้ผู้ลงทุนไม่หลงเชื่อหรือสนับสนุนหรือช่วยเหลือให้ผู้แนะนำการลงทุนใช้บัญชีซื้อขายของผู้ลงทุนเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือบุคคลอื่น
และหมั่นสอดส่องบัญชีซื้อขายเพื่อมิให้บุคคลใดเข้ามาใช้บัญชีโดยไม่ชอบ กรณีมีข้อสงสัยควรติดต่อบริษัทผู้ให้บริการ หรือสอบถามได้ที่ “ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและแจ้งเบาะแส” โทร. 1207 หรือ เฟซบุ๊กเพจ “สำนักงาน กลต.” หรือ SEC Live Chat ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต.” เอกสารข่าว ก.ล.ต. ระบุ
@เตือนระมัดระวังลงทุนซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังเผยแพร่เอกสารเตือนประชาชนและผู้ลงทุนให้ระมัดระวังการใช้บริการกับผู้ให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศที่ไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และยังมีความเสี่ยงที่จะถูกหลอกลวง รวมถึงความเสี่ยงด้านการฟอกเงิน โดยมีเนื้อหาว่า
ตามที่ปรากฏข้อมูลว่า ผู้ให้บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล (private wallet) ในต่างประเทศ ชักชวนผู้ลงทุนในประเทศไทยผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ให้ใช้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านผู้ให้บริการดังกล่าว โดยเชื่อมต่อการซื้อขายกับแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลรายอื่นในต่างประเทศ รวมทั้งมีช่องทางให้ผู้ใช้บริการสามารถชำระเงินค่าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเงินบาทผ่านระบบพร้อมเพย์ (Prompt Pay) หรือ Thai QR
การให้บริการในลักษณะดังกล่าว อาจเข้าข่ายเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชกำหนด การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 โดย ก.ล.ต. จะพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ต่อไป
“ก.ล.ต. ขอเตือนประชาชนและผู้ลงทุนให้ระมัดระวังการใช้บริการกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และยังมีความเสี่ยงที่จะถูกหลอกลวง (scam) รวมถึงความเสี่ยงด้านการฟอกเงิน โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตได้ที่ www.sec.or.th หรือทางแอปพลิเคชัน “SEC Check First” และสามารถตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่มิใช่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ได้ที่ investor alert ลิงก์ https://market.sec.or.th/public/idisc/th/InvestorAlert” ก.ล.ต.ระบุ
ทั้งนี้ หากมีเบาะแสเกี่ยวกับการดำเนินการที่น่าสงสัยโปรดแจ้งที่ “ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและแจ้งเบาะแส” โทร. 1207 หรือผ่านช่องทางเฟซบุ๊กเพจ “สำนักงาน กลต.” หรือ SEC Live Chat ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต.
อ่านประกอบ :
ก.ล.ต.กล่าวโทษ‘ซีอีโอ WORLD-พวก’ต่อ‘บก.ปอศ.’ แสวงหาปย.มิชอบกรณีทำธุรกรรมที่ดิน 30 ล้าน
ปรับ 8 ล้าน! ก.ล.ต.ลงโทษทางแพ่ง‘นพ.กำพล พลัสสินทร์-พวก’ รวม 3 ราย อินไซเดอร์หุ้น CHG
สั่งปรับ 13.75 ล้าน! ก.ล.ต.ลงโทษทางแพ่ง ผู้กระทำผิด 3 ราย ร่วมกันปั่นหุ้น TIGER ปี 61
ก.ล.ต.กล่าวโทษ‘วิน อุดมรัชตวนิชย์-พวก’ต่อ‘บก.ปอศ.’ ร่วมกันปั่นหุ้น TIGER เมื่อปี 61
ก.ล.ต.ยื่น‘อัยการ’ฟ้องผู้กระทำผิด 13 ราย เรียก 25 ล. คดีปั่นหุ้น‘SCI-GSC-ASIAN-FLOYD-RP’
ก.ล.ต.ยื่น‘อัยการ’ฟ้อง 2 ผู้กระทำผิด ชำระเงิน 12 ล. คดีสร้างปริมาณเทียมสินทรัพย์ดิจิทัล
ปรับ 4.9 ล้าน! ก.ล.ต.ลงโทษทางแพ่ง‘ลักษณา ทรัพย์สาคร-พวก’ใช้ข้อมูลภายในซื้อหุ้น TIPCO
ก.ล.ต.ยื่น‘อัยการ’ฟ้อง‘ฉัตรแก้ว คชเสนี-พวก’เรียกชำระเงิน 68 ล้าน คดีอินไซเดอร์หุ้น PTG
ก.ล.ต.สั่ง'ณุศาศิริ' ชี้แจง-ปรับปรุงข้อมูลซื้อหุ้น'วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง'หมื่นล้าน
สั่งปรับรวม 51.5 ล้าน! ก.ล.ต.ลงโทษทางแพ่ง 'ฉัตรแก้ว คชเสนี-พวก' อินไซเดอร์ขายหุ้น PTG
ก.ล.ต.กล่าวโทษ '1000X-วรวัฒน์' ประกอบธุรกิจ'ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล' โดยไม่ได้รับอนุญาต
สั่งปรับ 5.1 ล้าน! ‘ก.ล.ต.’ลงโทษทางแพ่งฯผู้บริหาร PPPM แพร่ข้อความก่อให้เกิดความสำคัญผิด