ศาลปกครองสูงสูด พิพากษายืนยกฟ้อง คดีฟ้อง 'กรมเชื้อเพลิงฯ-ครม.-รมว.พลังงาน’ ให้สัมปทานขุดเจาะปิโตรเลียมในอ่าวไทย โดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม ชี้โครงการฯไม่เข้าข่ายต้องจัดทำ EHIA ขณะที่การจัดทำ EIA นั้น ไม่ปรากฏเหตุความไม่ชอบด้วยกฎหมาย
......................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.664/2558 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1054/2566 ระหว่างสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่ 1 กับพวกรวม 309 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ที่ 1 รมว.พลังงาน ที่ 2 คณะรัฐมนตรี ที่ 3 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่ 4 เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 5 (ผู้ถูกฟ้องคดี)
โดยศาลปกครองสูงสุด พิพากษาว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (รมว.พลังงาน) โดยความเห็นชอบจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (คณะรัฐมนตรี) อนุญาตให้ผู้ประกอบการดำเนินการขุดเจาะ สำรวจ และผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ท้องทะเลอ่าวไทย นั้น ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เนื่องจากยังไม่พอฟังได้ว่าโครงการหรือกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมพิพาท อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ
ที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 อีกทั้งไม่ปรากฏเหตุความไม่ชอบด้วยกฎหมายในการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการพิพาท อันจะเป็นเหตุให้ต้องเพิกถอนมติฯให้ความเห็นชอบ โดยคำวินิจฉัยของศาลฯมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
ศาลปกครองสูงสดวินิจฉัยว่า โครงการหรือกิจกรรมที่จะกระทำได้ต่อเมื่อได้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 นั้น
จะต้องเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ และโดยที่รัฐธรรมนูญดังกล่าว มิได้ให้คำจำกัดความว่า โครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ตามมาตรา 67 วรรคสอง ไว้
แต่เมื่อพิจารณาจากคำจำกัดความตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 แล้ว เห็นว่า กิจการปิโตรเลียม หมายถึง การสำรวจ ผลิต เก็บรักษา ขนส่ง ขาย หรือจำหน่ายปิโตรเลียม โดยการสำรวจมีหมายความรวมถึง การเจาะปิโตรเลียม เป็นการดำเนินการค้นหาแหล่งสะสมน้ำมันดิบ หรือก๊าซธรรมชาติ
ส่วนการผลิตปิโตรเลียม มีความหมายเพียงการดำเนินการเพื่อนำน้ำมันดิบ หรือก๊าซธรรมชาติขึ้นจากแหล่งสะสมดังกล่าว รวมตลอดถึงทำให้ปิโตรเลียมอยู่ในสภาพที่จะขายหรือจำหน่ายได้เท่านั้น โดยยังไม่มีการนำปิโตรเลียมเข้ากระบวนการกลั่นเพื่อนำไปประกอบอุตสาหกรรมเคมีปิโตรเลียมหรือประกอบอุตสาหกรรมโรงแยกก๊าซ โดยลักษณะของกิจการปิโตรเลียมจึงเป็นคนละขั้นตอนกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
การดำเนินโครงการสัมปทานสำรวจ ขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียมที่พิพาท จึงไม่ถือเป็นโครงการหรือกิจการ ตามมาตรา 67 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
สอดคล้องกับที่ต่อมาได้มีประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน จะต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2553 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2553
ที่กำหนดให้เฉพาะแต่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้น อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นกลาง ที่ผลิตสารเคมี หรือใช้วัตถุดิบที่เป็นสารเคมีซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งเป็นโครงการหรือกิจการ ที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (EHIA) โดยไม่ได้รวมถึงการดำเนินโครงการหรือกิจการในขั้นตอนสำรวจ เจาะ และผลิตปิโตรเลียมแต่อย่างใด
โครงการสำรวจขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียมที่พิพาทคดีนี้ จึงไม่อาจเทียบเคียงหรือถือเป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่จะต้องจัดทำ EHIA และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งให้องค์การอิสระให้ความเห็นประกอบตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 แต่เป็นโครงการหรือกิจการ ที่จะต้องจัดทำ EIA เท่านั้น
ซึ่งโครงการพิพาทได้มีการจัดทำ EIA และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ตามมาตรา 49 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 แล้ว
ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ว่า การขุดเจาะปิโตรเลียมเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงที่จะก่อให้เกิดมลพิษรั่วไหล นั้น เห็นว่า โดยสภาพโครงการหรือกิจการขุดเจาะนำทรัพยากรธรรมชาติใต้ดินขึ้นมาใช้ประโยชน์ ย่อมมีโอกาสก่อให้เกิดมลพิษรั่วไหลปะปนมากับชั้นดิน ชั้นหิน รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติที่นำขึ้นมาใช้ประโยชน์นั้นเอง
ดังนั้น การพิจารณาว่าโครงการหรือกิจการใดเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพหรือไม่ จึงจำต้องพิจารณาจากกระบวนการหรือวิธีการตามมาตรฐานทั่วไปที่ใช้ในการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าว
เมื่อพิจารณาจากคำชี้แจงและพยานหลักฐานในสำนวนคดีแล้ว มาตรฐานและกระบวนการโดยทั่วไปของโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในบริเวณอ่าวไทยพิพาท ไม่มีขั้นตอนที่จะปล่อยให้ปิโตรเลียมมีการสัมผัสหรือแพร่กระจายสู่ท้องทะเล แต่จะเป็นการดูด สูบ หรือส่งปิโตรเลียมจากแหล่งสะสมทางท่อส่งไปยังแท่นผลิตเพื่อทำการแยกน้ำและสารเจือปนออกจากปิโตรเลียม ซึ่งน้ำและโคลนที่เหลือจากการผลิตที่มีโลหะหนักเจือปนตามฟ้องจะถูกอัดกลับลงหลุม
กรณีจึงยังไม่พอฟังว่าโครงการหรือกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมพิพาท อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ที่ต้องจัดทำ EHIA และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (รมว.พลังงาน) โดยความเห็นชอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (คณะรัฐมนตรี) ให้สัมปทานโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในบริเวณอ่าวไทยพิพาท จึงชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนประเด็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และที่ 5 ละเลยต่อหน้าที่ในการพิจารณาเพิกถอน EIA โครงการพิพาท นั้น เห็นว่า อำนาจในการพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบ EIA เป็นอำนาจของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) มิได้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และที่ 5 และหากคณะกรรมการผู้ชำนาญ (คชก.) พิจารณามีมติเป็นอย่างใดแล้ว ก็ไม่มีกฎหมายให้อำนาจผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 หรือที่ 5 สั่งเพิกถอนมติของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.)
อีกทั้ง เมื่อได้วินิจฉัยไว้ในประเด็นก่อนแล้วว่า โครงการพิพาทไม่เป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพที่จะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 แล้ว และไม่ปรากฏเหตุความไม่ชอบด้วยกฎหมายในการจัดทำ EIA โครงการพิพาทประการอื่นอันจะเป็นเหตุให้ต้องเพิกถอนมติให้ความเห็นชอบอีก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และที่ 5 จึงไม่มีกรณีที่จะถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
@ย้อนปมพิพาทขุดเจาะปิโตรเลียมอ่าวไทย
สำหรับคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้ง 309 ฟ้องว่า คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ภายใต้การควบคุมดูแลของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ) และที่ 5 (เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ได้เห็นชอบโครงการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย โดยที่ยังไม่ได้ปฏิบัติหรือดำเนินการให้ครบถ้วนตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยไม่ได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และไม่ผ่านความเห็นชอบหรือมีส่วนร่วมของชาวบ้านที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียก่อน และไม่ได้ให้องค์การอิสระ ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพให้ความเห็นประกอบ ทำให้สิ่งแวดล้อมในพื้นที่โดยรอบเกาะต่างๆ และบริเวณชุมชนเกิดมลพิษ จึงขอให้ศาลฯมีคำพิพากษา ดังนี้
(1) ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีคำสั่งหรือแนะนำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประกาศให้พื้นที่เกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า และพื้นที่ใกล้เคียงในรัศมี 120 ไมล์ทะเล เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม
(2) ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ) และที่ 2 (รมว.พลังงาน) เพิกถอนประทานบัตรหรือร่วมกันเพิกถอนใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับการขุดเจาะ สำรวจและผลิตปิโตรเลียมตามอำนาจหน้าที่ รวมทั้งระงับการดำเนินกิจกรรมใดๆ สำหรับโครงการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย
(3) ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันเพิกถอน EIA ของโครงการหรือกิจกรรมที่ได้รับความเห็นชอบจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 (เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
(4) ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าร่วมกันหรือใช้อำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานออกประกาศ หรือกำหนดให้โครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทุกประเภทที่มีลักษณะเดียวกันหรือใกล้เคียงกับโครงการพิพาท เป็นโครงการที่เข้าข่ายต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ระหว่างการพิจารณา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีประกาศกระทรวงกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามคำขอในข้อ (1)
ต่อมาศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า รมว.พลังงาน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) โดยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ได้อนุญาตให้ผู้ประกอบการเอกชนดำเนินการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมโครงการต่างๆ โดยมีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) แล้ว
และโดยที่มาตรา 49 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 บัญญัติว่า ในกรณีที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการให้ความเห็นชอบ หรือกรณีที่ถือว่าคณะกรรมการผู้ชำนาญการให้ความเห็นชอบแล้ว ให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายสั่งอนุญาตแก่บุคคลซึ่งขออนุญาตได้ ประกอบกับตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2553 มิได้กำหนดให้การขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเป็นประเภทหนึ่งของโครงการหรือกิจการที่อาจก่อผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง
ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยความเห็นชอบจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 อนุญาตให้ดำเนินการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมตามฟ้อง จึงเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ กรณีจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ผู้ฟ้องคดี จึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด
อ่านประกอบ :
‘ศาล ปค.สูงสุด’ นัดชี้ขาด คดีฟ้อง‘กรมเชื้อเพลิงฯ’ ปมอนุญาตขุดเจาะปิโตรเลียมในอ่าวไทย